สกาลา (โรงภาพยนตร์)

อดีตโรงภาพยนตร์เดี่ยวในกรุงเทพมหานคร
(เปลี่ยนทางจาก โรงภาพยนตร์สกาลา)

โรงภาพยนตร์สกาลา เป็นโรงภาพยนตร์ ขนาด 1,000 ที่นั่ง[1] ใน กรุงเทพมหานคร ตั้งชื่อตาม โรงอุปรากรสกาลา[1] สกาลาเปิดตัวเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยมีการฉายภาพยนตร์ The Undefeated ซึ่งเป็นภาพยนตร์คาวบอยตะวันตกของสหรัฐ นำแสดงโดย จอห์น เวย์น และ ร็อก ฮัดสัน สกาลาปิดให้บริการในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ด้วยภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย ซีเนม่า พาราดิโซ [2] [3] สกาลา ซึ่งเคยได้รับการกล่าวว่าเป็น "...โรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ถือเป็นโรงภาพยนตร์เดี่ยวแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ อันลดลงจากโรงภาพยนตร์ประมาณ 140 แห่งในช่วงคริสตทศวรรษ 1950-60[1]

สกาลาในปี พ.ศ. 2561
โถงทางเข้าโรงภาพยนตร์

ประวัติ แก้

สกาลาในย่านสยามสแควร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ซึ่งรวมถึงโรงภาพยนตร์สยาม และโรงภาพยนตร์ลิโด้ โรงภาพยนตร์สยามได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการวางเพลิงในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงปี พ.ศ. 2553 ต่อมาได้ทุบทิ้งและสร้างเป็นโครงการสยามสแควร์วัน ส่วนโรงภาพยนตร์ลิโด้หมดสัญญาเช่าในปี พ.ศ. 2559 และปรับปรุงเป็นโครงการลิโด้คอนเน็กต์ในอีกสองปีต่อมา

สกาลาเป็นโรงภาพยนตร์เดี่ยวแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯ ที่ยังให้บรรยากาศย้อนยุค[4] ประธานเครือเอเพ็กซ์ให้เหตุผลที่สกาลาปิดตัวเนื่องจากการระบาดของโควิด–19 และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป[3] การฉายรอบสุดท้ายของสกาลามีขึ้นท่ามกลางกระแสการทุบอาคารทิ้งเพื่อเปิดทางให้การพัฒนาพื้นที่นี้ใหม่[5]

โรงภาพยนตร์สกาลา ออกแบบโดยพันเอกจิระ ศิลป์กนก ชื่อโรงภาพยนตร์ตั้งชื่อตามโรงอุปรากรเตอาโตรอัลลาสกาลา แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่า "สกาลา" หมายถึง บันได ในภาษาอิตาลี โรงภาพยนตร์ออกแบบในศิลปะอาร์ตเดโค ภายในมีเสาคอนกรีตโค้ง การผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก และโคมฝ้าระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลี ในปี 2555 สกาล่าได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์[6][7] บริเวณหน้าทางเข้าโรงหนังมีปูนปั้นลอยตัวที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ซึ่งมีทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย รวมอยู่บนผนัง[8][9]

สกาลาเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ เทศกาลภาพยนตร์เงียบ[10] รวมถึงการแสดงอื่น ๆ เช่น เดี่ยวไมโครโฟนของอุดม แต้พานิช[11] อีกทั้งตัวอาคารเองก็เป็นหนึ่งในหัวเรื่องของภาพยนตร์สารคดีที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา ในปี พ.ศ. 2559 [12]

การปิดกิจการและสิ่งสืบเนื่อง แก้

 
สกาลาในเดือนกรกฎาคม 2564 สี่เดือนก่อนที่จะถูกรื้อถอน

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความพยายามพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการรื้อถอนโรงภาพยนตร์ลิโด้และสกาลา ตั้งแต่ พ.ศ. 2555[13] แต่ถูกคัดค้านจากภาคประชาสังคม[14][15] ทั้งนี้ ผู้บริหารของเครือเอเพ็กซ์ขอขยายสัญญาเช่าในปี พ.ศ. 2557[16] และสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ขยายสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวในอีกสามปีถัดมา[17] แต่ที่สุดสกาลาก็ปิดกิจการในปี พ.ศ. 2563 จากภาวะการระบาดของโควิด-19 และหมดสัญญาเช่าในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี

ในวันสุดท้ายของสกาลา มีการฉายภาพยนตร์สี่เรื่องที่คัดสรรโดยหอภาพยนตร์ รวมผลงานคลาสสิกของอิตาลี 2 รายการ ได้แก่ ผลงานของ มีเกลันเจโล อันโตนีโอนี เรื่อง Blowup ในช่วงเที่ยง ตามมาด้วยสารคดีไทยเรื่อง The Scala [12] และ Phantom of Illumination [18] ที่อุทิศแก่กิจการโรงภาพยนตร์เดี่ยว ในเวลา 15.00 น. และ Cinema Paradiso ของ Antonioni ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของสกาลา ในเวลา 18.00 น. [1] ในปีต่อมามีการรื้อถอนอาคารในหมุดเอของสยามสแควร์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงโรงภาพยนตร์สกาลาด้วย ทั้งนี้ เซ็นทรัลพัฒนาได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว[19][20]

อนึ่ง ก่อนที่โรงภาพยนตร์สกาลาจะถูกรื้อถอน ทายาทเครือเอเพ็กซ์ได้นำของตกแต่งจากอาคารดังกล่าวไปใช้ที่โรงละครในสวนนงนุช[21] และได้ตั้งชื่อโรงละครนี้ตามอาคารที่ถูกรื้อถอนดังกล่าว[22]

ความเสื่อมถอยของโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย แก้

ในยุครุ่งเรืองของโรงภาพยนตร์จอใหญ่ ประเทศไทยมีโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนถึง 700 โรง ตามที่ ฟิลลิป จาบลอน นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์กล่าว ในจำนวนนี้ 140 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ[18] แต่ในปี 2562 มีเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย[23] ได้แก่ สกาลาในกรุงเทพฯ, เดชอุดมมินิเธียเตอร์ที่อุบลราชธานี (อำเภอเดชอุดม)[24] และชุมแพซีนีเพล็กซ์ที่ขอนแก่น (อำเภอชุมแพ)[25] ทั้งนี้ แม้สกาลาจะถูกรื้อถอนไปแล้ว แต่เดชอุดมมินิเธียเตอร์และชุมแพซีนีเพล็กซ์ยังเปิดดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน[26][27]

ฟิลลิป จาบลอน ตั้งข้อสังเกตว่า "สิ่งที่น่าประหลาดใจคือโรงภาพยนตร์เดี่ยวลดลงไปมากจน [เกือบ] ศูนย์" เขากล่าวว่า "ผมนึกไม่ออกว่าวัฒนธรรม เทคโนโลยี และอาคารแบบนี้หายไปไหนหมด โรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลนทั่วโลกเสื่อมถอยลง แต่ไม่รู้ว่าที่ไหนลดลงจนสูญพันธุ์ ยกเว้นประเทศไทย เป็นเรื่องน่าขบขัน เพราะคนไทยยังไปชมภาพยนตร์ในโรงอยู่ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่แข็งแกร่งและยังนำเข้าภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก แต่การดูหนังแบบเดิม ๆ ก็ตายไปอย่างสิ้นเชิง" [28]

นักเขียน สนธยา ทรัพย์เย็น ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด ออกเดินทางเพื่อบันทึกภาพภาพยนตร์ที่เหลืออยู่ของประเทศไทยสำหรับหนังสือปี พ.ศ. 2557 เรื่อง สวรรค์ 35 มม.: เสน่ห์วิกหนังเมืองสยาม (Once Upon a Celluloid Planet: Where Cinema Ruled: Hearts & Houses of Films in Thailand) [29] สนธยาตั้งข้อสังเกตว่า "โรงมหรสพเดี่ยวเคยเป็นสถานที่สำคัญของเมืองและเป็นสถานบันเทิงมวลชนแห่งเดียวสำหรับคนทุกวัย" และยังกล่าวว่า โรงมหรสพเดี่ยวมีความเจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยระหว่างคริสตทศวรรษที่ 1950 ถึง 1970 ก่อนที่จะมีผู้ชมลดลงในช่วงทศวรรษ 1980 จากการเข้ามาของวิดีโอเทป วีเอชเอส "คล้ายกับการไปงานวัด คนในท้องถิ่นแต่งตัวเพื่อไปชมโรงมหรสพเดี่ยว" ซึ่งมักพบในใจกลางเมืองใกล้กับตลาด โรงมหรสพจึงกลายเป็นจุดรวมตัวของชุมชน “พวกเขาสนับสนุนกันทั้งโรงละครและชุมชน"[30]

หมายเหตุ แก้

1. ^ แหล่งข้อมูลบางแห่งอ้างว่ามีจำนวน 800 ที่นั่ง แหล่งข้อมูลอื่น ๆ ระบุ 1,000 ที่นั่ง

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "So Long Scala: Final movies to show on historic cinema's last two days". Coconuts Bangkok. 23 June 2020. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  2. Carlisle, Peter (7 June 2020). "Bangkok's Historic Scala Cinema's 51-Year Run Said To End". Thailand Construction News. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  3. 3.0 3.1 "Final curtain drops at Scala theatre". Bangkok Post. 6 July 2020. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  4. "Scala's Got Soul". Bangkok 101. 27 July 2015. สืบค้นเมื่อ 29 September 2017.
  5. Thaitrakulpanich, Asaree (6 July 2020). "Cinema at Scala Shuts Down, But Its Future is Unclear". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  6. "อำนาจเงิน-ทรงคุณค่า แบบไหนจะชนะ? ทุบทิ้ง-คงไว้ โรงหนังสกาลา". ไทยรัฐ. 26 พฤษภาคม 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2021. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2018.
  7. "เปิดประวัติ โรงหนังสกาล่า ตำนานของชาวสยามสแควร์ที่ถูกทุบทิ้ง". Thaiger. 3 พฤศจิกายน 2021.
  8. ""ตัวไม่อยู่ ขอให้โรงหนังอยู่" ล้วงใจเจ้าของสกาลา รอวันอำลาหรือฉายต่อ?". ไทยรัฐ. 23 พฤษภาคม 2016.
  9. Boonchumnong, Chonson. "โรงภาพยนตร์สกาล่า [Scala Movie Theater]". ASA Conservation Award. Association of Siamese Architects. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  10. "Silent Film Festival makes noise at the Scala". Bangkok Post. 20 May 2019. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  11. "thaiticketmaster.com เชิญชมการแสดงฉายเดี่ยวไมโครโฟน ครั้งที่ 5 กับ โน้ต". ryt9.com.
  12. 12.0 12.1 Rithdee, Kong (25 March 2016). "Scala doc to open film festival". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020.
  13. Thailand, Teenee Media co Ltd. "เตรียมไล่รื้อ สยามสแควร์ - ลิโด้ ทำตึกช้อปปิ้งสตรีท". teenee.com.
  14. saveapexsiamsquare (2012-03-18). ""ขอแบ่งปันพื้นที่สร้างสรรค์ : เราต้องการลิโด้ และสกาล่า"". saveapexsiamsquare.
  15. isranews (2016-05-30). "หมดสัญญาปี 60! รณรงค์ผ่าน Change ค้านจุฬาฯ รื้อทิ้ง 'โรงหนังสกาล่า'". สำนักข่าวอิศรา.
  16. "'โรงภาพยนตร์สกาลา' ก่อนความผูกพันจะเลือนหาย ก่อนความทรงจำจะกลายเป็นประวัติศาสตร์". สารคดี (ภาษาอังกฤษ).
  17. ไทยรัฐออนไลน์ (2016-06-01). "จุฬาฯ ยัน ต่อสัญญา 'โรงหนังสกาลา' อีก 3 ปี". สำนักข่าวอิศรา.
  18. 18.0 18.1 Berra, John (6 May 2020). "Phantom of Illumination (Thailand, 2017)". VCinema. สืบค้นเมื่อ 7 July 2020.
  19. "'เซ็นทรัล' คว้าที่ดินจุฬา 'โรงหนังสกาลา' ผุดศูนย์การค้าใหม่ เผย รักษาโครงสร้างสถาปัตย์เดิม". มติชน. 5 กันยายน 2021.
  20. ""เซ็นทรัล" บุกสยามสแควร์! คว้าสิทธิ์ที่ดิน "สี่แยกปทุมวัน รวมโรงหนังสกาลา" จับตาเตรียมผุดโปรเจกต์ใหม่". Brand Buffet. 5 กันยายน 2021.
  21. Panomai, Suriyan (2020-09-24). "ปลดประจำการ 'โคมระย้าสกาลา' เตรียมย้ายไปประดับที่สวนนงนุช". Time Out กรุงเทพมหานคร.
  22. "ชุบชีวิต "สกาลา"! สวนนงนุชพัทยาส่งท้ายปี 64 พร้อมเปิดการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและช้างแสนรู้". mgronline.com. 2021-11-29.
  23. Jablon, Philip (2019). Thailand's Movie Theatres: Relics, Ruins and the Romance of Escape (Paper). Bangkok: River Books. ISBN 9786164510234.
  24. โยธี, ธนัชชา (2023-02-27). "64 ปี เดชอุดมเธียเตอร์ โรงหนังระดับอำเภอ ที่ยืนโต้ลมมาตั้งแต่รุ่นพ่อ". เดอะอีสานเรคคอร์ด.
  25. "'ชุมแพซีนีเพล็กซ์' โรงหนังขายตั๋ว 60 บาท การยืนหยัดของโรงภาพยนตร์อิสระในขอนแก่น Spotlight". thepeople (ภาษาอังกฤษ). 2023-01-27.
  26. พุทซาคำ, สุวิชา (2024-01-12). "ลองStay 10 สิ่งที่คุณควร 'ลอง' เมื่อต้องอยู่ยาว ๆ ที่จังหวัดอุบลราชธานี". The Cloud.
  27. Patchayaporn, Fang; Kaijeaw.com (2023-10-20). "สุดคลาสสิค กระแสหนังสัปเหร่อปลุกตำนานโรงหนังเก่าแก่ของ อ.ชุมแพ". Kaijeaw.com.
  28. Mahavongtrakul, Melalin (27 May 2019). "Storybook picturehouse". Bangkok Post. No. Life. สืบค้นเมื่อ 7 July 2020.
  29. Subyen, Sonthaya; Raden-Ahmad, Morimart (2014). Once upon a Celluloid Planet Where Cinema Ruled: Hearts and Houses of Films in Thailand. Bangkok: FilmVirus. ISBN 978-6163619532.
  30. Ketbungkan, Kaewta (18 August 2017). "Find Hidden Treasures From Bangkok's Golden Age of Cinema (Photos)". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 7 July 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°44′44″N 100°31′53″E / 13.74556°N 100.53139°E / 13.74556; 100.53139