นักเทคนิคการแพทย์
เทคนิคการแพทย์ (อังกฤษ: Medical technologist หรือ Medical laboratory technologist หรือ Medical Laboratory Scientist) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานด้านการตรวจทางเทคนิคการแพทย์ ภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือ ห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ หรือ ห้องปฏิบัติการเวชศาสตร์ชันสูตร หรือ ณ ตำแหน่งดูแลและให้บริการทางการแพทย์ Point of care ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ได้ให้ความหมายของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ไว้ว่าเป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้สิ่งตัวอย่างทางการแพทย์ และการดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย และการรายงานผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรค หรือเพื่อประเมินภาวะสุขภาพ และใช้คำนำหน้านามว่า ทนพ.หรือ ทนพญ. นำหน้าชื่อสกุลได้[1]
สาขาวิชา
แก้การเรียนการสอนในสาขาเทคนิคการแพทย์นั้น ครอบคลุมสาขาวิชาต่าง ๆ ดังนี้
- สาขาเคมีคลินิก (Clinical chemistry)
- สาขาจุลชีววิทยาคลินิก (Clinical microbiology)
- สาขาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก (Clinical Microscopy)
- สาขาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด (Transfusion medicine)
- สาขาปรสิตวิทยาทางการแพทย์ (Medical parasitology)
- สาขาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก (Clinical immunology)
- สาขาโลหิตวิทยา (Hematology)
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ
แก้ในอดีตผู้ที่จะประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้นั้น จะต้องจบหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) และต้องขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ซึ่งออกโดยกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์จะต้องขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จาก สภาเทคนิคการแพทย์
ในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น ใน รัฐฮาวาย, รัฐแคลิฟอร์เนีย, รัฐฟลอริดา, รัฐเนวาดา และรัฐลุยเซียนา เป็นต้น นักเทคนิคการแพทย์จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย และจะต้องมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อต่ออายุใบอนุญาตเป็นประจำ
คำนำหน้าชื่อและอักษรย่อ
แก้ในประเทศไทย นักเทคนิคการแพทย์สามารถใช้คำนำหน้าชื่อ เพื่อแสดงถึงการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้ โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ชาย ใช้คำนำหน้าชื่อ "ทนพ." และผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์หญิง ใช้คำนำหน้าชื่อ "ทนพญ." [2]
สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา นักเทคนิคการแพทย์จะใช้อักษรย่อว่า "MT" ซึ่งมาจาก "Medical technologist (เรียกสั้น ๆ ว่าMed tech)" ซึ่งคล้าย ๆ กับแพทย์ที่ใช้อักษรย่อคำว่า "MD" ย่อมาจาก Doctor of medicine และ พยาบาลจะใช้คำย่อว่า "RN" ซึ่งย่อมาจาก Registered Nurse และถ้าหากนักเทคนิคการแพทย์ที่ผ่านการรับรองจาก "ชมรมพยาธิวิทยาคลินิกแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Society for Clinical Pathology" ก็อาจจะใช้คำย่อว่า "MT (ASCP)" และเช่นเดียวกัน ถ้าหากผ่านรับการรับรองจาก "สมาคมธนาคารเลือดแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ American Association of Blood Banks ก็สามารถใช้ชื่อย่อว่า "SBB" ได้เช่นกัน โดยสามารถเขียนอักษรย่อเป็น "MT (ASCP) SBB"
หน้าที่ของเทคนิคการแพทย์
แก้เทคนิคการแพทย์นั้นมีหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างได้แก่ การเจาะเลือดผู้ป่วย ผู้มารับบริการ ทางเส้นเลือดดำ เส้นเลือดปลายนิ้วเป็นต้น หากสิ่งส่งตรวจจากผู้เข้ามารับบริการ เช่น เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ ได้ถูกส่งต่อมา เทคนิคการแพทย์จะมีหน้าที่ในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนการวิเคราะห์ โดยจะทำการตรวจสอบชื่อและสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยว่าเป็นคนเดียวกัน และคุณภาพของสิ่งส่งตรวจว่าเหมาะสม ใช้กระบวนการเก็บที่ถูกต้องสำหรับนำมาทดสอบทางห้องปฏิบัติการหรือไม่ เนื่องจากสิ่งส่งตรวจที่ไม่เหมาะสมจะมีผลต่อการผลทดสอบ และหากไม่ได้คุณภาพ ต้องทำการปฏิเสธิสิ่งส่งตรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บ หรือนักเทคนิคการแพทย์ที่รับผิดชอบได้ทำการจัดเก็บใหม่ต่อไป
หลังจากนั้น จะนำสิ่งส่งตรวจไปทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัย พยากรณ์ ติดตาม หรือประเมินสุขภาวะของผู้เข้ามารับบริการ ซึ่งจะรายงานผลให้แก่แพทย์หรือผู้ป่วยได้ทราบต่อไป
นอกจากนั้น เทคนิคการแพทย์ยังต้องควบคุมคุณภาพต่าง ๆ ภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ อาทิเช่น การควบคุมคุณภาพของการรับสิ่งส่งตรวจ ขั้นตอนระหว่างการทดสอบ และตรวจสอบความถูกต้องของผลทดสอบ โดยปกตินั้น เทคนิคการแพทย์จะทำการลงชื่อเพื่อรับรองผลการทดสอบทุกครั้งก่อนรายงานผลทางห้องปฏิบัติการ
การประกอบอาชีพ
แก้เทคนิคการแพทย์สามารถทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั้งในภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานอย่างอื่นได้ เช่น เป็นผุ้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือและน้ำยาทางการแพทย์ หรือศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้ในหลายสาขาทั้งในและต่างประเทศเช่น
- สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
- สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน
- สาขาพยาธิวิทยาคลินิก
- สาขากายวิภาคศาสตร์
- สาขาสรีรวิทยาทางการแพทย์
- สาขาประสาทวิทยาศาสตร์
- สาขานิติวิทยาศาสตร์
- สาขาบริหารพยาธิวิทยาคลินิก
- สาขาชีวเวชศาสตร์
- สาขาชีวเคมีทางการแพทย์
- สาขาเภสัชวิทยา
- สาขาชีวเคมีคลินิกและอณูวิทยาทางการแพทย์
- สาขาภูมิคุ้มกันวิทยา
- สาขาปรสิตวิทยา
- สาขาจุลชีววิทยาทางการแพทย์
- สาขาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก
- สาขาวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการคลินิก
- สาขาพยาธิชีววิทยา
- สาขาวิทยาศาสตร์ความงามและสุขภาพ
- สาขาวิศวะกรรมชีวการแพทย์
- นอกจากนี้ยังสามารถเรียนต่อ แพทยศาสตร์ หลักสูตร 5 ปี ประเทศฟิลิปปินส์
อ้างอิง
แก้- ↑ "พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-02-09. สืบค้นเมื่อ 2006-09-25.
- ↑ "กำหนดใช้คำนำหน้าชื่อผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-03-08. สืบค้นเมื่อ 2019-03-15.