เชิมเกนต์ (เสียงอ่านภาษาคาซัค: [ʃɯmˈkɛnt]; Шымкент, شىمكەنت; Yañalif: Cьmkent) หรือชิมเกนต์[2] (อุซเบก: Chimkent, Чимкент, چىمكېنت; รัสเซีย: Чимкент, อักษรโรมัน: Čimkent (เสียงอ่านภาษารัสเซีย: [ˈtɕɨmˈkʲɛnt])) เป็นเมืองในประเทศคาซัคสถาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ใกล้พรมแดนคาซัคสถาน-อุซเบกิสถาน เชิมเกนต์เป็นหนึ่งในสามเมืองในประเทศคาซัคสถานที่มีสถานะ "นครสำคัญแห่งสาธารณรัฐ" (the city of republican significance[3]) และมีศักดิ์เทียบเท่ากับแคว้นร่วมกับอัลมาเตอและอัสตานา เชิมเกนต์มีประชากรมากเป็นอันดับที่สามของประเทศ รองจากอัลมาเตอและอัสตานา โดยประมาณการว่าเมืองนี้มีประชากร 1,002,291 คนนับถึงวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2018[4] เชิมเกนต์มีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม และได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของเครือรัฐเอกราชประจำ ค.ศ. 2020[5]

เชิมเกนต์

Şymkent
Шымкент
شىمكەنت
สถานที่สำคัญในเชิมเกนต์
เชิมเกนต์ตั้งอยู่ในคาซัคสถาน
เชิมเกนต์
เชิมเกนต์
ที่ตั้งของเชิมเกนต์ในประเทศคาซัคสถาน
พิกัด: 42°19′0″N 69°35′45″E / 42.31667°N 69.59583°E / 42.31667; 69.59583พิกัดภูมิศาสตร์: 42°19′0″N 69°35′45″E / 42.31667°N 69.59583°E / 42.31667; 69.59583
ประเทศ คาซัคสถาน
แคว้น-
ก่อตั้งคริสต์ศตวรรษที่ 12
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีเอียร์ลัน ไอตาฮานอฟ
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,162.8 ตร.กม. (449.0 ตร.ไมล์)
ความสูง506 เมตร (1,660 ฟุต)
ประชากร
 (มีนาคม ค.ศ. 2020)
 • ทั้งหมด1,042,218[1] คน
เขตเวลาUTC+06
รหัสไปรษณีย์160000
รหัสพื้นที่(+7) 7252
ทะเบียนพาหนะ17
เว็บไซต์shymkent.gov.kz/en

ประวัติศาสตร์ แก้

เชิมเกนต์ก่อตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 12[6] เพื่อใช้เป็นสถานีคาราวานประจำเมืองไซรัม ซึ่งเป็นเมืองการค้าในเส้นทางสายไหม ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตรทางทิศตะวันออก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างกลุ่มชนเร่ร่อนชาวเตอร์กิกและพ่อค้าชาวซอกเดียซึ่งตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ เชิมเกนต์ถูกรุกรานหลายครั้ง ทั้งโดยเจงกิส ข่าน โดยกลุ่มชาวข่านถิ่นใต้ และโดยกลุ่มชนเร่ร่อน เชิมเกนต์ถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐข่านโกกันด์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนจะถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียใน ค.ศ. 1864[7] ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1914 และ ค.ศ. 1924 เชิมเกนต์เปลี่ยนชื่อเป็น "เชียร์เนียเอฟ" (รัสเซีย: Черняев; อังกฤษ: Chernyaev) หลังจากตกเป็นของจักรวรรดิรัสเซียแล้ว เชิมเกนต์ก็ยังคงมีความสำคัญในฐานะเมืองศูนย์กลางการค้าระหว่างชาวเตอร์กิกเร่ร่อนและชาวเตอร์กิกที่ตั้งถิ่นฐาน และมีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งได้แก่คูมิส หรือนมเปรี้ยวที่ทำจากน้ำนมของม้า[8] ในเวลาต่อมา หลังจากเกิดการปฏิวัติรัสเซียซึ่งทำให้จักรวรรดิรัสเซียเปลี่ยนฐานะเป็นสหภาพโซเวียต มีการจัดตั้งสาธารณรัฐต่าง ๆ และเปลี่ยนแปลงเขตแดนอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งใน ค.ศ. 1956 เชิมเกนต์กลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคาซัค ก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศคาซัคสถานหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในที่สุด

ใน ค.ศ. 2016 ประธานาธิบดีนูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟแสดงความตั้งใจที่จะให้เชิมเกนต์กลายเป็นมหานครแห่งที่สามของประเทศ โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้ริเริ่มขึ้นบริเวณทางเหนือของเมือง[9]

ภูมิศาสตร์ แก้

เชิมเกนต์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ใกล้กับชายแดนคาซัคสถาน-อุซเบกิสถาน ตัวเมืองเชิมเกนต์ห่างจากนครอัลมาเตอไปทางตะวันตกประมาณ 690 กิโลเมตร (430 ไมล์) ห่างจากกรุงอัสตานาไปทางทิศใต้ประมาณ 1,483 กิโลเมตร (920 ไมล์) และห่างจากกรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของประเทศอุซเบกิสถานไปทางทิศเหนือประมาณ 120 กิโลเมตร (75 ไมล์)

แต่เดิมเชิมเกนต์เป็นเมืองหลวงของแคว้นคาซัคสถานใต้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ประธานาธิบดีนาซาร์บายิฟได้ประกาศให้เชิมเกนต์มีฐานะเป็น "นครสำคัญแห่งสาธารณรัฐ" ต่อจากอัสตานา (หรืออัสตานาในขณะนั้น) และอัลมาเตอ ซึ่งส่งผลทำให้เชิมเกนต์มีฐานะเทียบเท่ากับแคว้น และแยกตัวออกจากแคว้นคาซัคสถานใต้ ในขณะเดียวกัน แคว้นคาซัคสถานใต้ได้เลือกเมืองตืร์กิสถานเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อแคว้นเป็น "แคว้นตืร์กิสถาน" ตามชื่อเมืองหลวง[10][11]

สังคม แก้

 
ประชากรส่วนใหญ่ของเชิมเกนต์นับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

จากข้อมูลใน ค.ศ. 2020 ชาวเมืองเชิมเกนต์ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดังนี้[12]

รายงานของสภาท้องถิ่นระบุว่าประชากรคนที่หนึ่งล้านเกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2018[13]

กีฬา แก้

เชิมเกนต์มีสโมสรฟุตบอลชาย 1 สโมสรได้แก่สโมสรฟุตบอลโอร์ดาบาเซอ ซึ่งแข่งขันในคาซัคสถานพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2020 และสโมสรฟุตบอลหญิง 1 สโมสรได้แก่สโมสรฟุตบอลเบอีอีกา คาเซอฆอร์ต ซึ่งแข่งขันในคาซัคสถานวีเมนส์ฟุตบอลแชมเปียนชิป ทั้งสองลีกเป็นลีกระดับสูงสุดในระบบลีกของคาซัคสถาน สนามกีฬาหลักของเมืองคือสนามกีฬากาเจอมูกัน มูไงต์ปาซอฟ ซึ่งตั้งชื่อตามนักมวยปล้ำชาวคาซัคสถาน มีความจุ 20,000 ที่นั่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แก้

เชิมเกนต์สถาปนาความสัมพันธ์เป็นเมืองแฝดกับเมืองต่าง ๆ ดังนี้[14]

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-28. สืบค้นเมื่อ 2020-11-04.
  2.   Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Chimkent" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 6 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 165.
  3. Nurlan Sauranbayev. "Congratulation of Shymkent city akim N. Sauranbayev with the acquisition the city of republican significance". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-22. สืบค้นเมื่อ 2018-06-22.
  4. "Об изменении численности населения Республики Казахстан с начала 2018 года до 1 июня 2018 года". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-07. สืบค้นเมื่อ 2020-11-04.
  5. "Kazakhstan's Shymkent takes over as CIS Capital of Culture". KazInform.
  6. Peoples of central Asia. By Lawrence Krader. Published by Indiana University, 1971
  7. http://www.britannica.com/EBchecked/topic/111610/Shymkent
  8. Through Russian central Asia. By Stephen Graham. Published by The Macmillan Company, 1916
  9. "S Kazakhstan rgn began construction of "Shymkent City"". Strategy2050.kz. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-27. สืบค้นเมื่อ 9 October 2020.
  10. "RK President signed decree making Shymkent a city of republican significance". Kazpravda. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-11. สืบค้นเมื่อ 9 October 2020.
  11. "Публичное подписание Указа «О некоторых вопросах административно-территориального устройства Республики Казахстан»" (ภาษารัสเซีย). President of Kazakhstan. 19 June 2018. สืบค้นเมื่อ 21 June 2018.
  12. "Численность населения Республики Казахстан по отдельным этносам на начало 2020 года". Stat.kz. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-27. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
  13. Shymkent's Akimat. "A millionth resident of Shymkent received an apartment as a gift". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-13.
  14. "Shymkent Mayor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-03. สืบค้นเมื่อ 2020-11-04.
  15. "اتفاقية توأمة بين الغردقة وإقليم جنوب كازاخستان لتنشيط السياحة |صور". بوابة الأهرام (ภาษาอาหรับ). สืบค้นเมื่อ 2018-07-14.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้