ประวัติศาสตร์หน่วยเงินในประเทศไทย

(เปลี่ยนทางจาก เงินพดด้วง)

วิวัฒนาการเงินตราไทย เริ่มตั้งแต่กลุ่มชนดั้งเดิมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่ราว 38,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียนั้น กลุ่มชนเหล่านี้ติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยใช้สิ่งของเป็นสื่อกลาง เมื่อวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามาจึงเริ่มผลิตเงินตราเป็นสื่อกลางค้าขาย

วิวัฒนาการเงินตราไทยในอดีต

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-16 ในวัฒนธรรมแบบฟูนัน-ทวารวดี ได้ผลิตเหรียญกลมแบนจากโลหะเงิน ดีบุก ทองแดง โดยใช้แม่พิมพ์ตราสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น พระอาทิตย์ สังข์ แพะ ปูรณกลศ ตัวอักษร เป็นต้น ซึ่งสื่อถึงความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ อำนาจรัฐ กษัตริย์ และความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 อาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทยมีอำนาจควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเล มีการผลิตเงินดอกจันทน์และเงินนโม เพื่อระบบเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ราชอาณาจักรสุโขทัยและล้านนาก็ถือกำเนิดขึ้นและได้ติดต่อค้าขายกับราชอาณาจักรในลุ่มเจ้าพระยา คือ กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนดำเนินการค้าทางทะเลกับจีน อินเดีย ยุโรป และได้ติดต่อค้าขายกับกลุ่มชนทางตอนเหนือของไทย เช่น ล้านช้าง ยูนาน น่านเจ้า เป็นต้น และไปไกลถึงเปอร์เซีย อาหรับ ในดินแดนตะวันออกกลาง

ราชอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา กรุงศรีอยุธยา ได้ผลิตคิดค้นเงินตราขึ้นใช้ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับเงินตราของต่างชาติด้วย เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรล้านนา ได้แก่ เงินไซซี เงินกำไล เงินเจียง เงินท้อก เงินดอกไม้ ส่วนราชอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาได้ผลิตเงินพดด้วง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองขึ้นใช้ และใช้เบี้ยหอยแทนเงินปลีกย่อย บางครั้งเบี้ยหอยขาดแคลนก็ได้ผลิตเบี้ยโลหะและประกับดินเผาขึ้นใช้ร่วมด้วย

ภายหลังราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาสลายลง กรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ถือกำเนิดขึ้นตามลำดับ ก็ยังคงใช้เงินพดด้วงเช่นครั้งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 การเปิดประเทศสยามสู่อารยประเทศ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินตราให้เป็นสากล นำไปสู่การผลิตเงินตราในลักษณะเหรียญกลมแบนออกใช้เป็นครั้งแรก ต่อมารัชกาลที่ 5 จึงทรงประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง นับตั้งแต่นั้นเงินตราไทยจึงคงเป็นลักษณะเป็นเหรียญกลมแบนต่อเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์เงินไทย

แก้

ประวัติหน่วยเงินในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อชุมชนขยายตัวในดินแดนที่เป็นแหลมอินโดจีนในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันในสมัยก่อนว่า "สุวรรณภูมิ" ซึ่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชนหลายเชื้อชาตินับตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ มีสร้างเมือง เขตแคว้นและพัฒนามาเป็นราชอาณาจักร โดยเงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และเงินตราไทยเริ่มมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเมื่ออาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจ โดยได้ผลิตเงินตราที่ทำขึ้นจากโลหะเงิน มีสัณฐานกลม เรียกว่า “เงินพดด้วง” ออกใช้ และสืบทอดสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินพดด้วงเป็นเงินตราประจำชาติไทยมายาวนานกว่า 600 ปี ก่อนที่จะมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้เป็นเงินตราจนกระทั่งทุกวันนี้

 
เงินพดด้วงสมัยกรุงศรีอยุธยาในหนังสือ Histoire générale des voyages ของ อาเบ เพรว็อสต์ แดกซีล์ (ฝรั่งเศส: Abbé Antoine François Prévost d’Exiles.) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

สมัยอาณาจักรฟูนัน

แก้

อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองทางการค้าขายและมีอำนาจในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6 – 11 อาณาจักรฟูนันได้รับเอาวัฒนธรรมมาจากอินเดียที่เด่นชัด ได้แก่ การปกครองในระบอบกษัตริย์ และศาสนาพราหมณ์ ทำให้เงินตราที่ชาวฟูนันใช้ในการค้าขาย มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ การปกครองและศาสนา มีลักษณะเป็นเหรียญกลมแบน ส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะเงิน ลวดลายของเหรียญที่พบด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ครึ่งดวงแผ่รัศมี มีจุดไข่ปลาเรียง 2 แถว อีกด้านมีสัญลักษณ์ศรีวัตสะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์อยู่ตรงกลาง ข้างหนึ่งของศรีวัตสะเป็นบัณเฑาะว์ หมายถึง กลองเล็กชนิดหนึ่งที่พราหมณ์ใช้ในพิธีต่าง ๆ อีกข้างหนึ่งเป็นเครื่องหมายสวัสดิกะ ส่วนบนสุดของเหรียญเป็นรูปดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ลวดลายที่ปรากฏบนเหรียญแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ของชาวอินเดียโบราณ

สมัยอาณาจักรทวารวดี

แก้

เมื่ออาณาจักรฟูนันได้ล่มสลายลง ได้มีแคว้นและอาณาจักรหลายแห่งตั้งตัวเป็นอิสระและผลัดเปลี่ยนกันครองอำนาจ รวมทั้งดินแดนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณภาคกลาง ได้แก่ เมืองนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ได้รวมตัวกันขึ้นเป็นอาณาจักรทวารวดี และมีความรุ่งเรืองอย่างมาก ในพุทธศตวรรษที่ 11 -16 โดยยังคงสืบทอดการปกครองในระบอบกษัตริย์ และในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ขอมเรืองอำนาจ อาณาจักรทวารวดีจึงรับเอาความเชื่อจากขอมไว้ด้วย เงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการค้าขายจึงมีลวดลายและสัญลักษณ์เกี่ยวกับกษัตริย์ อำนาจรัฐ และความอุดมสมบูรณ์ ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ

เหรียญทวารวดีที่สำคัญคือ เหรียญรูปสังข์ใหญ่ รูปสังข์เล็ก รูปกระต่ายบนดอกบัว และรูปแพะ รอบขอบเหรียญมีจุดไข่ปลา อีกด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์ ศรีวัตสะ ขนาบข้างด้วยอังกุศ (ขอช้าง) ด้านบนมีรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ ด้านล่างมีรูปปลา นอกจากนี้มีการค้นพบเหรียญที่มีลักษณะกลมแบน มีลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปปูรณกลศ (หม้อน้ำ) รูปธรรมจักร รูปวัว อีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณ เป็นต้น

สมัยอาณาจักรศรีวิชัย

แก้

ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 การค้าทางทะเลมีความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้เมืองที่อยู่บนคาบสมุทรมลายู ได้แก่ ไชยา และนครศรีธรรมราช มีความสำคัญมากขึ้น จนในที่สุดดินแดนแถบนี้จนถึงเกาะสุมาตราได้รวมตัวกันเป็นอาณาจักรศรีวิชัย ที่มีระบบการปกครองในระบอบกษัตริย์ ประชาชนนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน และเนื่องจากมีความสามารถทางด้านการค้าขาย จึงมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันมาก หลักฐานการขุดพบสื่อกลางหรือเงินตราในอาณาจักรแห่งนี้มี 2 ประเภท คือ “เงินดอกจัน” ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกลมแบน ทำด้วยโลหะเงินและทองคำ ด้านหนึ่งเป็นตรา 4 แฉก ส่วนอีกด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณอ่านได้ว่า “วร” แปลว่า “ประเสริฐ” อีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า “เงินนโม” มีลักษณะค่อนข้างกลมแบน มีขนาดเล็ก ด้านหนึ่งมีอักษรสันสกฤตโบราณคล้ายอักษร “น” ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรอยบากเป็นร่องตรงกลาง ทำจากแร่เงินผสมพลวงซึ่งเป็นแร่ที่หาได้ง่ายทางภาคใต้ ด้วยเหตุที่ประชาชนในบริเวณนี้นับถือศาสนาพุทธ จึงได้ตั้งชื่อเงินตราที่มีอักษร “น” ว่า “เงินนโม”

สมัยอาณาจักรสุโขทัย

แก้

อาณาจักรสุโขทัยมีอำนาจและพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีการขยายอาณาเขตลงไปทางใต้จนตลอดแหลมมลายู รวมทั้งมีการผลิตถ้วยชาม และเครื่องปั้นดินเผาที่สวยงามและมีคุณภาพ เรียกว่า “สังคโลก” ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของสุโขทัย

การค้าขายในอาณาจักรสุโขทัยพบว่ามีการใช้สื่อกลางการแลกเปลี่ยนรูปแบบต่าง ๆ แต่สื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่เป็นเอกลักษณ์ คือ “เงินพดด้วง” ซึ่งนับเป็นเงินตราไทยโดยแท้และใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนมายาวนานกว่า 600 ปี พดด้วงที่ใช้ในรัชสมัยนี้มีลักษณะเป็นก้อนกลม ทำด้วยโลหะเงิน ปลายขางอเข้าหากันเป็นปลายแหลม มีรูขนาดใหญ่ระหว่างขา มีตราประทับเพื่อแสดงถึงแหล่งผลิตตั้งแต่ 1 ตรา ไปจนถึง 7 ตราส่วนใหญ่ตราที่พบได้แก่ ตราราชสีห์ ช้าง หอยสังข์ ธรรมจักร บัว กระต่าย และราชวัตร

นอกจากนี้ ยังพบว่าในสมัยสุโขทัยมีการนำโลหะชนิดอื่นซึ่งไม่ใช่โลหะเงิน เช่น ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี มาหลอมให้มีลักษณะคล้ายพดด้วงแต่มีขนาดใหญ่กว่า เรียกแตกต่างกัน เช่น พดด้วงชิน เงินคุบ เงินชุบ หรือเงินคุก รวมทั้งการใช้เบี้ยเป็นเงินปลีกสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าราคาต่ำด้วย

สมัยอาณาจักรอยุธยา

แก้

เงินตราหลักที่ใช้ยังคงเป็นพดด้วงเช่นเดียวกับสมัยสุโขทัย เพียงแต่มีการปรับปรุงให้สวยงามและมีขนาดเล็กกะทัดรัดขึ้น ปลายขาสั้นและไม่ชิดกันเหมือนของสุโขทัย รวมทั้งมีการทำรอยบากให้เล็กลงและตื้นขึ้น และเริ่มมีรอยเมล็ดข้าวสารมาแทนที่ เงินพดด้วงในสมัยนี้มีตราประทับเพียง 2 ตรา โดยตราที่ประทับอยู่ด้านบนคือ ตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนด้านหน้าเป็นตราประจำรัชกาลลักษณะต่าง ๆ เช่น ตราพุ่มข้าวบิณฑ์ ตราพระมหานครินทร์ ตราช่อดอกไม้ ตราช่ออุทุมพร ตราราชวัตร ตราช้าง และตราสังข์ เป็นต้น

สมัยกรุงธนบุรี

แก้

เงินตราที่ใช้ในช่วงต้นรัชกาลยังคงใช้พดด้วงของอยุธยาอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ผลิตพดด้วงประจำรัชกาลออกใช้ มีลักษณะเช่นเดียวกับพดด้วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ประทับตราพระแสงจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลนั้นใช้ ตราตรีศูล และตราทวิวุธ

สมัยรัชกาลที่ 1 - 3

แก้

ในสมัยรัชกาลที่ 1 – 3 เงินตราหลักที่ใช้ยังคงเป็นเงินพดด้วง เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงตราประจำรัชกาลที่ใช้ประทับเท่านั้น โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้มีการผลิตพดด้วง ประทับตรา “บัวอุณาโลม” ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำรัชกาล และตราพระแสงจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน มีขนาดและราคาต่าง ๆ เช่น ตำลึง บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการผลิตพดด้วงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเปลี่ยนตราประจำรัชกาลเป็นรูป “ครุฑ” สืบเนื่องจากพระนามเดิมของพระองค์ คือ “ฉิม” อันหมายถึงฉิมพลี ซึ่งเป็นวิมานของพญาครุฑ และสำหรับพดด้วงที่ผลิตขึ้นใช้ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับตราพระแสงจักร

สมัยรัชกาลที่ 4

แก้

สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เงินตราหลักในช่วงต้นรัชกาลยังคงเป็นเงินพดด้วงประทับตราพระแสงจักรเป็นตราประจำแผ่นดิน และเปลี่ยนตราประจำรัชกาล เป็น “ตรามงกุฎ” มีความหมายสืบเนื่องถึงพระนามเดิมของพระองค์ คือ “เจ้าฟ้ามงกุฎ”

ขณะนั้นประเทศไทยประสบปัญหาการผลิตพดด้วงไม่ทันต่อความต้องการและมีผู้ทำปลอมกันมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้แก้ไขโดยให้ผลิตเงินกระดาษ เรียกว่า “หมาย” ซึ่งใช้วิธีการพิมพ์บนกระดาษอย่างง่าย ๆ ออกใช้ควบคู่กับเงินพดด้วง แต่เงินกระดาษรุ่นนี้ราษฎรไม่นิยมใช้ และถือได้ว่ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเงินตราครั้งใหญ่ของไทย จากเงินพดด้วงที่ใช้กันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นเหรียญกลมแบน รวมทั้งนับเป็นจุดกำเนิดของธนบัตรไทยในภายหลัง

ในปี พ.ศ. 2400 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรได้จัดส่งเครื่องผลิตเหรียญกษาปณ์ขนาดเล็กเข้ามาถวายเป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า “เหรียญบรรณาการ” แต่เนื่องจากเครื่องจักรมีขนาดเล็กผลิตเหรียญได้เพียงวันละเล็กน้อย จึงโปรดให้เลิกใช้ในที่สุด ประกอบกับได้รับเครื่องผลิตเหรียญกษาปณ์แรงดันไอน้ำมาใหม่ จึงโปรดให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงกระสาปน์สิทธิการ” เงินเหรียญชุดแรกที่ผลิตจากเครื่องจักรนี้ มีลักษณะคล้ายกับเหรียญชุดบรรณาการและให้ใช้ควบคู่ไปกับพดด้วง แต่ห้ามไม่ให้ผลิตพดด้วงเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนั้นในสมัยนี้ยังได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกขึ้นเป็นครั้งแรก คือ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตรามหามงกุฎ - กรุงสยาม หรือที่นิยมเรียกว่า “เหรียญแต้เม้ง” เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2407 มี 2 ชนิด คือ ชนิดทองคำ ราคา 4 บาท และชนิดเงิน ราคา 4 บาท

ส่วนการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงส่งผลให้มีเงินต่างประเทศเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยมาก พอรัฐบาลให้ราษฎรใช้เงินเหรียญ ต่างก็เอาเงินบาทไปซ่อนไม่ยอมเอามาเสียภาษี ส่งผลให้เกิดการตัดขัดทางการค้าในช่วง พ.ศ. 2399-2400[1] รัฐบาลให้ช่างไปช่วยกงสุลอังกฤษและสหรัฐอเมริกาผลิตเงินเหรียญ ไม่พอผลิตเงินบาท จึงให้คณะทูตที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีซื้อเครื่องจักรทำเงินเหรียญมาด้วย พอติดตั้งแล้วก็ผลิตเงินแบบเงินเหรียญ เรียกว่า "เงินแป"[2] เงินแปมีตั้งแต่บาทหนึ่ง สองสลึง สลึงและเฟื้อง มีตราหน้าหนึ่งรูปพระมหาพิไชยมงกุฎอยู่กล้าง มีฉัตรอยู่สองข้าง มีกิ่งไม้เป็นเปลวแทกรอยู่ในท้องลาย อีกหน้าหนึ่งมีรูปจักร ใจกลางมีรูปช้าง รอบวงจักรชั้นนอกมีดาวแสดงมูลค่าของเงิน[2] นอกจากนี้ยังผลิตเงินออกมาอีกแบบหนึ่ง ทำจากทองคำ มีราคาสิบสลึง ต่อมาก็ได้ผลิตเงินทำจากทองแดงออกมาอีกสองชนิด คือ ซีก และเสี้ยว

สมัยรัชกาลที่ 5

แก้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระยะแรกได้มีการผลิตเหรียญดีบุกโสฬสออกใช้ในรัชกาล ด้านหน้าเป็นตราพระเกี้ยวหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตราพระจุลมงกุฎ อันเป็นตราประจำรัชกาลของพระองค์ ด้านหลังเป็นรูปช้างในวงจักร

ในปี พ.ศ. 2418 ได้โปรดให้สร้างโรงกษาปณ์แห่งใหม่ขึ้น พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักรใหม่ที่มีกำลังผลิตและประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม และได้เริ่มผลิตเหรียญเงิน ตราพระบรมรูป- ตราอาร์ม (ตราแผ่นดิน) ซึ่งนับเป็นเหรียญรุ่นแรกที่มีพระบรมรูปพระมหากษัตริย์บนหน้าเหรียญตามแบบสากลนิยมและได้ถือปฏิบัติมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

นอกจากนั้นยังทรงปฏิรูประบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนหน่วยเงินตราของไทยที่มีมาแต่เดิมจากหน่วยเรียกตามน้ำหนัก ได้แก่ ทศ พิศ พัดดึงส์ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและการจัดทำบัญชี ด้วยการนำเอาระบบทศนิยมตามแบบสากลมาใช้ คือหน่วยเงินบาท และสตางค์ อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับเงินพดด้วงซึ่งได้หยุดผลิตตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา แต่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกใช้อย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีศพพระองค์หญิงเจริญกมลศุขสวัสดิ์ พระราชธิดาองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 2 เนื่องในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระเทพสิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี และในวันที่ 28 ตุลาคม 2447 ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้พดด้วงทุกชนิดราคา หลังจากที่ได้ใช้มาเป็นเวลานานกว่า 6 ศตวรรษ ซึ่งนับว่าเป็นยุคสิ้นสุดของเงินพดด้วงอย่างแท้จริง

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้โรงกษาปณ์ปารีส ผลิตเหรียญตราพระบรมรูป-ไอราพต เพื่อนำออกใช้หมุนเวียนแทนเงินตรารุ่นเก่า แต่ยังไม่ทันออกใช้พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาเหรียญดังกล่าวได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนอย่างมาก และนิยมเรียกว่า “เหรียญหนวด”

สมัยรัชกาลที่ 6 - 8

แก้

ในสมัยรัชกาลที่ 6 - 8 เป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนั้นยังเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของประเทศไทย

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เงินตราที่ใช้ในช่วงต้นรัชกาลยังคงเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงทรงให้กรมกระสาปน์สิทธิการผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดเงินราคาหนึ่งบาท ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังเป็นรูปไอราพตออกใช้หมุนเวียน

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการผลิตเหรียญประจำรัชกาลออกใช้ เป็นเหรียญกษาปณ์เงินพระบรมรูป ชนิดราคา 50 สตางค์ และ 25 สตางค์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการผลิตเหรียญชนิดราคา 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ และ 5 สตางค์ ออกใช้หมุนเวียนในรัชกาล 2 รุ่น รุ่นแรกมีพระบรมรูปขณะทรงพระเยาว์ประทับด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นพระครุฑพ่าห์ รุ่นที่สองมีลักษณะด้านหน้าและด้านหลังเหมือนกับรุ่นแรก แต่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเปลี่ยนเป็นพระบรมรูปเมื่อครั้งเจริญพระชนมพรรษา

สมัยรัชกาลที่ 9

แก้

ในปี พ.ศ. 2493 ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนรุ่นแรกออกใช้ เป็นเหรียญอะลูมิเนียมบรอนซ์ หรือทองแดง ชนิดราคา 5 สตางค์ 10 สตางค์ 25 สตางค์ และ 50 สตางค์ ลวดลายด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชด้านหลังเป็นตราแผ่นดินของไทย

และในปี พ.ศ. 2529 ได้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนครั้งใหญ่ทุกชนิดราคา ทั้งส่วนผสม ขนาด และรูปแบบ รวมทั้งได้กำหนดให้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา 10 บาท และ 10 สตางค์ ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่นำออกใช้มี 8 ชนิดราคา ได้แก่ ชนิดราคา 10 บาท 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ และในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ชนิดราคา 2 บาท ออกใช้เพิ่มขึ้นอีก 1 ชนิดราคา ทำให้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ออกใช้ในปัจจุบันมี 9 ชนิดราคาด้วยกัน แต่เหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 1 สตางค์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ ไม่ได้นำออกใช้หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน หากแต่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในระบบบัญชีเท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกขึ้นในโอกาสและเหตุการณ์สำคัญ ๆ โดยมีสภาพเป็นเงินตราสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายตามราคาที่ปรากฏบนหน้าเหรียญ โดยเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกที่ผลิตเป็นเหรียญแรกในรัชสมัยนี้ คือ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเสด็จนิวัตพระนคร ซึ่งผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2504 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จนิวัตพระนครหลังจากเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในภาคพื้นยุโรป เป็นเหรียญชนิดนิกเกิล ราคา 1 บาท มีลวดลายด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งนับเป็นเหรียญแรกที่ปรากฏพระรูปเจ้านายฝ่ายหญิงบนเหรียญกษาปณ์ไทย ส่วนด้านหลังมีตราอาร์มและข้อความบอกราคา

ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการทดลองผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกชนิดพิเศษซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมเหรียญทั่วโลก เป็นเหรียญขัดเงา (Proof Coin) ขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเฉพาะราชวงศ์ ไม่ได้นำออกจ่ายแลกให้กับประชาชนทั่วไป จนกระทั่งในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 12 สิงหาคม 2535 จึงได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกประเภทขัดเงาให้ประชาชนแลกซื้อได้เป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงได้มีการผลิตเหรียญประเภทขัดเงาควบคู่ไปกับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศด้วย

และในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งนับเป็นปีแห่งการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสดังกล่าว กรมธนารักษ์ได้มีการผลิตเหรียญประเภทขัดเงาและลงสีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้สั่งผลิตเหรียญที่ใช้เทคนิคการพิมพ์สีลงบนโลหะเงินบริสุทธิ์จากโรงกษาปณ์เพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการผลิตเหรียญกษาปณ์ไทย

อ้างอิง

แก้
  1. ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 184-185.
  2. 2.0 2.1 ชัย เรืองศิลป์ (2541). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. ไทยวัฒนาพานิช. ISBN 9740841244. หน้า 186.
  • หนังสือวิวัฒนาการเงินตราไทย,กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง,จัดทำ และพิมพ์ บริษัท ดาวฤกษ์ จำกัด, 2545

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้