เครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์

ในคริสตจักรโรมันคาทอลิกมีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณที่ต้องใช้สิ่งของหรือสถานที่ต่าง ๆ เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา เช่น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ประกอบพระวาจา สถานที่สำหรับนักขับ แท่นบูชา ตู้ศีล กำยาน น้ำเสก น้ำมัน รูปภาพ-รูปปั้น ฯลฯ แต่ละอย่างในพิธีกรรมนั้น มีความเป็นมาและความหมายแตกต่างกันไป

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แก้

 
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ตามประมวลกฎหมายพระศาสนจักร กำหนดว่า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ สถานที่ออกแบบไว้เพื่อนมัสการพระเป็นเจ้า หรือสำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ต้องมีการเสกหรือทำให้ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ ส่วนที่เป็นบาทหลวง คือตั้งแต่แท่นบูชาเป็นต้นไป เป็นสถานที่สำหรับบาทหลวงที่ถูกแยกออกจากสัตบุรุษ[1]

สถานที่ประกอบพระวาจา แก้

เป็นสถานที่สำหรับการอ่านบทอ่านจากคัมภีร์ไบเบิล หรือเทศนาของบาทหลวง

สถานที่สำหรับนักขับ แก้

ในอดีตจะแยกสถานที่สำหรับนักขับออกไปต่างหาก แต่ปัจจุบันนี้ถือว่านักขับก็เป็นส่วนหนึ่งของสัตบุรุษ จึงมีที่นั่งรวมกับสัตบุรุษ

แท่นบูชา แก้

 
แท่นบูชา

ความหมายของแท่นบูชา ก่อนอื่นหมดเป็นโต๊ะอาหาร บาทหลวงในฐานะผู้แทนองค์พระเยซูกระทำสิ่งซึ่งพระคริสต์ทรงกระทำในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ และทรงสั่งให้พวกท่านกระทำดังนั้นต่อ ๆ กันมาเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ พระแทนของคริสตชนในสมัยแรกเป็นโต๊ะไม้เคลื่อนที่ได้ ต่อมาเป็นแบบตั้งอยู่กับที่ และในจารีตละตินให้เป็นแบบทำศิลาหรือหิน ซึ่งแท่นหรือหินเป็นรูปแบบที่ชาวอิสราเอลใช้เป็นที่ถวายเครื่องบูชาแต่พระเจ้า

ตู้ศีล (Tabernacle) คืออุปกรณ์ที่บรรจุศีลมหาสนิทหรือแผ่นปัง ที่อยู่ในนิกายโรมันคอทอลิกหรือนิกายออร์ทอดอกซ์ จะบรรจุไว้และใช้งานเมื่อประกอบ พิธีกรรมทางศาสนาที่เรียกว่า "มิสซา" จะนำมาให้กับสัตบุรุษ หรือชาวคริสต์ที่รับศีลต่างแล้วเหมาะสมที่จะรับสิ่งนี้ ปัจจุบันศาสนาคริสต์มีมากมายอาจจะทำรูปแบบตู้ศีลในศิลปะและวัฒนธรรม ลวดลายของตู้ศีลสวยมากมาย แล้วแต่จะ ทำขึ้นมาในรูปแบบต่าง ๆ ชาวคริสต์ถือว่าตู้ศีลก็สำคัญในพิธีมิสซาอย่างหนึ่ง หรือบางที่ประกอบพิธีกรรมอาจจะไม่มีตู้ศีลอาจจะเสกแผ่นปังช่วงนั้นเลย

เทียนหรือแสงสว่าง แก้

 
เทียนและแสงสว่าง

เป็นเครื่องหมายแห่งความปีติยินดี เตือนให้ระลึกการประทับอยู่ของพระเจ้า เป็นเครื่องหมายแห่งคำภาวนาหรือการเป็นพยานถึงพระคริสต์ พวกคริสตชนจึงจุดไว้ที่แท่นบูชา หน้ารูปศักดิ์สิทธิ์ต่อหน้าศีลมหาสนิท

ความหมายอีกประการหนึ่งคือ พระคริสต์ทรงเป็นแสงสว่าง คริสตจักรได้ใช้พิธีเสกไฟหรือเทียน พิธีปัสคาในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่จากความมืดมาสู่ความสว่างหรือชีวิตใหม่ ดังนั้นในพิธีกรรมต่าง ๆ ของเรา การใช้สัญลักษณ์หรือความหมายของแสงสว่าง เป็นการช่วยให้เราเข้าใจถึงแสงสว่างของพระคริสต์ เป็นเครื่องหมายถึงการประทับอยู่ของพระคริสต์ท่ามกลางเรา

กำยาน แก้

พระศาสนจักรใช้กำยานในเวลาประกอบพิธีการต่าง ๆ เป็นเครื่องหอมที่ถวายแด่พระเป็นเจ้า เป็นเครื่องหมายแทนการอธิษฐานที่ลอยขึ้นไปสวรรค์ หรือหมายถึงเครื่องบูชาที่นำมาถวายแด่พระเป็นเจ้านอกนั้น ยังถวายกำยานแด่พระแท่นที่เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระคริสต์ผู้ถวายบูชาเพื่อเรา

น้ำเสก แก้

มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่โบราณกาลมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพื่อการชำระล้างสิ่งโสโครก หรือบาปมลทินให้สะอาดบริสุทธิ์ เช่นเดียวกันกับที่ชนต่างศาสนาได้ใช้มาก่อน น้ำเสกที่พรมในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือโบสถ์นั้น “ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์” ด้วยคำภาวนาของพระศาสนจักร เพื่อขับไล่จิตชั่ว และทำให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์

น้ำเสก มีจุดประสงค์ส่วนใหญ่ใช้ประพรมในสถานที่ต่าง ๆ อาทิเช่น บ้านเรือน โบสถ์ ท้องทุ่ง แม้แต่การพรมน้ำเสกให้แก่สัตบุรุษในวันอาทิตย์ ก็ดูจะเหมือนว่ามีกำเนิดมาจากการต้องกระทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อน ตามกฎพระวินัยของนักพรต ซึ่งวิธีการยังคงมีในพิธีอภิเษกโบสถ์ และในการเสกสถานที่ต่าง ๆ

น้ำมัน แก้

ในการฉลองธรรมล้ำลึกแห่งความรอด[2]ในทางพิธีกรรมนั้น บ่อยครั้งคริสตจักรได้นำสิ่ง หรือการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตมาใช้ เช่น รับประทาน (ปัง) ดื่ม (เหล้าองุ่นในโต๊ะอาหาร) อาบน้ำ รวมทั้งการใช้น้ำมันด้วย สื่อภาษาเหล่านี้สามารถแสดงออกในแง่มุมต่าง ๆ ถึงการกระทำที่นำความรอดมาให้จากพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อพูดถึงน้ำมัน มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์หลายรูปแบบ เช่น ใช้ประกอบอาหารโดยเฉพาะในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ใช้ในการให้แสงสว่าง เช่น น้ำมันตะเกียง ใช้เป็นยาทาผิวหนัง เช่น น้ำร้อนลวก ฟกช้ำ ใช้ผสมน้ำหอม ชโลมให้สดชื่น และบำรุงผิวให้งาม ดังนั้นจึงเป็นการแปลกที่น้ำมันกลายเป็นเครื่องหมายของความสดชื่น มีสุขภาพดี มีสันติสุข และในการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ได้นำน้ำมันมาใช้เพื่อหมายถึงเครื่องมือแห่งพระคุณพระจิตในตัวผู้รับศีลล้างบาป ศีลกำลัง ศีลเจิมคนไข้ และศีลบวช

รูปปั้น – รูปภาพ แก้

คริสตชนได้ใช้รูปปั้นรูปต่าง ๆ แม้แต่ในสถานที่ประกอบพิธีกรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นสื่อช่วยกระตุ้นจิตใจให้ตอบสนองความเชื่อความศรัทธา รูปปั้นหรือรูปภาพต่าง ๆ นั้นเป็นรูปพระเยซูถูกตรึงที่กางเขนบ้าง เป็นรูปพระจิตในสัญลักษณ์ของนกพิราบบ้าง ตลอดจนรูปพระนางมารีย์และนักบุญต่าง ๆ รวมทั้งรูปกระจกสีที่ประดับตามประตูหน้าต่างของโบสถ์วิหาร เป็นภาพเล่าประวัติทางพระวรสาร หรือ ภาพเดี่ยว ๆ ปัจจุบันเราอยู่ในศตวรรษแห่งภาพต่าง ๆ ก็ได้ อันเนื่องมาจากความเจริญทางสื่อมวลชนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางโทรทัศน์ วิดีโอ และภาพยนตร์ จึงน่าให้ความสำคัญและสนใจในเรื่องนี้ว่าเราจะสามารถนำสื่อต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ นอกจากการสอนพระธรรมคำสอนแล้ว ยังเป็นการดีที่จะใช้เพื่อเป็น “ภาษา” แห่งการประกอบพิธีกรรมของคริสตชนด้วย

อ้างอิง แก้

  1. "(Liturgical Year) และพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ (Eucharistic Celebration) "". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-18. สืบค้นเมื่อ 2009-04-07.
  2. "การเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า"