อิสระชัย บำรุงพงศ์

พลโท อิสระชัย บำรุงพงศ์ (10 สิงหาคม 2483 – 30 กรกฎาคม 2552) เป็นนายทหารชาวไทย อดีตรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอดีตนายทหารพิเศษ

อิสระชัย บำรุงพงศ์
เกิด10 สิงหาคม พ.ศ. 2483
เสียชีวิต30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 (68 ปี)
คู่สมรสมันทนา บำรุงพงศ์
บุตรดวงกมล นวลแข
อาริษา บำรุงพงศ์
สืบพงศ์ บำรุงพงศ์
บิดามารดาพลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์
คุณหญิงจรัสลักษณ์ บำรุงพงศ์

ประวัติ แก้

ชีวิตส่วนตัว แก้

อิสระชัย บำรุงพงศ์ เกิดวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2483 อิสระชัย เกิดในค่ายทหาร ตำบลนาเชย อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรชายคนเดียวของพล.อ. บุญชัย บำรุงพงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก และคุณหญิงจรัสลักษณ์ บำรุงพงศ์

ครอบครัว แก้

พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ สมรสกับนางมันทนา บำรุงพงศ์ (สกุลเดิม : ไหลมา) มีบุตรและธิดารวม 3 คนได้แก่

  1. นางดวงกมล นวลแข
  2. นางสาวอาริษา บำรุงพงศ์
  3. นายสืบพงศ์ บำรุงพงศ์

ยศทางทหาร แก้

  • พ.ศ. 2507 - ร้อยตรี
  • พ.ศ. 2509 - ร้อยโท
  • พ.ศ. 2513 - ร้อยเอก
  • พ.ศ. 2517 - พันตรี[1]
  • พ.ศ. 2520 - พันโท[2]
  • พ.ศ. 2524 - พันเอก[3]
  • พ.ศ. 2533 - พลตรี[4]
  • พ.ศ. 2538 - พลโท[5]

การศึกษา แก้

ประวัติการศึกษา แก้

หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เมื่อพ.ศ. 2500 ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อย เป็นนักเรียนเตรียมนายร้อยรุ่นที่ 18 ต่อจากนั้นจึงได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 11 และสำเร็จการศึกษาได้รับพระราชทานยศเป็นว่าที่ร้อยตรี เหล่าทหารราบ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2507

การศึกษาทางทหาร แก้

หลังจากเข้ารับราชการทหารแล้ว พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ ได้เข้าศึกษาและอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้

  • พ.ศ. 2508 - หลักสูตรศิษย์การบิน ชั้นมัธยม รุ่นที่ 5 โรงเรียนการบินทหารบก
  • พ.ศ. 2510 - หลักสูตรภาษาอังกฤษ และนักบินปีกหมุน โรงเรียนภาษาอังกฤษ แลคเลนด์ และโรงเรียนการบินทหารบก ค่ายลักเกอร์ สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2513 - หลักสูตรชั้นนายพันทหารราบ โรงเรียนทหารราบกองทัพบก ค่ายเบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2514 - หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 50 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
  • พ.ศ. 2518 - หลักสูตรผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการฟอร์ทลีเวนเวอร์ท รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2518 - หลักสูตรระบบการบริหาร ศูนย์การศึกษาการบริหารทรัพยากร กระทรวงกลาโหม เมืองมอนเทอร์เรย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2536 - หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ รุ่นที่ 35

ตำแหน่งหน้าที่การงาน แก้

พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ เป็นนายทหารที่รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างมั่นคง มีความขยัน มานะอดทน ปฏิบัติงานด้วยความจริงจัง ทุ่มเทเวลาให้กับงานที่รับผิดชอบโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยในทุกตำแหน่งหน้าที่ มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูง พร้อมทั้งได้ทุ่มเทความรู้ ความสามารถ สร้างสรรค์ พัฒนาให้กับหน่วยงานที่สังกัดอย่างเต็มกำลังโดยไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ เป็นผู้นำที่ดี และเป็นครูที่มีคุณค่ากับผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดนจนเพื่อนร่วมงานอย่างเสมอ และจริงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เป็นหลักชัยของครอบครัว ดำเนินชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย แต่มีระเบียบแบบแผน และไม่เคยใช้บารมีของการเป็นลูกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาเป็นอำนาจในการปกครองและบริหารงานอย่างใดเลย จึงเป็นที่เคารพรักและชื่นชมต่อครอบครัวและญาติมิตร รวมทั้งผู้ที่ได้รู้จักและร่วมงานด้วยทุกคน โดยได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

  • พ.ศ. 2508 - ผู้บังคับหมวดเครื่องยิงหนัก กรมผสมที่ 6
  • พ.ศ. 2509 - นักบินกรมการขนส่งทหารบก
  • พ.ศ. 2514 - ผู้ช่วยหัวหน้ากองยุทธการ กองทัพภาคที่ 1
  • พ.ศ. 2516 - ประจำแผนก กรมยุทธการทหารบก
  • พ.ศ. 2518 - รองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • พ.ศ. 2521 - ประจำกรมข่าวทหารบก
  • พ.ศ. 2524 - นายทหารฝ่ายเสนาธิการ สถาบันวิชาการทหารบกขั้นสูง
  • พ.ศ. 2528 - นายทหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาการรบ กองวิชาการ สถาบันวิชาการทหารบกขั้นสูง
  • พ.ศ. 2533 - ผู้อำนวยการศูนย์กรรมวิธีข้อมูล
  • พ.ศ. 2533 - พ.ศ. 2535, พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2541 - หัวหน้าสำนักงานประสานการช่วยเหลือทางทหารระหว่างประเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด
  • พ.ศ. 2538 - ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
  • พ.ศ. 2540 - ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนนายร้อย รักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า[6]

ความสนใจทางการกีฬา แก้

พล.ท. อิสระชัย เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง เป็นยอดนักกีฬาที่มีความสามารถเฉพาะตัวทางด้านกีฬาเกือบทุกประเภท จึงได้เป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับนักเรียนนายร้อย อีกทั้งยังเป็นตัวแทนระดับกองทัพบกอยู่หลายสมัย กีฬาประเภทที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงสมัยเป็นนักเรียนคือ รักบี้ฟุตบอล และกรีฑาประเภทวิ่งระยะทาง 100 เมตร เมื่อเข้ารับราชการได้หันมาเอาจริงจังกับกีฬากอล์ฟ ซึ่งปรากฏว่ามีฝีมือใกล้เคียงกับระดับมืออาชีพ ทั้งนี้เพราะเป็นผู้ที่ขยันศึกษาและฝึกฝนอย่างจริงจัง นอกจากนี้เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้นได้กลับมาวิ่งเป็นประจำทุกวัน จนเมื่ออายุ 58 ปี ได้ผันตัวเองเป็นนักกีฬาจักรยาน โดยมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมระยะทาง 5-10 กิโลเมตรต่อวันเป็นประจำ และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มนักปั่นจักรยานเสือภูเขาที่ได้มีโอกาสไปปั่นจักรยานอยู่เสมอในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยแม้กระทั่งถึงล้านนา

ถึงแก่อนิจกรรม แก้

พล.ท. อิสระชัย บำรุงพงศ์ ประสบกับภาวะหัวใจล้มเหลวในขณะพักเหนื่อยจากการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในช่วงเช้าของวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2548 จนทำให้สมองได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยพล.ท. อิสระชัย ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และเข้า - ออกโรงพยาบาลเป็นเวลานานถึง 4 ปี 4 เดือน และถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในเช้าของวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สิริอายุ 68 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 91 ตอนที่ 218 วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2517, หน้า 75)
  2. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 94 ตอนที่ 127 วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2520, หน้า 66)
  3. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 98 ตอนที่ 186 วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524, หน้า 43)
  4. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (เล่ม 107 ตอนที่ 235 วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533, หน้า 6)
  5. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารชั้นนายพล (เล่ม 112 ตอนที่ 8 ข วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2538, หน้า 7) เก็บถาวร 2018-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายทหารพิเศษ (เล่ม 114 ตอน 59 ง วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540, หน้า 4)
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๒๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๕, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗, ๑๕ กันยายน ๒๕๑๙
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๖๔ ง หน้า ๒๑๕๗, ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๓