อำเภอบึงสามพัน
บึงสามพัน เป็นอำเภอในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอำเภอที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีจุดตัดทางถนนระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (สระบุรี–หล่มสัก) กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (นครสวรรค์–ชัยภูมิ) อีกทั้งเป็นอำเภอทางผ่านไปสู่ตัวจังหวัด จึงทำให้สะดวกทั้งการค้าขายและการเดินทาง
อำเภอบึงสามพัน | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Bueng Sam Phan |
ภายในเขตเทศบาลตำบลซับสมอทอด | |
คำขวัญ: หลวงพ่อคู่บ้าน บึงสามพันคู่เมือง ลือเลื่องบุญบั้งไฟ ยิ่งใหญ่แข่งเรือ งามเหลือทุ่งทานตะวัน | |
แผนที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เน้นอำเภอบึงสามพัน | |
พิกัด: 15°47′48″N 101°0′30″E / 15.79667°N 101.00833°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เพชรบูรณ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 489.8 ตร.กม. (189.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 71,327 คน |
• ความหนาแน่น | 145.63 คน/ตร.กม. (377.2 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 67160 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 6708 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอบึงสามพัน ถนนสระบุรี-หล่มสัก ตำบลบึงสามพัน อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ 67160 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอบึงสามพัน มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอชนแดนและอำเภอหนองไผ่
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอภักดีชุมพล (จังหวัดชัยภูมิ)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอวิเชียรบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอไพศาลีและอำเภอหนองบัว (จังหวัดนครสวรรค์)
ประวัติ
แก้บึงสามพัน เดิมมีฐานะเป็นหมู่บ้านของตำบลบ้านโภชน์ อำเภอวิเชียรบุรี ต่อมาสิบตำรวจเอกสมัคร มงคลกิติ (ยศในขณะนั้น) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสายตรวจเดินทางไปปราบโจรผู้ร้ายที่อำเภอวิเชียรบุรีซึ่งมีตำบลกองทูล ตำบลบ้านโภชน์ ตำบลกันจุเป็นเขตการปกครอง เนื่องจากเส้นทางเป็นทางเดินเท้าหรือใช้ม้าได้เท่านั้น ทำให้การปราบปรามโจรผู้ร้ายไม่ค่อยได้ผล จึงได้ปรึกษาคณะกรรมการท้องถิ่นซึ่งมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและครูในเขตตำบลกองทูลชี้แจงปัญหากับจังหวัดให้จะตั้งกิ่งอำเภอขึ้น และเห็นว่าตำบลกองทูลเป็นพื้นที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอำเภอเมืองเพชรบูรณ์และอำเภอวิเชียรบุรี ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2503 จึงประกาศแยก 3 ตำบลขึ้นเป็น กิ่งอำเภอหนองไผ่[1] โดยตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอ ณ บ้านหนองไผ่ ตำบลกองทูล โดยมีนายสมบูรณ์ อมรบุตร เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอหนองไผ่คนแรก เปิดใช้ที่ว่าการกิ่งอำเภอในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2504[2] ในปี พ.ศ. 2505 ทางราชการได้โอนพื้นที่กิ่งอำเภอหนองไผ่ ของอำเภอวิเชียรบุรี ไปขึ้นกับอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ พื้นที่ตำบลกองทูลจึงย้ายไปขึ้นกับกิ่งอำเภอหนองไผ่ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์[3] ก่อนที่กิ่งอำเภอหนองไผ่จะแยกเป็นเอกเทศออกจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2506[4] พร้อมกับตั้งสุขาภิบาลซับสมอทอด ในพื้นที่บ้านซับสมอทอด ตำบลบ้านโภชน์ (ในขณะนั้น)[5] ซึ่งกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้จัดตั้งก่อนสุขาภิบาลหนองไผ่ที่เป็นที่ตั้งของอำเภอต้นสังกัด
ในปี พ.ศ. 2511 ตำบลบ้านโภชน์มีหมู่บ้านมากกว่า 35 หมู่บ้าน มีพื้นที่กว้างขวาง จึงแยก 23 หมู่บ้านด้านทิศใต้ของตำบลบ้านโภชน์ ตั้งเป็น ตำบลซับสมอทอด[6] เพียง 2 ปี ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2513 เขตตำบลซับสมอทอดมีการจัดตั้งหมู่บ้านเพิ่มขึ้นมาก จึงแยกหมู่บ้านในตำบลซับสมอทอดด้านเหนือ 9 หมู่บ้าน ตั้งเป็นตำบลหนองแจง และแยกหมู่บ้านในตำบลซับสมอทอดด้านตะวันตก 11 หมู่บ้าน ตั้งเป็นตำบลซับไม้แดง[7] พ.ศ. 2518 กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าหมู่บ้านซับสมอทอด ในเขตตำบลซับสมอทอด เป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจ มีตลาดเป็นที่ประชุมชนและมีความเจริญมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชุมชนไปตามแนวถนนคชเสนีย์ มีความเป็นศูนย์กลาง จึงแยกตำบลกันจุ ตำบลซับสมอทอด ตำบลหนองแจง และตำบลซับไม้แดง ออกมาจากอำเภอหนองไผ่และจัดตั้งขึ้นเป็น "กิ่งอำเภอบึงสามพัน"[8]
ชื่อ "บึงสามพัน" มาจากชื่อเรียกของบึง ที่อยู่ห่างจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอบึงสามพัน ประมาณ 3 กิโลเมตร มีจระเข้ในบึงนี้เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงปี พ.ศ. 2500 (บางแหล่งก็ว่า พ.ศ. 2493) นั้น คาดกันว่ามีจระเข้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัว ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อบึงสามพันที่เรียกกันตั้งแต่สมัยนั้น และในการตั้งกิ่งอำเภอนี้เมื่อ พ.ศ. 2518 นั้นทางภาครัฐที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นก็ได้พิจารณาใช้ชื่อกิ่งอำเภอนี้ว่าบึงสามพัน จากเดิมที่จะใช้ชื่อว่ากิ่งอำเภอซับสมอทอดตามชื่อตำบล ด้วยเห็นว่าบึงสามพันมีประวัติความเป็นมาและมีเอกลักษณ์[9] ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2522[10]
ในปี พ.ศ. 2525 ได้แยกหมู่ 12 บ้านวังพิกุล ของตำบลซับไม้แดงรวมกับอีก 3 หมู่บ้าน ตั้งเป็น ตำบลวังพิกุล[11] ในเดือนกันยายนปีเดียวกันได้แยกหมู่ 13 บ้านพญาวัง ของตำบลซับไม้แดงรวมกับอีก 5 หมู่บ้าน ตั้งเป็น ตำบลพญาวัง[12] เมื่อพื้นที่มีความเจริญขึ้นตามลำดับ ชุมชนซับสมอทอดขยายตามแนวถนนคชเสนีย์ไปมากกว่าเขตพื้นที่เดิมจึงเปลี่ยนเขตสุขาภิบาลซับสมอทอด ตั้งแต่กม.ที่ 139.0 (ด้านใต้) - กม.ที่ 143.5 (ด้านเหนือ) ซึ่งมีพื้นที่เขตชุมชนยาวกว่า 4 กิโลเมตร[13] พร้อมกับการสร้างโรงพยาบาลบึงสามพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528[14]
อำเภอบึงสามพันเริ่มจัดตั้งตำบลใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 โดยแยกหมู่ 4 บ้านศรีมงคล ของตำบลพญาวัง รวมกับอีก 9 หมู่บ้าน ตั้งเป็น ตำบลศรีมงคล[15] และในปี พ.ศ. 2535 ด้านทิศตะวันออกของตำบลกันจุ เขตหมู่ 14 บ้านสระแก้ว กับอีก 7 หมู่บ้าน ได้ขอแยกตั้งเป็น ตำบลสระแก้ว[16] ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2536 ด้านตะวันออกของเขตตำบลซับสมอทอดมีประชากรและหมู่บ้านมาก จึงแยกตามแนวถนนสระบุรี-หล่มสัก รวม 10 หมู่บ้าน ตั้งเป็น ตำบลบึงสามพัน[17] เป็นตำบลลำดับที่ 9 ของทางอำเภอบึงสามพัน จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาได้มีการจัดตั้งและกำหนดเขตหมู่บ้านใหม่ในอำเภอบึงสามพัน โดยวันที่ 19 กันยายน 2546 ได้แยกบ้านถนนโค้ง หมู่ที่ 7 ตำบลหนองแจง จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านคลองปากโบสถ์ หมู่ที่ 17 ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2547 ได้แยกบ้านลำพื้นทอง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองแจง จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านโรงวัว หมู่ที่ 18 และวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ได้แยกบ้านศรีมงคล หมู่ที่ 1 ตำบลศรีมงคล จัดตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ชื่อบ้านศรีมงคลใต้ หมู่ที่ 11 รวมทั้งแยกบ้านหินดาดใหญ่ หมู่ที่ 6 ตำบลซับไม้แดง จัดตั้งเป็นหมู่ที่ 15 บ้านไทยถาวร
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอบึงสามพันแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 9 ตำบล 123 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | ซับสมอทอด | (Sap Samo Thot) | 9 หมู่บ้าน | 6. | พญาวัง | (Phaya Wang) | 16 หมู่บ้าน | |||||||
2. | ซับไม้แดง | (Sap Mai Daeng) | 15 หมู่บ้าน | 7. | ศรีมงคล | (Si Mongkhon) | 11 หมู่บ้าน | |||||||
3. | หนองแจง | (Nong Chaeng) | 18 หมู่บ้าน | 8. | สระแก้ว | (Sa Kaeo) | 9 หมู่บ้าน | |||||||
4. | กันจุ | (Kan Chu) | 19 หมู่บ้าน | 9. | บึงสามพัน | (Bueng Sam Phan) | 10 หมู่บ้าน | |||||||
5. | วังพิกุล | (Wang Phikun) | 16 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอบึงสามพันประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลซับสมอทอด ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลซับสมอทอดและตำบลบึงสามพัน
- องค์การบริหารส่วนตำบลซับสมอทอด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลซับสมอทอด (นอกเขตเทศบาลตำบลซับสมอทอด)
- องค์การบริหารส่วนตำบลซับไม้แดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลซับไม้แดงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลกันจุ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกันจุทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวังพิกุล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังพิกุลทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลพญาวัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพญาวังทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลศรีมงคล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีมงคลทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสระแก้วทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแจง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแจงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบึงสามพัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบึงสามพัน (นอกเขตเทศบาลตำบลซับสมอทอด)
อ้างอิง
แก้- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกฐานะตำบลขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 77 (108 ง): 2562–2564. วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2503
- ↑ "ประวัติอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์". สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-17. สืบค้นเมื่อ 2024-01-03. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๐๕" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 79 (73 ก): 940–942. วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2505
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอบ่อพลอย อำเภอไทรโยค อำเภอหนองปรือ อำเภอหนองสองห้อง อำเภอประทาย อำเภอห้วยแถลง อำเภอละหานทราย อำเภอกุยบุรี อำเภอตาพระยา อำเภอหนองไผ่ อำเภอนาเชือก อำเภอวัดเพลง อำเภอพนัสนิคม อำเภอภูกระดึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอท่าช้าง อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอบ้านดง อำเภอสว่างอารมณ์ และอำเภอกุดชุม พ.ศ. ๒๕๐๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (72 ก): 362–366. วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2506
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลซับสมอทอด อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 81 (83 ง): 2231–2232. วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2507
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอหนองไผ่ และอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 85 (28 ง): 1013–1030. วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2511
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 87 (85 ง): 2532–2538. วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2513
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอบึงสามพัน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 92 (98 ง): 1248. วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2518
- ↑ ประวัติความเป็นมา อำเภอบึงสามพัน เก็บถาวร 2021-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอหนองกุงศรี อำเภอไทรงาม อำเภอบ้านฝาง อำเภออุบลรัตน์ อำเภอเวียงชัย อำเภอดอยเต่า อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอนาหว้า อำเภอเสิงสาง อำเภอศรีสาคร อำเภอบึงสามพัน อำเภอนาดูน อำเภอค้อวัง อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเมืองสรวง อำเภอปลวกแดง อำเภอยางชุมน้อย อำเภอกาบเชิง อำเภอสุวรรณคูหา และอำเภอกุดข้าวปุ้น พ.ศ. ๒๕๒๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (42 ก): (ฉบับพิเศษ) 19–24. วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2522
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 99 (65 ง): 1560–1563. วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 99 (130 ง): 3676–3679. วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2525
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลซับสมอทอด อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (38 ง): (ฉบับพิเศษ) 8-9. วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2528
- ↑ "กระทู้ถามที่ ๓๗๗ ของ นายเกษม บุตรขุนทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง การก่อสร้างโรงพยาบาลที่อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (5 ง): 380–382. วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2528
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบึงสามพัน และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 104 (154 ง): 5669–5681. วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2530
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (151 ง): (ฉบับพิเศษ) 85-88. วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอบึงสามพันและอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 110 (201 ง): (ฉบับพิเศษ) 35-39. วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2536