อำเภอกัลยาณิวัฒนา
กัลยาณิวัฒนา (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นเขตการปกครองระดับอำเภอลำดับที่ 25 ของจังหวัดเชียงใหม่ และอันดับที่ 878 ของประเทศไทย จัดตั้งเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2552 และตั้งที่ว่าการอำเภอ ณ ตำบลแจ่มหลวง[1]
อำเภอกัลยาณิวัฒนา | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Galyani Vadhana |
วัดจันทร์ | |
คำขวัญ: กัลยาณิวัฒนาสูงสง่า ป่าสนพันปี วัฒนธรรมประเพณีชนเผ่า พระธาตุเก่าล้ำค่า หกธาราแหล่งต้นน้ำ งามเลิศล้ำอำเภอในฝัน | |
แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ เน้นอำเภอกัลยาณิวัฒนา | |
พิกัด: 19°4′1″N 98°17′40″E / 19.06694°N 98.29444°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | เชียงใหม่ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 674.58 ตร.กม. (260.46 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 12,994 คน |
• ความหนาแน่น | 19.26 คน/ตร.กม. (49.9 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 58130 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5025 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 2 ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ 58130 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เป็น "โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554" ซึ่งดำเนินการโดยสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย[2] โดยมีวัตถุประสงค์ให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประวัติ
แก้โครงการที่จะจัดตั้งอำเภอใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถสืบย้อนไปได้ถึง พ.ศ. 2536 โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 สภาตำบลบ้านจันทร์ได้เสนอแยกกิ่งอำเภอออกจากสามตำบลในอำเภอแม่แจ่ม ได้มีการเตรียมการจัดตั้งกิ่งอำเภอใหม่เป็นเวลาหลายปี แต่ด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ได้ทำให้อำเภอใหม่ทั้งหมดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาถูกรัฐบาลยกเลิกไปเพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม[3] ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระเบียบการพิจารณาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 โดยได้มีการจัดทำข้อเสนอและการศึกษาโดยจังหวัดเชียงใหม่และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีไทยเห็นว่าพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง แห่งอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่การท่องเที่ยว มีเนื้อที่ 674.58 ตารางกิโลเมตร และประชากร 10,561 คน มีการจัดตั้งโครงการพระราชดำริหลายโครงการ มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร การคมนาคมติดต่อเพื่อขอรับบริการต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐ ณ ที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม เป็นไปด้วยความยากลำบาก การให้บริการของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาด้านความสงบเรียบร้อย เรื่องยาเสพติด และปัญหาด้านการลักลอบการตัดไม้ทำลายป่า จึงเห็นชอบให้แยกพื้นที่ดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นอำเภอใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ดี วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่ออำเภอที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้นตามที่กระทรวงมหาดไทยขอพระราชทาน ว่า "อำเภอกัลยาณิวัฒนา" แทนชื่อเดิมที่ใช้ว่า "วัดจันทร์"[4]
เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีโครงการในพระราชดำริในพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้จึงไม่จำเป็นจะต้องจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอก่อนที่จะพัฒนาจนกลายเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์ ที่ว่าการอำเภอกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในหมู่ 2 ตำบลแจ่มหลวง จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จ สภาตำบลบ้านจันทร์จะถูกใช้เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว[5]
ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่" ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ[6] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 97 ก หน้า 7 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และมีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น โดยปรากฏเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่า
"...โดยที่ตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมนุมการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก แต่เนื่องจากมีภูมิประเทศตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ สมควรแยกตำบลดังกล่าวออกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และรวมตั้งเป็น อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และเพื่อส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้"[1]
ลักษณะที่ตั้ง
แก้อำเภอกัลยาณิวัฒนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูงชันล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขา 378,245 ไร่ การเกษตร 30,391 ไร่ ที่อยู่อาศัย 3,327 ไร่ และพื้นที่โล่งสาธารณะ 4,635 ไร่ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,225 มิลลิเมตรต่อปี ฝนตกเฉลี่ย 122 วันต่อปี
อาณาเขต
แก้อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปาย (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสะเมิง
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน (จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอกัลยาณิวัฒนาประกอบด้วย 3 ตำบล 21 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับที่ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | ประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2566)[7] |
ประชากรแยกตามส่วนท้องถิ่น (พ.ศ. 2566)[7] | |
---|---|---|---|---|---|---|
1. | บ้านจันทร์ | Ban Chan | 7 | 4,532 | 4,532 | (อบต. บ้านจันทร์) |
2. | แม่แดด | Mae Daet | 8 | 4,482 | 4,482 | (อบต. แม่แดด) |
3. | แจ่มหลวง | Chaem Luang | 7 | 3,980 | 3,980 | (อบต. แจ่มหลวง) |
รวม | 22 | 12,994 | 12,994 (อบต.) |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอกัลยาณิวัฒนาประกอบด้วยองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) 3 แห่ง ได้แก่
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่แดดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแจ่มหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแจ่มหลวงทั้งตำบล
สภาพสังคม
แก้อำเภอกัลยาณิวัฒนาประกอบด้วยชุมชนชาวเขาหลายเผ่า เช่น กะเหรี่ยง ม้ง และลีซอ เป็นต้น[8] ประชากรของอำเภอกัลยาณิวัฒนาร้อยละ 95 เป็นชาวกะเหรี่ยง[9] ประชากรส่วนน้อยคือ ชาวม้งอาศัยในตำบลแม่แดด[10] และชาวลีซออาศัยที่บ้านเสาแดง ตำบลแจ่มหลวง[11] ประชากรสองกลุ่มหลังนี้เพิ่งอพยพเข้าสู่อำเภอกัลยาณิวัฒนาเมื่อราวห้าทศวรรษที่ผ่านมา[9] ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน และการทอผ้าเป็นอาชีพเสริม[12] การสื่อสารใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก[13][14] ประชากรมีทั้งกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิม อาศัยปะปนกัน[8]
บริเวณนี้ประชากรกลุ่มปัจจุบันเพิ่งรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธเมื่อราว 300 ปีก่อน[9] ทั้งยังพบร่องรอยของซากศาสนสถานของศาสนาพุทธที่คาดว่าเป็นของชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง[15][11] ในกาลต่อมาได้มีพระธรรมจาริกเข้ามาเผยแผ่ศาสนาและสร้างวัดช่วง พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ปัจจุบันอำเภอกัลยาณิวัฒนามีวัดในศาสนาพุทธทั้งหมด 9 แห่ง[16] มีพุทธศาสนิกชนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของตำบลแม่แดด[10] ขณะที่ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาเผยแผ่ในอำเภอกัลยาณิวัฒนาเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยเริ่มเผยแผ่ที่บ้านหนองเจ็ดหน่วย บ้านใหม่พัฒนา บ้านแจ่มหลวง และบ้านเด่น มีมิชชันนารีก่อตั้งโรงเรียนสหมิตรวิทยาขึ้นในพื้นที่[9] เฉพาะตำบลแจ่มหลวง มีคริสต์ศาสนิกชนร้อยละ 95 และมีพุทธศาสนิกชนเพียงร้อยละ 4[13]
จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2552 พบว่าชาวกะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธร้อยละ 54.1 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 39 และศาสนาพื้นเมืองร้อยละ 6.9 ส่วนชาวม้งและชาวลีซอส่วนใหญ่นับถือศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมร้อยละ 82.9 และร้อยละ 97.6 ตามลำดับ[9] อย่างไรก็ตามกลุ่มประชากรที่นับถือศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมส่วนใหญ่มีประเพณีและความเชื่อที่ผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ[11] แม้จะนับถือศาสนาต่างกัน แต่พวกเขาก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและกลมกลืน[8]
สถานที่สำคัญ
แก้- วัดจันทร์ มีเจดีย์เก่าแก่ตั้งอยู่ภายใน
- อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทัศนียภาพสวยงาม เป็นแหล่งตกปลาตามธรรมชาติ
- ศูนย์ศิลปาชีพบ้านวัดจันทร์ เป็นสถานที่ฝึกอบรมการทอผ้าและการส่งเสริมอาชีพราษฎรในพื้นที่
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2552 เก็บถาวร 2011-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่มที่ 126, ตอนที่ 93 ก, วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552, หน้า 7
- ↑ โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""วัดจันทร์"ยกฐานะเป็นอำเภอ". Chiang Mai News. 2009-06-26.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอที่ 878". Department of Provincial Administration. 2009-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-19. สืบค้นเมื่อ 2010-12-25.
- ↑ "อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอที่ 878". Department of Provincial Administration. 2009-11-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-19. สืบค้นเมื่อ 2010-12-25.
- ↑ http://www.mof.go.th/News2009/146.pdf เก็บถาวร 2009-11-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข่าวกระทรวงการคลัง, คลังสนับสนุนการจัดตั้ง "อำเภอกัลยาณิวัฒนา", www.mof.go.th/News2009/146.pdf เข้าถึงเมื่อ 30 ต.ค. 2552
- ↑ 7.0 7.1 กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เดือนธันวาคม 2566." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. สืบค้น 13 มีนาคม 2567.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 "ชวนทอดผ้าป่าสร้างอ่างเก็บน้ำช่วย รพ.ชุมชนวัดจันทร์". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 "โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาติพันธุ์แบบมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่". ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-30. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 10.0 10.1 แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561-2565) (PDF). งานนโยบายและแผน องค์การบริหารส่วนตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่. มิถุนายน 2562. p. 7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-11-16. สืบค้นเมื่อ 2023-09-12.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 "อ.กัลยาณิวัฒนา...ดินแดนชนเผ่า (จบ)". เดลินิวส์. 24 สิงหาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2010-04-23.
- ↑ 13.0 13.1 "ประวัติโรงเรียน". โรงเรียนแจ่มหลวง. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ป้ายชื่ออำเภอกัลยาณิวัฒนากับมติครม.ที่ไม่เป็นจริง". นักข่าวพลเมือง. 8 กุมภาพันธ์ 2554. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "วัดจันทร์". จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้. 13 พฤษภาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "วัดห้วยบง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่". ศูนย์ข้อมูลกลางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. 5 มีนาคม 2565. สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)