อาหารพม่า (พม่า: မြန်မာ့ အစားအစာ) เป็นอาหารของทั้งชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า มีส่วนประกอบเป็นปลาหลายชนิด เช่น น้ำปลาและงะปิหรือกะปิ อาหารพม่าบางส่วนได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน อาหารอินเดีย และอาหารไทย โหมะน์ฮี่นก้าเป็นอาหารประจำชาติของพม่า อาหารทะเลเป็นที่นิยมตามแนวชายฝั่งเช่น ซิตเว เจาะพยู เมาะลำเลิง มะริด และทวาย ส่วนเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกเป็นอาหารสำคัญทางตอนบนของประเทศ เช่น มัณฑะเลย์ ปลาและกุ้งน้ำจืดเป็นที่นิยมทั้งในรูปกินสดหรือทำเค็ม ตากแห้ง หมักให้เปรี้ยว หรือบดเป็นกะปิ

ละแพะ อาหารยอดนิยมในพม่า

อาหารพม่ามีหลายรูปแบบเช่น ยำหรือสลัด อาหารจำพวกแป้งจากข้าว และเส้นหมี่จากข้าว ขนมจีน เครื่องปรุงนอกจากนั้นมีมันฝรั่ง ขิง มะเขือเทศ ใบมะกรูด ถั่วฝักยาว ใบเมี่ยงหรือละแพะ และงะปิ ยำมักกินเป็นอาหารจานด่วนในพม่า

วัฒนธรรมการกิน แก้

 
"ตู" (တူ) ตะเกียบแบบพม่าเพื่อกินอาหาร
 
อาหารพม่าแบบพื้นเมือง
 
ร้านอาหารกลางแจ้งในย่างกุ้ง

ชาวพม่านิยมกินอาหารแบบล้อมวง โดยใช้โต๊ะขนาดเล็กหรือบนเสื่อไม้ไผ่ อาหารหนึ่งมื้อประกอบด้วยข้าว แกงปลาน้ำจืด ปลาเค็มหรือปลาแห้ง แกงเนื้อหรือสัตว์ปีก ซุปใสหรือซุปเปรี้ยว จะตักอาหารให้ผู้สูงอายุในวงก่อน ปกติกินด้วยตะเกียบโดยได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน ซึ่งชาวพม่านิยมใช้ตะเกียบมาก ตะเกียบที่ชาวพม่าใช้จะเรียกว่า ตู (တူ) ใช้สำหรับกินอาหารปกติและอาหารประเภทเส้น หรือไม่ก็จะใช้ช้อน ส้อมเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และกินด้วยมือสำหรับผลไม้และผัก ส่วนเครื่องดื่มที่นิยมเป็นชาทั้งแบบร้อนและเย็น

อาหารชีนส่วนใหญ่เป็นข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง นิยมปรุงด้วยการต้มมากกว่าการทอด

ทฤษฎีอาหาร แก้

ในตำรายาแบบดั้งเดิมของพม่า แบ่งอาหารออกเป็น 2 แบบคือแบบร้อนและแบบเย็น คล้ายกับการจัดจำแนกอาหารแบบจีน ตัวอย่างอาหารร้อนเช่น ไก่ มะระ ทุเรียน มะม่วง ช็อกโกแลต ไอศกรีม ตัวอย่างอาหารเย็น เช่น หมู มะเขือ นม แตงกวา ผักกาดหัว[1]

อิทธิพล แก้

 
อาหารแบบพื้นเมืองของพม่ามีซุป ข้าว แกงเนื้อสัตว์หลายชนิดและงะปิยี (น้ำพริก) กับผักสำหรับจิ้ม

ความหลากหลายทางศาสนามีผลต่ออาหารเช่นชาวพุทธไม่กินเนื้อวัว ชาวมุสลิมไม่กินเนื้อหมู อาหารเจเป็นที่นิยมในหมู่ชาวพุทธ ประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับพม่า เช่น ไทย จีน อินเดีย มีอิทธิพลต่ออาหารพม่า[2] อิทธิพลของอาหารอินเดียต่ออาหารพม่าเห็นได้จากซาโมซา บิรยานี และแกงแบบอินเดียที่ใส่เครื่องเทศและขนมปังเช่นนานและปาราทา อิทธิพลของอาหารจีนเห็นได้จากการใช้เต้าหู้และซอสถั่วเหลือง เส้นหมี่หลายชนิด เทคนิคการผัด ส่วนอิทธิพลจากไทยและลาวได้แก่แมลงทอดที่กินเป็นอาหารว่าง

การเตรียม แก้

การใช้และสัดส่วนของเครื่องปรุงมีความหลากหลาย[3] ตำราอาหารที่เก่าที่สุดในสมัยก่อนอาณานิคมเรียก ซาดอแซะจาน (စားတော်ဆက်ကျမ်း, ตรงตัว "ตำราอาหารในวัง") เขียนบนใบลานเมื่อ พ.ศ. 2409 ในสมัยราชวงศ์อลองพญา[3] วิธีการปรุงอาหารมีทั้งอบ ต้ม ทอด ผัด ย่างหรือนำหลายวิธีมารวมกัน แกงแบบพม่าใส่เครื่องเทศได้หลายอย่าง และใช้กระเทียมและขิงมาก ระดับการใช้เครื่องเทศและสมุนไพรขึ้นกับพื้นที่ด้วย เช่น อาหารกะชีนและอาหารไทใหญ่ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศมากกว่าพื้นที่อื่น[4]

ส่วนผสม แก้

ส่วนผสมที่ใช้ในอาหารพม่าเป็นเครื่องปรุงสด ใช้ผลไม้และผักในอาหารหลายชนิด ผักที่นิยมมากที่สุดคือลูกเนียงที่ปรุงโดยการต้มหรือเผา

อ้างอิง แก้

  1. Saw Myat Yin (2011). Culture Shock! Myanmar: A Survival Guide to Customs and Etiquette. Marshall Cavendish Corporation. ISBN 9780761458722.
  2. Meyer, Arthur L.; Jon M. Vann (2003). The Appetizer Atlas: A World of Small Bites. John Wiley and Sons. p. 276. ISBN 978-0-471-41102-4.
  3. 3.0 3.1 Khin Maung Saw. "Burmese Cuisine: Its Unique Style and Changes after British Annexation". สืบค้นเมื่อ 4 October 2012.
  4. Naomi Duguid (2012). Burma: Rivers of Flavor. Artisan. p. 12. ISBN 978-1-5796-5413-9. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)