ใบเมี่ยง

อาหารพม่าชนิดหนึ่ง

ใบเมี่ยง หรือ ละแพะ (พม่า: လက်ဖက်, เอ็มแอลซีทีเอส: lak hpak) เป็นอาหารพม่าและอาหารไทยภาคเหนือชนิดหนึ่งทำจากใบชา โดยนำใบชาไปนึ่ง นำมาม้วนและบรรจุลงตะกร้าไม้ไผ่ ปล่อยให้เกิดการหมัก จะได้ใบชาหมักหรือละแพะ ที่ทางภาคเหนือของไทยเรียก ใบเมี่ยง

ใบเมี่ยง
ใบเมี่ยงหรือละแพะที่ขายในมัณฑะเลย์
ชื่ออื่นละแพะ
แหล่งกำเนิด พม่า
ส่วนผสมหลักใบชาหมัก

น้ำมัน

เกลือ

ต้นเมี่ยง แก้

ต้นเมี่ยงหรือต้นชาเป็นพืชพื้นเมืองในพม่า พบในบังกลาเทศ อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ลาว และจีน พบทั้ง Camellia sinensis และ Camellia assamicaและปลูกมาทางเขตหุบเขาในรัฐชานและนำซันในเขตของชาวปะหล่อง และยังปลูกในมัณฑะเลย์ เชียงตุง และรัฐชานตอนใต้ด้วย โดยเก็บใบในช่วงเมษายนและพฤษภาคมจนถึงตุลาคม[1][2]

ละแพะในพม่า แก้

การรับประทานละแพะของพม่ามีหลายแบบ เช่นจัดเป็นชุดใส่ถาดเรียก "ละแพะโอะ" ถาดนี้จะมีช่องสำหรับใส่ใบชาหมักและเครื่องเคียงต่าง ๆ เช่น ถั่วแปยี ถั่วหัวช้าง ถั่วปากอ้า ถั่วลิสง กุ้งแห้งทอด กระเทียม ขิงดอง มะพร้าวคั่ว พริกขี้หนู มะเขือเทศ รับประทานคู่กับการดื่มน้ำชา พบมากในรัฐชานและมัณฑะเลย์ การรับประทานอีกอย่างหนึ่งคือนำเครื่องทุกอย่างในละแพะโอะมาเคล้าเข้าด้วยกับในจานเดียว เรียก "ละแพะโตะ" หรือยำใบเมี่ยง[3]

 
ละแพะยอดนิยมในมัณฑะเลย์
 
ตลาดขายละแพะในมัณฑะเลย์ เป็นละแพะจากหนั่นซาน

เมี่ยงในภาคเหนือของไทย แก้

ต้นเมี่ยงคือต้นชาพันธุ์อัสสัม การทำเมี่ยงจะเลือกเก็บใบที่มีความสม่ำเสมอ ไม่เก็บยอดอ่อนเหมือนการทำชา เก็บใบที่ไม่อ่อนมาก เมื่อเก็บได้เต็มกำมือจะใช้ตอกมัดรวมไว้เรียกว่า 1 กำ นำเมี่ยงที่เก็บได้มานึ่งในไหเมี่ยงทำจากไม้มะเดื่อหรือไม้เนื้อแข็ง นึ่งให้สุก ใบจะเป็นสีเหลือง นำมาวางเรียงบนเสื่อผิวไม้ไผ่ พอเย็นนำไปเรียงในเข่ง กันไม่ให้อากาศเข้าประมาณ 2–3 วัน แล้วนำไปหมักต่ออีก 1–3 เดือน เมี่ยงจะมีรสเปรี้ยว จากนั้นนำใบเมี่ยงหมักมาจัดเรียงและคัดก้านแข็งออก จัดเรียงลงก๋วยเมี่ยง[4] ในบางท้องที่นำใบเมี่ยงที่นึ่งสุกแล้วนำไปหมักไว้ 2–3 คืน จากนั้นใส่โอ่งดองไว้ 15–30 วัน การดองในโอ่งจะวางใบเมี่ยงเป็นชั้น ๆ ใส่เกลือ ราดน้ำ กดใบเมี่ยงลง แล้วเรียงชั้นต่อไปเรื่อย ๆ ให้เต็ม พอทิ้งไว้ 3–4 วันจะยุบลง จึงใส่ใบเมียดลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้า มิฉะนั้นเมี่ยงจะมีกลิ่นเหม็น

เมี่ยงที่ได้จากการดองนี้เรียกว่าเมี่ยงส้ม นิยมนำไปกินกับเกลือเม็ด ขิง มะขามเปียก กระเทียมดอง หรือกินกับไส้หวานที่ทำจากมะพร้าวคั่ว น้ำตาลทราย เกลือ ถั่วลิสงคั่ว นอกจากนี้ ยังมีเมี่ยงรสฝาด เรียกเมี่ยงฝาด และเมี่ยงที่มีรสเปรี้ยวและฝาด เรียกเมี่ยงส้มฝาด [5]ทางภาคเหนือของไทย เช่น ที่จังหวัดลำปาง จะทำยำใบเมี่ยงทั้งจากใบเมี่ยงสดและใบเมี่ยงหมัก และนำไปผสมในไส้อั่วด้วย[6][7][8]

ในราชสำนักไทยก็มีการรับใบเมี่ยงเข้ามาเป็นเครื่องว่างของเจ้านาย เรียกว่า เมี่ยงลาว เพราะมาจากเมืองเชียงใหม่[9]

ปัญหาสุขภาพ แก้

ละแพะ 1 จานมี 200 แคลอรี ไขมันทั้งหมด 12 กรัม โซเดียม 50 มิลลิกรัม เส้นใยที่รับประทานได้ 4 กรัม โปรตีน 10 กรัม โดยจะต่างไปตามเครื่องปรุงที่ประกอบเช่น กุ้งแห้ง น้ำปลา ถั่วลิสงทอด ปริมาณวิตามินขึ้นกับผักที่รับประทานด้วย เช่น มะเขือเทศ กระเทียม พริกขี้หนู งา หรือผักอื่น ๆ[10][11][12]

ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 กระทรวงสาธารณสุขของพม่าประกาศว่าละแพะ 43 ยี่ห้อในพม่ารวมทั้งยี่ห้อยอดนิยมมีสีย้อมผ้าชนิด Auramine O ซึ่งทำลายตับ ไตและเป็นสารก่อมะเร็งได้ซึ่งเป็นเพราะสีเหล่านี้ราคาถูกกว่าสีผสมอาหาร[13] สิงคโปร์ได้ห้ามนำเข้าละแพะจากพม่า 20 ยี่ห้อเพราะไม่ปลอดภัย[14]มาเลเซียได้ร่วมคว่ำบาตรด้วยแต่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมแม้จะมีประชากรชาวพม่าอาศัยในประเทศจำนวนหนึ่ง[15][16]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Zin Min. "Pickled tea leaves still a Myanmar favourite". Myanmar Times vol.12 no.221. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-04-09.
  2. "Pickled tea leaves or laphet". Myanmar Travel Information 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-12. สืบค้นเมื่อ 2007-04-09.
  3. นันทนา ปรมานุศิษฏ์. โอชาอาเซียน. กทม. มติชน. 2556 หน้า 99–100.
  4. ศรีศักร วัลลิโภดม และ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. นครแพร่ จากอดีตมาปัจจุบัน ภูมินิเวศวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย. 2551, หน้า 157–159.
  5. สิริรักษ์ บางสุด และ พลวัฒน์ อารมณ์. โอชะล้านนา. กรุงเทพฯ: แสงแดด. 2558 หน้า 217–218.
  6. "ใบเมี่ยงกินอร่อย หลากหลายสรรพคุณ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-16. สืบค้นเมื่อ 2013-12-13.
  7. Sao Tern Moeng (1995). Shan-English Dictionary. ISBN 0-931745-92-6.
  8. Scott, George (1906). Burma. Alexander Moring. p. 265.
  9. เนื่อง นิลรัตน์ ม.ล.. ตำรากับข้าวในวัง ของหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์. กรุงเทพฯ : บัวสรวง, 2549, หน้า 16
  10. [1] เก็บถาวร 2015-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน myfitnesspal-food, Calories in Burmese Tea Leaf Salad
  11. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-10-19.
  12. [2] เก็บถาวร 2011-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน kitchencaravan, recipes, Green Tea Leaf Salad (Lephet Thoke)
  13. Min Lwin (April 1, 2009). "Tea Leaves Found to Contain Banned Chemical". The Irrawaddy. สืบค้นเมื่อ 2009-03-19.
  14. Min Lwin (March 19, 2009). "Singapore Bans Imports of Laphet". The Irrawaddy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 2009-04-01.
  15. Min Lwin (April 2, 2009). "Singapore, Malaysia Ban Burmese Pickled Tea". The Irrawaddy. สืบค้นเมื่อ 2009-04-02.
  16. [3] Amazing Green Tea, Eating green tea - Is It Healthy?

แหล่งข้อมูลอื่น แก้