อาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (ค.ศ. 1938)
อาร์เอ็มเอส มอริเทเนีย (อังกฤษ: RMS Mauretania) เป็นเรือเดินสมุทรสัญชาติบริติช ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 ณ อู่ต่อเรือแคมเมิลเลิร์ด ในเมืองเบอร์เคนเฮด ประเทศอังกฤษ และแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 เรือลำนี้เป็นหนึ่งในเรือลำแรก ๆ ที่สร้างขึ้นสำหรับสายการเดินเรือคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างคูนาร์ดไลน์และไวต์สตาร์ไลน์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1934 เมื่อเรือมอริเทเนียลำแรกถูกปลดระวางในปี ค.ศ. 1935 บริษัทจึงได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเรือกลไฟพายโดยสารชื่อควีนของบริษัทเรดฟันเนิลให้เป็นมอริเทเนียชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทคู่แข่งนำชื่อดังกล่าวไปใช้ และรักษาชื่อนี้ไว้สำหรับเรือลำใหม่[2]
ภาพเรือมอริเทเนียขณะแล่นอยู่ในทะเล ปลายทศวรรษที่ 1940
| |
ประวัติ | |
---|---|
สหราชอาณาจักร | |
ชื่อ | มอริเทเนีย (Mauretania) |
เจ้าของ |
|
ท่าเรือจดทะเบียน | ลิเวอร์พูล |
เส้นทางเดินเรือ | เซาแทมป์ตัน-เลออาฟวร์-โคฟ-นิวยอร์ก |
อู่เรือ | แคมเมิลเลิร์ด, เบอร์เคนเฮด, อังกฤษ[1] |
Yard number | 1029 |
ปล่อยเรือ | 24 พฤษภาคม 1937[1] |
เดินเรือแรก | 28 กรกฎาคม 1938[1] |
Christened | 28 กรกฎาคม 1938[1] |
Maiden voyage | 17 มิถุนายน 1939[1] |
บริการ | 1939[1] |
หยุดให้บริการ | 1965[1] |
รหัสระบุ | หมายเลขประจำเรือ 5522977 |
ความเป็นไป | แยกชิ้นส่วนที่โดส. ดับเบิลยู. วอร์ด ในปี 1965–66[1] |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือเดินสมุทร |
ขนาด (ตัน): | 35,738 ตันกรอส[1] 19,654 ตันเนต |
ความยาว: | 772 ฟุต (235 เมตร)[1] |
ความกว้าง: | 89 ฟุต (27 เมตร)[1] |
ระบบขับเคลื่อน: |
|
ความเร็ว: | 23 นอต (43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 26 ไมล์ต่อชั่วโมง) (บริการ)[1] |
ความจุ: | |
ลูกเรือ: | 802 คน |
เรือลำใหม่นี้ได้รับการประเมินว่ามีน้ำหนักบรรทุกรวม 35,739 ตันกรอส มีความยาวตลอดลำ 772 ฟุต (235 เมตร) กว้าง 89 ฟุต (27 เมตร)[1] และมีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายกับเรืออาร์เอ็มเอส ควีนอลิซาเบธ ขับเคลื่อนด้วยกังหันไอน้ำพาร์สันส์แบบเฟืองทดรอบเดี่ยวจำนวน 2 ชุด ให้กำลังขับเพลา 42,000 แรงม้า (31,000 กิโลวัตต์) และไปยังใบจักรคู่[ต้องการอ้างอิง] ความเร็วในการให้บริการของเรือคือ 23 นอต (43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)[1] โดยมีความเร็วสูงสุด 26 นอต (48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)[ต้องการอ้างอิง]
การออกแบบและการสร้าง
แก้เรือมอริเทเนียลำที่สองสร้างขึ้นโดยบริษัทแคมเมิลเลิร์ด ในเมืองเบอร์เคนเฮด และเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นในประเทศอังกฤษ ณ เวลานั้น เรือลำนี้ยังเป็นเรือลำที่สองที่ส่งมอบให้แก่บริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์ หลังจากการควบรวมกิจการ เรือมอริเทเนียถูกวางกระดูกงูในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 โดยมีหมายเลขอู่ต่อเรือคือ 1029 เรือโดยสารขนาดกลางลำใหม่ของคูนาร์ดได้รับการปล่อยลงน้ำในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1938 โดยแมรี เบตส์ ภริยาของเพอร์ซีย์ เบตส์ ประธานบริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์
วันนี้เป็นวันสำคัญยิ่ง ไม่เพียงแต่สำหรับตัวข้าพเจ้า แต่ยังรวมถึงชาวเมอร์ซีย์ไซด์ทั้งหมดด้วย การเปิดตัวเรือลำใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสร้างขึ้นในอังกฤษ ข้าพเจ้าหวังว่าเรือลำนี้จะสามารถสร้างความประทับใจและความผูกพันแก่บุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองฝั่งแอตแลนติกเช่นเดียวกับเรือลำก่อนหน้าที่มีชื่อเดียวกัน ข้าพเจ้าขออาราธนาความสุข ความเจริญ และความสำเร็จจงมีแด่เรือลำนี้ และแก่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่หรือโดยสารอยู่บนเรือลำนี้ทุกคน ข้าพเจ้าขอตั้งชื่อเรือลำนี้ว่า "มอริเทเนีย"
— เลดีเบตส์ ในพิธีปล่อยเรือ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1938
เรือลำนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า "มอริเทเนีย" เพื่อเป็นเกียรติแก่เรือเดินสมุทรที่เคยทำลายสถิติความเร็วมาก่อน และได้ปลดระวางไปแล้วในปี ค.ศ. 1935[1] เรือลำนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการในเส้นทางระหว่างกรุงลอนดอนและนครนิวยอร์ก และเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยแล่นผ่านแม่น้ำเทมส์และใช้ท่าเรือโรยัลด็อกส์ เรือลำนี้ยังถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่แทนที่หนึ่งในเรือควีนของคูนาร์ดเมื่อเรือลำนั้นเข้ารับการซ่อมบำรุง
ที่พักอันทันสมัยและมีสไตล์ของเรือมอริเทเนียลำใหม่ นับเป็นการยกระดับมาตรฐานของห้องโดยสาร ห้องสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไปที่สายการเดินเรือคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ มอบให้แก่ผู้โดยสารทุกระดับชั้นอย่างเห็นได้ชัด
สงครามโลกครั้งที่สอง
แก้เรือมอริเทเนียออกเดินทางครั้งแรกจากลิเวอร์พูล มุ่งหน้าสู่นิวยอร์กในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1939 ภายใต้การบัญชาการของกัปตันอาร์เทอร์ ทิลล็อตสัน บราวน์[ต้องการอ้างอิง] (ผู้เคยนำเรือมอริเทเนียลำก่อนไปยังโรงแยกชิ้นส่วนเรือ) หลังจากเทียบท่าอยู่ในนิวยอร์กเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เรือได้เดินทางกลับมายังเซาแทมป์ตันโดยแวะจอดที่แชร์บูร์ในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1939 เช่นเดียวกับเรืออาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย เมื่อ 25 ปีก่อน เรือมอริเทเนียอยู่ในช่วงเวลาการให้บริการเชิงพาณิชย์เพียงสั้น ๆ ก่อนที่การปะทุของสงครามจะหยุดชะงักการดำเนินงานนี้ไปนานกว่า 6 ปี เมื่อเสร็จสิ้นการเดินทางครั้งต่อไป เรือมอริเทเนียได้แวะจอดที่เซาแทมป์ตัน[1] เลออาฟวร์ และสุดท้ายที่ลอนดอน ที่ซึ่งเรือได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือคิงจอร์จที่ 5 ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เรือลำนี้ได้ถูกเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือมาให้บริการระหว่างลอนดอนและนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ออกแบบมาสำหรับเรือลำนี้โดยเฉพาะ ณ ที่นี้ เรือลำนี้ได้เข้ามาเสริมทัพกับเรือเอ็มวี บริแทนนิก (MV Britannic) และเอ็มวี จอร์จิก (MV Georgic) บนเส้นทางเดียวกัน[3]
ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1939 เรือได้ออกเดินทางครั้งสุดท้ายก่อนสงครามไปยังนิวยอร์ก เรือได้เริ่มต้นการเดินทางกลับในวันที่ 30 กันยายน และในวันที่ 2 ตุลาคม สถานีวิทยุภาษาอังกฤษของเยอรมนีที่ตั้งอยู่ในฮัมบวร์คได้ออกอากาศข้อความที่ส่อถึงภัยคุกคามต่อเรือลำนี้[4] เมื่อกลับมาถึง เรือก็ถูกเรียกใช้โดยรัฐบาล เรือมอริเทเนียได้รับการติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 6 นิ้ว (152 มิลลิเมตร) และอาวุธขนาดเล็กอื่น ๆ โดยมีการทาสีเรือเป็นสีเทาตามแบบเรือรบ จากนั้นจึงถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1939
เรือมอริเทเนียจอดนิ่งอยู่ในท่าเรือนิวยอร์กเป็นเวลาสามเดือน โดยจอดเรียงเคียงกับเรืออาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี และเอสเอส นอร์ม็องดี ของสายการเดินเรือเฟรนช์ไลน์[1] จนกระทั่งมีการตัดสินใจนำเรือลำนี้ไปใช้เป็นเรือขนส่งกำลังพล ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1940 เรือได้ออกเดินทางจากนิวยอร์กมุ่งหน้าสู่ซิดนีย์ โดยผ่านคลองปานามา เพื่อปรับปรุงสภาพเรือให้เหมาะสมกับภารกิจใหม่[1] งานปรับปรุงครั้งนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน และในเดือนพฤษภาคม เรือก็ได้ออกเดินทางจากซิดนีย์ในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนเรือขนส่งกำลังพลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เรือที่ร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ได้แก่ เรือควีนแมรี ควีนเอลิซาเบธ และอาควิเทเนีย พร้อมด้วยทหาร 2,000 นาย โดยมีเส้นทางผ่านแอฟริกาใต้ มุ่งหน้าสู่แม่น้ำไคลด์[ต้องการอ้างอิง] เรือโดยสารลำอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงในขบวนเรือครั้งยิ่งใหญ่นี้ ได้แก่ อาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟบริเตน (RMS Empress of Britain) อาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟแคนาดา (RMS Empres of Canada) อาร์เอ็มเอส เอ็มเพรสออฟเอเชีย (RMS Empress of Asia) และเอสเอส นิวอัมสเตอร์ดัม (SS Nieuw Amsterdam) ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม เรือลำนี้ได้ทำการขนส่งกำลังพลชาวออสเตรเลียไปยังคลองสุเอซ อินเดีย และสิงคโปร์ แต่ในภายหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ส่วนใหญ่ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ขนส่งเชลยศึกชาวอิตาลีจากตะวันออกกลางไปยังแอฟริกาใต้ เพื่อควบคุมตัวหลังจากพ่ายแพ้ในแอฟริกาเหนือ[ต้องการอ้างอิง] เช่นดียวกับเรืออาควิเทเนีย ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม เรือลำนี้ได้เดินทางเป็นระยะทางมากกว่า 500,000 ไมล์ทะเล (930,000 กิโลเมตร) โดยเริ่มจากการข้ามมหาสมุทรอินเดียเป็นครั้งแรก จากนั้นปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติก ร่วมกับกองทัพสหรัฐและแคนาดา และสุดท้ายได้เข้าร่วมปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิก[ต้องการอ้างอิง] หนึ่งในภารกิจการเดินเรือในช่วงสงครามนั้นใช้ระยะทางทั้งสิ้น 28,662 ไมล์ทะเล (53,082 กิโลเมตร) โดยใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 82 วัน[ต้องการอ้างอิง] ในระหว่างการเดินทางอันยิ่งใหญ่นี้ เรือได้ทำลายสถิติความเร็วในการเดินทางข้ามมหาสมุทรจากเมืองฟรีแมนเทิล ประเทศออสเตรเลีย ไปยังเมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้[ต้องการอ้างอิง] เรือสามารถเดินทาง 4,000 ไมล์ (6,400 กิโลเมตร) ได้ภายในเวลา 8 วัน 19 ชั่วโมง ด้วยความเร็วเฉลี่ย 21.06 นอต (39.00 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เรือขนส่งกำลังพลได้ออกเดินทางจากนครนิวยอร์กอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1943 และสิ้นสุดการเดินทางในบอมเบย์ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1943 โดยมีการแวะจอดระหว่างทางที่เกาะตรินิแดด เมืองรีโอเดจาเนโร เคปทาวน์ และดีเอโกซัวเรซ[ต้องการอ้างอิง] ในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1944 เรือได้ประสบอุบัติเหตุชนท้ายเรือบรรทุกน้ำมันแฮตครีก (Hat Creek) สัญชาติอเมริกัน อย่างไม่รุนแรงในท่าเรือนิวยอร์ก[ต้องการอ้างอิง]
ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรือลำนี้ได้เดินทางไปเป็นระยะทางกว่า 540,000 ไมล์ (870,000 กิโลเมตร) และขนส่งกำลังพลไปมากกว่า 340,000 นาย[ต้องการอ้างอิง] เรือมอริเทเนียไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีความเร็วเป็นพิเศษ และในช่วงหกปีของการปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม เครื่องยนต์ของเรือได้รับการดูแลน้อยมาก แต่ยังคงสามารถทำความเร็วได้ในปี ค.ศ. 1945 โดยทำการเดินทางจากบอมเบย์ไปยังสหราชอาณาจักรผ่านแหลมกู๊ดโฮปด้วยความเร็วเฉลี่ย 23.4 นอต (43.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)[ต้องการอ้างอิง]
หลังสิ้นสุดสงคราม เรือมอริเทเนียได้ทำการเดินทางเพิ่มเติมอีกหลายครั้งในนามของรัฐบาลเพื่อนำทหารกลับประเทศ[1] โดยส่วนใหญ่ไปยังประเทศแคนาดาและสิงคโปร์ นอกจากนี้เรือยังได้ทำการเดินทางอย่างน้อยหนึ่งครั้งจากนิวซีแลนด์ ผ่านออสเตรเลียและแอฟริกาใต้ไปยังลิเวอร์พูล สตรีและเด็กถูกอัดแน่นไว้ในห้องพักคนละ 10 คนบนเตียงสองชั้นที่ทหารเคยใช้ ในขณะที่บุรุษต้องอยู่ใน "หอพัก" ขนาดใหญ่ห้องละ 60 คนโดยนอนในเปลญวน ในการเดินทางครั้งนั้นเรือได้ออกเดินทางจากเคปทาวน์ในวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1945 เรือถูกพายุลมแรงขัดขวางการเดินทางเป็นเวลา 3 วันนอกน่านน้ำลิเวอร์พูล และสามารถเข้าเทียบท่าได้ในที่สุดในวันที่ 25 กันยายน[5] เรือมอริเทเนียได้ทำการเดินทางครั้งแรกโดยเฉพาะเพื่อส่งเจ้าสาวสงครามชาวอังกฤษและบุตรหลานของพวกเขากลับประเทศแคนาดาเพื่อไปพบกับสามี ณ ท่าเทียบเรือ 21 เมืองแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946
วันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1946 เรือมอริเทเนียได้เดินทางกลับมายังลิเวอร์พูล และได้รับการปลดจากการใช้ในราชการ จากนั้นจึงถูกส่งไปยังท่าเรือกลัดสโตนทันทีเพื่อเข้ารับการปรับปรุงสภาพโดยแคมเมิลเลิร์ด สำหรับการกลับมาให้บริการโดยคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ไลน์อีกครั้ง[1]
หลังสงคราม
แก้ภายในปี ค.ศ. 1962 เรือมอริเทเนียก็ประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงจากเรือลำใหม่ที่ทันสมัยกว่า ทำให้คูนาร์ดไลน์เริ่มประสบภาวะขาดทุน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 เรือลำนี้ได้ถูกทาสีใหม่เป็นสีเขียวอ่อนคล้ายกับเรืออาร์เอ็มเอส คาโรเนีย (RMS Caronia) ซึ่งมีชื่อเสียงในฉายาเทพธิดาสีเขียว (Green Goddess) และถูกดัดแปลงให้เป็นเรือสำราญ[1] ที่พักผู้โดยสารได้รับการปรับปรุงเพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 406 คน ชั้นแคบิน 364 คน และชั้นท่องเที่ยว 357 คน ในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 1963 เรือได้เริ่มให้บริการเส้นทางใหม่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างนิวยอร์ก กาน เจโนวา และเนเปิลส์[1] ทว่าโครงการนี้กลับล้มเหลว และในปี ค.ศ. 1964 เรือลำนี้ถูกนำมาใช้ในการล่องเรือสำราญจากนิวยอร์กไปยังหมู่เกาะเวสต์อินดีส์
เรือมอริเทเนียทำการเดินทางครั้งสุดท้ายเป็นการล่องเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยออกเดินทางจากนิวยอร์กในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1965[1] มีการประกาศว่าเมื่อเรือเดินทางกลับถึงเซาแทมป์ตันแล้ว จะมีการนำเรือออกจากการให้บริการและขาย เรือมอริเทเนียเดินทางถึงเซาแทมป์ตันในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1965 และก่อนหน้านั้นได้มีการขายเรือให้แก่บริษัทบริติชไอรอนแอนด์สตีลคอร์ปอเรชัน (British Iron & Steel Corporation) แล้ว เรือได้ออกเดินทางจากเซาแทมป์ตันในวันที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อทำการเดินทางครั้งสุดท้ายสู่โรงแยกชิ้นส่วนเรือของบริษัทโดส. ดับเบิลยู. วอร์ด (Thos. W. Ward) เพื่อทำการปลดระวาง ณ เมืองอินเวอร์คีติง มณฑลไฟฟ์ ประเทศสกอตแลนด์ ภายในระยะเวลา 3 วันหลังจากนั้น[1] เรือลำนี้มีกัปตันจอห์น เทรเชอร์ โจนส์ เป็นกัปตันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 เขาสามารถนำเรือผ่านช่องแคบโคลนเลนของแม่น้ำฟอร์ทได้โดยไม่ต้องอาศัยเรือลากจูง และสามารถจอดเทียบท่าครั้งสุดท้ายในบริเวณน้ำตื้นเหนือตลิ่งโคลนเลนได้สำเร็จในช่วงน้ำขึ้นสูงตอนเที่ยงคืน[6]
มีข่าวลือว่าระหว่างการเดินทางไปยังไฟฟ์ เรือได้แล่นเข้าสู่แม่น้ำดักลาสในแลงคาเชอร์โดยไม่ตั้งใจ และเกยตื้นบริเวณโคลนตม อย่างไรก็ตามข่าวลือนี้น่าจะไม่เป็นความความจริง เนื่องจากมีภาพถ่ายและวิดีโอของเรือมอริเทเนียขณะอยู่ที่อินเวอร์คีติงหลังจากที่เดินทางมาถึงแล้ว การแยกชิ้นส่วนเรือได้เริ่มขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา[7] ภายในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1966 ปล่องไฟของเรือได้ถูกถอดออก และภายในกลางปีเดียวกัน โครงสร้างส่วนบนของเรือก็ถูกถอดออกเช่นกัน กระบวนการแยกชิ้นส่วนเรือเสร็จสิ้นภายในปลายปีเดียวกัน
หลังปลดระวาง
แก้เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายในของเรือถูกขายไปทั้งในระหว่างและหลังจากการแยกชิ้นส่วนเรือ แผ่นไม้บุผนัง งานไม้ และวัสดุอื่น ๆ จากเรือถูกนำไปใช้ในการตกแต่งห้อง "มอริเทเนียรูม" (Mauretania Room) ของร้านเฟมัส-บาร์ (Famous-Barr) ภายในศูนย์การค้าเวสต์เคาน์ตีเซ็นเตอร์ (West County Center Mall) ย่านเดสเปเรส รัฐมิสซูรี ซึ่งเป็นชานเมืองของเซนต์หลุยส์
มอริเทเนียรูมเป็นห้องรับรองดื่มชาสุดหรูสำหรับสุภาพสตรีขนาด 120 ที่นั่ง เปิดให้บริการพร้อมกับร้านค้าในปี ค.ศ. 1969[8] ห้องดังกล่าวถูกรื้อถอนออกไปก่อนการสร้างศูนย์การค้าขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 2001 เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการจับจ่ายซื้อของเพิ่มเติมตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันยังไม่ทราบที่ตั้งของเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้น
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 TGOL
- ↑ Adams, R. B. [1986] Red Funnel and Before. Kingfisher Publications
- ↑ "Mauretania". Chris' Cunard Page. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 April 2010. สืบค้นเมื่อ 11 February 2010.
- ↑ https://news.google.com/newspapers?nid=Fr8DH2VBP9sC&dat=19391003&printsec=frontpage&hl=en The Gazette, Montreal, 3 October 1939, page 6
- ↑ "Betty Clay | 1945 Voyage to England". www.spanglefish.com.
- ↑ Jones, John Treasure (2008). Tramp to Queen. The History Press. pp. 105–106.
- ↑ Trafford, Pauline (2009). "Visit of 'The Mauritania' to Hesketh Bank". heskethbank.com.
- ↑ "Lost Tables: Department Store Tea Rooms". www.losttables.com. สืบค้นเมื่อ 19 June 2018.