อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี

อดีตเรือเดินสมุทรของอังกฤษ

อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี[3] (อังกฤษ: RMS Queen Mary) เป็นเรือเดินสมุทรสัญชาติอังกฤษที่ปลดประจำการแล้ว เคยแล่นบนมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเป็นหลักตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 ถึง 1967 สร้างโดยบริษัทจอห์นบราวน์แอนด์คอมพานี ในไคลด์แบงก์ ประเทศสกอตแลนด์ และให้บริการโดยสายการเดินเรือคูนาร์ดไลน์ เรือลำนี้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับอาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ[4] เพื่อให้บริการเรือด่วนรายสัปดาห์สองลำระหว่างเซาแทมป์ตัน แชร์บูร์ และนครนิวยอร์ก เรือทั้งสองลำเป็นการตอบสนองของอังกฤษต่อเรือเดินสมุทรความเร็วสูงที่สร้างโดยบริษัทเยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศสในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 และต้นทศวรรษที่ 1930

อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี
RMS Queen Mary
อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี ในลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย
ประวัติ
ชื่อ
ตั้งชื่อตามสมเด็จพระราชินีแมรี ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร
เจ้าของ
ท่าเรือจดทะเบียนลิเวอร์พูล
เส้นทางเดินเรือเซาแทมป์ตัน นครนิวยอร์ก ผ่านแชร์บูร์ (เส้นทางเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกปกติทั้งขาไปและกลับ)
Ordered3 เมษายน 1929
อู่เรือ
Yard number534
ปล่อยเรือ1 ธันวาคม 1930
เดินเรือแรก26 กันยายน 1934
สนับสนุนโดยสมเด็จพระราชินีแมรี
Christened26 กันยายน 1934
Maiden voyage27 พฤษภาคม 1936
บริการ1936–1967
หยุดให้บริการ9 ธันวาคม 1967
รหัสระบุ
ความเป็นไปโรงแรมและพิพิธภัณฑ์เรือ
สถานะเทียบท่าถาวรในลองบีช
ลักษณะเฉพาะ
ประเภท: เรือเดินสมุทร
ขนาด (ตัน):
  • 80,774 ตัน (1936)
  • 81,237 ตัน (1947)
ขนาด (ระวางขับน้ำ): 77,400 ลองตัน (78,642 เมตริกตัน)
ความยาว:
  • ตลอดลำ (LOA): 1,019.4 ฟุต (310.7 เมตร)
  • แนวน้ำ (LWL): 1,004 ฟุต (306.0 เมตร)
  • แนวตั้งฉาก (LBP): 965 ฟุต (294.1 เมตร)
ความกว้าง: 118 ฟุต (36.0 เมตร)
ความสูง: 181 ฟุต (55.2 เมตร)
กินน้ำลึก: 38 ฟุต 9 นิ้ว (11.8 เมตร)
ดาดฟ้า: 12
ระบบพลังงาน: 24 × หม้อไอน้ำแบบท่อน้ำ
ระบบขับเคลื่อน:
  • 4 × กังหันไอน้ำแบบเกียร์ลดรอบเดี่ยว Parsons กำลัง 200,000 แรงม้า (150,000 กิโลวัตต์)
  • 4 × ใบจักร, 200,000 shp (150,000 kW)[1]
ความเร็ว:
  • 28.5 นอต (52.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 32.8 ไมล์ต่อชั่วโมง) (ปกติ)
  • 32.84 นอต (60.82 กิโลเมตรต่อชั่วโมง; 37.79 ไมล์ต่อชั่วโมง) (ทดสอบ)
  • ความจุ: 2,140 คน: ชั้นหนึ่ง 776 คน, ชั้นสอง 785 คน, ชั้นสาม 579 คน
    ลูกเรือ: 1,100 คน
    อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี
    อาร์เอ็มเอส ควีนแมรีตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
    อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี
    พิกัด33°45′11″N 118°11′23″W / 33.75306°N 118.18972°W / 33.75306; -118.18972
    เลขอ้างอิง NRHP92001714[2]
    ขึ้นทะเบียน NRHP15 เมษายน 1993

    อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี ทำการเดินเรือครั้งแรกในวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1936 และได้รับรางวัลบลูริบบันด์ (Blue Riband) ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน[5] ต่อมาก็สูญเสียรางวัลนี้ไปให้กับเอสเอส นอร์ม็องดี (SS Normandie) ในปี ค.ศ. 1937 แต่ควีนแมรีก็สามารถคว้ารางวัลนี้คืนได้อีกครั้งในปี ค.ศ. 1938 และครองสถิติเรือเดินสมุทรที่เร็วที่สุดในโลกจนถึงปี ค.ศ. 1952 ซึ่งต่อมาถูกทำลายโดยเอสเอส ยูไนเต็ด สเตตส์(SS United States) ลำใหม่ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น ควีนแมรีได้ถูกนำไปใช้เป็นเรือขนส่งทหารและทำหน้าที่ขนส่งทหารฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม ในเที่ยวเดินเรือครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1943 ควีนแมรีสามารถบรรทุกคนได้มากกว่า 16,600 คน ซึ่งยังคงเป็นสถิติสูงสุดที่เรือเคยบรรทุกคนมาจนถึงปัจจุบัน

    หลังจบสงคราม ควีนแมรีได้รับการปรับปรุงให้กลับมาบริการบรรทุกผู้โดยสารอีกครั้งร่วมกับควีนเอลิซาเบธ ทั้งสองลำเริ่มทำหน้าที่ตามแผนการเดิมที่วางไว้ตั้งแต่แรกคือ การเป็นเรือเดินสมุทรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก บรรทุกผู้โดยสารแบบสองลำสลับกันเป็นรายสัปดาห์ เรือทั้งสองครองตลาดการขนส่งผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจนกระทั่งยุคเครื่องบินเจ็ตเริ่มเฟื่องฟูในช่วงปลายทศวรรษที่ 1950 เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ควีนแมรีก็เริ่มเก่าและประสบภาวะขาดทุน

    หลังจากที่คูนาร์ดไลน์มีผลกำไรลดลงมาหลายปี ควีนแมรีจึงถูกปลดระวางอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1967 เรือออกจากเซาแทมป์ตันเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1967 มุ่งหน้าไปยังท่าเรือลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรือจะถูกทอดสมออย่างถาวร เมืองลองบีชซื้อเรือลำนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ และโรงแรม โดยทางเมืองได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนต่าง ๆ มาบริหารจัดการเรือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และได้กลับมาควบคุมการดำเนินงานเองในปี ค.ศ. 2021

    การสร้างและการตั้งชื่อ

    แก้
     
    แบบจำลองเรือควีนแมรี (ด้านหน้า) และควีนเอลิซาเบธ (ด้านหลัง) ผลงานสร้างโดยจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ขนส่งกลาสโกว์

    เมื่อเยอรมนียุคสาธารณรัฐไวมาร์ได้เปิดตัวเรือเดินสมุทรเอสเอส เบรเมิน (SS Bremen) และยูโรปา (SS Europa) เข้าสู่การให้บริการ อังกฤษไม่ต้องการตกอยู่ข้างหลังในการแข่งขันด้านการต่อเรือ ไวต์สตาร์ไลน์เริ่มการก่อสร้างเรือโอเชียนิก (Oceanic) ขนาด 80,000 ตันในปี 1928 ในขณะที่คูนาร์ดก็กำลังวางแผนสร้างเรือขนาด 75,000 ตันที่ยังไม่มีชื่อของตนเอง

     
    ควีนแมรีระหว่างก่อสร้างที่ไคลด์แบงก์ ราวปี ค.ศ. 1934

    การก่อสร้างเรือลำดังกล่าวซึ่งขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ "ตัวเรือหมายเลข 534" (Hull Number 534)[6] เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 1930 บนแม่น้ำไคลด์ ที่อู่ต่อเรือของบริษัทจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี (John Brown & Company) ในเมืองไคลด์แบงก์ ประเทศสกอตแลนด์ การก่อสร้างถูกระงับในเดือนธันวาคม ปี 1931 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และคูนาร์ดไลน์ได้ยื่นขอสินเชื่อจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อดำเนินการก่อสร้าง 534 ต่อไป สินเชื่อได้รับการอนุมัติ โดยมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการสร้างเรือที่ยังไม่เสร็จ และการสร้างเรือคู่แฝดเพื่อให้บริการเรือสองลำต่อสัปดาห์ไปยังนิวยอร์ก[7]

    เงื่อนไขหนึ่งของเงินกู้คือคูนาร์ดต้องควบรวมกิจการกับไวต์สตาร์ไลน์[8] ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือของอังกฤษอีกแห่งที่กำลังประสบปัญหา ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของคูนาร์ดในเวลานั้น และถูกภาวะเศรษฐกิจตกต่ำบังคับให้ยกเลิกการก่อสร้างเรือโอเชียนิกไปแล้ว ทั้งสองบริษัทได้เดินเรือตกลงกันและเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 1934 บริษัททั้งสองก็ได้ก่อตั้งบริษัทที่สามขึ้นมาชื่อว่า คูนาร์ด–ไวต์สตาร์ไลน์ (Cunard–White Star Line) เพื่อบริหารจัดการฝูงเรือที่รวมกันใหม่ งานก่อสร้างควีนแมรีกลับมาดำเนินการต่อทันที และถูกปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 26 กันยายน 1934 การก่อสร้างใช้เวลาทั้งหมด 3 ปีครึ่ง และมีค่าใช้จ่าย 3.5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง[7] ซึ่งเท่ากับ 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะนั้น (เทียบเท่ากับ 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023) จอร์จ ไมคลาวด์ แพเตอร์สัน หัวหน้านาวาสถาปนิกของคูนาร์ดเป็นผู้ออกแบบหลัก[9] ก่อนปล่อยเรือลงน้ำ แม่น้ำไคลด์ถูกขุดให้ลึกขึ้นเพื่อรองรับขนาดของเรือ โดยวิศวกร ดี. อลัน สตีเวนสัน เป็นผู้ดำเนินการ[10]

    เรือได้รับการตั้งชื่อตามสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 จนกระทั่งถึงการเปิดตัว ชื่อของเรือถูกเก็บเป็นความลับอย่างดี มีตำนานเล่าว่า คูนาร์ดตั้งใจจะตั้งชื่อเรือว่าวิกตอเรีย ตามประเพณีของบริษัทที่ตั้งชื่อเรือให้ลงท้ายด้วย "ia" แต่เมื่อตัวแทนของบริษัทได้ไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าแผ่นดินในการตั้งชื่อเรือโดยสารตาม "ราชินีนาถที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ" พระองค์ทรงตรัสว่า มเหสีของพระองค์ พระราชินีแมรีจะทรงยินดี[11] ดังนั้นตำนานจึงกล่าวว่า คณะผู้แทนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรายงานว่าเรือลำที่ 534 จะถูกเรียกว่าควีนแมรี[11]

    เรื่องราวนี้ถูกปฏิเสธมาโดยตลอดจากเจ้าหน้าที่บริษัท และโดยปกติแล้วชื่อของสมาชิกราชวงศ์จะถูกใช้เฉพาะกับเรือหลวงของราชนาวีเท่านั้น เรื่องเล่านี้ถูกโต้แย้งกันอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่แฟรงก์ เบรเนิร์ด ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ Lives of the Liners ปี 1947 มีการสนับสนุนเรื่องราวดังกล่าวจากฟีลิกซ์ มอร์ลีย์ บรรณาธิการของเดอะวอชิงตันโพสต์ ซึ่งเดินทางไปกับเรือควีนแมรีในช่วงการเดินทางครั้งแรกในปี 1936 ในฐานะแขกของคูนาร์ดไลน์ ในอัตชีวประวัติ For the Record ปี 1979 ของเขา มอร์ลีย์เขียนว่าเขาถูกจัดให้นั่งร่วมโต๊ะกับเซอร์เพอร์ซี เบตส์ ประธานคูนาร์ดไลน์ เบตส์ได้เล่าเรื่องราวการตั้งชื่อเรือให้เขาฟัง "โดยมีเงื่อนไขว่าคุณจะไม่ตีพิมพ์มันในช่วงชีวิตของฉัน" เรื่องราวดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ในที่สุดในปี 1988 เมื่อ เบรเนิร์ดเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำเดียวกับเอเลนอร์ สปากส์ ลูกสาวของเซอร์แอชลีย์ สปากส์ ซึ่งอยู่กับเบตส์ในระหว่างการสนทนากับพระเจ้าจอร์จที่ 5 เธอได้ยืนยัน "เรื่องราวเรือโปรด" ให้เขาฟัง โดยเล่าเรื่องราวเดียวกับที่เบรเนิร์ดตีพิมพ์ในหนังสือของเขา[12]

    แม้จะมีข้อสงสัย แต่คูนาร์ดก็ยังคงปฏิเสธการเปลี่ยนชื่อเรือและเป็นไปได้ว่าชื่อควีนแมรีนั้นถูกเลือกเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคูนาร์ดและไวต์สตาร์ไลน์ เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีประเพณีการตั้งชื่อเรือที่แตกต่างกัน โดยไวต์สตาร์ไลน์ใช้ชื่อเรือลงท้ายด้วย "ic" ขณะที่คูนาร์ดใช้ชื่อเรือลงท้ายด้วย "ia"[11]

    ชื่อควีนแมรีถูกใช้ไปแล้วกับเรือกังหันไอน้ำชื่อ ทีเอส ควีนแมรี ดังนั้นคูนาร์ดไลน์จึงไปทำข้อตกลงกับเจ้าของเรือลำเดิมและเปลี่ยนชื่อเรือลำนั้นเป็น ควีนแมรี II[13]

    ควีนแมรีติดตั้งหม้อไอน้ำแบบ Yarrow จำนวน 24 ตัวแบ่งเป็น 4 ห้องหม้อไอน้ำ และกังหันไอน้ำแบบ Parsons จำนวน 4 ตัวแบ่งเป็น 2 ห้องเครื่อง หม้อไอน้ำผลิตไอน้ำแรงดัน 400 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (28 บาร์) ที่อุณหภูมิ 700 องศาฟาเรนไฮต์ (371 องศาเซลเซียส) ซึ่งให้กำลังสูงสุด 212,000 แรงม้า (158,000 กิโลวัตต์) แก่ใบจักรทั้ง 4 เพลา ซึ่งหมุนที่ 200 รอบต่อนาที[14]

    ก่อนสงคราม

    แก้

    ในปี ค.ศ. 1934 เรือลำใหม่ได้รับการเปิดตัวโดยสมเด็จพระราชินีแมรี และมีชื่อว่าอาร์เอ็มเอส ควีนแมรี เมื่อเรือเคลื่อนลงสู่ผิวน้ำ ก็ถูกชะลอความเร็วด้วยโซ่ลาก 18 เส้น ซึ่งควบคุมการเคลื่อนที่ของเรือลงสู่แม่น้ำไคลด์ ซึ่งได้มีการขุดขยายไปส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการเปิดตัวเรือลำนี้[15] วันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1936 ขณะออกจากไคลด์แบงก์ เรือควีนแมรีได้เกยตื้นบนแม่น้ำไคลด์ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากเรือลากจูง เรือจึงถูกทำให้ลอยได้สำเร็จ[16] ควีนแมรีทำความเร็วได้ 32.84 นอต ในการทดสอบรับรองเรือเมื่อฤดูใบไม้ผลิปี 1936[17][18]

     
    ไปรษณียบัตรของคูนาร์ด–ไวต์สตาร์ไลน์ "อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี"

    เมื่อเรือออกเดินทางในเรือเที่ยวแรกจากเซาแทมป์ตันเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1936 ผู้บัญชาการเรือคือ เซอร์ เอ็ดการ์ บริตเทน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันของคูนาร์ด–ไวต์สตาร์ขณะที่เรือยังอยู่ในระหว่างการสร้างที่อู่ต่อเรือจอห์นบราวน์ ควีนแมรีมีขนาด 80,774 ตันกรอส จึงทำให้เป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก[19] เรือคู่แข่งอย่างเอสเอส นอร์ม็องดี (SS Normandie) มีขนาดเพียง 79,280 ตันกรอส อย่างไรก็ตาม นอร์ม็องดีได้ทำการปรับปรุงขนาดเรือให้เพิ่มขึ้นเป็น 83,243 ตันกรอส เพื่อกลับมาครองตำแหน่งเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก[20] ควีนแมรีแล่นด้วยความเร็วสูงเกือบตลอดการเดินทางไปยังนครนิวยอร์กในเที่ยวแรก จนกระทั่งหมอกหนาบังคับให้ต้องลดความเร็วในวันสุดท้ายของการเดินทาง และมาถึงท่าเรือนิวยอร์กเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1936

     
    ป้ายติดกระเป๋าสัมภาระของควีนแมรี

    ควีนแมรีถูกวิจารณ์ว่าออกแบบแบบดั้งเดิมเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรือนอร์ม็องดีที่มีรูปทรงตัวเรือแบบปฏิวัติด้วยหัวเรือทรงคล้ายเรือตัด (clipper-shaped) ที่เพรียวบาง ยกเว้นท้ายเรือทรงช้อน (cruiser stern) ควีนแมรีดูเหมือนเรือรุ่นใหญ่ของคูนาร์ดในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการตกแต่งภายในแม้จะเป็นแบบอาร์ตเดโค แต่ก็ดูเรียบง่ายและอนุรักษ์นิยมเมื่อเทียบกับเรือฝรั่งเศสที่ทันสมัยมาก อย่างไรก็ตาม ควีนแมรีกลับเป็นเรือที่ได้รับความนิยมมากกว่าคู่แข่งในแง่จำนวนผู้โดยสาร[11][21]

    ในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1936 เรือควีนแมรีสามารถคว้ารางวัลบลูริบบันด์มาจากเรือนอร์ม็องดีได้สำเร็จ โดยทำความเร็วเฉลี่ย 30.14 นอต (55.82 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ในเส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางตะวันตก และ 30.63 นอต (56.73 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ในเส้นทางไปทางตะวันออก ในปี 1937 เรือนอร์ม็องดีได้ติดตั้งใบจักรชุดใหม่และคว้ารางวัลบลูริบบันด์กลับคืนมา อย่างไรก็ตามในปี 1938 ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตันโรเบิร์ต บี. เออร์วิง เรือควีนแมรีก็สามารถคว้ารางวัลบลูริบบันด์กลับคืนมาได้อีกครั้งในทั้งสองเส้นทาง[22] โดยทำความเร็วเฉลี่ย 30.99 นอต (57.39 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ในเส้นทางไปทางตะวันตก และ 31.69 น็อต (58.69 กิโลเมตร/ชั่วโมง) ในเส้นทางไปทางตะวันออก ซึ่งเป็นสถิติที่คงอยู่จนกระทั่งถูกทำลายโดยเรือเอสเอส ยูไนเต็ด สเตตส์ (SS United States) ในปี 1952

    ภายใน

    แก้

    เรือควีนแมรีมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายอาทิ สระว่ายน้ำในร่มสองสระ ร้านเสริมสวย ห้องสมุด และห้องเด็กสำหรับผู้โดยสารทุกชั้น ห้องดนตรี ห้องบรรยาย บริการโทรศัพท์ติดต่อได้ทั่วโลก สนามเทนนิสกลางแจ้ง และโรงสุนัข ห้องอาหารหลักสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง (แกรนด์ซาลอน) เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดบนเรือ สูงสามชั้น และมีเสาหลักขนาดใหญ่ ห้องพักส่วนกลางหลายห้องบนเรือมีเครื่องปรับอากาศ สระว่ายน้ำชั้นหนึ่งสูงสองชั้น นอกจากนี้ เรือควีนแมรียังเป็นเรือเดินสมุทรลำแรกที่มีห้องสวดมนต์สำหรับชาวยิว ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทเดินเรือของอังกฤษหลีกเลี่ยงการเหยียดเชื้อชาติชาวยิวที่เห็นได้ชัดในนาซีเยอรมนี[23]

    ห้องอาหารหลักชั้นโดยสารมีแผนที่การเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกขนาดใหญ่ โดยมีเส้นทางคู่ขนานสองเส้นแทนเส้นทางฤดูหนาว/ฤดูใบไม้ผลิ (ไปทางใต้เพื่อหลีกเลี่ยงภูเขาน้ำแข็ง) และเส้นทางฤดูร้อน/ฤดูใบไม้ร่วง ในระหว่างการเดินทางแต่ละครั้ง แบบจำลองขนาดเล็กของควีนแมรีที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์จะเคลื่อนที่ไปตามภาพวาดเพื่อแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของเรือระหว่างการเดินทาง

    เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากห้องอาหารหลัก ควีนแมรียังมีห้องอาหาร Verandah Grill แยกต่างหากสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ตั้งอยู่บน Sun Deck บริเวณท้ายเรือด้านบน Verandah Grill เป็นห้องอาหารตามสั่ง (À La Carte) สุดหรู รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 80 คน และกลายเป็น Starlight Club ในตอนกลางคืน นอกจากนี้ บนเรือยังมี Observation Bar ซึ่งเป็นห้องรับรองสไตล์อาร์ตเดโค พร้อมทิวทัศน์ทะเลกว้างไกล อาร์เทอร์ โจเซฟ เดวิส จากบริษัทเมสเซอส์ มิวส์ แอนด์เดวิส (Messers Mewes and Davis) และเบนจามิน วิสตาร์ มอร์ริส เป็นผู้ออกแบบพื้นที่ภายในของควีนแมรี[24] บรอมส์โกรฟกิลด์ (Bromsgrove Guild) เป็นผู้สร้างพื้นที่ภายในส่วนใหญ่ของเรือ ในขณะที่เอช.เอช. มาร์ติน แอนด์โค (H.H. Martyn & Co.) เป็นผู้สร้างบันได โถงทางเดิน และทางเข้า[25]

    ไม้จากภูมิภาคต่าง ๆ ของจักรวรรดิอังกฤษถูกนำมาใช้ตกแต่งห้องสาธารณะและห้องพักผู้โดยสาร ห้องพักมีตั้งแต่ห้องชั้นหนึ่งอันหรูหราพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันไปจนถึงห้องชั้นสามที่เรียบง่ายและคับแคบ ศิลปินที่คูนาร์ดว่าจ้างในปี 1933 เพื่อสร้างผลงานศิลปะภายในเรือ ได้แก่ เอ็ดเวิร์ด วอดส์เวิร์ท และเอ. ดันแคน คาร์ส[26]

    การตกแต่งแบบอาร์ตเดโคของอาร์เอ็มเอส ควีนแมรี
     
    ห้องรับประทานอาหารชั้นหนึ่ง ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "แกรนด์ซาลอน" สังเกตภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านบน ซึ่งมีแบบจำลองคริสตัลเคลื่อนไหวที่ติดตามเส้นทางการเดินทางของเรือ
    ห้องรับประทานอาหารชั้นหนึ่ง ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "แกรนด์ซาลอน" สังเกตภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านบน ซึ่งมีแบบจำลองคริสตัลเคลื่อนไหวที่ติดตามเส้นทางการเดินทางของเรือ 
     
    ภาพวาดฝาผนังในห้องอาหารหลักหรือ "แกรนด์ซาลอน" ซึ่งมีโมเดลคริสตัลติดตามความคืบหน้าของเรือ
    ภาพวาดฝาผนังในห้องอาหารหลักหรือ "แกรนด์ซาลอน" ซึ่งมีโมเดลคริสตัลติดตามความคืบหน้าของเรือ 
     
    ห้องอาหารชั้นหนึ่ง ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "แกรนด์ซาลอน
    ห้องอาหารชั้นหนึ่ง ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ "แกรนด์ซาลอน 
     
    Observation Bar สังเกตแถบหน้าต่างด้านล่างที่มองเห็นดาดฟ้าเดินเล่นแบบปิดล้อม หน้าต่างเหล่านี้ถูกนำออกไปในปี 1967 หลังจากที่ห้องรับรองถูกขยายออกไป
    Observation Bar สังเกตแถบหน้าต่างด้านล่างที่มองเห็นดาดฟ้าเดินเล่นแบบปิดล้อม หน้าต่างเหล่านี้ถูกนำออกไปในปี 1967 หลังจากที่ห้องรับรองถูกขยายออกไป 
     
    ห้องรับรองของ Observation Bar หน้าต่างเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเดินเล่นแบบปิดที่โค้งกลับมา ห้องรับรองนี้ถูกขยายไปข้างหน้าหลังปี 1967
    ห้องรับรองของ Observation Bar หน้าต่างเหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเดินเล่นแบบปิดที่โค้งกลับมา ห้องรับรองนี้ถูกขยายไปข้างหน้าหลังปี 1967 

    สงครามโลกครั้งที่สอง

    แก้
     
    เอชเอ็มที ควีนแมรี เดินทางมาถึงท่าเรือนิวยอร์กเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1945 พร้อมทหารอเมริกันหลายพันนาย

    ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1939 ควีนแมรีกำลังเดินทางกลับจากนิวยอร์กไปเซาแทมป์ตัน ด้วยสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียดจึงทำให้ได้รับการคุ้มกันโดยเรือประจัญบาน เอชเอ็มเอส ฮูด และเดินทางถึงอย่างปลอดภัย จากนั้นก็ได้ออกเดินทางไปนครนิวยอร์กอีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน เมื่อเดินทางถึงสงครามก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว และเรือได้รับคำสั่งให้เทียบท่าอยู่ที่นิวยอร์กร่วมกับนอร์ม็องดีจนกว่าจะมีคำสั่งต่อไป[ต้องการอ้างอิง]

     
    นอร์ม็องดี, ควีนแมรี และควีนเอลิซาเบธ ในนิวยอร์กในปี 1940 จอดเทียบท่าเนื่องจากสงคราม

    เดือนมีนาคม ค.ศ. 1940 ควีนแมรีและนอร์ม็องดีได้มาจอดเทียบท่าที่นิวยอร์ก และได้พบกับควีนเอลิซาเบธ เรือคู่แฝดใหม่ของควีนแมรี ซึ่งเพิ่งเดินทางมาจากไคลด์แบงค์อย่างลับ ๆ ทั้งสามเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ได้จอดเทียบท่าอยู่นานจนกระทั่งกองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจว่าจะนำเรือทั้งสามลำไปใช้เป็นเรือขนส่งทหาร นอร์ม็องดีประสบเหตุเพลิงไหม้ขณะกำลังถูกดัดแปลงเป็นเรือขนส่งทหาร ส่วนควีนแมรีได้ออกเดินทางจากนิวยอร์กไปยังซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในเดือนมีนาคม 1940 และถูกดัดแปลงเป็นเรือขนส่งทหารเพื่อขนส่งทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไปยังสหราชอาณาจักรร่วมกับเรือลำอื่น ๆ[27]

     
    ส่วนโครงสร้างด้านหน้าของเรือควีนแมรี ดังภาพที่ถ่ายในลองบีช เมื่อเรือมาถึงลองบีช หน้าต่างชั้นซันเด็คถูกขยาย และปืนต่อต้านอากาศยานก็ถูกจัดแสดงไว้ที่เสากระโดงหน้า เพื่อเป็นตัวแทนของสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของเรือลำนี้

    ในระหว่างการปรับเปลี่ยน ตัวเรือ โครงสร้างส่วนบนและปล่องไฟถูกทาด้วยสีเทา จึงทำให้เรือมีฉายาว่าเป็น "ผีสีเทา" (grey ghost) อันเนื่องมาจากสีใหม่ประกอบกับความเร็วสูงของเรือ เพื่อป้องกันทุ่นระเบิดแม่เหล็ก มีการติดตั้งขดลวดลดสนามแม่เหล็กไว้รอบนอกตัวเรือ ภายในเรือ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งห้องโดยสารถูกนำออกและแทนที่ด้วยเตียงไม้สามชั้นแบบติดตาย ซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยเตียงพับ[28]

    ในการแปลงโฉมเรือ พรมทั้งหมดบนเรือยาวรวม 6 ไมล์ (10 กิโลเมตร) จาน ชาม คริสตัล เครื่องเงินกว่า 220 ลัง ผ้าทอ และภาพเขียนถูกย้ายออกและนำไปเก็บไว้ในโกดังตลอดช่วงสงคราม ไม้ประดับในห้องโดยสาร ห้องอาหารชั้นเคบิน และพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ถูกคลุมด้วยหนัง ควีนแมรีและควีนเอลิซาเบธเป็นเรือขนส่งทหารที่ใหญ่และเร็วที่สุดในช่วงสงคราม โดยมักจะบรรทุกทหารมากถึง 15,000 คนในการเดินทางครั้งเดียว และมักจะเดินทางออกนอกขบวนเรือและไม่มีการคุ้มกัน อันที่จริงมีเพียงเรือไม่กี่ลำเช่น เรือพิฆาตโปแลนด์ ORP Blyskawica เท่านั้นที่สามารถให้การคุ้มกันได้ ด้วยความเร็วสูงและการเปลี่ยนเส้นทางแบบซิกแซกของเรือทั้งสองลำ จึงทำให้เรืออูแทบจะจับไม่ได้แม้ว่าจะมีการพยายามโจมตีเรือลำนี้ก็ตาม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1944 เรือ U-853 ได้พบเห็นควีนแมรีและดำน้ำเพื่อทำการโจมตี แต่ควีนแมรีก็สามารถหลบหนีได้ก่อน[29] เนื่องจากความสำคัญต่อความพยายามทางสงคราม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์จึงเสนอเงินรางวัล 1 ล้านไรช์มาร์ค และกางเขนอัศวินติดใบโอ๊กแห่งกางเขนเหล็ก ซึ่งเป็นบำหน็จความชอบสูงสุดของเยอรมนี ให้กับกัปตันเรือดำน้ำคนใดก็ตามที่สามารถจมเรือลำใดลำหนึ่งได้[30]

    ควีนแมรีประสบเหตุที่ไม่คาดคิดในช่วงสงคราม ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1942 เรือได้ชนเรือคุ้มกันของตนเอง คือ เรือลาดตระเวนเบา เอชเอ็มเอส กูราเซา (D41) (HMS Curacoa) ใกล้กับชายฝั่งไอร์แลนด์ ทำให้เรือหลวงกูราเซาจมลงและมีผู้เสียชีวิต 338 คน ในขณะนั้นควีนแมรีกำลังขนส่งทหารอเมริกันจำนวนมากจากกองพลทหารราบที่ 29[31] เพื่อไปร่วมกับกองกำลังพันธมิตรในยุโรป[32] เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการโจมตีจากเรือดำน้ำ ควีนแมรีจึงได้รับคำสั่งให้ไม่หยุดเรือเด็ดขาด และแล่นต่อไปโดยที่แกนหัวเรือแตก แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่าในหลายชั่วโมงต่อมา เรือคุ้มกันนำของกองเรือ ซึ่งประกอบด้วยเรือเอชเอ็มเอส แบรมแฮม (HMS Bramham) และเรืออีกหนึ่งลำ[33] ได้กลับมาช่วยเหลือลูกเรือของเรือหลวงกูราเซาที่รอดชีวิต 99 คนจากทั้งหมด 437 คน รวมถึงกัปตันจอห์น ดับเบิลยู. บัตวูด[34][35][36] อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับบันทึกของแฮร์รี แกรตทิดจ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเรือของควีนแมรีในขณะนั้น โดยเขาบันทึกว่า กัปตันกอร์ดอน อิลลิงส์เวิร์ท ได้สั่งให้เรือพิฆาตติดตามค้นหาผู้รอดชีวิตทันทีหลังจากที่เรือหลวงกูราเซาจมลง[37][38]

    ในปีเดียวกันนั้น ระหว่างวันที่ 8–14 ธันวาคม ค.ศ. 1942 ควีนแมรีได้ขนส่งทหาร 10,389 นาย และลูกเรือ 950 คน (รวม 11,339 คน)[39] ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ขณะอยู่ห่างจากสกอตแลนด์ 700 ไมล์ (1,100 กิโลเมตร) ระหว่างพายุลมแรง ก็ได้เกิดคลื่นยักษ์พัดเข้าชนด้านข้างเรืออย่างแรง คาดว่าคลื่นสูงถึง 28 เมตร (92 ฟุต)[40] เรื่องราวของการเดินทางครั้งนี้สามารถพบได้ในหนังสือของคาร์เตอร์[41][42] ดังที่อ้างถึงในหนังสือ พ่อของคาร์เตอร์ ดร. นอร์วัล คาร์เตอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลสนามที่ 110 บนเรือในขณะนั้น เขียนจดหมายว่าในบางช่วงเวลา ควีนแมรี "เกือบจะคว่ำ... ในช่วงเวลาหนึ่ง ดาดฟ้าชั้นบนอยู่ในระดับปกติ จากนั้นก็พุ่งลงไปข้างล่าง เหวี่ยงไปข้างหน้า" ต่อมาคำนวณได้ว่าเรือเอียง 52 องศา และจะคว่ำหากเอียงอีกแค่ 3 องศา[41]

    ระหว่างวันที่ 25–30 กรกฎาคม ค.ศ. 1943 เรือควีนแมรีได้ขนส่งทหาร 15,740 นาย และลูกเรือ 943 คน (รวม 16,683 คน)[43] ซึ่งถือเป็นสถิติการขนส่งผู้โดยสารมากที่สุดบนเรือลำเดียว[44] การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากเช่นนี้ทำได้เฉพาะในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น เนื่องจากผู้โดยสารต้องนอนบนดาดเรือ[45]

    ช่วงสงคราม เรือควีนแมรีได้ขนส่งนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ของอังกฤษข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 3 ครั้ง เพื่อเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธมิตรท่านอื่น โดยใช้ชื่อปลอมว่า "Colonel Warden" บนรายชื่อผู้โดยสาร[46] ครั้งหนึ่งในปี 1943 เชอร์ชิลและทีมงานได้วางแผนการบุกนอร์ม็องดีบนเรือลำนี้ และได้ลงนามในคำประกาศ D-Day บนเรือด้วย[47] ต่อมาเชอร์ชิลได้กล่าวว่าเรือควีนทั้งสองลำ "ท้าทายความโกรธแค้นของฮิตเลอร์ในสมรภูมิแอตแลนติก หากปราศจากความช่วยเหลือของพวกเขา วันแห่งชัยชนะครั้งสุดท้ายจะต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย"[48] ณ สิ้นสุดสงคราม เรือควีนแมรีได้ขนส่งทหารกว่า 800,000 นาย และเดินทางข้ามมหาสมุทรทั่วโลกกว่า 600,000 ไมล์[30]

     
    เรือควีนแมรีที่ท่าเรือนิวยอร์ก
     
    เรือควีนแมรีในปี 1965

    หลังสงคราม

    แก้
     
    อาร์เอ็มเอส ควีนแมรี ที่เซาแทมป์ตันในปี 1960
     
    ควีนแมรีบนทะเลเหนือในปี 1959
     
    ควีนแมรีที่นิวยอร์กในปี 1961

    หลังจากส่งเจ้าสาวสงครามไปยังแคนาดา ควีนแมรีก็สามารถทำสถิติการเดินทางที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยกลับสู่เซาแทมป์ตันในช่วงต้นปี 1946 ใช้เวลาเพียง 3 วัน 22 ชั่วโมง 42 นาที ด้วยความเร็วเฉลี่ย 31.9 นอต[49] ในเดือนกันยายน 1946 ถึงเดือนกรกฎาคม 1947 ควีนแมรีได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อกลับให้บริการผู้โดยสาร โดยเพิ่มเครื่องปรับอากาศและปรับปรุงการจัดวางเตียงนอนเป็น 711 ห้องในชั้นหนึ่ง (เดิมเรียกว่าชั้นโดยสาร), 707 ห้องชั้นในโดยสาร (เดิมเรียกว่าชั้นนักท่องเที่ยว) และ 577 ห้องชั้นในนักท่องเที่ยว (เดิมเรียกว่าชั้นสาม)[50] หลังการปรับปรุง ควีนแมรีและควีนเอลิซาเบธก็ครองตลาดผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในฐานะบริการเรือด่วนสองลำต่อสัปดาห์ของคูนาร์ด–ไวต์สตาร์ไลน์ตลอดช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 1940 และเข้าสู่ทศวรรษที่ 1950 เรือทั้งสองลำได้สร้างผลกำไรสูงให้กับคูนาร์ด (ชื่อบริษัทเปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1949)[51]

    วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1949 เรือควีนแมรีเกยตื้นที่นอกชายฝั่งเมืองแชร์บูร์ ประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในวันรุ่งขึ้น เรือก็สามารถลอยตัวได้อีกครั้ง[52] และกลับมาให้บริการตามปกติ

    ในปี ค.ศ. 1952 ควีนแมรีเสียตำแหน่งผู้ครองรางวัลบลูริบบันด์ ซึ่งครองไว้นานกว่า 14 ปีให้กับเรือเอสเอส ยูไนเต็ด สเตตส์ (SS United States) ในการเดินทางข้ามมหาสมุทรครั้งแรก

    ในปี ค.ศ. 1958 เที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเชิงพาณิชย์ลำแรกโดยเครื่องบินเจตได้เริ่มต้นยุคใหม่ของการแข่งขันอย่างสมบูรณ์สำหรับเรือควีนของคูนาร์ด ด้วยเวลาเดินทางจากลอนดอนไปนิวยอร์กเพียง 7–8 ชั่วโมงซึ่งเป็นไปได้ด้วยเครื่องบินลำใหม่ ทำให้ความต้องการการข้ามมหาสมุทรทางเรือลดลงอย่างมาก ในบางเที่ยวเรือโดยเฉพาะในฤดูหนาว ควีนแมรีแล่นเข้าท่าเรือโดยมีลูกเรือมากกว่าผู้โดยสาร แม้ว่าทั้งควีนแมรีและควีนเอลิซาเบธจะยังคงมีผู้โดยสารเฉลี่ยมากกว่า 1,000 คนต่อการข้ามมหาสมุทรในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960[53] ภายในปี 1965 เรือทั้งหมดของคูนาร์ดประสบภาวะขาดทุน

    เพื่อหาเงินทุนต่อยอดการสร้างเรือควีนเอลิซาเบธ 2 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ที่อู่ต่อเรือบราวน์ คูนาร์ดจำเป็นต้องจำนองเรือส่วนใหญ่ในฝูงเรือของตน เนื่องจากอายุของเรือที่มากขึ้น ความสนใจของประชาชนที่ลดลง ประสิทธิภาพที่ลดลงในตลาดใหม่ และผลกระทบที่รุนแรงจากการนัดหยุดงานของลูกเรือทั่วประเทศ คูนาร์ดจึงประกาศว่าจะปลดระวางเรือควีนแมรีและควีนเอลิซาเบธ และขายทิ้ง มีการยื่นข้อเสนอจำนวนมาก และข้อเสนอจากลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นจำนวน 3.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.2 ล้านปอนด์ สามารถเอาชนะข้อเสนอจากพ่อค้าเหล็กเก่าชาวญี่ปุ่นได้[54] เรือควีนแมรีปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Assault on a Queen (1966) ซึ่งนำแสดงโดยแฟรงก์ ซินาตรา ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ควีนแมรีก็ทำสถิติการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางตะวันออกที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1938 โดยใช้เวลา 4 วัน 10 ชั่วโมงและ 6 นาทีด้วยความเร็วเฉลี่ย 29.46 นอต (54.56 กิโลเมตร/ชั่วโมง)

    ควีนแมรีถูกปลดระวางจากการให้บริการในปี 1967[55] วันที่ 27 กันยายน เรือได้ทำการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเป็นครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นครั้งที่ 1,001[56] โดยได้ขนส่งผู้โดยสารไป 2,112,000 คน เป็นระยะทางรวม 3,792,227 ไมล์ (6,102,998 กิโลเมตร) ภายใต้การบังคับบัญชาของกัปตันจอห์น เทรเชอร์ โจนส์ ซึ่งเป็นกัปตันเรือตั้งแต่ปี 1965 เรือออกเดินทางจากเซาแทมป์ตันเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 31 ตุลาคม โดยมีผู้โดยสาร 1,093 คน และลูกเรือ 806 คน หลังจากการเดินทางรอบแหลมฮอร์น เรือมาถึงลองบีชในวันที่ 9 ธันวาคม[54] ควีนเอลิซาเบธปลดระวางในปี 1968 และควีนเอลิซาเบธ 2 ก็เข้ามาแทนที่ในเส้นทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 1969

    ลองบีช

    แก้
     
    เรือควีนแมรีมองจากด้านเหนือของท่าเรือลองบีช

    เรือควีนแมรีจอดอยู่อย่างถาวรในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม พิพิธภัณฑ์ และสถานที่จัดงานในลองบีช[57]

    การดัดแปลง

    แก้
     
    เรือควีนแมรีมองจากท้ายเรือ

    เรือควีนแมรีซึ่งถูกลองบีชซื้อในปี 2510 ถูกดัดแปลงจากเรือเดินสมุทรเป็นโรงแรมลอยน้ำ[58] แผนดังกล่าวในการเคลียร์พื้นที่เกือบทุกส่วนของเรือใต้ชั้น "C" (เรียกว่าชั้น "R" หลังจากปี 2493 เพื่อลดความสับสนของผู้โดยสาร เนื่องจากร้านอาหารตั้งอยู่บนชั้น "R")

    และจำเป็นต้องถอดห้องหม้อไอน้ำออกทั้งหมด ห้องเครื่องด้านหน้า ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองห้อง เครื่องกันโคลงของเรือ และโรงงานปรับสภาพน้ำให้อ่อนตัว ถังเชื้อเพลิงเปล่าของเรือถูกเติมด้วยโคลนเพื่อรักษาจุดศูนย์ถ่วงของเรือให้อยู่ในระดับที่ถูกต้อง มีเพียงห้องเครื่องท้ายที่เรือเท่านั้นที่จะได้รับการเก็บรักษา พื้นที่ที่เหลือจะถูกใช้สำหรับเก็บของหรือพื้นที่สำนักงาน

    ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการดัดแปลงคือ"ข้อพิพาทระหว่างสหภาพที่ดินและสหภาพแรงงานทางทะเลเกี่ยวกับงานดัดแปลง" หน่วยยามฝั่งสหรัฐมีคำสั่งสุดท้าย ให้เรือควีนแมรีถูกมองว่าเป็นอาคาร เนื่องจากใบจักรและเครื่องยนต์ของเรือถูกถอดออก ท้องเรือได้รับการทาสีใหม่ด้วยสีแดงในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ในระหว่างการดัดแปลง ปลองควันถูกนำออกเนื่องจากบริเวณนี้จำเป็นสำหรับการยกวัสดุออกจากห้องเครื่องยนต์และห้องหม้อไอน้ำ

     
    ทางเดินในห้องพักชั้นแรก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมบนเรือ

    แผนการที่สอง คือการดัดแปลงห้องโดยสารชั้นแรกและชั้นสองส่วนใหญ่ของเรือบนชั้น A และ B ให้เป็นห้องพักโรงแรม และเปลี่ยนห้องรับรองหลักและห้องรับประทานอาหารให้เป็นพื้นที่จัดเลี้ยง

    บนชั้นเดินเล่นฝั่งกราบขวามีร้านอาหารและคาเฟ่หรูชื่อ Lord Nelson's และ Lady Hamilton's มีธีมตามยุคของเรือใบต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

    Observation Bar อันเลื่องชื่อและสง่างามได้รับการตกแต่งใหม่ให้เป็นบาร์สไตล์ตะวันตก

     
    สะพานเดินเรือของเรือควีนแมรี

    ห้องสาธารณะชั้นแรกถูกดัดแปลงให้มีขนาดเล็กลง เช่น ห้องรับแขก ห้องสมุด ห้องบรรยาย และสตูดิโอดนตรี จะถูกถอดอุปกรณ์ส่วนใหญ่ออกและเปลี่ยนเป็นการใช้งานเชิงพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้าอีกสองแห่งถูกสร้างขึ้นบนดาดฟ้าเรือ ในพื้นที่แยกต่างหากซึ่งก่อนหน้านี้ใช้สำหรับห้องโดยสารชั้นหนึ่งและห้องพักของวิศวกร

    คุณลักษณะเด่นในยุคหลังสงครามของเรือ ซึ่งคือโรงภาพยนตร์ของผู้โดยสารชั้นแรก ถูกนำออกและดัดแปลงเป็นพื้นที่ครัวสำหรับสถานที่รับประทานอาหารบนดาดฟ้าแห่งใหม่ เลานจ์ชั้นหนึ่งและห้องสูบบุหรี่ได้รับการกำหนดค่าใหม่และดัดแปลงเป็นพื้นที่จัดเลี้ยง

    ห้องสูบบุหรี่ชั้นสองถูกแบ่งออกเป็นโบสถ์แต่งงานและพื้นที่สำนักงาน

    บนลานอาบแดด Verandah Grill อันหรูหราจะถูกนำออกและเปลี่ยนเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ในขณะที่มีการสร้างสถานที่รับประทานอาหารหรูแห่งใหม่เหนือบริเวณชั้นกีฬา ซึ่งเคยใช้เป็นที่พักของลูกเรือ

     
    พระอาทิตย์ตกด้านหลังเรือควีนแมรี ในลองบีช

    เลานจ์ของผู้โดยสารชั้นสองถูกขยายออกไปด้านข้างของเรือและใช้สำหรับงานเลี้ยง บนชั้น R ห้องอาหารชั้นแรกได้รับการปรับแต่งใหม่และแบ่งย่อยเป็นสถานที่จัดเลี้ยงสองแห่ง ได้แก่ Royal Salon และ Windsor Room ห้องรับประทานอาหารสารชั้นสองถูกแบ่งย่อยออกเป็นห้องเก็บของในครัวและห้องโถงสำหรับลูกเรือ ในขณะที่ห้องรับประทานอาหารชั้นสามเดิมถูกใช้เป็นห้องเก็บของและพื้นที่สำหรับลูกเรือ

    นอกจากนี้บนชั้น R โรงอาบน้ำตุรกีผู้โดยสารชั้นแรกซึ่งเทียบเท่ากับสปาในคริสต์ทศวรรษ 1930 ก็ถูกนำออก สระว่ายน้ำชั้นสองถูกรื้อออกและใช้สำหรับพื้นที่สำนักงาน ในขณะที่สระว่ายน้ำชั้นแรกเปิดให้แขกของโรงแรมและผู้มาเยี่ยมชมได้เข้าชม เนื่องจากมาตรฐานความปลอดภัยสมัยใหม่และโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงของพื้นที่ด้านล่าง สระว่ายน้ำจึงไม่สามารถใช้ว่ายน้ำได้หลังการดัดแปลง แม้ว่าจะมีน้ำเต็มจนถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ในทุกวันนี้จะสามารถเยี่ยมชมสระว่ายน้ำได้เฉพาะกับไกด์นำเที่ยวเท่านั้น

    เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

    แก้
     
    ทางเดินขึ้นเรือถาวร

    ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 เรือควีนแมรีได้เปิดรับนักท่องเที่ยว ในขณะนั้น มีเพียงบางส่วนของเรือเท่านั้นที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม เนื่องจากร้านอาหารเฉพาะทางยังไม่ได้เปิดสถานที่รับประทานอาหาร และยังดัดแปลงแปลงห้องรับรองชั้นแรกเดิมของเรือให้เป็นโรงแรมไม่เสร็จ เป็นผลให้เรือเปิดเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์

    เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2514 พิพิธภัณฑ์ทางทะเลของ ฌาคส์ คูสโต (Jacques Cousteau) ได้เปิดทำการ โดยเป็นหนึ่งในสี่ของนิทรรศการที่วางแผนไว้ ต่อมาพิพิธภัณฑ์ของคูสโต ได้ปิดตัวลงเนื่องจากการอัตราการขายตั๋วต่ำแ ละการตายของปลาจำนวนมากที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์

    เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 โรงแรม PSA Hotel Queen Mary ได้เปิดให้บริการห้องพักจำนวน 150 ห้อง ในอีก 2 ปีต่อมาเมื่อสร้างห้องพักเสร็จทั้งหมด 400 ห้อง PSA ได้นำโรงแรมไฮแอทเข้ามาบริหาร ซึ่งดำเนินกิจการการตั้งแต่ปี 2517 ถึง 2523 ในชื่อ"โรงแรมควีนแมรีไฮแอท"[59]

    ในปี 1980 ระบบที่มีอยู่บนเรือเริ่มไม่สามารถใช้การได้[60] เรือลำนี้สูญเสียเงินหลายล้านดอลลาร์ในแต่ละปีให้กับเมืองนี้ เนื่องจากโรงแรม ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์ดำเนินการโดยผู้รับสัมปทาน 3 ราย ขณะที่เมืองนี้เป็นเจ้าของเรือและดำเนินการนำเที่ยว มีการตัดสินใจแล้วว่าต้องการผู้ดำเนินการรายเดียวที่มีประสบการณ์มากกว่า[61]

    แจ็ค ไรท์เตอร์ (Jack Wrather) เศรษฐีในท้องถิ่นได้ตกหลุมรักเรือลำนี้เพราะเขาและภรรยามีความทรงจำดีๆ ในการล่องเรือลำนี้หลายครั้ง ไรท์เตอร์ลงนามในสัญญาเช่า 66 ปี กับเมืองลองบีชเพื่อดำเนินกิจการทั้งหมด[61]

    Wrather Port Properties ดำเนินกิจการสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดหลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 2527 จนถึงปี 2531 เมื่อบริษัท Walt Disney ซื้อกิจการของไรท์เตอร์ และได้สร้าง Disneyland Hotel ในปี 2538

     
    ห้องพักชั้นแรกบนเรือควีนแมรี ซึ่งดัดแปลงเป็นห้องพักโรงแรมในปัจจุบัน พร้อมผ้าม่าน เครื่องนอน เครื่องตกแต่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ​​ล้อมรอบด้วยผนังไม้ดั้งเดิมและช่องหน้าต่าง

    การปิดและเปิดใหม่ในปี 2535

    แก้

    เมื่อดิสนีย์ได้ย้ายกิจการไปแล้ว โรงแรมควีนแมรีก็ปิดตัวลงในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2535 เรือควีนแมรี่ยังคงเปิดทำการจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2535

    ในช่วงเวลานี้ เรือลำนี้ได้รับการเสนอชื่อและจดทะเบียนในบันทึกประวัติศาสตร์แห่งชาติในปี 2536[62][63]

    ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 RMS Foundation, Inc ได้ลงนามในสัญญาเช่า 5 ปีกับเมืองลองบีชเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจการต่อ

    ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เรือได้เปิดให้บริการอีกครั้งโดยสมบูรณ์ ในขณะที่โรงแรมบางส่วนเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 5 มีนาคม โดยมีห้องพัก 125 ห้องและห้องจัดเลี้ยง โดยห้องที่เหลือจะเปิดให้บริการในวันที่ 30 เมษายน

    ในปี พ.ศ. 2538 สัญญาเช่าของ RMS Foundation ได้ขยายเป็น 20 ปี ในขณะที่ขอบเขตของการเช่าลดลงเหลือแค่การดำเนินงานของเรือเท่านั้น บริษัทใหม่ Queen's Seaport Development, Inc. (QSDI) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2538 เพื่อควบคุมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ติดกับเรือ[64]

    ในปี 2541 เมืองลองบีชได้ขยายสัญญาเช่าของ QSDI เป็น 66 ปี[65]

    ในปี พ.ศ. 2547 Stargazer Productions ได้เพิ่ม Tibbies Great American Cabaret เข้าไปในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นธนาคารของเรือและห้องวิทยุไร้สาย Stargazer Productions และเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นโรงละครสำหรับรับประทานอาหารค่ำที่ พร้อมเวที แสง สี เสียง และสเกลเลอรี[66]

     
    ลานอาบแดดฝั่งกราบขวา พ.ศ. 2515

    ในปี 2548 QSDI ได้ขอการคุ้มครองบทที่ 11 เนื่องจากข้อพิพาทด้านเครดิตค่าเช่ากับเมือง

    ในปี 2549 ศาลล้มละลายได้ร้องขอให้มีการประมูลจากฝ่ายต่างๆ ราคาเปิดประมูลขั้นต่ำที่ต้องการคือ 41 ล้านดอลลาร์ การดำเนินงานของเรือโดย RMS Foundation ยังคงเป็นอิสระจากการล้มละลาย

    ในฤดูร้อนปี 2550 สัญญาเช่าของควีนแมรีถูกขายให้กับกลุ่มชื่อ "Save the Queen" ซึ่งบริหารงานโดย Hostmark Hospitality Group

    พวกเขาวางแผนที่จะพัฒนาที่ดินที่อยู่ติดกับเรือ ปรับปรุงและฟื้นฟูเรือ ในระหว่างการดำเนินงาน ห้องรับรองได้รับการปรับปรุงด้วยแท่นวางไอพอดและทีวีจอแบน ปล่องควันทั้งสามของเรือและท้องเรือได้รับการทาสีใหม่ด้วยสีแดงคูนาร์ดดั้งเดิม แผ่นกระดานของชั้นเดินเล่นฝั่งกราบซ้ายได้รับการบูรณะและตกแต่งใหม่ เรือชูชีพหลายลำได้รับการซ่อมแซม และห้องครัวของเรือได้รับการปรับปรุงใหม่

    ปลายเดือนกันยายน 2552 บริษัท Delaware North ได้เข้าควบคุมกิจการต่อ ซึ่งวางแผนที่จะดำเนินการบูรณะและปรับปรุงเรือต่อไป พวกเขามุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูและปรับปรุงเรือให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว[67]

    แต่ในเดือนเมษายน 2554 เมืองลองบีชได้รับแจ้งว่า Delaware North ไม่ได้บริหารควีนแมรีอีกต่อไป Garrison Investment Group กล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นเพียงเรื่องธุรกิจเท่านั้น[68]

    การพบกันของเรือควีนแมรีทั้งสองลำ

    แก้
     
    เรือควีนแมรีและเรือควีนแมรี 2 ได้พบกันที่ Long Beach, California ภายใต้คำว่า "HAIL TO THE QUEENS" ที่เกิดจากการเขียนด้วยท้องฟ้า

    เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เรืออาร์เอ็มเอส ควีนแมรี 2 ได้มาเยี่ยมบรรพบุรุษของเธอในขณะที่จะเข้าเทียบท่าในท่าเรือลอสแองเจลิสในการเดินทางไปยังเม็กซิโก

    ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 เรือควีนแมรีได้รับการทักทายจากเอ็มเอส ควีนวิกตอเรีย (MS Queen Victoria) ด้วยการจุดดอกไม้ไฟ

    และในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556 เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (MS Queen Elizabeth) ก็ได้ทักทายด้วยการจุดดอกไม้ไฟ[69]

    หลังจากการทักทาย เรือควีนแมรีได้ตอบกลับด้วยแตรลมที่ใช้งานได้หนึ่งอันเพื่อตอบกลับ

    ถูกกล่าวหาว่ามีวิญญาณสิง

    แก้
     
    เรือควีนแมรี กับเรือดำน้ำโซเวียต B-427 ในช่วงปิดให้เข้าชม

    หลังจากควีนแมรีจอดเทียบท่าถาวรในแคลิฟอร์เนีย มีการอ้างว่าเรือลำนี้ถูกผีสิง การอ้างเหล่านี้เริ่มต้นอย่างจริงจังในช่วงปี 1980 (อาจเป็นการทำโดยพนักงานเพื่อเพิ่มธุรกิจหรือทำให้แขกตกใจ) และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา[70][71] ตัวอย่างเช่นในปี 2008 นิตยสารไทม์ได้รวมควีนแมรีไว้ใน "10 สถานที่ผีสิงอันดับต้น"[72] หนึ่งในห้องโดยสารถูกกล่าวหาว่ามีผีของคนที่ถูกฆาตกรรมที่นั่นสิงอยู่[73] ตำนานอื่น ๆ ได้แก่ วิญญาณเด็กหญิงคนหนึ่งที่สิงอยู่ที่สระว่ายน้ำชั้นสองเก่าของเรือ และพ่อที่ฆ่าลูกสาวสองคนบนเรือ[74]

    อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดสนับสนุนเรื่องราวเหล่านี้ เนื่องจากไม่มีใครถูกฆาตกรรมบนเรือเลย[75] ในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตบนเรือนั้นเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ[75] นอกจากนี้ โจ นิกเคลล์ นักวิชาการจากศูนย์สอบสวนคดีพิเศษ (Center for Inquiry) เชื่อว่าตำนานผีสิงของควีนแมรีนั้นเกิดจากปรากฏการณ์แพริโดเลีย (pareidolia) ซึ่งเป็นภาพลวงตาทางจิตที่เกิดจากความรู้สึกส่วนตัว และการฝันกลางวันซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับคนงานที่ทำกิจวัตรซ้ำ ๆ[76]

    แม้ว่าเรือควีนแมรีจะเปิดให้บริการประสบการณ์หลอนหลอกหลายประเภท เช่น ทัวร์ "Haunted Encounters" และ "Grey Ghost Project"[77] แต่ทัวร์เหล่านี้เน้นไปที่กิจกรรมเหนือธรรมชาติ ซึ่งตรงกันข้ามกับตำนานมากมายของเรือ โดยใช้ข้อมูลจากบันทึกของเรือ เช่น บันทึกการเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยัน[74] ดังนั้น ทัวร์เหล่านี้จึงอนุญาตให้แขกได้สัมผัสการหลอกหลอนที่ถูกกล่าวหาของเรือโดยไม่ต้องสร้างเรื่องราวสมมติ

    ห้องวิทยุ W6RO

    แก้
     
    ห้องวิทยุไร้สายของควีนแมรีที่ถูกย้ายไปตั้งใหม่ มีเจ้าหน้าที่มือสมัครเล่นดูแล และติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย

    ห้องวิทยุไร้สายเดิมของควีนแมรีที่เคยมีเจ้าหน้าที่ประจำถูกนำออกเมื่อเรือจอดที่ลองบีช ในตำแหน่งเดิมนั้นมีการสร้างห้องวิทยุสมัครเล่นขึ้นมาหนึ่งชั้นเหนือห้องรับสัญญาณวิทยุเดิม โดยใช้อุปกรณ์วิทยุเดิมบางส่วนที่ถูกทิ้งมาจัดแสดง ห้องวิทยุไร้สายใหม่นี้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 1979[78] สถานีวิทยุสมัครเล่นมีชื่อเรียกว่า W6RO ("Whiskey Six Romeo Oscar") โดนอาศัยอาสาสมัครจากชมรมวิทยุสมัครเล่นท้องถิ่น พวกเขาประจำการในห้องวิทยุเกือบตลอดเวลาที่เรือเปิดให้ประชาชนเข้าชม และวิทยุสามารถใช้งานได้โดยผู้ดำเนินการวิทยุสมัครเล่นที่มีใบอนุญาตคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน[79][80][81][82]

    เพื่อเป็นเกียรติแก่การอุทิศตนกว่า 40 ปีของเขาให้กับ W6RO และควีนแมรี ในเดือนพฤศจิกายน 2007 ห้องวิทยุควีนแมรีได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้องวิทยุเนต ไบรท์แมน ประกาศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2007 ในงานฉลองวันเกิดครบ 90 ปีของไบรท์แมน โดยโจเซฟ เพรฟราทิล อดีตประธานและ CEO ของควีนแมรี[83]

    อ้างอิง

    แก้
    1. Watton, p.10.
    2. "NPS Focus". National Register of Historic Places. National Park Service. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2008. สืบค้นเมื่อ 7 September 2011.
    3. National Register of Historic Places Registration Form, National Archives, 17 November 1992, สืบค้นเมื่อ 1 October 2023
    4. "1938 newsreel of shipyard construction". British Pathé.
    5. "Remarkable things you didn't know about the Queen Mary ocean liner". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 January 2022. สืบค้นเมื่อ 14 August 2017.
    6. "Four-Leaf Clover Propeller to Drive Giant Liner 534". Popular Mechanics. Hearst Magazines. October 1934. p. 528. ISSN 0032-4558. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    7. 7.0 7.1 O'Connor, Sheila (2006). "Royal Lady – The Queen Mary Reigns in Long Beach". Go World Travel Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 September 2008. สืบค้นเมื่อ 11 June 2013.
    8. Chris Frame (2019). "Queen Mary – The Ship That Saved Cunard (and the UK) during the Great Depression". Chris Frame (Maritime Historian). สืบค้นเมื่อ 19 June 2020.
    9. "George Mcleod Paterson - Graces Guide". www.gracesguide.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2024-04-26.
    10. "D. Alan Stevenson from the Gazetteer for Scotland".
    11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Maxtone-Graham, John (1972). The Only Way to Cross. New York: Collier Books. pp. 288–289.
    12. Othfors, Daniel (May 2018). "Queen Mary – TGOL". Thegreatoceanliners.com. สืบค้นเมื่อ 10 June 2022.
    13. David Baldwin (2010). Royal Prayer: A Surprising History. A&C Black. p. 20. ISBN 978-0-8264-2303-0.
    14. Watton, pp. 12–13.
    15. "Chains brake liner at launching". Popular Science. December 1934. p. 20. ISSN 0161-7370. สืบค้นเมื่อ 2 November 2009.
    16. 'RMS Queen Mary Transatlantic masterpiece', Janette McCutcheon, 2000, Temple Publishing Limited, ISBN 0-7524-1716-9, pp. 41–44.
    17. McCutcheon, p.45
    18. "1936 Illustrated London News RMS Queen Mary on Speed Trials off the Isle of Aaron Stock Photo - Alamy".
    19. Layton, J. Kent. "R.M.S. Queen Mary". Atlantic Liners. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    20. Ardman, Harvey (1985). Normandie: her life and times. New York: F. Watts. pp. 166–170. ISBN 978-0-531-09784-7.
    21. Fritz Weaver, Fritz Weaver (narrator) (1996). Floating Palaces (TV Documentary). A&E.
    22. "Sir Robert B. Irving Dead at 77: Ex-Commodore of Cunard Line" in The New York Times, 30 December 1954
    23. Evans, Nicholas J. (2010). "A Strike for Racial Justice? Transatlantic Shipping and the Jewish Diaspora, 1882–1939". ใน Jorden, James; Kushern, Tony; Pearce, Sarah (บ.ก.). Jewish Journeys: From Philo to Hip Hop. London: Vallentine Mitchell. pp. 25–47. ISBN 978-0-85303-962-4.
    24. Cwiklo, W. "Benjamin Wistar Morris -- The American Architect of the Queen Mary". www.sterling.rmplc.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2024-04-09.
    25. John Whitaker (1985). The Best. p. 238.
    26. Sprague, Abbie N. (23 April 2008). "Modern art takes to the waves". Apollo. p. 8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 January 2009. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    27. Weiser, Kathy (June 2018). "Ghosts of the Queen Mary in Long Beach, California". Legends of America. LegendsofAmerica.com. สืบค้นเมื่อ 5 February 2019.
    28. "BBC – WW2 People's War – VJ Day – All at Sea".
    29. Underwood, Lamar (2005). The Greatest Submarine Stories Ever Told. Globe Pequot. pp. 184–185. ISBN 1-59228-733-6.
    30. 30.0 30.1 "The British Liner Queen Mary". Warfare History Network (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-02-13.
    31. Balkoski, Joseph (1989). Beyond the Beachhead. Stackpole Books. pp. 37–38. ISBN 978-0-8117-0221-8.
    32. Brighton CSV Media Clubhouse (11 June 2004). "HMS Curaçao Tragedy". WW2 People's War. BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 July 2012. สืบค้นเมื่อ 10 August 2009.
    33. Wilson, Edgar Edward. "Wilson, Edgar Edward (IWM Interview)". Imperial War Museums. Imperial War Museum. สืบค้นเมื่อ 27 March 2016.
    34. Melomet, Andrew (July 2008). "Forever England". St. Mihiel Trip-Wire: July 2008. WorldWar1.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2009.
    35. Queen Mary / Curacoa Crash. Disasters of the Century. History Television. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 May 2011.
    36. "Allied Warships – Light cruiser HMS Curacoa of the Ceres class". Uboat.net. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    37. Grattidge and Collier, Captain of the Queens.
    38. "Her Captains • Spirited RMS Queen Mary". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2022. สืบค้นเมื่อ 18 August 2019.
    39. "Queen Mary – Specific Crossing Information – 1942". ww2troopships.com. สืบค้นเมื่อ 2021-04-03.
    40. "RMS Queen Mary Pt 2". Oppositelock (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-08-25. สืบค้นเมื่อ 2024-02-16.
    41. 41.0 41.1 Levi, Ran (3 March 2008). "The Wave That Changed Science". The Future of Things. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 August 2013. สืบค้นเมื่อ 11 June 2013.
    42. No Greater Sacrifice, No Greater Love, William Ford Carter, Smithsonian Books, Washington, 2004, p. 55
    43. "How Two Ships Helped End WW2". chrisframe.com.au. สืบค้นเมื่อ 16 August 2020.
    44. "'Queen Mary: Timeline". QueenMary.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2018. สืบค้นเมื่อ 15 November 2017.
    45. "RMS Queen Mary's War Service: Voyages to Victory". Warfare History Network (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-01-16. สืบค้นเมื่อ 2021-04-29.
    46. Lavery, Brian (2007). Churchill Goes to War: Winston's Wartime Journeys. Naval Institute Press. p. 213.
    47. "Celebrities and Political Dignitaries". queenmary.com. สืบค้นเมื่อ 2024-02-13.
    48. "Celebrities and Political Dignitaries". queenmary.com. สืบค้นเมื่อ 2024-04-03.
    49. Maddocks, p. 155.
    50. "RMS Queen Mary". Ocean-liners.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2012. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    51. Casey (2012-02-01). "History of the White Star Line". Molly Brown House Museum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2023-12-06.
    52. "The Queen Mary Back In Port". The Times. No. 51269. 3 January 1949. p. 4.
    53. Harvey, Clive (2008). R.M.S. Queen Elizabeth – The Ultimate Ship. Carmania Press. ISBN 978-0-9543666-8-1.
    54. 54.0 54.1 Tramp to Queen: The Autobiography of Captain John Treasure Jones. The History Press. 2008. ISBN 978-0-7524-4625-7.
    55. "Out to Sea and into History". Life. Vol. 63 no. 14. Time Inc. 6 October 1967. pp. 26–31. สืบค้นเมื่อ 3 July 2017.
    56. RMS Queen Mary Transatlantic Masterpiece, Janette McCutcheon, 2000, Temple Publishing Limited, ISBN 0-7524-1716-9, p. 91
    57. "The Queen Mary™ - One-Of-A-Kind Long Beach Hotel Experience". queenmary.com. สืบค้นเมื่อ 2022-01-27.
    58. "A history of the Queen Mary in Southern California". Press Telegram (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-03-13. สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
    59. Malcolm, Andrew H (12 January 1975). "Queen Mary now Hyatt House". Sarasota Herald-Tribune. New York Times News Service. สืบค้นเมื่อ 29 December 2012.
    60. Jensen, Holger (11 April 1976). "Queen Mary Ocean Liner Becomes an Albatross". Sarasota Herald-Tribune. สืบค้นเมื่อ 29 December 2012.
    61. 61.0 61.1 "Queen Mary'S Timeline". Queenmary.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 December 2012. สืบค้นเมื่อ 12 December 2012.
    62. "Queen Mary Pushed for Historical Recognition". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 1992-09-25. สืบค้นเมื่อ 2022-05-01.
    63. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NRHP
    64. Pinsky, Mark (10 March 1995). "Long Beach Dome Gets New Life in Film". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 13 April 2015.
    65. Ferrell, David (2001-10-11). "Giant Dome's Saga Takes Another Turn". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2021-07-02.
    66. "History". Tibbies Cabaret. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 September 2009.
    67. "Delaware North on Board at Queen Mary" (Press release). media.delawarenorth.com. 28 September 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-08. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    68. Ling, P. (23 February 2009). "Queen Mary Long Beach Lease Rights Auctioned for $25,000". travel-industry.uptake.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 April 2012. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    69. "Queen Mary 2 to meet original Queen Mary in Long Beach harbor". USA Today. Associated Press. 1 March 2006. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    70. "The real haunting of RMS Queen Mary is a corporate one". World of Cruising (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-01-19.
    71. Spencer, Terry (1988-03-11). "Tour of Queen Mary's Ghosts : Past Said to Haunt Giant Ship". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-01-19.
    72. "Top 10 Haunted Places". Time. 30 October 2008. สืบค้นเมื่อ 5 February 2019.
    73. Westbook, Devlin (30 October 2012). "The Queen Mary... Haunted?". The San Diego Reader. สืบค้นเมื่อ 19 March 2013.
    74. 74.0 74.1 Perley, Chris (31 October 2022). "There's Something about Mary (but It's Not What You've Heard)". Skepticalinquirer.org. Center for Inquiry. สืบค้นเมื่อ 28 December 2022.
    75. 75.0 75.1 alubow (2022-10-18). "The RMS Queen Mary: A Haunted Ship". Houston Maritime Center (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-01-19.
    76. Nickell, Joe. "Haunted Inns Tales of Spectral Guests". Skeptical Inquirer. Vol. 24 no. 5. Center for Inquiry. สืบค้นเมื่อ 12 June 2019.
    77. "Long Beach Tours & Exhibits - The Queen Mary". queenmary.com. สืบค้นเมื่อ 2024-01-19.
    78. "W6RO aboard the Queen Mary". queenmary.com. The Queen Mary. สืบค้นเมื่อ 1 June 2021.
    79. "W6RO – Associated Radio Amateurs of Long Beach". Aralb.org. 5 March 2012. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    80. "Human Touch Draws Ham Radio Buffs". Gazette Newspapers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2005.
    81. "The wireless installation". sterling.rmplc.co.uk. สืบค้นเมื่อ 10 September 2012.
    82. O'Sullivan, Mike (29 April 2014). "Radio Hams Keep 'Queen Mary' Wireless on the Air". voanews.com. Voice of America. สืบค้นเมื่อ 19 March 2018.
    83. Dulaney, Josh (31 October 2016). "Nate Brightman, Queen Mary radio operator, dies at 99". presstelegram.com. Long Beach Press-Telegram. สืบค้นเมื่อ 19 March 2018.