อารีย์

ย่านในกรุงเทพมหานคร

อารีย์ เป็นชื่อย่าน ชื่อซอย และชื่อทางแยกหนึ่งบริเวณถนนพหลโยธินและซอยพหลโยธิน 7 อยู่ระหว่างย่านสนามเป้ากับย่านสะพานควาย ในท้องที่แขวงพญาไทและแขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

สะพานลอยแยกอารีย์
วิลล่ามาร์เก็ต อารีย์
ซอยอารีย์

ประวัติ

แก้

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังการสร้างพระราชวังดุสิต และการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ–อยุธยา และกรุงเทพ–นครราชสีมา เมืองเริ่มขยายตัวในสองฟากทางรถไฟบริเวณแขวงถนนนครไชยศรี แขวงบางซื่อ แขวงจตุจักร แขวงสามเสนใน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตั้งหน่วยงานทหารจำนวนมากบริเวณทิศเหนือของเขตดุสิตและอยู่ทางทิศตะวันตกของแขวงสามเสนใน (หรือแขวงพญาไทในปัจจุบัน)

ราว พ.ศ. 2443–2479 ย่านอารีย์ยังไม่มีความสำคัญมากนัก แผนที่ราว พ.ศ. 2467–2468 ย่านอารีย์เป็นเพียงพื้นที่เกษตรกรรม เป็นนาข้าวและสวนผลไม้ จนเมื่อมีการตัดถนนประชาธิปัตย์เมื่อ พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมไปยังดอนเมือง ต่อมาถนนสายนี้เรียกว่า ถนนพหลโยธิน โดยในแผนที่ พ.ศ. 2498–2499 ปรากฏบ้านเดี่ยวบนพื้นที่ขนาดใหญ่ และบริเวณหัวมุมถนนพหลโยธินตัดกับซอยอารีย์ก็ปรากฏตึกแถว[1] บริเวณนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัยของกลุ่มข้าราชการ คนสำคัญทางการเมือง[2]ในช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ย่านอารีย์รวมถึงบริเวณซอยราชครูจึงเป็นที่อยู่ของข้าราชการและกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการบริหารราชการ[3]

เมื่อ พ.ศ. 2516 ร้านสหกรณ์พระนครเปิดทำการ เป็นศูนย์การค้าสำหรับการจับจ่ายซื้อหาของข้าราชการและผู้อยู่อาศัยในย่านนี้[4] ในช่วง พ.ศ. 2533–2543 ได้มีการสร้างสำนักงานธุรกิจหลายบริษัท เป็นอาคารสูงหลายแห่ง เช่น อาคารธนาคารกสิกรไทย, อาคารชินวัตร 1 และ 2 (ต่อมาทั้งสองอาคารเปลี่ยนชื่อเป็น อาคารเอไอเอส ทาวเวอร์ 1 และ 2 ตามลำดับ), อาคารเอสพี (อาคาร IBM) และอาคารเอ็กซิมแบงก์ เป็นต้น เมื่อ พ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีสถานีอารีย์ตั้งอยู่บริเวณสามแยก

ปัจจุบัน ย่านอารีย์มีความเป็นชุมชนกึ่งเก่ากึ่งใหม่ มีข้าราชการและผู้คนอยู่อาศัยดั้งเดิม[5] มีสถานที่ราชการ ได้แก่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 4 กรมสรรพากร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงการคลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อาคารสำนักงาน ได้แก่ สหกรณ์พระนคร อาคารเอสซีทาวเวอร์ อาคารปิยวรรณ อาคารเอสเอ็มอีแบงก์ อาคารพหลโยธินเพลส อาคารอารีย์ฮิลส์ อาคารเอไอเอสทาวเวอร์ 1,2 อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทย พหลโยธิน และอาคารสำนักงานเพิร์ลแบงค็อก[6] ย่านที่พักอาศัย คอนโดมีเนียม และย่านของกินขึ้นชื่อทั้งคาวและหวาน

อ้างอิง

แก้
  1. "กำเนิดย่าน "อารีย์" จากพื้นที่เรือกสวนไร่นา และถนนสายประชาธิปไตย". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. "ประวัติความเป็นมาของย่าน 'อารีย์'".
  3. "รู้จักย่าน 'อารีย์' จากย่านที่โตเพราะถนน สู่ย่านระดับโลกเพราะความเอื้ออารี".
  4. "อารีย์ ย่านเก่าที่ยังร่วมสมัย". เดอะโมเมนตัม.
  5. "มองอารีย์แบบ เพื่อนบ้านอารีย์ ผู้ขอบันทึกเรื่องราวในย่านเก่าที่เติบโต". กรุงเทพธุรกิจ.
  6. "เจาะลึกย่านอารีย์ ทำเลที่ครบครันทั้งการอยู่อาศัยและการทำงาน".