หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล
หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล (11 ตุลาคม พ.ศ. 2478 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2538) หรือ ท่านชายกบ เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล
หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล | |
---|---|
ท.ม., ต.ช., ต.จ. | |
ประสูติ | 11 ตุลาคม พ.ศ. 2478 |
สิ้นชีพตักษัย | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2538 (59 ปี) |
หม่อม | ภรณ์พัชร ธรรมเสน วาสนา ฐวลางกุล ชลาศัย ขวัญฐิติ |
พระบุตร | หม่อมราชวงศ์นิภานพดารา ยุคล หม่อมราชวงศ์จุลรังษี ยุคล หม่อมราชวงศ์สุทธิพัฒน์ ยุคล |
ราชสกุล | ยุคล |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล |
พระมารดา | หม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล |
พระประวัติ
แก้หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล ประสูติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2478 เป็นพระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับหม่อมหลวงสร้อยระย้า ยุคล (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) มีโสทรภคินีสององค์ คือ ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (ประสูติ 24 กันยายน พ.ศ. 2476) และคุณหญิงรังษีนภดล ยุคล (2 ตุลาคม พ.ศ. 2480 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560)
หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ เสกสมรสกับภรณ์พัชร ธรรมเสน (นามเดิม อุ่นเรือน), วาสนา ฐวลางกุล (สกุลเดิม ไฝเครือ) และชลาศัย ขวัญฐิติ (นามเดิม นิภาพร รอดอ่อน) มีโอรสและธิดา คือ
- หม่อมราชวงศ์นิภานพดารา ยุคล หรือ คุณหญิงน้อย เกิดแต่ภรณ์พัชร ธรรมเสน
- ร้อยเอก หม่อมราชวงศ์จุลรังษี ยุคล หรือ คุณชายน้อง เกิดแต่ภรณ์พัชร ธรรมเสน
- หม่อมราชวงศ์สุทธิพัฒน์ ยุคล หรือ คุณชายอ๊อดอ๊อด เกิดแต่วาสนา ฐวลางกุล
ในปี พ.ศ. 2537 ได้เสกสมรสกับหม่อมชลาศัย ยุคล ณ อยุธยา หรือหม่อมลูกปลา และกลายมาเป็นที่รู้จักโดยทั่วของสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการพลิกชีวิตของหม่อมชลาศัย จนได้เธอถูกเปรียบเทียบว่าเป็น "ซินเดอเรลลาเมืองไทย" แต่สาเหตุแห่งการแต่งงานครั้งนี้ชลาศัยได้ออกมาพูดว่า "ท่านกบต้องการเอาชนะตนโดยไม่ให้ตนหนีเที่ยวอีก ส่วนตนก็เพื่อต้องการเอาชนะหม่อมคนอื่น ๆ ที่คอยว่าตน และการแต่งงานครั้งนี้ก็ไม่ได้มาจากความรักเลย" ท่ามกลางความรู้สึกไม่รักมาแต่เดิม[1]
หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล สิ้นชีพตักษัย ขณะทรงวิทยุสื่อสาร (ทรงเป็นนักวิทยุสมัครเล่น) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2538 โดยทรงถูกวางยาพิษในกาแฟ[2] โดยที่หม่อมชลาศัยถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้วางยาพิษในกาแฟ สังหารร่วมกับอุเทศ ชุปวา จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าหม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ได้เสวยกาแฟที่มีการผสมยาฆ่าแมลงกลุ่มคาร์บอเมท โดยวันนั้นชลาศัยอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ได้ปฏิเสธการรู้เห็นในเรื่องนี้ และอุเทศถูกจับในข้อหาบุกรุกเคหะสถานในยามวิกาล ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ให้หม่อมชลาศัยจำคุก 7 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 ปี 8 เดือน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2537 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[3]
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[4]
- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายหน้า)[5] สืบตระกูล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
พงศาวลี
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ กระปุก.คอม. 17 ปี หม่อมลูกปลา ในคดีฆ่าท่านกบ หม่อมเจ้าฐิติพันธ์. เรียกดูเมื่อ 20 สิงหาคม 2555
- ↑ หม่อมเจ้าฐิติพันธุ์ ยุคล สิ้นชีพิตักษัย[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย สำนักพระราชวัง เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๗), เล่ม ๑๑๑, ตอน ๒๑ ข , ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗, หน้า ๑๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน่วยงานอิสระ สำนักพระราชวัง) , เล่ม ๑๐๖, ตอน ๒๑๔ ข , ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒, หน้า ๑
- ↑ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายหน้า)