จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง

จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง (ญี่ปุ่น: 昭憲皇太后โรมาจิShōken kōtaigō; 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392 — 9 เมษายน พ.ศ. 2457) พระนามเดิม มาซาโกะ อิจิโจ (ญี่ปุ่น: 一条 勝子โรมาจิIchijō Masako) และฮารูโกะ อิจิโจ (ญี่ปุ่น: 一条 美子โรมาจิIchijō Haruko) ตามลำดับ เป็นพระจักรพรรดินีอัครมเหสีในจักรพรรดิเมจิ ทรงเป็นจักรพรรดินีพระองค์แรกแห่งยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองพระองค์ไม่มีพระราชโอรสพระธิดาด้วยกัน อันเนื่องมาจากมีพระวรกายผิดปกติจึงไม่สามารถทรงพระครรภ์ได้ แม้จะเป็นเช่นนี้แต่มีบันทึกว่าจักรพรรดิเมจิโปรดที่จะเสด็จไปพบสมเด็จพระจักรพรรดินีแทบทุกวัน

จักรพรรดินีโชเก็ง
พระพันปีหลวง
จักรพรรดินีญี่ปุ่น
ดำรงพระยศ11 มกราคม พ.ศ. 2412 – 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455
พระพันปีหลวง
ดำรงพระยศ30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 – 9 เมษายน พ.ศ. 2457
พระราชสมภพ28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392
เกียวโต จักรวรรดิญี่ปุ่น
สวรรคต9 เมษายน พ.ศ. 2457 (64 ปี)
นูมาซุ จังหวัดชิซูโอกะ จักรวรรดิญี่ปุ่น
คู่อภิเษกจักรพรรดิเมจิ (พ.ศ. 2412–2455)
ราชวงศ์ญี่ปุ่น (อภิเษกสมรส)
พระราชบิดาทาดาโยชิ อิจิโจ
พระราชมารดาทามิโกะ นีฮาตะ
ศาสนาชินโต

พระราชประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง พระราชสมภพเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392 ณ เฮอังเกียว มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่ามาซาโกะ เป็นธิดาคนที่สามของทาดาโยชิ อิจิโจ (一条忠香, พ.ศ. 2355–2406) อดีตเสนาบดีฝ่ายขวาและผู้สืบตระกูลอิจิโจอันเป็นสาขาย่อยของตระกูลฟูจิวาระ กับอนุภริยาชื่อทามิโกะ นีฮาตะ (新畑民子, พ.ศ. 2370–2451) ลูกสาวของหมอประจำตระกูลอิจิโจ

จักรพรรดินีโชเก็งฉายแววความเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่ยังเยาว์ชันษา เพราะมีพระปรีชาในการอ่านบทร้อยกรองในประชุมบทร้อยกรองญี่ปุ่นขณะมีพระชันษาสี่ปี และพระราชนิพนธ์กลอนวากะได้โดยพระองค์เองเมื่อพระชันษาได้ห้าปี ครั้นมีพระชันษาได้เจ็ดปี พระองค์สามารถอ่านภาษาจีนโบราณโดยมีผู้คอยถวายคำแนะนำบางครั้ง ทรงร่ำเรียนอักษรวิจิตรแบบญี่ปุ่น และละครโน ต่อมาขณะมีพระชันษาสิบสองปี ทรงเรียนการเล่นโคโตะ (ลักษณะคล้ายคลึงกับกู่เจิงของจีน) การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น และพิธีชงชาอย่างญี่ปุ่น[1]

จักรพรรดินีโชเก็งทรงหมั้นกับจักรพรรดิเมจิในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2410 หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนพระนามจาก "มาซาโกะ" เป็น "ฮารูโกะ" รัฐบาลโทกูงาวะอ้างว่าจะมอบทองคำ 15,000 เรียวในวันอภิเษกสมรส และจะมอบรายได้ปีละ 500 โคกุแก่พระองค์ แต่หลังเกิดการปฏิรูปเมจิ ของกำนัลที่จะมอบให้ในงานอภิเษกสมรสก็ไม่ถูกส่งมอบ ทั้งนี้พระองค์มีพระชันษามากกว่าจักรพรรดิเมจิถึงสามปี ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงปีพระราชสมภพของพระองค์จากเดิมในปี พ.ศ. 2392 เป็น พ.ศ. 2393[1] พระราชพิธีอภิเษกสมรสถูกเลื่อนเพราะมีการไว้ทุกข์แก่จักรพรรดิโคเม พระราชชนกของจักรพรรดิเมจิ และซาเนโยชิ อิจิโจ พระเชษฐาของพระองค์เอง ทั้งยังเกิดการจลาจลรอบเกียวโตช่วง พ.ศ. 2410–2411[1]

จักรพรรดินี

แก้
 
จากซ้าย: เจ้าหญิงฟูซาโกะ, มกุฎราชกุมารีซาดาโกะ, เจ้าหญิงโนบูโกะ, จักรพรรดิเมจิ, เจ้าหญิงโทชิโกะ, จักรพรรดินีฮารูโกะ, มกุฎราชกุมารโยชิฮิโตะ และเจ้าหญิงมาซาโกะ ถูกวาดใน พ.ศ. 2443

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างจักรพรรดิเมจิกับฮารูโกะ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2412[1] ได้รับพระอิสริยยศเป็น "เนียวโง" และ "โคโง" ถือเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในรอบหลายร้อยปี แต่พระองค์ไม่สามารถให้ประสูติการพระราชบุตรได้ จักรพรรดิเมจิมีพระราชบุตร 12 พระองค์ ที่เกิดกับนางบาทบริจาริกา 5 ท่าน จักรพรรดินีฮารูโกะทรงเลี้ยงเจ้าชายโยชิฮิโตะ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของจักรพรรดิเมจิกับบาทบริจาริกาชื่อนารูโกะ ยานางิวาระ ที่ต่อมาเจ้าชายพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร หลังจากนั้นพระราชวงศ์ญี่ปุ่นจึงย้ายราชธานีจากเกียวโตไปโตเกียว[2] ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมยุคเก่ากับใหม่ จักรพรรดิเมจิมีพระบรมราชโองการให้บรรดาเจ้านายฝ่ายในและนางสนองพระโอษฐ์เข้าศึกษาหลักสากลพื้นฐานกับพระองค์ เพื่อพัฒนาเจ้านายผู้หญิงให้ทัดเทียมชาติตะวันตก[3]

ปลายพระชนม์

แก้

หลังจักรพรรดิเมจิเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2455 มกุฎราชกุมารโยชิฮิโตะสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิโยชิฮิโตะ และสถาปนาให้จักรพรรดินีฮารูโกะ ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงขึ้นเป็นพระพันปีหลวง (皇太后) สองปีต่อมา พระพันปีฮารูโกะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2457 ณ พระตำหนักในเมืองนูมาซุ จังหวัดชิซูโอกะ พระบรมศพถูกฝังเคียงข้างพระบรมศพจักรพรรดิเมจิพระสวามี บนเนินเขาฝั่งตะวันออกในฟูชิมิโมโมยามะเรียว แขวงฟูชิมิ เมืองเกียวโต มีการถวายสักการะดวงพระวิญญาณของพระองค์ที่ศาลเจ้าเมจิ หลังการสวรรคตพระองค์ได้รับการเฉลิมพระอภิไธยว่า พระพันปีโชเก็ง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2457[4]

อิทธิพล

แก้
 
จักรพรรดินีฮารูโกะทรงสอนหนังสือแก่พระราชธิดาเลี้ยง
 
พระราชวงศ์ญี่ปุ่นทรงเปลี่ยนมาสวมฉลองพระองค์อย่างตะวันตก

ด้านวัฒนธรรม จักรพรรดินีฮารูโกะสวมฉลองพระองค์อย่างตะวันตกเสด็จไปร่วมในพิธีจบการศึกษาที่โรงเรียนขุนนางเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2429 และวันที่ 10 สิงหาคมปีเดียวกันนั้น พระองค์และพระราชวงศ์สวมฉลองพระองค์อย่างยุโรปเข้าชมการแสดงดนตรีตะวันตกครั้งแรก[5] นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระบรมวงศานุวงศ์ญี่ปุ่นจะสวมฉลองพระองค์แบบยุโรปปรากฏต่อธารกำนัล ครั้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2430 จักรพรรดินีฮารูโกะทรงพระอักษรเกี่ยวกับการแต่งกายไว้ว่า การแต่งกายแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมนั้นไม่เหมาะกับยุคสมัยใหม่ และเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกนั้นคล้ายกับกิโมโนที่คนญี่ปุ่นใส่มาแต่โบราณ[6] ใน ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นเอกสารของไทย ระบุถึงฉลองพระองค์องค์จักรพรรดินีเมื่อคราวถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อ พ.ศ. 2442 ไว้ว่า "...เอมเปรสยืนประทับอยู่ มีนารีพนักงานยืนอยู่ด้วยสองนาง แต่งตัวอย่างนารีฝรั่ง..."[7]

ด้านการทูต จักรพรรดินีฮารูโกะทรงต้อนรับจูเลีย แกรนต์ ภรรยาของยูลิซีซ เอส. แกรนต์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่น และปรากฏพระองค์เคียงคู่พระราชสวามีเมื่อครั้งสมาคมกับพระเจ้าคาลาคาอัวแห่งฮาวายใน พ.ศ. 2424 ภายในปีเดียวกัน จักรพรรดินีฮารูโกะทรงร่วมถวายการต้อนรับเจ้าชายอัลเบิร์ตและเจ้าชายจอร์จ พระราชโอรสในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรซึ่งเสด็จเยือนญี่ปุ่น เจ้าชายทั้งสองถวายวอลาบีจากออสเตรเลียแก่พระองค์คู่หนึ่ง[8]

ด้านการทหาร จักรพรรดินีฮารูโกะตามเสด็จจักรพรรดิเมจิไปเมืองโยโกซูกะ จังหวัดคานางาวะ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 เพื่อทอดพระเนตรเรือ นานิวะ และ ทากาชิโฮะ ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนลำใหม่ของกองทัพเรือญี่ปุ่น ทดสอบการประลองยุทธและการยิงตอร์ปิโด หลัง พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา พระองค์จะปรากฏอยู่เคียงข้างพระราชสวามีหากทรงเสด็จเยี่ยมกองทัพญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการแทบทุกครั้ง[9] ครั้นจักรพรรดิเมจิทรงพระประชวรใน พ.ศ. 2431 จักรพรรดินีฮารูโกะทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ แทน เช่น เสด็จออกรับราชทูตจากสยาม[7] เสด็จพระราชดำเนินในพิธีปล่อยเรือรบ และทรงเยี่ยมมหาวิทยาลัยโตเกียว[10] และใน พ.ศ. 2432 จักรพรรดินีฮารูโกะโดยเสด็จพระราชสวามีเยือนเมืองนาโกยะและเกียวโตอย่างเป็นทางการ ขณะที่จักรพรรดิเมจิเสด็จไปทอดพระเนตรฐานทัพเรือที่เมืองคูเรและซาเซโบะ จักรพรรดินีฮารูโกะเสด็จไปสักการะศาลเจ้าที่เมืองนาระ[11]

ด้านการกุศล จักรพรรดิฮารูโกะเป็นที่รู้จักว่าทรงสนับสนุนงานการกุศลและการศึกษาสตรีมาตลอด โดยเฉพาะในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2437–2438) ทรงก่อตั้งและร่วมบริหารสภากาชาดญี่ปุ่น ทรงก่อตั้งทุนจักรพรรดินีโชเก็ง (The Empress Shōken Fund) สำหรับเป็นสวัสดิการในการจัดกิจกรรมในต่างประเทศ หลังจักรพรรดิเมจิทรงย้ายกกองบัญชาการทหารจากโตเกียวไปฮิโรชิมะ ครั้นตามเสด็จพระสวามีเมื่อคราวเยือนฮิโรชิมะในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2438 องค์จักรพรรดินีทรงยืนกรานที่จะเสด็จไปโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เพื่อให้กำลังใจแก่ทหารผู้บาดเจ็บทุกวันที่พระองค์มาประทับฮิโรชิมะ[12]

พระเกียรติยศ

แก้
 
จักรพรรดินีฮารูโกะสวมฉลองพระองค์อย่างโบราณราชประเพณี

พระอิสริยยศ

แก้
  • 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2392 — 2 กันยายน พ.ศ. 2410 : มาซาโกะ อิจิโจ
  • 2 กันยายน พ.ศ. 2410 — 11 มกราคม พ.ศ. 2412 : ฮารูโกะ อิจิโจ
  • 11 มกราคม พ.ศ. 2412 — 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 : จักรพรรดินีฮารูโกะ
  • 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 — 19 เมษายน พ.ศ. 2457 : จักรพรรดินีฮารูโกะ พระพันปีหลวง
  • 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 : จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Keene, Donald. (2005). Emperor of Japan:Meiji and His World, pp. 106-108.
  2. Keene, p. 188.
  3. Keene, p. 202.
  4. 大正3年宮内省告示第9号 (Imperial Household Ministry's 9th announcement in 1914)
  5. Keene, p. 404.
  6. Keene, p. 404.
  7. 7.0 7.1 7.2 "บอกอรรคราชทูตสยาม เรื่องเฝ้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เอมเปรสกรุงญี่ปุ่นถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ บรมมหาจักรีวงษ์ฝ่ายใน ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีนารถมีพระราชเสาวณีย์โปรดเกล้า ฯ ให้เชิญมาถวายเอมเปรสญี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 16 (46): 658. 11 กุมภาพันธ์ 2442. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
  8. Keene, pp. 350-351.
  9. Keene, p. 411.
  10. Keene, pp. 416.
  11. Keene, p. 433.
  12. Keene, p. 502.
  13. "Genealogy". Reichsarchiv (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 28 October 2017.
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า จักรพรรดินีโชเก็ง พระพันปีหลวง ถัดไป
อาซาโกะ คูโจ   จักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น
(พ.ศ. 2412–2455)
  ซาดาโกะ คูโจ
อาซาโกะ คูโจ   พระพันปีหลวงแห่งญี่ปุ่น
(พ.ศ. 2455–2457)
  ซาดาโกะ คูโจ