นารูโกะ ยานางิวาระ

นารูโกะ ยานางิวาระ (ญี่ปุ่น: 柳原愛子โรมาจิYanagihara Naruko; เกิด: 26 มิถุนายน พ.ศ. 2402 — ตาย: 16 ตุลาคม พ.ศ. 2486) หรืออาจรู้จักในนาม ซาราวาบิ โนะ สึโบเนะ เป็นนางสนองพระโอษฐ์ และพระสนมในจักรพรรดิเมจิ ทั้งเป็นพระราชชนนีในจักรพรรดิไทโช[1] โดยเธอเป็นสนมคนสุดท้ายที่ให้ประสูติกาลองค์จักรพรรดิของญี่ปุ่น

นารูโกะ ยานางิวาระ
เกิด26 มิถุนายน พ.ศ. 2402
เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
เสียชีวิต16 ตุลาคม พ.ศ. 2486 (84 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
คู่สมรสจักรพรรดิเมจิ
บุตรเจ้าหญิงชิเงโกะ
เจ้าชายยูกิฮิโตะ
จักรพรรดิไทโช
บิดามารดามิตสึนารุ ยานางิวาระ
อูตาโนะ ฮาเซกาวะ

ประวัติ แก้

นารูโกะ ยานางิวาระเกิดในเกียวโต เป็นบุตรคนที่สองของมิตสึนารุ ยานางิวาระ (柳原光愛) มหาดเล็กของจักรพรรดิ ทั้งเป็นวงศ์วานของเครือฟูจิวาระ นารูโกะมีพี่ชายคือ ซากิมิสึ ยานางิวาระ ผู้ร่วมสงครามโบชิงฝ่ายจักรพรรดิ เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการภูมิภาคโทไกโด ก่อนรับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิ ทั้งยังเป็นผู้ลงนามในสัญญาฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่น หลังทั้งสองก่อสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง

นารูโกะเป็นดรุณีแรกแย้มที่มีความเฉลียวฉลาด และมีรูปโฉมโนมพรรณสวยงาม ได้รับการยกย่องกันถ้วนหน้าในหมู่สนมฝ่ายใน[2] ทั้งยังเก่งกาจการกวี และเข้าถวายตัวรับใช้พระราชวงศ์เมื่อปี พ.ศ. 2413 เริ่มด้วยการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในพระพันปีเอโช ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น กนโนะเท็งจิ (นางห้องพระบรรทม) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2416[3] และรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระสนมในจักรพรรดิเมจิ ประสูติกาลพระราชโอรส-ธิดา 3 พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าหญิงชิเงโกะ อูเมะโนะมิยะ (梅宮薫子内親王; 21 มกราคม พ.ศ. 2418 — 6 มิถุนายน พ.ศ. 2419) สิ้นพระชนม์ด้วยเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบ
  2. เจ้าชายยูกิฮิโตะ ทาเกะโนะมิยะ (建宮敬仁親王; 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2420) สิ้นพระชนม์ด้วยเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบขณะมีพระชนม์เพียงวันเดียว
  3. เจ้าชายโยชิฮิโตะ ฮารุโนะมิยะ (明宮嘉仁親王; 31 สิงหาคม พ.ศ. 2422 — 25 ธันวาคม พ.ศ. 2469) ต่อมาสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิไทโช (大正天皇)

และหลังจากการประสูติกาลพระราชโอรสคือเจ้าชายโยชิฮิโตะแล้ว พระสนมนารูโกะก็พิกลจริตไม่สามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการในห้องพระบรรทมอีกเลย ส่วนพระราชโอรสพระองค์นั้นก็ประชวรด้วยพระโรคเดียวกับพระเชษฐภคินีและพระเชษฐภาดา และมีพระพลานามัยย่ำแย่ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์[4]

พระสนมนารูโกะได้รับการแต่งตั้งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ในปี พ.ศ. 2445 และหลังเจ้าชายฮะรุ สืบราชสมบัติขึ้นเป็นจักรพรรดิไทโชเมื่อปี พ.ศ. 2455 นางก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และได้รับเกียรติหลายประการ แม้จะมีการโจษขานว่านางสติไม่สมประดี ครั้นเมื่อจักรพรรดิไทโชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2469 อดีตพระสนมนารูโกะก็ได้รับการอนุญาตให้ปรากฏตัวหน้าพระแท่นพระบรมศพ

พระสนมนารูโกะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2486 สิริอายุได้ 84 ปี ในรัชสมัยจักรพรรดิโชวะ โดยมีการปลงศพ ณ วัดยูเต็งจิ ย่านนากาเมงูโระ เขตเมงูโระ กรุงโตเกียว

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Keene 2002, p. 320.
  2. Keene 2002, p. 250.
  3. Keene 2002, p. 776.
  4. Bix, p. 22

บรรณานุกรม แก้

  • Keene, Donald. Emperor Of Japan: Meiji And His World, 1852–1912. Columbia University Press (2005). ISBN 0-231-12341-8
  • Bix, Herbert P.. Hirohito and the Making of Modern Japan. Harper Perennial (2001). ISBN 0-06-093130-2

แหล่งข้อมูลอื่น แก้