ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ

ศาลสักการะพระพรหมบนแยกราชประสงค์

ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ เป็นศาลหนึ่งในบรรดาศาลบริเวณแยกราชประสงค์ ประดิษฐานบูชาท้าวมหาพรหม ตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ศาลท้าวมหาพรหม
ศาสนา
ศาสนาศาสนาฮินดู
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
เทพพระพรหม
เทศกาลพิธีบวงสรวงท้าวมหาพรหม
หน่วยงานกำกับดูแลมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม
ปีที่อุทิศพ.ศ. 2499
ที่ตั้ง
ที่ตั้งโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ แยกราชประสงค์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน
ประเทศประเทศไทย
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกระวี ชมเสรี และหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
ประเภทสถาปัตยกรรมไทย
ผู้ก่อตั้งสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว
เสร็จสมบูรณ์พ.ศ. 2499
ทิศทางด้านหน้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ประวัติ

แก้
 
ผู้คนสักการะท้าวมหาพรหมเมื่อปี พ.ศ. 2561
 
ศาลท้าวมหาพรหมปิดการเข้าสักการะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ.2564

เมื่อ พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ให้สร้างโรงแรมเอราวัณขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่า ในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ. 2499 บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ) นายแพทย์ใหญ่กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน ให้หาฤกษ์วันเปิดโรงแรม[1]

พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม[2]

จึงได้มีการตั้งศาลพระพรหม ผู้ออกแบบตัวศาล คือ ระวี ชมเสรี และ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ส่วนรูปท้าวมหาพรหมนั้นปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ผู้ออกแบบและปั้น คือ จิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เสร็จแล้วอัญเชิญมาประดิษฐานหน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499[2][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]

ตามแผนงานครั้งแรก รูปท้าวมหาพรหมจะเป็นโลหะหล่อสีทอง แต่เนื่องจากระยะเวลาจำกัดด้วยฤกษ์การเปิดโรงแรม จึงได้เปลี่ยนวัสดุเป็นปูนปั้นปิดทองแทน[3][ลิงก์เสีย]

รูปท้าวมหาพรหมนี้สร้างขึ้นในเวลาเดียวกับรูปพระพรหมที่ศาลบนดาดฟ้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งก็สร้างตามคำแนะนำของพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ เช่นเดียวกัน[3]

ปัจจุบัน ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ อยู่ในความดูแลของ "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม" เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือกันมาก เชื่อกันว่า ถ้าบนบานด้วยละครรำ จะประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ จึงมีการรำละครชาตรีแก้บนทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวต่างชาติ เช่น ชาวจีนจัดทัวร์มาไหว้สักการะโดยเฉพาะ และชาวจีนที่มีชื่อเสียงหลายคนเคยเดินทางมาที่นี่ เช่น เหลียง เฉาเหว่ย, หง จินเป่า, เซียะ ถิงฟง เป็นต้น[3][ลิงก์เสีย] เหริน ต๋าหัว และ หมี เสว่ ก็เดินทางมาสักการะหลังเหตุระเบิดในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558[ต้องการอ้างอิง]

การทุบทำลายใน พ.ศ. 2549

แก้

กลางคืนวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 ชายเสียสติผู้หนึ่งใช้ค้อนทุบทำลายศาล ทำให้รูปท้าวมหาพรหมแตก จึงบูรณะขึ้นใหม่ทั้งศาลและรูปท้าวมหาพรหม แล้วเสร็จในปลายเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน[4]

มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ได้ทำพิธีอัญเชิญรูปที่บูรณะเสร็จแล้วกลับมาประดิษฐานในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เวลา 11:39 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่องศาของดวงอาทิตย์ส่องตรงศาลพอดี โดยอัญเชิญเป็นขบวนจากกรมศิลปากรมาจนถึงศาลท้าวมหาพรหม ส่วนชายผู้ที่ใช้ค้อนทุบทำลายศาลดังกล่าว ภายหลังเกิดเหตุได้ถูกผู้เห็นเหตุการณ์ทุบตีจนเสียชีวิต[4] [5] [6]

การระเบิดใน พ.ศ. 2558

แก้

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 18:55 นาฬิกา มีระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ใกล้กับศาลท้าวมหาพรหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า เป็นระเบิดทีเอ็นทีหนัก 5 กิโลกรัม บรรจุในท่อที่อยู่ในบริเวณศาล มีรัศมีการทำลายล้าง 30 เมตรจากจุดระเบิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 70 คน และเสียชีวิตทันทีถึง 16 คน[7]

รูปท้าวมหาพรหมเสียหายทั้งหมด 12 จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนคาง ใช้งบประมาณในการบูรณะ 70,000 บาท ใช้เวลาบูรณะประมาณ 9 วัน[8]

อ้างอิง

แก้
  1. "หนุ่มเพี้ยนบุกทุบท้าวมหาพรหมพังทั้งองค์!! ชาวบ้านแค้นรุมยำดับอนาถ". ผู้จัดการออนไลน์. 2009-03-21.
  2. 2.0 2.1 "เทวดาสี่แยกราชประสงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-18.
  3. 3.0 3.1 3.2 Kornkit Disthan, เฟซบุก, August 27, 2015 (retrieved on August 26, 2015)
  4. 4.0 4.1 "ทุบพังทั้งองค์ พระพรหมเอราวัณ ลางร้าย คลั่ง หรือลับลวงพราง!". คมชัดลึก. 2018-03-21.
  5. "เปิดฮวงจุ้ยราชประสงค์ ย้อนคดีทุบพระพรหม ไขขั้นตอนบูรณะ". ไทยรัฐ. 2015-08-22.
  6. "ครบรอบ 61 ปี วันตั้งศาลท้าวมหาพรหม ชาวไทย-ต่างชาติแห่สักการะแน่น". ไทยรัฐ. 2017-05-09.
  7. ‘เสียชีวิต16ราย’ระเบิดราชประสงค์เจ็บกว่า70 เก็บถาวร 2015-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คมชัดลึก, August 27, 2015 (retrieved on August 17, 2015)
  8. กรมศิลป์ฯบูรณะพระพรหม ระดมช่างสิบหมู่ซ่อมแซม, เดลินิวส์, August 30, 2015 (retrieved on August 26, 2015)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′39″N 100°32′27″E / 13.744132°N 100.540910°E / 13.744132; 100.540910