โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ (อังกฤษ: Grand Hyatt Erawan Hotel) เป็นโรงแรมหรูในพื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2534 สร้างบนพื้นที่เดิมของโรงแรมเอราวัณ บริเวณหัวมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแยกราชประสงค์ โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มเอราวัณ กับ บจก. สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง และบริหารงานโดยกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทไฮแอท อาคารโรงแรมออกแบบโดยรังสรรค์ ต่อสุวรรณ โดยใช้สถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ผสมกับความเป็นไทยแบบดั้งเดิม และมีศูนย์การค้า เอราวัณ แบงค็อก รวมถึงศาลพระพรหมอีกด้วย

โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
ด้านเหนือสุดของอาคารโรงแรม (ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้า) โดยมีศาลพระพรหมเอราวัณอยู่ด้านหน้า
โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
ที่ตั้งภายในกรุงเทพมหานคร
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง494 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ไทย ประเทศไทย
พิกัด13°44′36.7709″N 100°32′25.7462″E / 13.743547472°N 100.540485056°E / 13.743547472; 100.540485056
เปิดใช้งาน3 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เจ้าของบริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด โดย กลุ่มเอราวัณ และสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว
ข้อมูลทางเทคนิค
จำนวนชั้น22
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกรังสรรค์ ต่อสุวรรณ
ข้อมูลอื่น
จำนวนห้อง380
จำนวนห้องชุด6
จำนวนร้านอาหาร9
เว็บไซต์
https://www.hyatt.com/en-US/hotel/thailand/grand-hyatt-erawan-bangkok/bangh/home/thai

ประวัติ แก้

จากการที่ โรงแรมเอราวัณ กิจการของรัฐบาล ซึ่งสร้างขึ้นก่อตั้งขึ้นที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของ สี่แยกราชประสงค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ไม่สามารถแข่งขันกับโรงแรมเอกชนอื่น ๆ ได้ บจก. สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง จึงได้ตัดสินใจที่จะรื้อถอนโรงแรมและสร้างใหม่ในลักษณะกิจการร่วมค้า

หลังจากเจรจามาสองปี บริษัท อัมรินทร์ พลาซ่า จำกัด (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป) ซึ่งเพิ่งเปิดศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า เมื่อปี พ.ศ. 2528 เป็นผู้ได้รับสิทธิ์พัฒนาและบริหารโรงแรม โดยลงนามในสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2530 บริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารโรงแรมเอราวัณโฉมใหม่นั้น มีอมรินทร์พลาซ่าถือหุ้นสองในสาม และสหโรงแรมไทยฯ ถือหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งรวมถึงสัญญาเช่าที่ดินสามสิบปี อิศรา วงศ์กุศลกิจ ซีอีโอของอัมรินทร์ฯ ได้เชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่ออกแบบอัมรินทร์ พลาซ่า ให้เป็นผู้ออกแบบโครงการ ทั้งสองได้พบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หลายครั้งในระหว่างการออกแบบโครงการ รังสรรค์ดูแลการออกแบบอาคารส่วนใหญ่ของการโครงการ รวมถึงการตลาดของโรงแรมด้วย[1]

 
รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ใช้องค์ประกอบตกแต่งกรีก-โรมันในการออกแบบ ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ (ซ้าย) และใช้เสาทรงไทยสำหรับแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ (ขวา)

สำหรับโรงแรมแห่งใหม่นี้ รัฐบาลต้องการการออกแบบที่มีองค์ประกอบแบบไทย และรังสรรค์ได้นำเสนอแบบที่ผสมผสานลักษณะแบบไทยดั้งเดิมที่พบในพระราชวังและวัดในศาสนาพุทธ[1] ข้อเสนอเดิมของเขาที่จะเคารพความเป็นไทย[2] ถูกโจมตีเนื่องจากเป็นการไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และรังสรรค์ก็ยินยอมตามคำร้องขอของเจ้าของโครงการที่จะตัดองค์ประกอบหลายอย่าง[1] ผลที่ได้คือการออกแบบแบบหลังสมัยใหม่ที่คล้ายกับของอัมรินทร์พลาซ่า แต่ด้วยแรงบันดาลใจแบบตะวันตก-ประวัติศาสตร์แทนที่ด้วยองค์ประกอบแบบไทยดั้งเดิม เสาสี่เหลี่ยมขนาดมหึมาที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุด โดยมีการย่อมุมและหัวเสาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมวัด[2]

ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ได้นำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี พ.ศ. 2531 เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนครั้งแรกในธุรกิจโรงแรม บริษัทจึงเลือกที่จะวางตำแหน่งให้เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวเพื่อสร้างฐานที่มั่นในอุตสาหกรรม โดยบริษัทได้ร่วมกับกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทไฮแอท ในการบริหารโรงแรมดังกล่าว โดยใช้ชื่อ "โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ" อาคารโรงแรมเริ่มก่อสร้างในปี 2531 และเปิดเมื่อปลายปี 2534[3]

โรงแรมได้รับการปรับปรุงใหม่หลายครั้ง รวมถึงการเพิ่มห้องสปาในปี 2548[4] และการปรับปรุงห้องพักทั้งหมดครั้งใหญ่ในปี 2555 รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการประชุมและจัดงานต่าง ๆ[5]

การบริหารงาน แก้

เจ้าของโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ คือ บริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด ซึ่ง ณ ปี 2553 ถือหุ้นร้อยละ 73.6 โดย ดิ เอราวัณ กรุ๊ป และร้อยละ 26.4 โดย บจก.สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว[6] [7] โรงแรมซึ่งบริหารงานโดยไฮแอท ใช้การเสนอราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลจากการช่วยป้องกันความสูญเสียอันเนื่องมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนลงจากวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 2540

ในปี 2558 ธุรกิจโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ คิดเป็น 25% ของรายได้ของกลุ่มดิ เอราวัณ โรงแรมได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณที่อยู่ใกล้เคียงในปี 2558 [8] และการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563-2564 เนื่องจากกลุ่มธุรกิจของทางโรงแรมพึ่งพาแขกต่างชาติมากกว่าร้อยละ 80[9]

สิ่งอำนวยความสะดวก แก้

 
อาคารโรงแรมสูง 22 ชั้นตั้งตระหง่านเหนือโพเดียม

โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ มีห้องพัก 380 ห้อง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอาคารสูง 22 ชั้น และมีห้องพัก 6 ห้องเป็น "กระท่อมสปา" สไตล์รีสอร์ท ตั้งอยู่บนดาดฟ้าของส่วนโพเดียม 5 ชั้น ในบริเวณเดียวกับไอยสวรรค์เรสซิเดนเชียลสปาแอนด์คลับ และสระว่ายน้ำ โรงแรมมีร้านอาหารและบาร์ 9 แห่ง ซึ่งรวมถึงเอราวัณทีรูม นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับธุรกิจจัดประชุม มีห้องแกรนด์บอลรูมที่จุได้ 1,500 คน และห้องจัดเลี้ยงในธีม "เดอะ เรสซิเดนซ์" และ "เดอะ แคมปัส"[5] [10] ล็อบบี้ตั้งอยู่ในห้องโถงใหญ่ที่มีเสาสูงตระหง่าน ตกแต่งด้วยงานศิลปะโดยศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง[11] [12]

นิตยสารการท่องเที่ยวโฟดอส์ ให้ความเห็นว่า "โรงแรมแห่งนี้มอบบริการ คุณภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีที่สุด และเหมาะสมกับราคาสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง" [11] ด้านนิตยสารนิวยอร์กกล่าวว่า กระท่อมสปาคือ "ความลับที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ สำหรับความหรูหราที่ทันสมัย"[13]

ทางตอนเหนือสุดของอาคารโรงแรมเป็นศูนย์การค้าบูติกชื่อเอราวัณ แบงค็อก พื้นที่ 13,000 ตารางเมตร เปิดดำเนินการในปี 2548 ซึ่งมาแทนที่ห้างสรรพสินค้าโซโก้[14][15] ศูนย์การค้าและโรงแรมเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินลอยฟ้าไปยังสถานีชิดลมของรถไฟฟ้าบีทีเอส ตลอดจนห้างสรรพสินค้าและสถานประกอบการอื่น ๆ อีกหลายแห่งในย่านราชประสงค์

ในเขตโรงแรมบริเวณหัวมุมสี่แยกราชประสงค์ เป็นที่ตั้งของศาลพระพรหมเอราวัณ ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับโรงแรมเอราวัณเดิมในความพยายามที่จะปัดเป่าสิ่งโชคร้ายที่รบกวนการก่อสร้าง ศาลแห่งนี้กลายเป็นสถานที่สำคัญทางจิตวิญญาณที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้รับความนิยมในการสักการะบูชา แม้โรงแรมเดิมจะถูกรื้อถอน ก็ยังมีการรักษาศาลพระพรหมไว้จนกระทั่งโรงแรมใหม่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการอีกครั้ง[3]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "รังสรรค์ ต่อสุวรรณ: อาจารย์ สถาปนิก นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย (2)". The Momentum. 3 March 2017. สืบค้นเมื่อ 5 September 2021.
  2. 2.0 2.1 Chanowanna, Satanan (9 December 2015). "Arguments on the Postmodern Movement in Thai Architecture During the 1980s". EAU Heritage Journal Science and Technology (ภาษาอังกฤษ). 9 (3): 10–24. ISSN 2651-1738.
  3. 3.0 3.1 Warren, William (3 November 1991). "What's doing in; Bangkok". The New York Times.
  4. Glusac, Elaine (15 July 2007). "The Room as Spa, and Vice Versa". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.
  5. 5.0 5.1 "Grand Hyatt Erawan Bangkok unveils new guestrooms". Bangkok Post. 19 December 2012. สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.
  6. "เอราวัณปฏิเสธหนุนเสื้อแดง". Post Today. 9 April 2010. สืบค้นเมื่อ 6 September 2021.
  7. Ünaldi, Serhat (2014). "Politics and the City: Protest, Memory, and Contested Space in Bangkok". ใน Liamputtong, Pranee (บ.ก.). Contemporary socio-cultural and political perspectives in Thailand. Dordrecht: Springer Science & Business Media. p. 218. ISBN 9789400772441.
  8. Polkuamdee, Nuntawun (20 August 2015). "Attack fallout could hurt Erawan Group". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.
  9. Orawan Marketeer (20 May 2021). "ดิ เอราวัณ กรุ๊ป ไปต่ออย่างไร ความท้าทายของตระกูล "ว่องกุศลกิจ" และ "วัธนเวคิน"". Marketeer Online.
  10. Shippen, Mick (25 December 2012). "Innovative Ideas for Talk-of-the-town Events at Grand Hyatt Erawan Bangkok". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.
  11. 11.0 11.1 Feinstein, Paul. "Grand Hyatt Erawan Expert Review". Fodor's Travel (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 September 2021.
  12. "Grand Hyatt Erawan Bangkok". Travel + Leisure (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.
  13. Parks, Andrew (2019). "Where the Locals Would Stay in Bangkok If They Weren't Local". New York Magazine (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.
  14. อรวรรณ บัณฑิตกุล (October 2003). "Erawan Bangkok ไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ของคนเมือง". Manager. สืบค้นเมื่อ 11 August 2021.[ลิงก์เสีย]
  15. Khanthong, Thanong (10 July 2000). "Sogo to keep Bangkok presence". The Nation. สืบค้นเมื่อ 8 September 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้