วิกิพีเดีย:โรงเรียนเตรียมพร้อมวิกิ

โรงเรียนเตรียมพร้อมวิกิ เป็นโครงการหนึ่งในวิกิพีเดียภาษาไทย สำหรับช่วยเหลือผู้ใช้ใหม่ จุดประสงค์ของโครงการนี้คือแนะนำและแนะแนวผู้ใช้ใหม่ และไม่ต้องการให้ทุกคนรู้สึกว่าโดดเดี่ยวในการแก้ไขวิกิพีเดีย พร้อมทั้งแนะนำ เสนอแนะความช่วยเหลือ รวมถึงตอบแก้ปัญหาต่อผู้ใช้ใหม่ด้วย


เริ่มต้นโครงการ

สำหรับผู้ใช้ใหม่นั้น เราขอให้ทำความรู้จักกับวิกิพีเดียและต่อด้วยการศึกษาการเริ่มต้นและการใช้งาน ซึ่งมีวิธีการคร่าวๆ สำหรับการใช้งานวิกิพีเดียเอง และอย่าลืมนโยบายพื้นฐานในวิกิพีเดีย โดยเมื่อพร้อมแล้วลองดูวิธีการแก้ไขบทความ ซึ่งในวิกิพีเดียนั้นรองรับคำสั่งมากมาย แต่ลองดูคำสั่งที่ใช้บ่อยได้ที่ วิธีการแก้ไขหน้าพื้นฐาน (และคำสั่งทั้งหมดได้ที่ วิธีการแก้ไขหน้า) โดยทดลองการแก้ไขได้ที่กระบะทรายที่ไว้ใช้ทดลองเล่นได้

หน้าที่มีประโยชน์ต่างๆ เช่น ศาลาประชาคมซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลของทุกอย่างในวิกิพีเดีย และความช่วยเหลือรวมข้อมูลการใช้งานทั้งหมด ซึ่งปรากฏทางเมนูด้านซ้ายมือนี่เอง นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าอรรถประโยชน์ เช่น อะไรที่ไม่ใช่วิกิพีเดีย คู่มือในการเขียน มารยาทในวิกิพีเดีย ข้อผิดพลาดที่พบบ่อย และที่สำคัญที่สุดคืออย่าลืมกล้าที่จะแก้ไขบทความ เพราะมีผู้ใช้ใหม่หลายคนกลัวว่าจะเขียนผิดหรือแก้ไขผิด แต่ในวิกิพีเดียนี้ไม่ต้องกลัวการผิดพลาด เพราะเมื่อคุณทำผิดจะมีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือและช่วยแก้ไขได้ในเวลาไม่นาน

เริ่มต้นเขียน

ถ้าหากคุณยังไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มทำอะไรก่อนดี ขอแนะนำให้คุณแวะไปดูที่ วิกิพีเดีย:คุณช่วยเราได้ ซึ่งจะมีไอเดียคร่าวๆ ไว้ อีกอย่างถ้าอ่านและเห็นว่าในวิกิพีเดียมีนโยบายและกฎมากมาย ให้ปล่อยวางกฎทั้งหมด ถ้ากฎปิดกั้นไม่ให้คุณปรับปรุงหรือดูแลวิกิพีเดียให้มีคุณภาพ จงลืมมันเสีย ที่สำคัญคืออย่าลืมกล้าที่จะแก้ไขบทความ !!! นอกจากนี้ถ้าคุณต้องการมีส่วนร่วมในตัวโครงการ คุณสามารถแสดงความเห็นของคุณได้ในหน้าศาลาชุมชน และคัดเลือกบทความคัดสรร ซึ่งความเห็นของคุณจะเป็นตัวผลักดันได้ ซึ่งในวิกิพีเดียนั้นทุกๆ ส่วนเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกันเสมอ

ถ้ามีคำถามจะถามได้ที่ไหน

ในวิกิพีเดียนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เว็บบอร์ดหรือห้องแชตเอาไว้คุยกัน แต่ทุกคนที่ร่วมเข้ามาเขียนในวิกิพีเดียย่อมมีคำถามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามเกี่ยวกับการใช้งาน โดยถ้าคุณมีคำถาม คุณสามารถถามได้ที่ ถามการใช้งาน ซึ่งหน้านี้จะถามได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการใช้งานสำหรับผู้ใช้ใหม่ หรือนอกจากนี้คุณอาจจะถามข้อมูลการใช้งานได้ที่หน้าเลขาชาววิกิพีเดีย ซึ่งเมื่อมีผู้ใช้คนอื่นผ่านเข้ามาเห็นก็จะเข้ามาตอบคำถามของคุณ หรือคุณอาจจะถามคำถามโดยตรงกับชาววิกิพีเดียคนอื่นโดยผ่านทาง"หน้าพูดคุย" ซึ่งหน้าพูดคุยนี้เป็นหน้าพิเศษในวิกิพีเดีย โดยจะมีคำว่า "คุยกับผู้ใช้:" ขึ้นต้นเสมอ ซึ่งผู้ใช้แต่ละคนเมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้หน้านี้คนละหนึ่งหน้า เอาไว้พูดคุยเกี่ยวกับการใช้งานกับคนอื่น ซึ่งคุณเองก็มีเช่นกัน โดยคุณสามารถเข้าไปโดยเมื่อคุณทำการล็อกอิน มันจะอยู่ทางขวาบนตรงคำว่า "ห้องสนทนาของฉัน" นั่นเอง ซึ่งเมื่อมีข้อความใหม่เข้ามาทางโปรแกรมจะแสดงเป็นแถบสีส้มเตือนว่าคุณได้รับข้อความ

ในกรณีพูดคุยกับผู้อื่นอย่าลืมทำการลงชื่อในหน้าพูดคุย ซึ่งเป็นมารยาทเล็กน้อยในวิกิพีเดีย โดยการพิมพ์ ~~~~ (~ สี่ตัว) หรือกดที่ไอคอน ที่เป็นรูปลายเซ็นจากแถบเครื่องมือ โดยโปรแกรมจะใส่ชื่อผู้ใช้ของคุณและวันเวลาให้โดยอัตโนมัติ ข้อควรระวังคือจะไม่มีการลงชื่อในหน้าบทความ นอกจากนี้คุณสามารถบอกเรื่องราวเกี่ยวกับตัวคุณเองให้ชาววิกิพีเดียผู้อื่นทราบ ได้ที่หน้าผู้ใช้ของคุณ

ถ้าคุณต้องการหาพี่เลี้ยงในวิกิพีเดีย คุณอาจติดต่อผู้ใช้ได้โดยตรง โดยอาจสอบถามว่าถ้าหากเขามีเวลาที่จะเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือคุณได้ ไม่แน่ใจว่าควรติดต่อใครดี? สามารดูรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการด้านล่างนี้ได้

ลิขสิทธิ์

ในวิกิพีเดียนี้มีปัญหาที่พบบ่อยคือการละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ตั้งใจ โดยผู้ใช้ใหม่หลายคนได้คัดลอกเนื้อหาจากเว็บอื่นและนำมาแปะลงในวิกิพีเดีย โดยไม่รู้ว่าวิธีนี้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จากเว็บต้นฉบับและส่งผลให้ข้อความที่คัดลอกมาถูกลบในเวลาต่อมา ซึ่งอย่างแรกแนะนำให้อ่านเพิ่มได้ที่ เขียนอย่างไรไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ และ ลิขสิทธิ์ในวิกิพีเดีย

ปัญหาที่ผู้ใช้ใหม่มักสับสน

ป้ายน่ากลัว
ในวิกิพีเดีย มีป้ายอยู่หลายแบบซึ่งเตือนให้ผู้อ่านและผู้เขียนเข้าใจถึงสถานะของบทความในหน้านั้น บางครั้งก่อให้เกิดความสับสนกับผู้ใช้ใหม่ได้ง่าย อย่างเช่นเมื่อคุณกำลังเขียนบทความอยู่หรือเขียนบทความเสร็จไปแล้วนั้น อาจมีผู้อื่นนำป้ายมาติดไว้ที่ส่วนบนสุดของหน้า ซึ่งในป้ายนั้นจะมีการบอกเพิ่มเติมว่าบทความนั้นควรแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาส่วนใด หรือเพิ่มเติมข้อมูลส่วนใด อย่าเพิ่งนำป้ายออก กรุณาปรับปรุงจนกระทั่งประเด็นปัญหานั้นได้รับการแก้ไข หากมีข้อสงสัยคุณสามารถขอคำแนะนำได้ที่หน้าพูดคุยของบทความนั้น
ข้อความถูกลบ
หลายครั้งที่ผู้ใช้ใหม่เข้ามาลองเขียนแล้วปรากฏว่าข้อความที่ได้เขียนนั้นถูกลบออกไปหมด ซึ่งทำให้ผู้ใช้ใหม่เกิดความรู้สึกท้อแท้ได้ง่าย ถ้าคุณเป็นผู้ใช้ใหม่และข้อความโดนลบออกไป ลองตรวจสอบที่ทำไมบทความถึงถูกลบ ซึ่งถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการถูกลบ คุณสามารถสอบถามผู้ลบบทความนั้นได้ ในขณะเดียวกันถ้าคุณเป็นผู้ลบข้อความของผู้ใช้ใหม่ อย่าลืมที่จะเข้าไปในอธิบายเหตุผลในการลบเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดได้
คำวิจารณ์จากผู้อื่น
ถึงแม้ว่าวิกิพีเดียจะไม่มีนโยบายสนับสนุนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบการเขียนและตัวเนื้อหาก็ตาม เว้นเสียแต่ในหน้าการปรับปรุงบทความให้เป็นบทความคุณภาพ และ บทความคัดสรร เพื่อที่จะนำไปคัดเลือกบทความให้ปรากฏในหน้าหลักของวิกิพีเดีย การวิจารณ์มักจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่ายต่อผู้ใช้ในวิกิพีเดีย โดยถ้ามีผู้มาวิจารณ์คุณ คุณอาจลองชักชวนผู้วิจารณ์มาร่วมสร้างสรรค์บทความร่วมกันเขียนบทความให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การแสดงตัวเป็นเจ้าของบทความ
รูปแบบของวิกิพีเดียจะเปิดกว้างให้ทุกคนมาเขียนเนื้อหาภายใต้หัวข้อเดียวกัน โดยในแต่ละบทความจะมีผู้เขียนมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งทำให้เนื้อหามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นทั้งในด้านเนื้อหาที่ครอบคลุมในทุกด้าน รวมไปถึงรูปแบบที่ถูกจัดให้อ่านได้ง่ายสบายตา หลายครั้งที่ผู้ใช้แสดงตัวว่าไม่ต้องการให้คนอื่นมาแก้ไขงานของตน ซึ่งจะทำให้เกิดการปิดกั้นการพัฒนาบทความ นโยบายหนึ่งในวิกิพีเดียว่าไว้ว่าเชื่อว่าคนอื่นมีเจตนาดี เพราะทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือและพัฒนาวิกิพีเดีย ทุกคนยอมรับและยินดีที่หากมีผู้อื่นมาแก้ไขบทความเพื่อให้เนื้อหาดียิ่งขึ้น แต่ถ้าข้อมูลนั้นผิดพลาดทุกคนก็มีสิทธิแก้ไขกลับไปเป็นอย่างที่ตัวเองต้องการเช่นกัน
การแจ้งลบ
ผู้ใช้ใหม่มักคิดว่าการทำหน้าว่างคือการแจ้งลบ และอาจไม่พอใจเมื่อพบว่าถูกแจ้งว่าเป็นการก่อกวน โดยหากคุณต้องการแจ้งลบหน้าใดๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความ ภาพ หรือหน้าอื่นๆ สามารถทำได้ด้วยการพิมพ์ {{ลบ|สาเหตุที่แจ้งลบ}} ที่บนสุดของหน้านั้น โดยคงเนื้อหาเดิมไว้ โดยแทนที่คำว่า "สาเหตุที่แจ้งลบ" ด้วยสาเหตุที่ต้องการ เช่น {{ลบ|สะกดชื่อผิด}} หรือ {{ลบ|ภาพที่ไม่ได้ใช้แล้ว}}
การอัปโหลดภาพเข้าสู่วิกิพีเดีย
นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ในนโยบายการใช้ภาพ เนื่องจากวิกิพีเดียมีนโยบายสนับสนุนการใช้ลิขสิทธิ์เสรีภายใต้ GFDL ภาพที่ใช้จึงสนับสนุนภาพในรูปแบบเสรี และไม่มีการถือลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามหลายบทความเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากที่จะนำภาพเสรีมาใช้ ภาพที่มีลิขสิทธิ์จึงถูกนำมาใช้แทนที่ ซึ่งได้แก่ ภาพโลโก้ ภาพสัญลักษณ์บริษัท ภาพสัญลักษณ์ประเทศ ภาพหน้าปกดีวีดีหรือซีดี ภาพการ์ตูน ซึ่งภาพเหล่านี้เป็นภาพที่ถือลิขสิทธิ์โดยเจ้าของภาพ ดังนั้นภาพลิขสิทธิ์เหล่านี้จะมีป้ายกำกับไว้ทุกครั้งว่าเป็นการใช้งานโดยชอบธรรม เป็นลิขสิทธิ์ประเภทไหน และมีแหล่งที่มาจากไหน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาพนั้นเป็นภาพลิขสิทธิ์ และไม่ได้เป็นภาพเสรี ซึ่งภาพที่ไม่ได้กำหนดลิขสิทธิ์และแหล่งที่มา จะถูกแจ้งให้ลบภายในช่วงเวลาที่กำหนด
คำทับศัพท์
การทับศัพท์ในวิกิพีเดียรวมถึงหลักการตั้งชื่อบทความ นั้นจะมีการใช้คำที่ปรากฏในพจนานุกรมรวมไปถึงหลักการถอดคำศัพท์จากระบบของราชบัณฑิตยสถานเป็นหลัก เพื่อให้บทความในภาษาต่างประเทศออกมาในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจะสะดวกในการค้นหาสำหรับทั้งผู้อ่านและผู้เขียน ซึ่งหลายครั้งจะเห็นว่าคำหรือชื่อเฉพาะที่ใช้กันนั้น จะแตกต่างกับคำที่คุณเคยคุ้นเคยก็ตาม อย่างไรก็ตามถ้าคำทับศัพท์ไหนเป็นที่นิยมมากกว่าหลายเท่าตัวจากระบบของราชบัณฑิตฯ ก็จะมีการใช้คำที่นิยมมากกว่าแทน
บรรยากาศที่อาจตึงเครียดในบางครั้ง
หลายๆ ครั้งบางบทความที่มีการโต้เถียงสูง ในส่วนเนื้อหาซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อไม่ตรงกัน ทำให้เกิดการแก้ไขกลับไปกลับมาหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดในวิกิพีเดียได้และลามไปถึงเกิดความตึงเครียดต่อผู้เขียนวิกิพีเดียหลายคน (ดังที่ผู้ใช้ตั๋มมี่ได้เขียนไว้ในหน้าผู้ใช้) วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ใจเย็น และ เชื่อว่าคนอื่นมีเจตนาดี ถ้าเห็นว่าข้อเท็จจริงของคนสองคนหรือมากกว่านั้นแตกต่างกัน ให้ลองพูดคุยในหน้าพูดคุย พูดคุยด้วยเหตุผลและอย่าใช้อารมณ์ ซึ่งจะทำให้ลดความตึงเครียด และผู้อื่นที่เข้ามาอ่านจะไม่รู้สึกตึงเครียดในส่วนนั้นร่วมไปด้วย ซึ่งจะทำให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้นไป ถ้าพบเจอผู้ใช้ที่ไม่สนใจมารยาทในวิกิพีเดีย อย่าพยายามตอบโต้ พยายามพูดคุยด้วยมารยาทแทนที่จะตอบโต้ด้วยอารมณ์

เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ

ผู้เข้าร่วมโครงการ
ผู้ใช้ดังนี้เป็นผู้เข้าร่วมโครงการ และยินดีให้ความช่วยเหลือคุณ โดยทุกคนสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เพียงลงชื่อด้านล่างนี้ และใส่ {{User ช่วยเหลือ}} หรือ {{User nobite}} ไว้ที่หน้าผู้ใช้ของคุณ โดยคุณสามารถร่วมลงชื่อได้ด้านล่าง (เรียงลำดับตามอักษรภาษาไทย ถึง ภาษาอังกฤษ)
นอกจากรายชื่อที่กล่าวไว้ด้านบนนี้ ยังมีชาววิกิพีเดียอีกหลายคนที่พร้อมช่วยเหลือผู้ใช้ใหม่ทุกเมื่อ
เสนอแนวคิดเพิ่มเติม
ทุกคนสามารถเพิ่มเติมในส่วน "ปัญหาที่ผู้ใช้ใหม่มักสับสน" ในด้านบนนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้มาใหม่และในขณะเดียวกันก็อธิบายให้ผู้ใช้เก่าเข้าใจถึงปัญหาของผู้ใช้ใหม่