วันรัฐธรรมนูญ (ประเทศไทย)
วันรัฐธรรมนูญในประเทศไทย เป็นวันที่ระลึกในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย
วันรัฐธรรมนูญ | |
---|---|
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนัตสมาคม พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 | |
ชื่อทางการ | วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ |
ความสำคัญ | เป็นวันที่ระลึกในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวรฉบับแรก |
การถือปฏิบัติ |
|
วันที่ | 10 ธันวาคม |
ความถี่ | ทุกปี |
ครั้งแรก | พ.ศ. 2480 |
ริเริ่มโดย | คณะรัฐมนตรีสยาม คณะที่ 6 |
ส่วนเกี่ยวข้อง | การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม |
ประวัติ
แก้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้แต่งตั้งกรรมการพิจารณาเรื่องวันหยุดราชการและการประกอบพิธีทางราชการที่เกี่ยวกับวันหยุดราชการ โดยมีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณเป็นประธานในปี พ.ศ. 2477 เพื่อความเรียบร้อยในการปฏิบัติราชการ[1]
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2480 พระยาพหลพลพยุหเสนาประกาศวันหยุดราชการขึ้น 9 รายการ โดยมีวันที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 3 รายการ ได้แก่[2]
- วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตรงกับวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
- วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม โดยให้วันที่ 9 และวันที่ 11 เป็นวันหยุดราชการด้วย
หลังจากนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลงวันหยุดราชการที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ดังนี้
- พ.ศ. 2482 - คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 9 มีมติให้ปรับวันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ โดยควบรวมวันที่ 23 และ 25 เป็นวันหยุดราชการด้วย ยกเลิกวันรัฐธรรมนูญชั่วคราว (27 มิถุนายน) ส่วนวันรัฐธรรมนูญ (10 ธันวาคม) ยังคงเดิม[3]
- พ.ศ. 2491 - คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 21 มีมติให้ปรับวันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการในชื่อวันรัฐธรรมนูญเพียงวันเดียว[4]
- พ.ศ. 2493 - คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 22 มีมติให้ปรับวันที่ 9, 10 และ 11 ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการในชื่อวันรัฐธรรมนูญตามเดิม[5]
- พ.ศ. 2497 - คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 25 มีมติให้ปรับวันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการในชื่อวันรัฐธรรมนูญเพียงวันเดียว เพื่อปรับลดจำนวนวันหยุดราชการไม่ให้กระทบกิจการอื่น[6] และคงไว้จนถึงปัจจุบัน
พิธีและกิจกรรมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ
แก้รัฐสภากำหนดจัดพิธีถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องหน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน เป็นประจำทุกปี[7] กระทั่งรัฐสภาย้ายไปที่ตั้งใหม่ จึงกระทำพิธี ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวภายในอาคารรัฐสภา ถนนเกียกกาย[8]
นอกจากนี้รัฐสภา สถาบันทางการเมือง หรือสถานศึกษากำหนดจัดกิจกรรมเสวนา ปาฐกถา บรรยาย นิทรรศการ หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข[9] อนึ่งกลุ่มมวลชนบางส่วนอาจใช้วันนี้กำหนดนัดกิจกรรมที่แสดงออกถึงประชาธิปไตย[10]
วันรัฐธรรมนูญเป็นวันที่กำหนดให้อาคารสถานที่ต่าง ๆ ยานพาหนะ พื้นที่สาธารณะ และสถานศึกษาชักและประดับธงชาติไทย[11]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1101448.pdf
- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1105432.pdf
- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1110471.pdf
- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1130817.pdf
- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1141392.pdf
- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1159427.pdf
- ↑ สมบัติ พลายน้อย, ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2550 (ISBN 974-02-0044-4) หน้า 221
- ↑ https://www.matichon.co.th/politics/news_4324342
- ↑ https://www.thaipbs.or.th/news/content/334499
- ↑ https://www.thairath.co.th/news/politic/1992200
- ↑ https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17154392.pdf https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17094991.pdf