วรรณคดีของกัมพูชามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและแบ่งเป็นสองระนาบเช่นเดียวกับวรรณคดีในประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือแบ่งเป็นวรรณคดีลายลักษณ์ ส่วนใหญ่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในชนชั้นสูงและพระสงฆ์ กับวรรณกรรมมุขปาฐะ ส่วนใหญ่เป็นเพลงพื้นบ้าน ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา และวรรณคดีอินเดีย เช่น รามายณะและมหาภารตะ

ภาพสลักเรื่อนางติโลตตมา อสูรสุนทะและอุปสุนทะที่ปราสาทบันทายศรี

ศิลาจารึก แก้

วรรณกรรมภาษาเขมรในยุคแรกๆ ปรากฏในรูปศิลาจารึก ปรากฏตั้งแต่สมัยฟูนัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวทางศาสนา เช่น คำอุทิศต่างๆ และกิจการในพระราชวัง

เอกสารทางพุทธศาสนา แก้

เอกสารภาษาเขมรที่เก่า ส่วนใหญ่จะเป็นพระไตรปิฎก และคัมภีร์ที่แปลจากภาษาบาลี จารด้วยอักษรเขมรลงบนใบลาน

รามเกียรติ์ แก้

รามเกียรติ์หรือเรียมเกอร์เป็นรามายณะในรูปภาษาเขมร เพื่อนำมาใช้ในการแสดงละครของกัมพูชา ระบำสุวรรณมัจฉาซึ่งเป็นนาฏศิลป์คลาสสิกแบบหนึ่งของกัมพูชาอาศัยเค้าเรื่องของรามเกียรติ์ตอนหนุมานไปจับนางสุวรรณมัจฉา

วรรณกรรมราชสำนัก แก้

พระธรรมราชาที่ 2 (พ.ศ. 2172 – 2177) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง นักองค์ด้วง (พ.ศ. 2384 – 2403) เป็นกวีที่มีชื่อเสียงเช่นกัน โดยได้เขียนเรื่อง กากี (กาเก็ย) และพุทธเสนนางกังรี (ปุทิเสน เนียงก็องเร็ย) ที่ได้แรงบันดาลใจจากนิทานชาดก

เรื่องเล่าที่เป็นที่นิยม แก้

 
ภาพวาดจากเรื่องวรวงศ์และสรวงศ์สมัยพุทธศตวรรษที่ 24

เรื่องเล่าที่เป็นที่นิยมในกัมพูชาส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เช่น รามายณะ มหาภารตะ และนิทานชาดกของพุทธศาสนา และได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมไทยมาก ตัวอย่างเรื่องที่เป็นที่นิยมคือพระวรวงศ์และสรวงศ์ ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าชายเขมรสององค์ที่ถูกขัไล่แล้วกลับคืนสถานะเดิมของตนได้ เรื่องนี้ต่อมาได้นำไปสร้างเป็นบัลเลต์หลวงของกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2549[1]

ตุมเตียวเป็นนิยายรักคลาสสิกในจังหวัดกำปงจามที่เป็นที่รู้จักไปทั้งประเทศเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 โดยมีต้นกำเนิดมาจากบทกวีในสมัยพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 ในปัจจุบัน ตุมเตียวได้กลายเป็นวรรณคดี ละคร และภาพยนตร์ในกัมพูชา แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Étienne Aymonier เมื่อ พ.ศ. 2423 ตุมเตียวเป็นที่นิมในต่างประเทศ เมื่อ George Chigas นำต้นฉบับของพระปทุมเถระโสมไปแปล[2]

ประเภท แก้

วรรณกรรมกัมพูชาแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้[3]

  • คัมภีร์ เป็นเอกสารเกี่ยวกับคำสอน ประวัติศาสตร์และความรู้ทั่วไป ได้แก่ พระไตรปิฏก ชาดก รบากษัตริย์ พระราชพงศาวดาร
  • กรม เป็นเอกสารเกี่ยวกับระเบียบพิธีการต่างๆ ปัจจุบันส่วนใหญ่เก็บรักษาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เช่นกรมกบฏศึก กรมโจรกรรม
  • กบวนหรือตำรา เป็นเอกสารบันทึกองค์ความรู้ต่างๆ เช่น กบวนยา กบวนโหร
  • ประเดาหรือสุภาษิต เป็นสำนวนสั้นๆ จารึกไว้ในใบลาน มีลักษณะค้ายคำร้อยกรองเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
  • จบับ มาจากคำว่าจับตรงกับภาษาไทยว่าแบบฉบับเป็นเอกสารกล่าวถึงแบบแผนในการดำเนินชีวิต
  • นิทาน เป็นเรื่องเล่าประเภทต่างๆ พุทธศาสนบัณฑิตได้จัดพิมพ์เพื่อรวบรวมไว้ในเรื่องประชุมเรื่องเพรงเขมรหรือประชุมนิทานเขมร มีถึง 8 ภาค
  • แลบง เป็นคำร้อยกรองที่แต่งเป็นเรื่องต่างๆโดยอาศัยเรื่องจากพระไตรปิฎกหรือนิทานชาดก เช่นเรื่องขยองสังข์หรือหอยสังข์ ซึ่งตรงกับเรื่องสังข์ทองในภาษาไทย และเรื่องอื่นๆ เช่น พุทธิเสน กรุงศุภมิต พระสุธน วรเนตรวรนุช เป็นต้น นิยมแต่งด้วยบทกากคติ
  • วีรกถา เป็นร้อยกรองที่แต่งขึ้นเพื่อการสักการบูชา เช่น เลบิกนครวัด เล่าถึงการสร้างนครวัด แต่งด้วยคำประพันธ์แบบบทพรหมคีติ เลบิกรามเกียรติ์เป็นการสรรเสริญเกียรติยศของพระรามเป็นต้น

การพิมพ์ แก้

บาทหลวงเกด็อง ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์ภาษาเขมรขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่เป็นเอกสารของทางราชการ ยังไม่ได้เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไป ต่อมาจึงตั้งโรงพิมพ์ภาษาเขมรในฮ่องกง และมาตั้งในพนมเปญในที่สุด หนังสือภาษาเขมรที่พิมพ์ในพนมเปญเรื่องแรกคือ บัณดำตาเมียส เป็นเอกสารที่สนับสนุนการปกครองของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม การพิมพ์เอกสารทางพุทธศาสนาในช่วงแรกๆถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยม ใน พ.ศ. 2461 สมเด็จพระสังฆราช ฮวด ตาดและสมเด็จจวน นาต ได้พิมพ์พระธรรมวินัยก็ถูกต่อต้านจากกระทรวงธรรมการ และหนังสือถูกนำไปเผาทิ้ง[3] ก่อนที่จะได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา

อิทธิพลจากวรรณกรรมต่างชาติ แก้

  • ฝรั่งเศส วรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสคือการเขียนเอกสารในรูปร้อยแก้วแทนการเขียนแบบร้อยกรองตามขนบเดิม และการแต่งเลบิกเป็นเรื่องสั้นๆ เลียนแบบจากเรื่องปัญจตันตระและหิโตปเทศ
  • จีน วรรณกรรมกัมพูชาที่แปลจากวรรณกรรมจีนมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ได้รับโดยผ่านฉบับภาษาไทย เช่นเรื่อง นางเจียวกุน ส่ายฮั่น (ไซ่ฮั่น) เล่าถึงการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น และสามก๊ก
  • ไทย วรรณกรรมไทยและวรรณกรรมเขมรมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะด้านโครงเรื่องต่างๆ แม้แต่ในวรรณกรรมสมัยใหม่ เช่นกุหลาบไพลิน
  • เวียดนามและลาว ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลมากในช่วง พ.ศ. 2523 – 2534 ซึ่งเป็นช่วงที่ปกครองในระบอบสังคมนิยมเช่นเดียวกัน วรรณกรรมที่แปลจากภาษาลาว เช่น บุปผานุวงศ์ กองวระเสนาใหญ่ จำปาแดง เพลิงปฏิวัติเผาไหม้ ที่แปลจากภาษาเวียดนามเช่น ขัญวิญ ควกทวน เหือนวิลวิญ เป็นต้น

วรรณกรรมสมัยใหม่ แก้

การเข้ามาของฝรั่งเศสทำให้มีการตั้งคำถามใหม่ในวรรณกรรมกัมพูชา การพิมพ์ภาษาเขมรเกิดขึ้นในพนมเปญเมื่อ พ.ศ. 2451 โดยหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์เป็นภาษาเขมรคือคำสั่งตาเมียส ซึ่งเป็นวรรณกรรมชวนเชื่อให้นิยมฝรั่งเศส ผลจากการศึกษาแบบใหม่ในกัมพูชาทำให้มีการเขียนนวนิยายภาษาเขมร แต่ก็ยังมีอิทธิพลจากอินเดียและไทยอยู่ ตัวอย่างเช่น ตุมเตียวของพระปทุมเถระ (โสม) พิมพาพิลาปของคุณหญิงสิทธิ และเตียวแอกโดยนู กอน[4]

ยุคเขมรแดงและหลังจากนั้น แก้

ในยุคกัมพูชาประชาธิปไตย พ.ศ. 2518 – 2520 ปัญญาชนส่วนใหญ่ถูกบังคับให้ออกไปสู่ชนบท บ้างถูกฆ่าเพราะมีภูมิหลังเป็นปัญญาชน.[5] หรือไม่ก็หลบหนีออกนอกประเทศ วรรณกรรมพื้นบ้านถูกทำลายล้าง[6] เมื่อ พล พตพ่ายแพ้และมีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้นแทน ได้มีการฟื้นฟูพุทธศาสนาและวรรณกรรมขึ้นใหม่ แต่การฟื้นฟูวรรณกรรมก็ต้องอยู่ภายใต้แนวคิดสังคมนิยม นิยมโซเวียตและนิยมเวียดนามจนกระทั่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของรัฐกัมพูชา[7]

ปัจจุบัน แก้

มีการจัดตั้งสมาคมนักเขียนเขมรขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2536.[8] หลังจากถูกยุบเลิกในสมัยเขมรแดง นักเขียนกัมพูชารุ่นใหม่พยายามก้าวสู่ระดับนานาชาติ และมีการมอบรางวัลซีไรต์ให้นักเขียนด้วย

อ้างอิง แก้

  1. "Les Nuits d'Angkor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 2012-09-19.
  2. Documentation Center of Cambodia - Tum Teav: A Translation and Analysis of a Cambodian Literary Classic
  3. 3.0 3.1 บัญญัติ สาลี. วรรณกรรมเขมรปัจจุบัน. มหาสารคาม. อภิชาตการพิมพ์. 2551
  4. Larousse - Literature du Cambodge
  5. David P. Chandler, A history of Cambodia, Westview Press; Allen & Unwin, Boulder, Sydney, 1992
  6. Michael Vickery, Cambodia 1975-1982, ISB 13 978-9747100815
  7. Soizick Crochet, Le Cambodge, Karthala, Paris 1997, ISBN 2-86537-722-9
  8. Cambodian literature today

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

หนังสือและเอกสาร แก้

เว็บไซต์ แก้