ปัญจตันตระ (The Pañcatantra) วรรณคดีประเภทนิทานอุทาหรณ์ หรือที่ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "นิทรรศนะ" (nidarśana​) หรือ "นิทรรศนกถา" (nidarśanakathā) นิทรรศนะ มีความหมายว่า การมองดู การชี้ให้เห็น การพิสูจน์ อีกนัยหนึ่งจึงมีความหมายว่า ตัวอย่าง (example) บทเรียน (lesson) และอุทาหรณ์ (illustration) ได้อีกด้วย[1]

หน้าจากหนังสือกาลิลา วา ดิมนา ภาคภาษาอาหรับอายุราว พ.ศ. 1753 แสดงรูปของราชาแห่งกากับที่ปรึกษา
หน้าจากหนังสือKelileh o Demneh อายุราว พ.ศ. 1972 จากเฮรัต ซึ่งเป็นปัญจตันตระที่แปลเป็นภาษาเปอร์เซีย โดยแปลมาจากฉบับภาษาอาหรับ Kalila wa Dimna อีกต่อหนึ่ง แสดงเรื่องตอนที่สุนัขจิ้งจอกชักนำสิงโตเข้าสู่สงคราม
รูปสลักเกี่ยวกับปัญจตันตระที่วิหารเมนดุต ชวากลาง อินโดนีเซีย

ปัญจตันตระจัดอยู่ในหมวด “กาวยะ” ประเภท “กถา” ซึ่งแปลว่า เรื่องเล่า นิทาน หรือเรื่องที่แต่งขึ้น วรรณคดีประเภทนี้มีความแตกต่างจาก “อาขยายิกา” ซึ่งเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามเนื้อหาในปัญจตันตระก็มีการสอดแทรกเรื่องจริงเอาไว้เช่นกัน ศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา รักษมณี[1] เคยวิเคราะห์ไว้ว่า มีการเรียกปัญจตันตระว่าเป็นอาขยายิกาที่เรียกว่า “ตันตราขยายิกา” ทั้งนี้ตันตราขยายิกาใช้เรียกนิทานซ้อน (emboxed story) เท่านั้น นิทานหลัก (frame story) ยังคงเรียกว่ากถา เนื่องจากเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น

ปัญจตันตระฉบับดั้งเดิมนั้นสูญหายไปแล้ว แต่ยังสามารถศึกษาลักษณะของฉบับดั้งเดิมรวมทั้งเรียบเรียงขึ้นใหม่ได้จากการรวบรวมต้นฉบับสำคัญที่มีอยู่ เช่น ปัญจตันตระฉบับอินเดียใต้ และในประเทศอื่น ๆ เช่น ปัญจตันตระฉบับเปอร์เซียและอาหรับ โดยนำแต่ละคำในแต่ละฉบับมาเปรียบเทียบกันอย่างพินิจพิเคราะห์ ดังจะเห็นได้จากปัญจตันตระฉบับสร้างใหม่ (reconstructed) ซึ่งแฟรงคลิน เอดเจอร์ตันเป็นผู้เรียบเรียง ปัญจตันตระฉบับสร้างใหม่นี้ปรากฏคำที่ได้จากการเปรียบเทียบคำที่ตรงกันในตำแหน่งที่ตรงกันของปัญจตันตระฉบับต่าง ๆ จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ศึกษาปัญจตันตระว่าน่าจะเป็นฉบับที่ใกล้เคียงกับฉบับดั้งเดิมที่สูญหายไปมากที่สุด

ต้นกำเนิดนิทานอุทาหรณ์[2]

แก้

วรรณคดีประเภทนิทานถือกำเนิดขึ้นจากการที่ชาวอารยันโบราณอาศัยใกล้ชิดกับธรรมชาติ วิถีชีวิตที่แวดล้อมด้วยเหล่านกและหมู่สัตว์ทำให้ชาวอารยันได้เรียนรู้พฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้น ก่อเกิดเป็นนิทานที่ใช้ตัวละครสัตว์เพื่อสะท้อนภาพพฤติกรรมของมนุษย์ วัตถุประสงค์หลักในการแต่งนิทานอุทาหรณ์ก็เพื่อสอนศีลธรรมและการเมืองการปกครองให้แก่ชนชั้นสูงในสมัยนั้น ต่างจากพุทธศาสนาชาดกที่แต่งขึ้นเพื่อแสดงนัยทางศาสนา

ปัญจตันตระเป็นวรรณคดีประเภทนิทานอุทาหรณ์ที่เก่าแก่ที่สุด แม้จะไม่สามารถกำหนดยุคสมัยที่เริ่มปรากฏวรรณคดีประเภทนี้ได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถสันนิษฐานได้ว่าปัญจตันตระน่าจะถูกแต่งขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นภาษาสันสกฤตเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงอีกครั้ง ชนชั้นปกครองต้องการคัมภีร์ที่เขียนด้วยภาษาของชนชั้นสูง ทั้งยังต้องการภาษาที่ใช้ในการแสดงละครอีกด้วย

รูปแบบการแต่งและการใช้ภาษา

แก้

ปัญจตันตระเริ่มเรื่องด้วยนิทานนำเรื่องหรือที่เรียกว่า “กถามุข” (introductory story) ซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าอมรศักดิ์ผู้ทรงวิตกที่พระโอรสทั้งสามไม่ทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาเล่าเรียน จึงให้พราหมณ์วิษณุศรมันเป็นผู้ดูแลพระโอรส วิษณุศรมันได้เล่านิทาน 5 เรื่องถวายแด่ราชโอรสทั้งสาม ดังนี้

  • เรื่องที่ 1 การแตกมิตร (เรื่องของวัวกับราชสีห์)
  • เรื่องที่ 2 การผูกมิตร (เรื่องของนกพิราบ กา หนู เต่า และกวาง)
  • เรื่องที่ 3 สงครามและความสงบ (เรื่องของกากับนกเค้าแมว)
  • เรื่องที่ 4 การสูญลาภ (เรื่องของลิงกับจระเข้)
  • เรื่องที่ 5 การขาดความยั้งคิด (เรื่องของพราหมณ์กับพังพอน)

นิทานแต่ละเรื่องจัดเป็น “นิทานหลัก” (frame story) ซึ่งมี “นิทานซ้อน” (emboxed story) อยู่ในนิทานหลักอย่างน้อย 1 เรื่อง นิทานซ้อนเหล่านี้เป็นนิทานประเภทอุทาหรณ์ ตัวละครในนิทานหลักจะเล่านิทานเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่ตัวละครอื่น ๆ[3]

นิทานหลักเรื่องที่ 1 การแตกมิตร มีนิทานซ้อน 15 เรื่อง

แก้
  1. ลิงถอนลิ่ม
  2. หมาจิ้งจอกพบกลอง
  3. กรรมของนักบวช หมาจิ้งจอกและแม่สื่อ
  4. กาแก้แค้นงู
  5. นกยางตายเพราะปู (นิทานซ้อนของเรื่องที่ 4 กาแก้แค้นงู)
  6. ราชสีห์หลงกลกระต่าย
  7. เหาตายเพราะหมัด
  8. บริวารราชสีห์หลอกฆ่าอูฐ
  9. นกต้อยตีวิตเอาชนะทะเล
  10. หงส์พาเต่าบิน (นิทานซ้อนของเรื่องที่ 9 นกต้อยตีวิตเอาชนะทะเล)
  11. ปลา 3 ตัว (นิทานซ้อนของเรื่องที่ 9 นกต้อยตีวิตเอาชนะทะเล)
  12. นกกระจาบสอนลิง
  13. หนูกินเหล็ก

นิทานหลักเรื่องที่ 2 การผูกมิตร มีนิทานซ้อน 4 เรื่อง

แก้
  1. สมบัติของหนู
  2. งาขาวแลกงาดำ (นิทานซ้อนของเรื่องที่ 1 สมบัติของหนู)
  3. หมาจิ้งจอกโลภมาก (นิทานซ้อนของเรื่องที่ 2 งาขาวแลกงาดำ)
  4. กวางของเจ้าชาย

นิทานหลักเรื่องที่ 3 สงครามและความสงบ มีนิทานซ้อน 10 เรื่อง

แก้
  1. ลาในหนังสือ
  2. นกเลือกนาย
  3. กระต่ายลวงช้าง (นิทานซ้อนของเรื่องที่ 2 นกเลือกนาย)
  4. แมวเป็นตุลาการ (นิทานซ้อนของเรื่องที่ 2 นกเลือกนาย)
  5. พราหมณ์แบกแพะ
  6. โจรกับชายชราผู้มีภรรยาสาว
  7. โจรกับรากษสช่วยพราหมณ์
  8. ช่างไม้หลงคำภรรยา
  9. หนูแต่งงานกับหนู
  10. กบขี่งู

นิทานหลักเรื่องที่ 3 การสูญลาภ มีนิทานซ้อน 1 เรื่อง

แก้
  1. หัวใจของลา

นิทานหลักเรื่องที่ 4 การขาดความยั้งคิด มีนิทานซ้อน 2 เรื่อง

แก้
  1. พราหมณ์ผู้สร้างวิมานในอากาศ
  2. กัลบกผู้ฆ่าพราหมณ์

นิทานนำเรื่อง นิทานหลัก และนิทานซ้อน แต่งโดยใช้คำประพันธ์ประเภทร้อยแก้วแบบบรรยายโวหาร แต่คติธรรมของนิทานแต่ละเรื่องผู้แต่งสรุปไว้เป็นโศลก ก่อนเล่านิทานตัวละครที่เป็นผู้เล่าจะร่ายโศลกเป็นบทนำเรื่อง (promythium) และเมื่อนิทานจบตัวละครที่เป็นผู้เล่าก็จะร่ายโศลกเป็นการสรุปเรื่อง (epimythium) อีกครั้งหนึ่ง[1]

ภาษาที่ใช้

แก้

ภาษาที่ใช้ในปัญจตันตระเป็นภาษาที่แต่งอย่างวิจิตบรรจง แต่ไม่มีการใช้คำฟุ่มเฟือย ผู้แต่งจงใจใช้ภาษาชั้นสูงกับสัตว์ชั้นต่ำ เช่น หมัด และเหา เพื่อสร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้อ่าน[3]

ปัญจตันตระฉบับต่าง ๆ[1]

แก้

ปัญจตันตระสำนวนเก่าที่ได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากปัญจตันตระฉบับดั้งเดิมแบ่งได้เป็น 4 กระแส ได้แก่ กระแสปะห์ลวี กระแสตันตราขยายิกะ กระแสพฤหัตกถา กระแสอินเดียใต้ แต่ละกระแสนั้นมีการถ่ายทอดต่อ ๆ กันไป และมีความเกี่ยวโยงกันบ้าง ทั้งนี้กระแสปะห์ลวีเป็นกระแสเดียวที่แยกขาดจากกระแสอื่น ๆ ในอินเดีย แต่ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในตะวันตก

กระแสตันตราขยายิกะ (เรื่องเล่าเกี่ยวกับศาสตร์) มีถิ่นกำเนิดในแคว้นกัษมีระ สำนวนที่แพร่หลายของกระแสนี้คือฉบับที่ชื่อว่า “ตันตราขยายิกะ” ต้นฉบับเขียนไว้ด้วยอักษรศารทา เนื่องจากได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นฉบับที่คงเนื้อหาทั้งร้อยแก้วและโศลกไว้ได้ถึง 95% จึงน่าจะเป็นฉบับที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับฉบับดั้งเดิมมากที่สุด อีกสำนวนหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือฉบับของปูรณภัทระ นักบวชเชน แต่งไว้เมื่อปี ค.ศ.1199 ฉบับนี้เป็นที่นิยมในอินเดียตะวันตกและอินเดียกลาง ปูรณภัทระได้ดัดแปลงนิทานที่มีอยู่เดิมและแต่งเพิ่มจนมีนิทานซ้อนถึง 82 เรื่อง (เดิมมีเพียง 32 เรื่อง) ฉบับเชนอีกฉบับหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือฉบับของเมฆวิชยะ

กระแสพฤหัตกถา ปัญจตันตระกระแสนี้เป็นเรื่องที่แทรกอยู่ในพฤหัตกถาของคุณาฒยะ สำนวนนี้แพร่หลายทางอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ แต่เนื่องจากพฤหัตกถาฉบับดั้งเดิม (ฉบับของคุณาฒยะ) สูญหายไปแล้ว เหลือเพียงฉบับที่ถ่ายถอดต่อมาอีก 2 สำนวนในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ได้แก่ “กถาสริตสาคร” ของโสมเทวะ และ “พฤหัตกถามัญชรี” ของเกษเมนทระ ผู้ศึกษาปัญจตันตระสันนิษฐานว่าคุณาฒยะแต่งพฤหัตกถาเป็นภาษาไปศาจี และเดิมทียังไม่มีปัญจตันตระแทรกอยู่ โดยมีผู้แต่งเติมไว้ในภายหลัง และได้รับการถ่ายทอดมาพร้อมกับสำนวนที่โสมเทวะและเกษเมนทระแปลเป็นภาษาสันสกฤต ปัญจตันตระสำนวนนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างกระชับ นิทานหลายเรื่องถูกตัดออกไป ส่วนที่เป็นโศลกแสดงคติธรรมก็ยกมาเพียงบางบทเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าจุดประสงค์หลักในการแต่งคือเป็นเรื่องเล่าที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ส่วนโศลกที่ยกมาเพียงบางบทก็เพื่อแฝงจุดประสงค์เดิมที่แต่งเพื่อเป็นเรื่องเล่าแสดงอุทาหรณ์เท่านั้น

กระแสอินเดียใต้ เป็นกระแสที่มีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยมากที่สุด ฉบับที่ผู้ศึกษาวรรณคดีไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีคือ “หิโตปเทศ” ซึ่งแต่งโดยนารายณะ กวีผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.800-1373 นารายณะเรียบเรียงหิโตปเทศขึ้นโดยอาศัยโครงเรื่องจากปัญจตันตระและวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ

ปัญจตันตระอีกฉบับหนึ่งที่อยู่ในกระแสนี้คือ “ตันโตรปาขยานะ” ซึ่งเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยอาศัยปัญจตันตระฉบับอินเดียใต้เป็นหลัก นิทานนำเรื่องต่างจากปัญจตันตระ เนื่องจากไม่ได้กล่าวถึงพราหมณ์วิษณุศรมันผู้สอนราชบุตรด้วยนิทาน แต่กล่าวถึงนางตันไตรผู้ฉลาดเฉลียวซึ่งยกนิทานมาเล่าถวายแด่พระราชาจนสามารถเปลี่ยนนิสัยของพระราชาได้ นิทานนำเรื่องของตันโตรปาขยานะมีเนื้อเรื่องเหมือนกับนิทานนำเรื่องในอาหรับราตรี กล่าวถึงพระราชาองค์หนึ่งซึ่งรับสั่งให้อำมาตย์หาหญิงสาวมาถวายคืนละคน ครั้นรุ่งเช้าก็ให้ประหารนางเสีย ธิดาของอำมาตย์อาสาเข้าเฝ้าเพื่อเล่านิทานถวาย พระราชาทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงเลื่อนการประหารนางออกไป ท้ายที่สุดพระราชาก็แต่งตั้งนางเป็นมเหสี

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 กุสุมา รักษมณี.  2526.  นิทานอุทาหรณ์ในวรรณคดีสันสกฤต.  นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. Ramachandra Aiyar, T. K.  1977.  A Short History of Sanskrit Literature. Palakkad: R.S. Vadhyar and Sons.
  3. 3.0 3.1 มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์.  2551.  ประวัติวรรณคดีสันสกฤต.  นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.