ราชอาณาจักรนาโปลี

รัฐบนคาบสมุทรอิตาลี (ค.ศ. 1282–1816)

ราชอาณาจักรนาโปลี (อิตาลี: Regno di Napoli; ละติน: Regnum Neapolitanum; นาโปลี: Regno 'e Napule) หรือ ราชอาณาจักรเนเปิลส์ (อังกฤษ: Kingdom of Naples) เป็นอาณาจักรทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลี บางครั้งถูกจำสับสนกับ “ราชอาณาจักรซิซิลี” ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ก่อตั้งหลังจากการแยกตัวของซิซิลีจากราชอาณาจักรซิซิลีเดิมที่เป็นผลมาจากกบฏซิซิเลียนเวสเปิร์ส (Sicilian Vespers) ของปี ค.ศ. 1282 ระหว่างการเป็นราชอาณาจักร ราชอาณาจักรนาโปลีปกครองสลับกันปกครองโดยกษัตริย์ฝรั่งเศสหรือกษัตริย์สเปน ขึ้นอยู่กว่าผู้ใดจะมีอำนาจมากกว่า

ราชอาณาจักรนาโปลี

Regno di Napoli
ค.ศ. 1282–1799
ค.ศ. 1799–1816
ธงชาตินาโปลี
ธง (1442–1516)
ของนาโปลี
ตราแผ่นดิน
สถานะราชอาณาจักร
เมืองหลวงนาโปลี[1]
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบศักดินา
สมเด็จพระเจ้า 
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 1282
• รวมเป็นอาณาจักรเดียวกับซิซิลีที่เรียกว่าราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง
ค.ศ. 1816
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรซิซิลี
ราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง
ราชอาณาจักรนาโปลี (นโปเลียน)


ประวัติศาสตร์

แก้


ราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน

แก้

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชาวนอร์มันได้ครอบครองรัฐในอิตาลีตอนใต้และซิซิลีที่ในอดีตเคยเป็นของชาวไบเซนไทน์, ชาวลอมบาร์ด และชาวมุสลิม ปี ค.ศ. 1130 โรเจอร์ที่ 2 ผู้รวบรวมดินแดนทั้งหมดของชาวนอร์มันเข้าด้วยกันตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งซิซิลีและปุลยา การมีตัวตนของรัฐนอร์มันดังกล่าวนี้ในช่วงแรกถูกคัดค้านจากสมเด็จพระสันตะปาปาและจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างตนเป็นกษัตริย์ปกครองพื้นที่ทางตอนใต้ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ราชอาณาจักรถูกส่งต่อให้จักรพรรดิในราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน (ที่โด่งดังที่สุดคือจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 กษัตริย์แห่งซิซิลีตั้งแต่ ค.ศ. 1198 ถึง ค.ศ. 1250) ภายใต้ผู้ปกครองกลุ่มแรกนี้ราชอาณาจักรเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในทางการเมืองราชอาณาจักรเป็นรัฐที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากที่สุดในยุโรป ในทางเศรษฐกิจราชอาณาจักรเป็นศูนย์กลางสำคัญทางการค้าและผู้ผลิตธัญพืช และในทางวัฒนธรรมราชอาณาจักรซึบซับเอาศาสตร์ของชาวกรีกและชาวอาหรับเข้ามาในยุโรปตะวันตก

ราชวงศ์อ็องฌู

แก้
 
ธงอ็องฌูของนาโปลี ค.ศ. 1282–1442

หลังสิ้นเชื้อสายตามกฎหมายของราชวงศ์โฮเอินชเตาเฟิน ชาร์ลส์แห่งอ็องฌู พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศสได้รับสิทธิ์ในการควบคุมราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1266 ตามคำเชื้อเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปาที่กลัวว่าพื้นที่ทางใต้จะตกเป็นของกษัตริย์ที่เป็นปรปักษ์กับพระองค์ ชาร์ลส์ได้ย้ายเมืองหลวงจากปาแลร์โมบนเกาะซิซิลีมาอยู่ที่นาโปลีซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ เป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองของพระองค์ที่เอนเอียงไปทางอิตาลีตอนเหนือที่ทรงเป็นผู้นำของฝ่ายเกลฟ์ (ผู้นิยมสมเด็จพระสันตะปาปา) แต่การปกครองที่รุนแรงและการเรียกเก็บภาษีอย่างขูดเลือดขูดเนื้อก่อให้เกิดการปฏิวัติที่มีชื่อว่า "เวสปรี ซีซีลีอานี" ในปี ค.ศ. 1282 ส่งผลให้เกาะซิซิลีแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ไปอยู่ในการครอบครองของราชตระกูลอารากอนของชาวสเปน เหตุการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อทั้งนาโปลีและซิซิลี ความขัดแย้งระหว่างชาวอ็องฌูกับชาวอารากอนดำเนินต่อไปเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ ซึ่งผู้ชนะตัวจริงคือกลุ่มบารอนที่แผ่ขยายอำนาจที่ได้มาจากกษัตริย์ ภาวะอนาธิปไตยที่เกิดขึ้นทำให้ระบอบศักดินาของราชอาณาจักรทั้งสองแข็งแกร่งขึ้น

ราชวงศ์อารากอน

แก้
 
ธงหลังพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 (พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน) แห่งราชวงศ์ตรัสตามาราขึ้นเป็นกษัตริย์ ค.ศ. 1442–1516

นาโปลีเจริญรุ่งเรืองในช่วงสั้น ๆ ในรัชสมัยของพระเจ้ารอแบต์แห่งนาโปลี (ค.ศ. 1309–43) แต่ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรมีเพียงเรื่องราวความขัดแย้งภายในราชวงศ์อ็องฌู สุดท้ายในปี ค.ศ. 1422 ราชอาณาจักรนาโปลีก็ตกเป็นของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน ผู้ปกครองซิซิลีที่ในปี ค.ศ. 1443 ได้ตั้งตนเป็น "กษัตริย์แห่งนาโปลีและซิซิลี"

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและราชวงศ์บูร์บงของสเปน

แก้
 
ใช้ธงของจักรวรรดิสเปนหลังพระเจ้าการ์โลสที่ 5 แห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1516

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ราชอาณาจักรนาโปลียังคงพัวพันอยู่ในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจจากต่างแดนที่เข้ามาครอบงำอิตาลี ในปี ค.ศ. 1495 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสอ้างตนเป็นผู้ปกครองราชอาณาจักรในช่วงสั้น ๆ หลังตกเป็นของชาวสเปนในปี ค.ศ. 1504 นาโปลีและซิซิลีอยู่ภายใต้การปกครองของอุปราชเป็นเวลาสองศตวรรษ ภายใต้การปกครองของสเปนประเทศถูกมองเป็นเพียงแหล่งรายได้และประสบกับความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเรียกเก็บภาษีที่ขูดเลือดขูดเนื้อก่อให้เกิดการก่อกบฏของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1647 (การปฏิวัติของมาซานีเอโล) แต่ชาวสเปนกับกลุ่มบารอนร่วมมือกันปราบจราจลได้ในปี ค.ศ. 1648

 
เปลี่ยนธงหลังจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 ขึ้นเป็นกษัตริย์ ค.ศ. 1714–1738

สงครามสืบราชบัลลังก์สเปนในปี ค.ศ. 1701–14 ส่ผลให้ราชอาณาจักรนาโปลีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คของออสเตรีย (ซิซิลีตกอยู่ภายในการปกครองของปีเยมอนเตในช่วงสั้น ๆ) ปี ค.ศ. 1734 ดอนการ์โลส เด บูร์บง เจ้าชายสเปนที่ต่อมากลายเป็นพระเจ้าการ์โลสที่ 3 ได้พิชิตนาโปลีและซิซิลีที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารราชการของราชวงศ์บูร์บงของสเปนในฐานะราชอาณาจักรแยก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 กษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงที่ปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมได้สนับสนุนการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนจากความอยุติธรรมในทางสังคมและการเมืองมาเป็นรัฐสมัยใหม่

ราชอาณาจักรของนโปเลียน

แก้
 
ค.ศ. 1738–1806 และ ค.ศ. 1815–1816 เปลี่ยนธงหลังพระเจ้าการ์โลสที่ 3 กลายเป็นกษัตริย์แห่งนาโปลี ธงถูกนำกลับมาใช้เป็นธงชาตินาโปลีอีกครั้งหลังสงครามนโปเลียน

พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 แห่งราชวงศ์บูร์บงหยุดโครงการปฏิรูปชั่วคราวโดยมีการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยให้แนวคิดเรื่องสาธารณรัฐและระบอบประชาธิปไตยดำเนินต่อไป แนวคิดดังกล่าวเป็นที่เรียกร้องของกลุ่มเสรีชน อันได้แก่ กลุ่มปัญญาชนชั้นกลาง, กลุ่มขุนนาง และกลุ่มนักบวช ที่มองว่าการปฏิรูปของราชวงศ์บูร์บงเป็นการทำเพื่อเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์มากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของชาติ กลุ่มผู้รักชาติเริ่มวางแผนการสมคบคิดและถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง กองทัพของพระเจ้าเฟร์นันโดร่วมมือกับกองทัพพันธมิตรต่อต้านสาธารณรัฐฝรั่งเศสในสงครามสัมพันธมิตรครั้งที่สองซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือความหายนะ นาโปลีถูกชาวฝรั่งเศสแย่งชิงไป พระเจ้าเฟร์นันโดหนีไปซิซิลี วันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1799 มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐปาเตโนเปอาแต่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการคุ้มครอง นครนาโปลีที่ถูกชาวฝรั่งเศสทอดทิ้งถูกกองกำลังของพระเจ้าเฟร์นันโดตีแตกในวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1799 กลุ่มคนรักชาติที่ต้านทานด้วยความสิ้นหวังได้รับการสัญญาว่าจะให้อิสรภาพในการตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือจะออกจากประเทศจึงยอมแพ้ แต่ในวันที่ 24 มิถุนายน กองเรือของโฮราชิโอ เนลสันมาถึง เนลสันที่ทำข้อตกลงกับกลุ่มอำนาจในซิซิลีได้ยกเลิกเงื่อนไขในข้อตกลงยอมแพ้ ชาวสาธารณรัฐหลายคนถูกจับตัวและถูกประหารชีวิต พระเจ้าเฟร์นันโดเสด็จกลับนาโปลี แต่การสมคบคิดวางแผนกับชาวออสเตรียและชาวบริเตนของพระองค์ทำให้นโปเลียนเดือดดาล

 
ค.ศ. 1806–1808 เปลี่ยนธงชาตินาโปลีใหม่หลังโฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต ขึ้นเป็นกษัตริย์
 
ค.ศ. 1808–1811 ธงชาตินาโปลีเปลี่ยนหลังฌออากีม มูว์ราขึ้นเป็นกษัตริย์

หลังปราบชาวออสเตรียได้ที่เอาสเทอร์ลิทซ์ นโปเลียนส่งโฌแซ็ฟ น้องชายของตนไปพิชิตราชอาณาจักรของพระเจ้าเฟร์นันโดซึ่งตอนแรกนโปเลียนได้ผนวกเข้ากับราชอาณาจักรฝรั่งเศส แต่ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1806 ได้ประกาศให้เป็นเอกราชโดยมีโฌแซ็ฟเป็นกษัตริย์ เมื่อโฌแซ็ฟถูกย้ายไปสเปนในปี ค.ศ. 1808 นโปเลียนยกนาโปลีให้ฌออากีม มูว์รา ซึ่งเป็นน้องเขย ภายใต้การปกครองของชาวฝรั่งเศสนาโปลีถูกทำให้เป็นสมัยใหม่มากขึ้นด้วยการล้มเลิกระบอบศักดินาและนำกฏข้อบัญญัติต่าง ๆ มาใช้ มูว์ราเป็นกษัตริย์ที่ได้รับความนิยมพอสมควร พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 (ต่อมาคือพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 แห่งซิซิลีทั้งสอง) ถูกบีบให้หนีไปซิซิลีสองครั้ง ที่นั่นทรงได้รับการช่วยเหลือจากชาวบริเตน

 
ค.ศ. 1811–1815 ธงชาตินาโปลีเปลี่ยน

การฟื้นฟูราชอาณาจักรที่ในตอนนี้ถูกเรียกว่าราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสองทำให้สุดท้ายถูกจัดให้เป็นรัฐอนุรักษ์นิยมของยุโรป แม้มีหลายคนในราชอาณาจักรที่รับเอาแนวคิดแบบเสรีชนมา แต่กษัตริย์ยืนยันหลายครั้งว่าราชอาณาจักรปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เกิดการบดขยี้กันทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิวัติครั้งรุนแรงเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1820 เมื่อพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 1 ถูกบีบให้มอบรัฐธรรมนูญและเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1848 ในรัชสมัยของพระเจ้าฟรานเชสโกที่ 2 เมื่อซิซิลีพยายามจะประกาศอิสรภาพ การเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของราชอาณาจักรนำไปถูกการแตกพ่ายอย่างง่ายดายเมื่อต้องรับมือกับการรุกรานของจูเซปเป การีบัลดีในปี ค.ศ. 1860 ในการลงประชามติในปีเดียวกันนั้นทั้งนาโปลีกับซิซิลีลงคะแนนเสียงขอรวมตัวกับอิตาลีเหนืออย่างท่วมท้น

การสืบบัลลังก์

แก้


ราชวงศ์อ็องฌู

แก้
  • ชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอ็องฌู หรือ พระเจ้าคาร์โลที่ 1 แห่งนาโปลี ปฐมกษัตริย์แห่งนาโปลีซึ่งเป็นพระโอรสคนเล็กของพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสกับพระราชินีบลังกาแห่งกัสติยา ทรงอภิเษกสมรสสองครั้ง ครั้งแรกกับเบียทริซแห่งพรอว็องส์ ซึ่งนับว่าเป็นพระราชินีคู่สมรสคนแรกของนาโปลี หลังพระนางสิ้นพระชนม์ พระเจ้าชาร์ลส์อภิเษกสมรสใหม่กับมาร์เกอรีตแห่งบูร์กอญ
  • พระเจ้าคาร์โลที่ 2 แห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา กษัตริย์คนก่อนได้จับพระโอรสธิดาสองคนสมรสเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี โดยพระเจ้าคาร์โลที่ 2 ถูกจับให้สมรสกับมาเรียแห่งฮังการี ขณะที่พระขนิษฐาของพระองค์อภิเษกสมรสกับพระเจ้าลาสโลที่ 4 แห่งฮังการี
  • พระเจ้าโรแบร์โตแห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดา เนื่องจากพระโอรสคนโตของของกษัตริย์คนก่อนสิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา พระโอรสคนที่สองบวชเป็นบิชอป ส่วนคาร์โล พระราชนัดดาเป็นเพียงเด็กน้อย พระเจ้าโรแบร์โตซึ่งเป็นพระโอรสคนที่สามจึงได้ขึ้นครองราชย์ พระพระองค์สมรสสองครั้ง ครั้งแรกกับโยลันดาแห่งอารากอนซึ่งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1302 ทรงจึงสมรสใหม่กับซันชาแห่งมายอร์กา
  • สมเด็จพระราชินีนาถโจวานนาที่ 1 แห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระอัยกา เนื่องจากกษัตริย์คนก่อนมีพระโอรสเพียงคนเดียวซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา ธิดาคนโตของพระโอรสผู้ล่วงลับจึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระอัยกา ซึ่งในตอนนั้นพระนางเป็นเด็กกำพร้าเนื่องจากทั้งพระบิดามารดาต่างสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เพื่อให้สายเลือดของพระภาติยะของพระเจ้าโรแบร์โตได้กลับคืนสู่บัลลังก์ พระราชินีโจวานนาถูกจับสมรสกับแอนดรูว์แห่งฮังการีที่แม้จะได้รับยศเป็นกษัตริย์ แต่มีบทบาทน้อยมากในการบริหารปกครองและถูกฆาตกรรมในเวลาต่อมา พระราชินีนาถโจวานนาได้ให้กำเนิดพระราชโอรสที่ประสูติหลังการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา แต่เด็กน้อยมีชีวิตอยู่ได้เพียงสองปี ต่อมาพระนางได้อภิเษกสมรสใหม่กับลุยจิ เจ้าชายแห่งตารันโต แต่การสมรสไม่เป็นที่นิยมอย่างมาก พระเชษฐาของแอนดรูว์ อดีตพระสวามี ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีได้บุกนาโปลี พระราชินีนาถโจวานนาจึงต้องหนีไปจากราชอาณาจักร พระนางได้ให้กำเนิดพระธิดานามว่าแคทเธอรีน ทั้งคู่ได้กลับมานาโปลีอีกครั้งหลังกษัตริย์แห่งฮังการีทิ้งนาโปลีซึ่งกำลังเกิดโรคระบาดไป พระนางได้ให้กำเนิดพระธิดาอีกคนนามว่าฟร็องซัวส์ แต่พระธิดาทั้งสองสิ้นพระชนม์เร็ว จากนั้นพระราชินีนาถโจวานนาก็ไม่ได้ตั้งครรภ์อีกแม้จะทรงอภิเษกสมรสใหม่อีกสองครั้ง พระนางถูกฆาตกรรมอย่างทารุณที่ปราสาทมูโรในปี ค.ศ. 1382
  • พระเจ้าคาร์โลที่ 3 แห่งนาโปลี บุตรคนเดียวของลุยจิแห่งดูรัซโซ บุตรชายคนเล็กของจอห์น ดยุคแห่งดูรัซโซ พระโอรสคนเล็กของพระเจ้าคาร์โลที่ 2 แห่งนาโปลีกับมาเรียแห่งฮังการี พระเจ้าคาร์โลที่ 3 สมรสกับมาร์เกริตาแห่งดูรัซโซ บุตรสาวของมาเรีย พระขนิษฐาของพระราชินีนาถโจวานนาที่ 1 ลูกพี่ลูกน้องลำดับที่หนึ่งของตนเอง พระองค์ยังครองตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีในช่วงสั้น ๆ กระทั่งถูกลอบสังหารตามคำสั่งของเอลิซาเบธแห่งบอสเนีย พระราชินีม่ายของพระเจ้าลาโยสที่ 1 แห่งฮังการีที่คิดว่ามาเรีย พระธิดาของพระนางสมควรได้เป็นครองราชย์
  • พระเจ้าลาดิสเลา (ลาสซโล) แห่งนาโปลี สืบทอดตำแหน่งในนาโปลีต่อจากพระราชบิดา พระองค์สามครั้ง ครั้งแรกกับคอนสตันซา เคียรามอนเตซึ่งหย่ากันโดยไม่มีพระโอรสธิดา ทรงสมรสใหม่กับมารีแห่งลุยซินญ็องซึ่งสิ้นพระชนม์หลังสมรสได้เพียงหนึ่งปี พระเจ้าลาดิสเลาสมรสใหม่อีกครั้งกับมารีแห่งอ็องกิย็อง แต่ก็ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน
  • สมเด็จพระราชินีนาถโจวานนาที่ 2 แห่งนาโปลี พระเชษฐภคินีของกษัตริย์คนก่อน มีพระชนมายุ 41 พรรษาขณะขึ้นครองราชย์และเคยสมรสกับวิลเฮล์ม ดยุคแห่งออสเตรียซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว พระนางอภิเษกสมรสกับฌาคส์ที่ 2 เคานต์แห่งลามาร์ช แต่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน เนื่องจากไม่มีทายาทสายตรง พระนางได้ประกาศชื่อเรอเนแห่งอ็องฌูเป็นทายาทของตน
  • พระเจ้าเรนาโต (เรอเน) ที่ 1 แห่งนาโปลี สมรสสองครั้ง ครั้งแรกกับอีซาแบล ดัชเชสแห่งโลร์แรนซึ่งสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา พระองค์สมรสใหม่กับฌาน เดอ ลาวาล มาร์เกอรีต พระธิดาซึ่งเกิดจากพระมเหสีคนแรกค์ต่อมาได้สมรสกับพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ พระเจ้าเรนาโตถูกขับไล่ออกจากนาโปลีโดยพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 5 แห่งอารากอน

ราชวงศ์อารากอน

แก้

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและราชวงศ์บูร์บงของสเปน

แก้

ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คปกครองนาโปลีไปจนถึงปี ค.ศ. 1734 เมื่อทั้งนาโปลีและซิซิลีต่างถูกกองทัพสเปนเข้ายึดครอง การ์โลส ดยุคแห่งปาร์มา พระราชโอรสคนเล็กของพระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งสเปนได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งนาโปลีและซิซิลีในปี ค.ศ. 1735 ทรงสมรสกับมาเรีย อามาเลียแห่งซัคเซิน การ์โลสไม่ถูกนับเป็นกษัตริย์ผู้ปกครอง แต่พระองค์กลับถูกเรียกว่าการ์โลสแห่งบูร์บง ต่อมาทรงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสเปน

อ้างอิง

แก้
  1. Catholic Encyclopedia: Naples [1]

แหล่งที่มา

แก้
  • Colletta, Pietro (13 October 2009), The History of the Kingdom of Naples: From the Accession of Charles of Bourbon to the Death of Ferdinand I, I. B. Tauris, ISBN 978-1-84511-881-5, สืบค้นเมื่อ 20 February 2011
  • Musto, Ronald G. (2013). Medieval Naples: A Documentary History 400–1400. New York: Italica Press. ISBN 9781599102474. OCLC 810773043.
  • Porter, Jeanne Chenault (2000). Baroque Naples: A Documentary History 1600–1800. New York: Italica Press. ISBN 9780934977524. OCLC 43167960.
  • Santore, John (2001). Modern Naples: A Documentary History 1799–1999. New York: Italica Press. pp. 1–186. ISBN 9780934977531. OCLC 45087196.