พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส
พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส (อังกฤษ: Louis XII of France) (27 มิถุนายน ค.ศ. 1462 - 1 มกราคม ค.ศ. 1515) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส จากสายวาลัวส์-ออร์เลอองส์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 เสด็จพระราชสมภพที่วังบลัวส์ในประเทศฝรั่งเศส เป็นพระราชโอรสของชาร์ลส์ ดยุกแห่งออร์เลอองส์ และ มารีแห่งคลีฟส์ ทรงราชย์ระหว่างวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1498 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1515 ที่ปารีสในประเทศฝรั่งเศส
พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 | |
---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส | |
ครองราชย์ | 7 เมษายน ค.ศ. 1498 - 1 มกราคม ค.ศ. 1515 |
ราชาภิเษก | 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1498 |
รัชกาลก่อนหน้า | พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส |
รัชกาลถัดไป | พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส |
พระราชสมภพ | 27 มิถุนายน ค.ศ. 1462 วังบลัวส์ ในประเทศฝรั่งเศส |
สวรรคต | 1 มกราคม ค.ศ. 1515
(52 ปี) ปารีส ในประเทศฝรั่งเศส |
พระอัครมเหสี | ฌานน์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส แอนน์แห่งบริตานี สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส แมรี ทิวดอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส |
พระราชบุตร | โคลด สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส เรเนแห่งฝรั่งเศส |
ราชวงศ์ | วาลัวส์ |
พระราชบิดา | ชาร์ลส์ ดยุกแห่งออร์เลอองส์ |
พระราชมารดา | มารีแห่งคลีฟส์ |
เบื้องต้น
แก้พระเจ้าหลุยส์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1462 ที่วังบลัวส์ในลัวร์-เอ-แชร์ปัจจุบันในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1465 หลุยส์ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งออร์เลอองส์ต่อจากบิดา
ในคริสต์ทศวรรษ 1480 หลุยส์มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามบ้า (Mad War) กับสถาบันพระมหากษัตริย์ หลุยส์ไปเป็นพันธมิตรกับฟรองซัวส์ที่ 2 ดยุกแห่งบริตตานี (Francis II, Duke of Brittany) หลุยส์เข้าต่อสู้กับกองทัพหลวงในยุทธการแซงต์-โอแบง-ดู-คอร์มิเยร์ (Battle of Saint-Aubin-du-Cormier) แต่ได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินและถูกจับ สามปีต่อมาหลุยส์ก็ได้รับการอภัยโทษ หลังจากนั้นหลุยส์ก็ร่วมในการทำศึกกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องในอิตาลี
พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ทั้งสี่พระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตามการตีความหมายของกฎบัตรซาลลิคในการครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสอนุญาตให้เฉพาะผู้สืบเชื้อสายที่เป็นชายและห้ามการสืบราชบัลลังก์ผู้สืบเชื้อสายจากสตรี เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์เสด็จสวรรคตหลุยส์ผู้เป็นพระปนัดดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 เป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์จากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 หลุยส์จึงได้ขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 เสด็จสวรรคต
นโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ
แก้แม้ว่าจะเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่มีพระชนมายุมากแล้วและทรงมีอำนาจโดยไม่ได้คาดพระเจ้าหลุยส์ก็เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีบทบาทที่รวมทั้งการปฏิรูประบบกฎหมาย, ลดภาษี และปรับปรุงรัฐบาล เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ในสมัยเดียวกันสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงทำในอังกฤษ นอกจากนั้นก็ยังทรงเป็นผู้มีประสิทธิภาพในการบริหารขุนนางที่รวมทั้งฝักฝ่ายของราชวงศ์บูร์บองผู้มีอำนาจซึ่งเป็นการทำให้สร้างความมั่นคงให้แก่รัฐบาล ในกฤษฎีกาแห่งบลัวส์ (Ordinance of Blois) ของ ค.ศ. 1499 และใน กฤษฎีกาแห่งลิออง (Ordinance of Lyon) ของ ค.ศ. 1510 พระเจ้าหลุยส์ทรงขยายอำนาจของผู้พิพากษาและทรงพยายามจำกัดความฉ้อโกงทางกฎหมาย กฎหมายอันซับซ้อนของฝรั่งเศสก็ได้รับการบัญญัติและอนุมัติโดยพระราชประกาศ
ในการพยายามควบคุมดัชชีแห่งมิลาน (Duchy of Milan) ที่ทรงอ้างสิทธิจากการเป็นพระปนัดดาทางพระบิดาของวาเล็นตินา วิสคอนติ (Valentina Visconti) พระเจ้าหลุยส์ทรงเริ่มการทำศึกในสงครามอิตาลี (Italian Wars) หลายครั้งและทรงได้รับความสำเร็จในการยึดมิลานในปี ค.ศ. 1499 จากลุดโดวิโค สฟอร์ซา (Ludovico Sforza) และใช้เป็นที่ตั้งมั่นของฝรั่งเศสอยู่ 12 ปี ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือชัยชนะที่ทรงได้รับต่อเวนิสในยุทธการอญาเดลโล (Battle of Agnadello) ในปี ค.ศ. 1509 แต่หลังจากนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1510 สถานะการณ์ก็เริ่มเลวร้ายลง โดยเฉพาะเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ผู้ทรงเป็นนักการทหารผู้มีความสามารถทรงเข้าครอบครองวาติกันและก่อตั้ง “สันนิบาตคาทอลิกอิตาลี” (Catholic League) เพื่อป้องกันการขยายอำนาจของฝรั่งเศสในอิตาลี ในที่สุดฝ่ายฝรั่งเศสก็ถูกขับออกจากมิลานในปี ค.ศ. 1513
ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของราชอาณาจักรเนเปิลส์ร่วมกับพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2แห่งราชอาณาจักรอารากอน ทั้งสองพระองค์ตกลงแบ่งอาณาจักรเนเปิลส์ในสนธิสัญญากรานาดา (ค.ศ. 1500) แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถตกลงกันได้จนก่อให้กิดสงคราม ในที่สุดในปี ค.ศ. 1504 ก็เสียเนเปิลส์
พระเจ้าหลุยส์ทรงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นผู้ที่มีความนิยม ในปลายรัชสมัยของพระองค์ฐานะทางการคลังของพระองค์ก็มิได้ต่างไปจากเมื่อทรงเริ่มขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1498 เท่าใดนักแม้ว่าจะทรงใช้เงินไปในการทำศึกเป็นจำนวนมากหลายครั้งในอิตาลีก็ตาม การปฏิรูปงบประมาณแผ่นดินของปี ค.ศ. 1504 และปี ค.ศ. 1508 เป็นการจำกัดการใช้จ่ายและการปรับปรุงระบบการเก็บภาษี พระเจ้าหลุยส์ทรงได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระบิดาของประชาชน” ("Le Père du Peuple") ในปี ค.ศ. 1506
การเสกสมรส
แก้ในปี ค.ศ. 1476 พระเจ้าหลุยส์ทรงเสกสมรสกับฌานน์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสพระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ หลังจากพระเชษฐาของฌานน์ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ต่อจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 เสด็จสวรรคตโดยไม่มีพระราชโอรส การเสกสมรสของพระเจ้าหลุยส์ก็ได้รับการประกาศให้เป็นโมฆะเพื่อเปิดโอกาสให้พระองค์ทรงเสกสมรสกับแอนน์แห่งบริตานีพระราชินีหม้ายในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ผู้ทรงเป็นทายาทของฟรานซิสที่ 2 ดยุกแห่งบริตตานี (Francis II, Duke of Brittany) ซึ่งเป็นการทำให้สามารถผนวกดัชชีแห่งบริตตานีเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส
แต่กระบวนการประกาศให้การแต่งการเป็นโมฆะก็ไม่ง่ายนัก และได้รับการบรรยายว่าเป็น “คดีที่น่าขยะแขยงที่สุดของสมัยนั้น”[1] พระเจ้าหลุยส์มิได้ทรงใช้การแต่งงานภายในสายเลือดเดียวกัน (consanguinity) เป็นข้ออ้างซึ่งเป็นเหตุผลที่นิยมใช้เป็นข้ออ้างกันในสมัยนั้น แม้ว่าจะทรงสามารถหาพยานพิสูจน์ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อกันโดยการแต่งงานของบรรดาพี่ๆ น้องๆ หลายคู่ และไม่ทรงสามารถใช้ข้ออ้างที่ว่าพระชนมายุต่ำกว่าที่ระบุไว้ในกฎหมาย (14 ปี) ที่จะต้องได้รับอนุญาตในการเสกสมรส ไม่มีใครทราบว่าพระองค์ประสูติเมื่อใด พระองค์เองตรัสว่ามีพระชนมายุ 12 ปี ผู้อื่นสันนิษฐานว่า 11 ถึง 13 ปี แต่ก็ไม่มีสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าทรงถูกบังคับให้ใช้เหตุผลอื่น
ในการพยายามทำให้การเสกสมรสเป็นโมฆะพระองค์ (ด้วยความตกพระทัยอย่างคาดไม่ถึงของพระราชินี) ก็ทรงอ้างว่าฌานน์มีความปกติทางร่างกายและทรงบรรยายอย่างละเอียดถึงสิ่งต่างๆ ที่ทรงเห็นว่าผิดปกติที่ทำให้ไม่ทรงสามารถทำหน้าที่เป็นพระสวามีของฌานน์ได้ ฌานน์ (ซึ่งก็ไม่น่าที่จะแปลกใจ) ทรงต่อสู้ข้อกล่าวหาอย่างรุนแรงทรงหาพยานที่กล่าวว่าเป็นผู้ได้ยินพระเจ้าหลุยส์ทรงคุยโวว่าทรงทำหน้าที่สามสี่ครั้งในคืนหนึ่ง (“mounted my wife three or four times during the night”)[1] พระเจ้าหลุยส์ทรงอ้างว่าการสมสู่มีอิทธิพลจากเวทมนตร์ของแม่มด ฌานน์ทรงโต้โดยทรงถามว่าถ้าเช่นนั้นพระเจ้าหลุยส์จะทรงทราบได้อย่างไรว่าการสมสู่กับพระองค์เป็นอย่างไร[2]
ถ้าพระสันตะปาปาทรงเป็นกลางแล้วฌานน์ก็คงชนะเพราะหลักฐานของพระเจ้าหลุยส์ออกจะอ่อน แต่สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ทรงมีเหตุผลทางการเมืองที่ทำให้ต้องทรงอนุมัติการหย่าร้างโดยการประกาศให้การแต่งงานเป็นโมฆะ[3] ฌานน์พิโรธแต่ก็ทรงหลีกทางให้พระอดีตสวามีและกล่าวว่าจะทรงสวดมนต์ให้พระองค์ หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ดัชเชสแห่งเบร์รี” หลังจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ก็ทรงเสกสมรสกับแอนน์แห่งบริตตานี
หลังจากแอนน์สิ้นพระชนม์พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงเสกสมรสกับแมรี ทิวดอร์พระขนิษฐาในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษที่แอเบวิลล์ในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1514 เพื่อพยายามที่จะมีพระราชโอรสหรืออาจจะเพื่ออ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษไปด้วยในตัวแต่ก็ไม่สำเร็จทั้งสองอย่าง แม้ว่าจะทรงเสกสมรสสองครั้งก่อนหน้านั้นแต่ก็ไม่มีพระราชโอรส พระเจ้าหลุยส์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1515 ไม่ถึงสามเดือนหลังจากที่เสกสมรสกับแมรี ว่ากันว่าจากการที่ทรงหักโหมในกิจกรรมในห้องพระบรรทมแต่การเสกสมรสครั้งสุดท้ายก็มิได้ทำให้มีพระราชโอรสเช่นเดียวกับสองครั้งแรก
สวรรคต
แก้พระเจ้าหลุยส์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1515 พระร่างได้รับการบรรจุที่มหาวิหารแซงต์เดอนีส์ (Saint Denis Basilica) ในเมื่อไม่มีพระราชโอรสราชบัลลังก์จึงตกไปเป็นของฟรองซัวส์ที่ 1 วาลัวส์-อองกูแลม ผู้เป็นพระราชบุตรเขย