วาเลนตีนา วิสกอนตี ดัชเชสแห่งออร์เลอ็อง

วาเลนตีนา วิสกอนตี (อิตาลี: Valentina Visconti; ค.ศ. 1371 – 4 ธันวาคม ค.ศ. 1408) เป็นดัชเชสคู่สมรสแห่งออร์เลอ็องจากการเป็นภรรยาของหลุยส์ เดอ วาลัว ดยุคแห่งออร์เลอ็อง พระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส[1][2]

วาเลนตีนา วิสกอนตี
วาเลนตีนาแห่งมิลานกำลังอาลัยกับการเสียชีวิตของสามี โดยเฟลอรี ฟร็องซัว รีชาร์ ปี ค.ศ. 1802
เกิดค.ศ. 1371
ปาเวีย ดัชชีมิลาน ประเทศอิตาลี
เสียชีวิตค.ศ. 1408 (37 ปี)
ชาโตเดอบลัว ออร์เลอ็อง ประเทศฝรั่งเศส
ตำแหน่งดัชเชสคู่สมรสแห่งออร์เลอ็อง
คู่สมรสหลุยส์ที่ 1 ดยุคแห่งออร์เลอ็อง
บุตรชาร์ล ดยุคแห่งออร์เลอ็อง
ฟีลิป
ฌ็อง เคานต์แห่งอ็องกูแลม
มาร์เกอริต
บิดามารดาจัน กาเลอัซโซ วิสกอนตี
อีซาแบลแห่งฝรั่งเศส

วัยเด็ก แก้

วาเลนตีนาเกิดราวปี ค.ศ. 1370 เธอเป็นบุตรสาวของจัน กัลเลอัซโซ วิสกอนตี ดยุคแห่งมิลาน[3] กับอีซาแบลแห่งวาลัว พระธิดาของพระเจ้าฌ็องที่ 2 แห่งฝรั่งเศส มารดาของวาเลนตีนาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1373 โดยหลัก ๆ แล้วคนที่เลี้ยงดูเธอคือเบียงกาแห่งซาวอยซึ่งเป็นย่าของเธอ เบียงกาเป็นผู้หญิงที่มีการศึกษา เธอจึงส่งต่อความรักในศิลปะและวรรณกรรมให้แก่วาเลนตีนา หลานสาว วาเลนตีนามีน้องชายสองคนที่เสียชีวิตเร็ว เธอจึงกลายเป็นทายาทของบิดา

การแต่งงาน แก้

ปี ค.ศ. 1387 เธอแต่งงานกับหลุยส์แห่งออร์เลอ็อง ลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ในส่วนของสินเดิมติดตัวของเธอ บิดาของเธอยินยอมให้เธอยังคงมีสิทธิ์เป็นทายาทในดัชชีมิลาน เธอแต่งงานผ่านตัวแทนที่บ้านเกิดของย่า และได้รับการต้อนรับเข้าสู่นครปารีสอย่างยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1389 ที่ดยุคเชื้อพระวงศ์ต่างพากันเดินทางมาที่ประตูเมืองแซ็งต์เดอนีส์เพื่ออารักขาเธอเข้าเมือง

ปีแรก ๆ ของการแต่งงานเต็มไปด้วยความสุข เธอมีบุตรชาย 5 คนภายในเวลา 5 ปี ทว่ามีเพียงชาร์ลคนเดียวที่มีชีวิตรอดจากวัยเด็ก ต่อมาในปี ค.ศ. 1391 กษัตริย์ซึ่งเป็นพี่สามีของเธอเริ่มมีอาการเสียสติระยะแรก เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อวาเลนตีนาและประชาชนชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก พระเจ้าชาร์ลมีอาการเสียสติมากขึ้นและยาวนานขึ้นตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ โดยทรงเชื่อว่าทรงถูกสร้างขึ้นมาจากแก้ว ในอาการป่วยระยะนี้พระองค์ไม่สามารถทนเห็นอิซาบูแห่งบาวาเรีย พระมเหสีของพระองค์ได้ วาเลนตีนาน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้พระองค์สงบลงได้ พระองค์จำเธอได้และจะคอยถามหาหากเธอไม่ได้มาหา

ทว่าความไร้สมรรถภาพของกษัตริย์สร้างความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชน เมื่อนักบวชและหมอไม่สามารถรักษาพระองค์ได้ก็เริ่มมีข่าวลือว่ามีคนสาปพระองค์ ไม่นานวาเลนตีนาก็ถูกมองว่าเป็นคน ๆ นั้น เกิดข่าวลือว่าเธอพยายามวางยาพิษโดแฟ็งและมีข่าวลือว่าบิดาของเธอได้พูดกับเธอว่าจะไม่ยอมเจอเธออีกจนกว่าเธอจะได้เป็นพระราชินี ดูเหมือนเธอจะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากทั้งฟีลิป ดยุคแห่งบูร์กอญผู้ทรงอำนาจ และอิซาบู พระราชินี พระมารดาของอิซาบูอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตระกูลวิสกอนตี ส่วนฟีลิปกำลังทะเลาะแย่งชิงอำนาจในราชสำนักกับสามีของเธอ อีกทั้งยังเริ่มมีข่าวลือแปลก ๆ มากขึ้น เดือนมีนาคม ค.ศ. 1396 หลุยส์ถูกกระตุ้นให้พาวาเลนตีนาออกไปจากปารีสเพื่อความปลอดภัยของเธอ วาเลนตีนาไม่เคยได้กลับมาอยู่ในปารีสอีกเลย

วาเลนตีนาเลี้ยงดูครอบครัวของเธอที่ชาโตดานิเยร์ต่อด้วยชาโตเดอบลัว เธอมีบุตรอีกสี่คน คือ ฟีลิป, ฌ็อง, มาร์เกอริต และมารีที่เสียชีวิตหลังคลอด หลุยส์แวะมาหาเธอเป็นประจำ รวมถึงคนอื่น ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออนาคตพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษซึ่งตอนนั้นยังเป็นเอิร์ลแห่งเดอร์บี มารี ดากูต์ ลูกพี่ลูกน้องของหลุยส์อาศัยอยู่กับวาเลนตีนาในฐานะนางกำลังหมายเลขหนึ่ง

การสิ้นพระชนม์ของหลุยส์แห่งออร์เลอ็อง แก้

 
วาเลนตีนาแห่งมิลานร้องขอความเป็นธรรมจากพระเจ้าชาร์ลที่ 6 เรื่องการลอบสังหารดยุคแห่งออร์ลีอ็อง โดยอเล็กซานเดอร์ โคลิน ปี ค.ศ. 1863

ต่อมาในปี ค.ศ. 1407 มีข่าวว่ามีการวางแผนจะฆ่าหลุยส์บนถนนในปารีส หลายวันต่อมาหลุยส์ถูกฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำสั่งของฌ็อง ลูกพี่ลูกน้องที่สืบทอดตำแหน่งดยุคแห่งบูร์กอญต่อจากบิดาที่เสียชีวิต ฌ็องกับหลุยส์ขัดแย้งกันอยู่เป็นประจำเรื่องใครควรทำหน้าที่เป็นกษัตริย์ในตอนที่พระเจ้าชาร์ลอาการไม่ดี หลังการฆาตกรรม อิซาบูกลัวว่าฌ็องจะเสียความน่าเชื่อถือจึงเชิญวาเลนตีนากลับมาที่นครปารีสเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี อิซาบูเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อันซับซ้อนในตอนที่วาเลนตีนาซึ่งสวมชุดดำทั้งตัว สองมือประคองบุตรชายสองคนแรก ร้องขอความบุติธรรมจากพระเจ้าชาร์ลที่ 6 ที่อยู่ในช่วงภาวะจิตปรกติ ขณะที่เธอคุกเข่าอยู่เบื้องหน้า พระองค์ดึงเธอขึ้นมาและจุมพิตเธอ รับรองกับเธอต่อหน้าผู้คนว่าจะแก้แค้นให้กับสามีของเธอที่ถูกฆาตกรรม

การเสียชีวิตของวาเลนตีนา แก้

 
รูปแกะสลักหลุมศพของวาเลนตีนา วิสกอนดิ ที่มหาวิหารแซ็งต์เดอนีส์

ทว่าแปดต่อมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฌ็องทำให้ส่วนรวมมีความเห็นสนับสนุนเขาและให้ตัวแทนเทศนาเรื่อง "การสังหารทรราชย์" ของเขา ทั้งพระเจ้าชาร์ลและดยุคเชื้อพระวงศ์คนอื่น ๆ ต่างไม่มีใครเคลื่อนไหวต่อต้านเขา เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1408 วาเลนตีนามาที่ปารีสอีกครั้ง ครั้งนี้พระเจ้าชาร์ลตอบสนองต่อเธออย่างล่องลอย วันต่อมาทรงสูญเสียความมีเหตุมีผล วาเลนตีนาจึงกลับไปชาโตเดอบลัวอย่างสิ้นหวัง ไม่นานเธอก็เริ่มล้มป่วย ขณะกำลังจะตาย เธอให้บุตรชายสาบานว่าจะแก้แค้นให้กับการตายของบิดา วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1408 เธอตายด้วยโรคไทฟอยด์โดยมีลูก ๆ รายล้อม แต่มีหลายคนที่คิดว่าเธอตรอมใจตาย

การฆาตกรรมและการสาบานว่าจะแก้แค้นให้หลุยส์สุดท้ายกลายเป็นสงครามกลางเมืองฝรั่งเศสที่ทำให้ชาวอังกฤษเกือบได้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสไปในปี ค.ศ. 1422 ชาร์ล บุตรชายของวาเลนตีนาถูกชาวอังกฤษจับกุมตัวที่อาแฌ็งกูร์ เขาตกเป็นนักโทษเป็นเวลา 25 ปีและเป็นที่รู้จักในฐานะนักกวี เมื่อกลับมาฝรั่งเศส เขาแต่งงานใหม่และมีบุตรชายที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสในชื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 ในปี ค.ศ. 1498 หลังพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 สิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์ตกเป็นของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ซึ่งเป็นหลานชายของฌ็อง บุตรชายของวาเลนตีนา วาเลนตีนาจึงเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ฝรั่งเศสทุกคนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1498 เป็นต้นมา รูปปั้นแกะสลักของเธอเป็นหนึ่งในรูปปั้นแกะสลักของเหล่าพระราชินีที่ประดับประดาอยู่ในสวนปาแลเดอลุกซ็องบูร์ในปารีส

อ้างอิง แก้

  1. Tracy Adams, The Life and Afterlife of Isabeau of Bavaria, (Johns Hopkins University Press, 2010), 255.
  2. Emerton, Ephraim (1917). The Beginnings of Modern Europe (1250-1450). Boston: Ginn & Co. p. 406. Retrieved 2011-02-11.
  3. Monica Azzolini, The Duke and the Stars: Astrology and Politics in Renaissance Milan, (Harvard University Press, 2013), 120.