การปกครองประเทศฝรั่งเศส

การปกครองประเทศฝรั่งเศส เป็นระบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5

รัฐสภาแห่งประเทศฝรั่งเศส แบ่งเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ โดยมีประธานาธิบดีใช้อำนาจบริหารร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีสามารถถูกถอดถอนได้โดยสภาผู้แทนราษฎร หรือ"สภาล่าง" โดยการลงมติไม่ไว้วางใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีจะต้องผ่านการสนับสนุนโดยเสียงส่วนมากของสภาฯ

รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่ผ่านร่างกฎหมายและงบประมาณ รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ผ่านทางการถามกระทู้สดในรัฐสภา โดยมีสภารัฐธรรมนูญ ("Conseil Consitutionnel") มีหน้าที่รับรองให้บทบัญญัติต่าง ๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสภารัฐธรรมนูญ จะได้รับการคัดเลือกจากประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา อนึ่ง อดีตประธานาธิบดียังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภารัฐธรรมนูญด้วย

ระบบตุลาการ ซึ่งเป็นแบบระบบกฎหมายโดยสืบทอดจากประมวลกฎหมายนโปเลียน แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ศาลแพ่งและอาญา (ดูแลคดีแพ่งและอาญา) และศาลปกครอง (ดูแลเรื่องการใช้อำนาจรัฐ) โดยแต่ละฝ่ายจะมีศาลสูงสุด คือ ศาลยุติธรรมสูงสุด (ศาลฎีกา) สำหรับคดีความทางแพ่งและอาญา และศาลปกครองสูงสุด (ประเทศฝรั่งเศส) สำหรับคดีด้านปกครอง โดยรัฐบาลฝรั่งเศสรวมถึงหน่วยงานและองค์กรอิสระอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกหลายทางด้วย

ประเทศฝรั่งเศสมีการปกครองแบบรัฐเดี่ยว และแบ่งการปกครองย่อยเป็นแคว้น (région) จังหวัด (départements) และเทศบาล (communes) ซึ่งจะมีขอบเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นของตนทั้งด้านการคลังและงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลกลางไม่สามารถเข้ามาแทรกแทรงได้

เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสเป็นสมาชิกก่อตั้งของประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community) ซึ่งต่อมาภายหลังได้พัฒนาเป็นสหภาพยุโรป ดังนั้นประเทศฝรั่งเศสจึงต้องถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้กับสหภาพยุโรปตามรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป และรัฐบาลฝรั่งเศสจำต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาและกฎข้อบังคับแห่งสหภาพยุโรป

รัฐธรรมนูญ แก้

การเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติเมื่อปีค.ศ.1958 ได้ขยายขอบเขตอำนาจของประธานาธิบดีและฝ่ายบริหาร โดยผ่านทางรัฐสภา

อารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างอิงถึง (1) คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 (2) อารัมภบทรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1946 (รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4) และ (3) กฎบัตรสิ่งแวดล้อมฉบับปี ค.ศ. 2004 เอกสารเหล่านี้ กอปรกับรัฐธรรมนูญ และหลักพื้นฐานซึ่งรับรองโดยกฎหมายแห่งสาธารณรัฐ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแม่บทกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Le bloc de constitutionalité)

โดยหลักการที่บรรจุในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติ ได้แก่ หลักความเสมอภาคทางกฎหมาย และการไม่ยอมรับชนชั้นทางสังคม ซึ่งได้มีมาแต่ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส การสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เสรีภาพในการพูด และ เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา การรับรองการถือครองทรัพย์สินและป้องกันจากการยึดทรัพย์ตามอำเภอใจ และความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐบาลต่อประชาชน

ฝ่ายบริหาร แก้

เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสใช้ระบบการปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจะต้องได้รับเสียงจากการเลือกตั้งเป็นจำนวนอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยกฎหมายไม่สามารถปลดนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่งได้ โดยหากนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองฝ่ายเดียวกัน ประธานาธิบดีสามารถเจรจาให้นายกรัฐมนตรีลาออกได้ ประธานาธิบดียังมีอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และเลขาธิการรัฐมนตรี โดยเมื่อพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นของประธานาธิบดี ทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารและควบคุมการทำงานของรัฐบาลตามนโยบายของประธานาธิบดี โดยในทุกสมัยแม้ในพรรคการเมืองเดียวกัน ก็ยังมีความเห็นต่างกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดีไม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในรัฐสภา (ต่างขั้วการเมืองกัน) จะทำให้อำนาจในการบริหารลดลงไปมาก เนื่องด้วยประธานาธิบดีจะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งมักจะทำงานตามพรรคเสียงข้างมากในรัฐสภา ในกรณีนี้ประธานาธิบดีสามารถจะใช้อำนาจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่เพื่อเป็นการคานอำนาจการต่อรอง โดยจะมีการแบ่งอำนาจกันระหว่างสองขั้ว คือระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่า "Cohabitation" ในช่วงก่อนปีค.ศ.2002 ได้พบเหตุการณ์เช่นนี้บ่อย ย่อมทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างลำบาก ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประธานาธิบดีมีค่อนข้างมาก ดังปรากฏให้เห็นในปี 1997-2002 ที่ประธานาธิบดีฌัก ชีรักเป็นฝ่ายขวา ในขณะที่นายกรัฐมนตรี Lionel Jospin รัฐบาลและเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายซ้าย ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปีค.ศ.2000 เพื่อลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจาก 7 ปีเหลือแค่ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอายุของสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ "Cohabitation" ขึ้น

รัฐบาล แก้

รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี มีหน้าที่โดยตรงในการบริหารราชการ และกองทัพ (ในประเทศฝรั่งเศส จะใช้คำว่า "gouvernement" เพื่อหมายถึงคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐบาลโดยรวม ซึ่งคล้ายกับการใช้คำว่า "cabinet" ซึ่งไม่พบเห็นการใช้คำนี้เรียก)

รัฐบาลจะต้องรายงานต่อรัฐสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรสามารถขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อถอดถอนคณะรัฐมนตรี ในทางปฏิบัติเพื่อผลักดันให้รัฐบาลจะต้องแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากในสภา รัฐมนตรีจะต้องตอบกระทู้จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยวาจาและลายลักษณ์อักษร ซึ่งเรียกว่า "questions au gouvernement" นอกจากนั้น รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับหัวข้ออภิปราย จะต้องเข้าร่วมประชุมสภาเพื่อตอบคำถามต่อสมาชิกรัฐสภา

คณะรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ไม่สามารถออกกฎหมายได้โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่รัฐมนตรีสามารถออกกฎข้อบังคับ หรือรัฐกฤษฎีกา (décrets d'application) ได้โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐกฤษฎีกานั้น จะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีสามารถเสนอยกร่างกฎหมายได้ต่อรัฐสภา โดยส่วนมากเสียงข้างมากในสภามักเป็นของคณะรัฐมนตรี ร่างกฎหมายเหล่านี้จึงมักจะผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณีที่ความเห็นข้างมากในสภา แตกต่างกันกับฝ่ายบริหารอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะทำให้เกิดแก้ไขร่างฯอยู่เสมอ

นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรสำหรับการลงมติรับร่างกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 49-3 กฎหมายจะถือว่ามีผลบังคับใช้เว้นแต่สภาผู้แทนราษฎรจะยื่นเสนอญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้รับความเห็นชอบจากสภา นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งและถือว่าร่างกฎหมายที่รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบนั้นตกไป

ในคณะรัฐมนตรีประกอบไปด้วยสมาชิก 3 ระดับด้วยกัน มีรัฐมนตรีว่าการ (ministres) เป็นผู้มีอาวุโสที่สุดในคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการ (ministres délégués) มีหน้าที่ช่วยรัฐมนตรีดูแลงานในกำกับ และเลขานุการรัฐมนตรี (secrétaires d'État) ช่วยกำกับดูแลงานส่วนที่สำคัญรองลงไป และจะต้องเข้าร่วมประชุมรัฐบาลเป็นบางครั้งเท่านั้น โดยในยุคก่อนหน้าสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญต่าง ๆ จะถูกเรียกว่า "มีนิสทร์เดตา" (ministres d'État หรือ secretary of state) ซึ่งยังคงใช้เรียกรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญอย่างลำลองมาถึงปัจจุบัน

จำนวนกระทรวง และบทบาทความรับผิดชอบของรัฐมนตรีจะแตกต่างกันในแต่ละรัฐบาล โดยมักจะเรียกชื่อต่างกันไปตามลักษณะงานที่ดูแลรับผิดชอบ อาทิเช่น

คณะรัฐมนตรีจะมีประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ ซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประธานการประชุม ณ พระราชวังเอลีเซ

ฝ่ายนิติบัญญัติ แก้

ระบบรัฐสภาฝรั่งเศส ประกอบไปด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

การประชุมรัฐสภาแบ่งเป็นสมัยประชุมทั้งสิ้น 9 เดือนต่อ 1 ปี ในกรณีจำเป็น ประธานาธิบดีสามารถขอเพิ่มวาระการประชุมได้ แม้ว่าอำนาจบริหารของฝ่ายนิติบัญญติจะถูกตัดออกจากสมัยสาธารณรัฐที่ 4 แต่สภาผู้แทนราษฎรยังสามารถยุบรัฐบาลได้โดยใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งกรณียังไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่มีการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ (motion de censure) ได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่การแสดงความรับผิดชอบ โดยญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่สามารถเสนอได้คือญัตติที่มีสมาชิกจำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเป็นผู้เสนอ เมื่อมีการเสนอญัตติ สภาก็จะทำการอภิปรายและลงมติตามกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ การอภิปรายต้องจัดขึ้นภายใน 3 วันเป็นอย่างช้า โดยวันดังกล่าวหมายถึงวันที่เป็นวันประชุม ส่วนการลงมตินั้นต้องไม่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงหลังการเสนอญัตติ ญัตติจะได้รับความเห็นชอบก็ต่อเมื่อญัตตินั้นได้คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

ถ้าไม่มีการเสนอญัตติภายในเวลา 24 ชั่วโมง หรือญัตติไม่ได้รับความเห็นชอบ ให้ถือว่าร่างกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลนั้นได้รับความเห็นชอบจากสภา การแสดงความรับผิดชอบนี้จะมีผลสำหรับวาระการพิจารณาที่นำกระบวนการดังกล่าวมาใช้เท่านั้น และไม่ส่งผลใด ๆ ต่อกระบวนการส่งไป-มา[1]

สมาชิกรัฐสภาได้รับอภิสิทธิ์ต่อการจับกุม ในระหว่างสมัยวาระประชุม โดยทั้งสองสภาสมารถตั้งคณะกรรมาธิการชั่วคราวเพื่อทำการสอบสวนได้

สภาผู้แทนราษฎร แก้

สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 577 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง โดยดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยจะสิ้นสุดวาระในวันอังคารของสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน ปีที่ 5 นับแต่วันเลือกตั้ง

สภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อคณะรัฐมนตรีได้ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีมักจะได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของสภา โดยในกรณีที่ประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีอยู่คนละขั้วกัน จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเรียกว่า "cohabitation" ในขณะที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้านในรัฐสภา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายบริหารบริหารราชการอย่างไม่เหมาะสมหรือบกพร่อง แต่ในกรณีปกติ พรรคเสียงข้างมากหรือพรรคร่วมรัฐบาลจะคอยป้องกันไม่ให้รัฐบาลถูกยุบโดยสภาผู้แทนราษฎร

วุฒิสภา แก้

สมาชิกวุฒิสภาถูกสรรหาทางอ้อม กล่าวคือ ชาวฝรั่งเศสที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะเลือกผู้แทนในระดับท้องถิ่นที่เรียกว่า “คณะผู้เลือกตั้ง” (un collège électoral) ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาภาค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งสิ้นประมาณ 145,000 คน จากนั้นคณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสนั้นมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 9 ปี โดยมีการเลือกตั้ง 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดใหม่ทุก ๆ 3 ปีตามชุดของ สมาชิกวุฒิสภาที่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ชุด ในปัจจุบันวุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 348 คน

วุฒิสภามีสิทธิเสนอร่างกฎหมายและร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายได้เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี โดยการตรากฎหมายดังกล่าวต้องไม่เพิ่มรายจ่ายของรัฐหรือทำให้รายได้ของรัฐลดลงและต้องไม่แทรกแซงอำนาจในการตรากฎหมายของรัฐบาลหรืออำนาจซึ่งรัฐบาลได้รับการอนุญาตจากรัฐสภาให้เป็นผู้ตรารัฐกำหนด (ordonnance)

อำนาจของวุฒิสภานั้นค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่หากคณะกรรมาธิการร่วมไม่สามารถตกลงกันได้อีก ร่างกฎหมายนั้นจะถูกส่งไปให้ทั้งสองสภาพิจารณาอีกครั้ง และหลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดหากทั้งสองสภามีความเห็นที่ไม่ตรงกัน

ตั้งแต่การเริ่มต้นของสาธารณรัฐที่ 5 เป็นต้นมา วุฒิสภามักจะมีเสียงข้างมากโดยกลุ่มขวา เนื่องจากจำนวนของเมืองเล็กในฝรั่งเศสที่มีมากกว่าเมืองใหญ่

กระบวนการร่างกฎหมาย แก้

กระบวนการร่างกฎหมายเริ่มต้นจากพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี (ที่ประชุมเห็นพ้อง) หรือโดยสมาชิกรัฐสภา เพื่อตรากฎหมาย โดยร่างกฎหมายต้องผ่านการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่จะนำเข้าสู่สภาฯ โดยตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 เป็นต้นมา มีการเพิ่มข้อบังคับให้ร่างกฎหมายจะต้องผ่านการศึกษาถึงผลกระทบ ที่มีต่อกฎหมายแห่งประชาคมยุโรป เศรษฐกิจ สังคม การคลัง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในประเทศฝรั่งเศส การร่างกฎหมายก็ต้องผ่านการพิจารณาจากทั้งสองสภาเพื่อให้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเดียวกัน หากทั้ง 2 สภามีความเห็นตรงกันก็ถือว่าร่างกฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ในกรณีที่ทั้ง 2 สภามีความเห็นไม่ตรงกัน ร่างกฎหมายฉบับนั้นก็จะถูกส่งกลับไปกลับมาระหว่าง 2 สภา (navette) ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถขอให้มีการตั้ง "คณะกรรมาธิการร่วมกัน" (commission mixte paritaire) ประกอบด้วยสมาชิกที่มีลักษณะแตกต่างกับของไทย กล่าวคือ คณะกรรมาธิการร่วมกันของฝรั่งเศสประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา 7 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 7 คน ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่หากคณะกรรมาธิการร่วมกันไม่สามารถตกลงกันได้อีก ร่างกฎหมายนั้นจะถูกส่งไปให้ทั้งสองสภาพิจารณาอีกครั้ง และหลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ในกรณีดังกล่าว สภาผู้แทนราษฎรอาจนำร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกันหรือร่างที่ผ่านการพิจารณาครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งอาจมีการแปรญัตติโดยความเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว มาเป็นร่างที่ใช้ในการพิจารณาก็ได้

ร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบแล้ว จะถูกลงนามโดยประธานาธิบดี ในระหว่างนี้ ประธานาธิบดี หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 60 คน สามารถยื่นตีความว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาโดยสภารัฐธรรมนูญก่อนนำมาบังคับใช้ โดยตามกฎหมาย ประธานาธิบดีสามารถลงนามคู่กับนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นร่างกฎหมายกลับไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้หนึ่งครั้งต่อร่างกฎหมาย โดยเมื่อได้รับการเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว ประธานาธิบดีต้องลงนามคู่กับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และส่งตีพิมพ์เพื่อบังคับใช้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ฝ่ายตุลาการ แก้

อำนาจฝ่ายตุลาการเป็นอิสระไม่ขึ้นตรง และใช้ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์หรือกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นระบบประมวล และมิได้ตัดสินตามแนวคำพิพากษาของศาล แต่อย่างไรก็ตาม แนวคำพิพากษาของศาลยังถือว่ามีน้ำหนักในการพิจารณาคดีความ

กฎหมายฝรั่งเศสได้แบ่งเป็นสองส่วนสำคัญ คือ กฎหมายแพ่งและอาญา และกฎหมายปกครอง

ศาลคดีแพ่งและอาญา แก้

ระบบศาลของฝรั่งเศส จะไต่สวนคดีความทั้งด้านแพ่งและอาญา โดยแบ่งเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตามลำดับ

ผู้พิพากษา เป็นข้าราชการที่ได้รับการคุ้มครองสถานะเป็นพิเศษ โดยไม่สามารถถูกปลดจากตำแหน่งโดยปราศจากความยินยอมจากเจ้าตัว โดยมีสภายุติธรรมเป็นผู้ดูแลการทำงานของผู้พิพากษา

พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงยุติธรรม ในอดีตได้มีข้อครหาทางการเมืองถึงการยกฟ้องหรือสั่งฟ้องอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะคดีความเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเรื่องราวของอัยการมักจะเป็นหัวข้อที่อภิปรายกันเป็นประจำ

การพิจารณาคดีความโดยลูกขุน จะสงวนไว้ในกรณีคดีอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งเป็นคดีความในอำนาจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยข้าหลวงพิเศษ "Courts of Assizes" อันประกอบไปด้วยผู้พิพากษา 3 ท่าน และคณะลูกขุนจำนวน 9 ท่าน (12 ท่านในกรณีอุทธรณ์) โดยจะร่วมกันพิจารณาคำพิพากษานั้น ๆ (รวมทั้งกำหนดโทษ) โดยคณะลูกขุนจะเลือกจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยระบบสุ่ม

ในกรณีทั่วไป ผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิพากษาโดยอาชีพ ยกเว้นศาลอาญาเฉพาะเยาวชน อันจะประกอบไปด้วยผู้พิพากษา 1 ท่าน และผู้พิพากษาสมทบอีก 2 ท่าน ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกคัดเลือกเข้ามาที่ไม่ได้มีอาชีพเป็นผู้พิพากษา ศาลเฉพาะด้านอื่น ๆ ก็มักจะประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านสาขานั้น อาทิเช่น คณะตุลาการด้านแรงงาน ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสหภาพแรงงานจำนวนเท่า ๆ กับจากสหภาพนายจ้าง ซึ่งยังพบการใช้กับคณะตุลาการด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณาของระบบศาล จะใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial System) โดยเมื่อเข้าสู่ศาลแล้ว จะใช้ระบบกล่าวหา (Adversary System) โดยผู้ที่ถูกกล่าวหา (จำเลย) จะถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด (ตามคำพิพากษา)

อ้างอิง แก้

  1. "สภาผู้แทนราษฎรของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (L'Assemblée nationale)". สำนักภาษาต่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012.