ฟาเธอร์แลนด์ (นวนิยาย)

ฟาเธอร์แลนด์ เป็นนวนิยายขายดีในปี ค.ศ. 1992 มีเนื้อหาแนวสืบสวน-ฆาตกรรม เขียนโดยนักข่าวอังกฤษ รอเบิร์ต แฮร์ริส โดยมีจุดเด่นคือ ประวัติศาสตร์สมมุติว่า หากนาซีเยอรมนีชนะสงครามโลกครั้งที่สอง โลกจะเป็นอย่างไร ฉบับภาษาไทยแปลโดยนพดล เวชสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดยปราชญ์เปรียวสำนักพิมพ์ ในปี ค.ศ. 2008[1]

ฟาเธอร์แลนด์  
ผู้ประพันธ์รอเบิร์ต แฮร์ริส
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาภาษาอังกฤษ
ประเภทระทึกขวัญ, ประวัติศาสตร์ประยุกต์
สำนักพิมพ์ฮัตชินสัน
ปราชญ์เปรียว (ไทย)
วันที่พิมพ์7 พฤษภาคม ค.ศ. 1992
ค.ศ. 2008 (ไทย)
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์
หน้า372 หน้า (ปกแข็ง, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1)
395 หน้า (ไทย)
ISBN0-09-174827-5 (ปกแข็ง, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1)
OCLC26548520

เนื้อเรื่อง แก้

ปี ค.ศ. 1964 7 วันก่อนวันเกิดของฮิตเลอร์ นักสืบหนุ่มไฟแรง พันตำรวจตรีซาเวียร์ มาร์ช สังกัด ครีมินัลโพลิไซ ได้รับแจ้งว่า มีชายชราเสียชีวิตอยู่ที่ริมทะเลสาบฮาเฟิล มาร์ชจึงไปสืบสวนคดีนี้ร่วมกับมักซ์ ยาเอเกอร์ แต่แล้วคดีฆาตกรรมนี้ก็ถูกโอนไปให้เกสตาโปรับผิดชอบ เนื่องจากมาร์ชไม่ไว้วางใจเกสตาโป จึงหาทางสืบคดีนี้ จนทราบว่า ผู้เสียชีวิตคือโจเซฟ บูลเลอร์ เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรคนาซี

มาร์ชพบเงื่อนงำต่าง ๆ มากมายจากปากของชาร์ล็อต แมกไกรฟ์ (ชาร์ลี) นักข่าวของสำนักพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ซึ่งเข้ามาทำข่าวในเยอรมนี เนื่องจากอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะมีงานเฉลิมฉลองแด่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในวาระที่อายุครบ 75 ปี โดยโจเซฟ แพทริก เคนเนดีก็จะมาร่วมงานนี้ด้วย มาร์ชได้ยินคำเล่าลือต่าง ๆ เกี่ยวกับพรรคนาซีมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ ยามที่มาร์ชพยายามค้นประวัติของโจเซฟ บูลเลอร์ เขายังถูกพวกเกสตาโปที่นำโดยโอดีโล โกลบ็อทช์นิค (โกลบูส) ตามไล่ล่าเขาอีกด้วย โดยมาร์ชพบว่า บูลเลอร์มีผู้ร่วมงานอีกสองคน คือมาร์ติน ลูเธอร์ และวิลเฮล์ม ชตุคการ์ด

มาร์ชได้ขอคำอนุญาตพิเศษจากอาทูร์ เนเบอ เพื่อไปสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากลูเธอร์ได้เก็บความลับอะไรบางอย่างไว้ในบัญชีของเขาที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมันก็คือเอกสารที่กล่าวว่า สามคนนี้ยังมีส่วนร่วมในแผนการสร้างค่ายกักกันซึ่งมีไรน์ฮาร์ท ไฮดริชเป็นผู้คุมงานอีกด้วย เมื่อมาร์ชกลับมาที่เยอรมนี แล้วค้นเอกสารลับในหอสมุดแห่งชาติ จนพบเอกสารที่กล่าวถึงแผนการล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งผู้ร่วมงานกับไฮดริชมีทั้งหมด 14 คน ซึ่ง 13 คนในจำนวนนี้เสียชีวิตโดยรวมถึงบูลเลอร์ ซึ่งถูกระบุว่าฆ่าตัวตาย ทำให้มาร์ชเข้าใจว่า 13 คนที่ตายไปนี้อาจถูกลอบสังหาร แล้วพรางให้เป็นอุบัติเหตุ มาร์ชจึงขอชาร์ลีและเพื่อนร่วมงานอื่น ๆ ให้ช่วยปกป้องลูเธอร์ แต่แล้วลูเธอร์ก็ถูกลอบสังหาร

มาร์ชจึงพยายามค้นหาเอกสารที่สนามบิน จนพบเอกสารที่กล่าวถึงการล้างชาติพันธุ์โดยนาซีอย่างละเอียดยิบ แล้วเขาจึงขอให้ชาร์ลีนำเอกสารนี้ออกนอกประเทศ เพื่อให้คนทั่วโลกได้รับรู้ความลับของเยอรมนี ส่วนมาร์ชก็มุ่งหน้าไปที่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์เพื่อหาหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้น แต่แล้วพวกเกสตาโปก็จับตัวมาร์ช แล้วรุมซ้อมให้รับสารภาพก่อนจะพามาร์ชไปให้เครบกับเนเบอรับไปลงโทษทางกฎหมาย แต่เครบกับเนเบอก็ขอให้มาร์ชหาค่ายต่อไป มาร์ชไปกับยาเอเกอร์ จนพบว่ายาเอเกอร์หักหลังโดยบอกเรื่องของมาร์ชไปให้เกสตาโปทั้งหมด

และแล้วมาร์ชก็ถูกกองกำลังเกสตาโปล้อมจับ มาร์ชออกไปต่อสู้คนเดียว แม้จะรู้ว่าไม่สามารถเอาชนะกองกำลังติดอาวุธได้ก็ตามที ส่วนชาร์ลีสามารถหนีออกจากเยอรมนีได้สำเร็จ

ตัวละคร แก้

ตัวละครสมมุติ
  • พันตำรวจตรีซาเวียร์ มาร์ช หรือ ซาวี แฮร์ ชตวร์มบานฟือเรอห์ (ชตวร์มบานฟือเรอห์เป็นยศของ SS เทียบได้กับพันตรี) ตำรวจลับอายุ 41 ปี พักอาศัยอยู่ในเบอร์ลิน เป็นตำรวจสังกัดสืบสวนคดีทั่วไป ครีมินัลโพลิไซ ในอดีตเขาเคยเป็นลูกเรือของเรือดำน้ำ แม้จะมีคุณสมบัติทางชาติพันธุ์ที่เหมาะสมแต่นิสัยกลับไม่เหมาะสมเลย ไม่ว่าจะสูบบุหรี่ ล้อเลียนนาซีด้วยอารมณ์ขันเล็ก ๆ
  • ชาร์ล็อต แมกไกรฟ์ หรือ ชาร์ลี นักข่าวสาวอายุ 25 ปี ทำงานกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์
  • พอล มาร์ช หรือ พีลี ลูกชายอายุ 10 ปีของมาร์ช เขาเป็นยุวชนฮิตเลอร์ตามกฎหมายของนาซี
  • มักซ์ ยาเอเกอร์ เพื่อนสนิทของมาร์ช รูปร่างอ้วนกลม อายุ 50 ปี อยู่สังกัดเดียวกันกับมาร์ช มีภรรยาอยู่หนึ่งคนและลูกสาวอีกหนุ่งคน
  • รูดอล์ฟ ฮาลเดอร์ เพื่อนสนิทของมาร์ชเช่นกัน
ตัวละครจริงในประวัติศาสตร์
  • โอดีโล โกลบ็อกนิก (โกลบูส) ผู้บังคับการหน่วยเกสตาโปที่ตามล่ามาร์ช เขาเป็นคนโหดร้ายแบบหน่วยเอสเอส มีฉายาว่า เรือดำน้ำ เนื่องจากอัดไอเสียจากเครื่องเรือดำน้ำเพื่อฆ่านักโทษ
  • อาร์ทู เนเบอ ผู้บังคับการสูงสุดของครีมินัลโพลิไซ เขาเป็นชายชราอายุร่วม ๆ 70 ปี เขามีท่าทีไม่ชอบพวกเกสตาโป
  • ไรน์ฮาร์ท ไฮดริช ผู้รอดชีวิตจากการลอบสังหารในกรุงปรากในสาธารณรัฐเชคมาได้อย่างหวุดหวิด ในเรื่องเขาควบคุมหน่วยเอสเอส เกสตาโป และอาจจะกุมอำนาจทั้งหมดไว้คนเดียว เนื่องจากการเสียชีวิตของแฮร์มัน เกอริง และไฮน์ริช ฮิมเลอร์

ฉากของเรื่องฟาเธอร์แลนด์ แก้

ประวัติศาสตร์

ในปี ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันสามารถบุกยึดเทือกเขาคอเคซัส และบ่อน้ำมันบาคเอาไว้ได้ ทำให้กองทัพรถถังอันน่าพรั่นพรึงของรัสเซียขาดน้ำมันจนไม่สามารถรบได้อีกต่อไป ทำให้กองทัพนาซีสามารถบุกเข้าสหภาพโซเวียตได้อย่างต่อเนื่อง แต่สงครามครั้งนี้ยาวนานและยังมีการปะทะอยู่

ในปี ค.ศ. 1944 หลังจากที่สหราชอาณาจักร สามารถถอดรหัสเครื่องเอนิกมาได้แล้ว กองทัพเยอรมันจึงใช้เครื่องเข้ารหัสใหม่ ทำให้กองทัพเรือดำน้ำสามารปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ และการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมันสำเร็จได้เป็นประเทศแรก ทำให้สหราชอาณาจักรยอมแพ้ วินสตัน เชอร์ชิลและพระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมไปถึงนักการเมืองคนอื่น ๆ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศแคนาดา

ในปี ค.ศ. 1946 หลังจากที่จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามต่อสหรัฐอเมริกาจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ เยอรมนีก็ยิงจรวดวี 3 ไประเบิดกลางฟ้าที่นครนิวยอร์กทำให้สหรัฐอเมริกาเจรจาหยุดยิงกับเยอรมนี ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองจบลง เยอรมันได้เซ็นสนธิสัญญากรุงโรมซึ่งนำไปสู่การยุบรวมประเทศทุกประเทศในยุโรปตะวันตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมัน ยกเว้นแต่สวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น

แต่สงครามเยอรมนี-รัสเซียยังไม่จบดี ในเรื่องนี้ กองทัพนาซีสามารถรุกรานจนใกล้ถึงเทือกเขายูรัล แต่สงครามที่ยังไม่จบสิ้นทำให้ชาวเยอรมนียังประสบกับความอดอยากอยู่พอสมควร

 
แผนที่ของนาซีเยอรมนีในเรื่องนี้

หลังจากนั้น เยอรมันกับสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มต้นสั่งสมอาวุธร้ายแรงและกำลังทหารจำนวนมาก ซึ่งการสะสมอาวุธครั้งนี้เรียกว่า สงครามเย็น ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1964 ตามท้องเรื่องนี้ สงครามเย็นกำลังอ่อนตัวลงตามแผนลดความรุนแรง (เดทันต์) ที่คิดขึ้นโดยจอห์น เอฟ. เคนเนดี นำไปสู่การเจรจาทางการค้าต่าง ๆ

เทคโนโลยี

นอกจากเทคโนโลยีด้านอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกแล้ว ยังมีเทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำนิวเคลียร์และแผนการบุกเบิกอวกาศ ส่วนในด้านประชาชนก็มีทั้งการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย หรือเครื่องบินไอพ่นเพื่อการพาณิชย์และการทหารด้วย

อ้างอิง แก้

  1. "ฟาเธอร์แลนด์ = Fatherland". สำนักงานวิทยทรัพยากร - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ January 4, 2021.