วัดประดู่ฉิมพลี

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดประดู่ฉิมพลี เดิมชื่อ วัดฉิมพลี หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดประดู่นอก คู่กับวัดประดู่ใน (วัดประดู่ในทรงธรรม) เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

วัดประดู่ฉิมพลี
เจดีย์กลมทรงรามัญ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดฉิมพลี, วัดประดู่นอก
ที่ตั้งเลขที่ 168 ซอยเพชรเกษม 15 ถนนเพชรเกษม แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระศรีรัตนโมลี (สมคิด สุรเตโช ป.ธ.9)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

ที่ชื่อว่า วัดฉิมพลี เพราะบริเวณที่ตั้งวัดเต็มไปด้วยต้นงิ้ว ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงยศเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้จัดหาที่ดินและก่อสร้างวัด โดยใช้เวลานานถึง 8 ปี จึงแล้วเสร็จในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ในเวลานั้นถือเป็นวัดราษฎร์ที่ใหญ่และงดงามกว่าวัดราษฎร์โดยทั่วไป

เมื่อวัดสร้างแล้วเสร็จนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ได้เพียรพยายามเสาะหาพระพุทธรูปที่สวยงาม เพื่อนำมาประดิษฐานในพระอุโบสถ ซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เจ้าอธิการวัดอ้อยช้าง หรือวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ได้อัญเชิญพระพุทธรูปพระศรีศาสดามาจากจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วัดอ้อยช้าง แต่ความทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ท่านจึงไปอัญเชิญมาประดิษสถานที่วัดประดู่ฉิมพลี ครั้นความทราบไปถึงรัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระบรมราชโองการลงมาว่า เนื่องจากพระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญอยู่คู่กับพระชินสีห์มาก่อน จึงให้อัญเชิญพระศรีศาสดาจากวัดประดู่ฉิมพลี มาประดิษสถานที่วัดบวรนิเวศวิหารแต่ขณะที่เชิญมานั้น ยังสร้างพระวิหารไม่เสร็จ จึงโปรดให้นำไปไว้ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ชั่วคราวก่อน เมื่อเดือน 4 แรม 10 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก พ.ศ. 2396

 
หลวงพ่อสุโขทัย

เมื่อพระประธานของวัดประดู่ฉิมพลีไม่มีแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) จึงได้ไปเลือกหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะพุทธศิลป์ที่สวยงาม และมีขนาดเท่ากับพระศรีศาสดาจากวัดอ้อยช้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะศิลปะสุโขทัย พระพักตร์เอิบอิ่ม ผิวองค์พระดั่งทองคำ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดประดู่ฉิมพลี และได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระสุโขทัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อสุโขทัย

กรมการศาสนา ได้คัดเลือกวัดประดู่ฉิมพลีให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ. 2535[1]

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมกับวัดประดู่ฉิมพลี ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัด เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2558–2563 ตั้งแต่พระอุโบสถ พระเจดีย์ทรงรามัญ และปรับปรุงภูมิทัศน์เขตพุทธาวาส

 
อุโบสถ

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 13 เมตร ยาว 32 เมตร สร้างตามศิลปะแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายปูนเป็นลายดอกไม้ใบไม้ บานประตูและหน้าต่างปิดทองประดับกระจกลายยา ภายในอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธสัมพันธมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 99 นิ้ว มีพระวิหาร 2 หลัง กว้าง 6.10 เมตร ยาว 17.30 เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก 1 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ และด้านทิศตะวันออก 1 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับยืน

เจดีย์กลมทรงรามัญ เป็นเจดีย์กลม ฐานกบบัลลังก์เป็นแปดเหลี่ยม มีบัวประดับที่เชิงระฆังที่เหนือบัลลังก์ และที่ใต้ปลียอด มีเครื่องประดับแบบเจดีย์รามัญทั่วไป มีเสารายและชานโดยรอบ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง วัดมีศาลาราชสังวราภิมณฑ์ เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น กว้าง 11 เมตร ยาว 16.50 เมตร ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนพระราชสังวราภิมณฑ์ หรือหลวงปู่โต๊ะ[2]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "วัดประดู่ฉิมพลี (WAT PRADUECHIMPLEE)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-03. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
  2. "รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดประดู่ฉิมพลี อารามแห่งพระดี "หลวงปู่โต๊ะ"". ผู้จัดการออนไลน์. June 1, 2016.