พระพุทธชินสีห์

พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
(เปลี่ยนทางจาก พระชินสีห์)

พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งในหัวเมืองเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดา และพระเหลือ เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2372

พระพุทธชินสีห์
ชื่อเต็มพระพุทธชินสีห์
ชื่อสามัญพระพุทธชินสีห์
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
ความกว้างศอกนิ้ว
ความสูงศอก
วัสดุสำริด ลงรักปิดทอง
สถานที่ประดิษฐานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
ความสำคัญพระพุทธรูปสำคัญ
หมายเหตุผงจากองค์พระใช้เป็นมวลสารทำพระสมเด็จจิตรลดา
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้
 
พระพุทธชินสีห์ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ประวัติการสร้าง

แก้
 
พระพุทธชินราชเฉพาะองค์พระ (ซ้าย) และพระพุทธชินสีห์ (ขวา)

พระพุทธชินสีห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๐ ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก ๒ องค์คือพระพุทธชินราชและพระศรีศาสดา

พุทธศักราช ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา" ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปีพุทธศักราช ๑๔๙๘ และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๕๐๐ (หย่อนอยู่ ๗ วัน)

พุทธศักราช ๒๔๒๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงแต่งตำนานการสร้างพระพุทธชินราชขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ชื่อ "พงษาวดารเหนือ : เป็นลิลิตเรื่องนิทานพระร่วง แลนิทานพระเจ้าธรรมไตรปิฎก นิทานพระชินศรี พระชินราช พระศาสดา" ซึงมีเนื้อเรื่องเช่นเดียวกับพงศาวดารเหนือและพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระพุทธชินราชเข้าไปด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินสีห์จากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่าพระพุทธชินสีห์ ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสนแต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม และช่างผู้สร้างพระพุทธชินสีห์กับพระพุทธชินราชนั้นเป็นช่างเดียวกัน หากแต่พระศรีศาสดาเป็นช่างอื่นจากลักษณะประติมากรรมของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ที่ปรากฏ แต่จะสร้างพร้อมกันทั้ง ๓ องค์หรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ชัด และเมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปีพุทธศักราช ๑๙๐๐ มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลว่า "พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแต่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไทย...พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ประทานความเห็นไว้ว่าพระพุทธชินสีห์น่าจะสร้างขึ้นหลังจากหล่อพระพุทธชินราชสำเร็จลงแล้ว เนื่องจากข้อบกพร่องต่างๆ ที่พระพุทธชินราชมีนั้น ถูกแก้ไขและเพิ่มเติมความปราณีตในพระพุทธชินสีห์ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามความเห็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนี้คือความเห็นในแนวทางเดียวกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เชื่อว่าพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์นี้ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย)

การเคลื่อนย้ายที่ประดิษฐาน

แก้
 
พระพุทธชินสีห์องค์จำลอง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

หลังจากสงครามอะแซหวุ่นกี้ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๘ เมืองพิษณุโลกถูกเผาทำลายโดยเฉพาะพระราชวังจันทน์และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งได้รับความเสียหายเป็นอันมาก รวมถึงพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ที่แม้ไม่ได้ถูกเผาไปด้วยแต่ก็ชำรุดทรุดโทรมลงเนื่องจากขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์

พุทธศักราช ๒๓๗๒ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ มุขหลังของพระอุโบสถจัตุรมุขวัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะยังทรงผนวช ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถหน้าพระพุทธสุวรรณเขต เมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๐ เนื่องจากทรงต้องการขยายทักษิณพระเจดีย์จึงต้องรื้อมุขหลังของพระอุโบสถจัตุรมุขลง

การบูรณะปฏิสังขรณ์

แก้

พุทธศักราช ๒๓๘๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะยังทรงผนวช ทรงติดทองกะไหล่พระรัศมี ฝังพระเนตรและฝังเพชรที่พระอุณาโลมใหม่ พร้อมทั้งปิดทององค์พระพุทธรูป ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ในพุทธศักราช ๒๓๙๔ โปรดเกล้าฯ ให้แผ่แผ่นทองคำลงยาราชาวดีประดับพระรัศมีเดิม ถวายฉัตรตาด ๙ ชั้น ถวายผ้าทรงสะพักตาด ต้นไม้เงินทอง และพุทธศักราช ๒๓๘๙ โปรดเกล้าฯให้หล่อฐานสำริดปิดทองใหม่มีการสมโภช

ลักษณะทางพุทธศิลป์และการจัดหมวดหมู่

แก้

ลักษณะทางพุทธศิลป์

แก้
 
พระพักตร์พระพุทธชินสีห์
 
พระวรกาย

พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน (ทีฆงคุลี) ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว

การจัดหมวดหมู่

แก้

พระพุทธชินสีห์ ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น ๑ ใน ๔ หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

พระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แก้

พุทธศักราช ๒๓๙๔ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองศิริราชสมบัติแล้ว โปรดให้มีการถวายฉัตรตาด ๙ ชั้น ถวายผ้าทรงสะพักตาด ต้นไม้เงินทอง และกลองมโหระทึกสำหรับประโคมในเวลาพระสงฆ์บูชาเช้าค่ำเป็นเกียรติยศ

พุทธศักราช ๒๓๘๙ โปรดเกล้าฯให้หล่อฐานสำริดปิดทองใหม่และมีการสมโภช

พุทธศักราช ๒๔๐๙ ทรงสมโภชอีกครั้งและถวายพระธำมรงค์หยกสวมนิ้วพระอังคุฐซ้าย

ตำนาน

แก้

พุทธศักราช ๒๓๗๒ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพได้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาประดิษฐานยังกรุงเทพมหานคร ประกอบกับในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันพระศรีศาสดาก็ถูกอัญเชิญลงมาด้วยเช่นกันทำให้ราษฎรชาวพิษณุโลกเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก ต่อมาเกิดฝนทิ้งช่วงที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลากว่า ๒ ปีและหลังจากฝนทิ้งช่วงแล้ว ๑ ปี สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ประชวรและสิ้นพระชนม์ ราษฎรต่างพากันโจษจันว่าเป็นเพราะพระองค์อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมาจากเมืองพิษณุโลก

อ้างอิง

แก้
  • บัญชีแนบท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. ๒๕๒๐
  • พิริยะ ไกรฤกษ์. (๒๕๕๑). ลักษณะไทย ๑ พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
  • ชาตรี ปีะกิตนนทการ. (๒๕๕๑). พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
  • ดำรงราชานุภาพ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยา. (๒๕๔๘). ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้