พระเหลือ
พระเสสันตปฏิมากร (พระราชทานชื่อโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) หรือพระเหลือ ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารน้อย บริเวณโพธิ์สามเส้า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศักราช 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย จากเศษสำริดที่เหลือหลังการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา พร้อมกับพระอัครสาวกอีก 1 คู่
พระเหลือ | |
---|---|
ชื่อเต็ม | พระเสสันตปฏิมากร |
ชื่อสามัญ | พระเหลือ |
ประเภท | พระพุทธรูป |
ศิลปะ | ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราช |
ความกว้าง | 1 ศอก เศษ |
วัสดุ | สำริด |
สถานที่ประดิษฐาน | พระวิหารน้อย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร |
ความสำคัญ | พระพุทธรูปสำคัญ |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้ประวัติการสร้าง
แก้พระเหลือ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด คงมีแต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่าง ๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปีพุทธศักราช 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 3 องค์คือพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา
พุทธศักราช 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ "ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา" ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปีพุทธศักราช 1489 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปีพุทธศักราช 1500 (หย่อนอยู่ 7 วัน)
จากประวัติการสร้างพระพุทธชินราชโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีพระดำริเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราชจากหลักฐานทางพุทธศิลป์นำมาเปรียบเทียบกับพงศาวดารเหนือว่าพระพุทธชินราช ถูกสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย เนื่องจากพุทธศิลป์อย่างพระพุทธรูปสุโขทัยระคนกับพุทธศิลป์เชียงแสนแต่มีพัฒนาการไปกว่าพระพุทธรูปที่มีอยู่เดิม เมื่อพิจารณาช่วงเวลาการสร้างแล้วทรงคาดว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์และพระเหลือน่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ในปีพุทธศักราช 1900 มิใช่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยประทานเหตุผลว่า "พระเจ้าแผ่นดินซึ่งปรากฏพระเกียรติในเรื่องพระไตรปิฎกนั้นมีแต่พระองค์เดียวคือพระมหาธรรมราชาลิไทย...พระมหาธรรมราชานี้เองที่พงศาวดารเหนือเรียกว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก" จึงคาดว่าพระเหลือน่าจะสร้างในช่วงดังกล่าวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามความเห็นที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ณ ขณะนี้คือความเห็นในแนวทางที่เชื่อว่าพระเหลือนี้ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศักราช 1900 ในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) หลังจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ด้วยเศษสำริดหลังจากการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 พร้อมด้วยอัคราสาวกอีก 1 คู่
ลักษณะทางพุทธศิลป์และการจัดหมวดหมู่
แก้ลักษณะทางพุทธศิลป์
แก้พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง พระเกศาขดเป็นก้นหอย วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ พระวรกายอวบอ้วนมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบเมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยหมวดใหญ่ ส้นพระบาทยาว มีพระอัครสาวกทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวาประกอบ
การจัดหมวดหมู่
แก้พระเหลือ ถูกจัดให้อยู่ในพระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช (พระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีลักษณะต่างจากหมวดใหญ่เล็กน้อย คือพระพักตร์ที่อวบอ้วนมากกว่าและที่สำคัญคือการทำปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปหมวดนี้) ถือเป็น 1 ใน 4 หมวดของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
ตำนาน
แก้ตำนานการสร้าง
แก้ศุภมัสดพุทธศักราชล่วงแล้ว 2400 พยัคฆสังวัจฉะระ จุลศักราช 1228 ปีขาล อัฐศก ดำเนินเรื่องพระชินราช พระชินศรี พระศรีศาสดา พุทธปฏิมากร 3 พระองค์ซึ่งดำรงอยู่ในวัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลกนั้น ได้มีคำโบราณเล่าและเขียนจดหมายสืบมา ในราชพงศาวดารเมืองเหนือว่า
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงแสนได้ทรงสร้างไว้มีความว่า เดิมเมืองเชียงแสนได้ทรงสร้างไว้ มีความเดิมว่า เดิมเมืองเชียงแสนแต่ก่อนจุลศักราช 400 พุทธศาสนการล่วงได้ 1581 ขึ้นไป เป็นเมืองใหญ่มีเจ้านายครอบครองสืบมาหลายชั่วเจ้าแผ่นดิน และมีอำนาจปกแผ่ไปในเมืองลาวต่าง ๆ ข้างฝ่ายเหนือแลมีอำนาจมา เขตต์แดนสยามฝ่ายเหนือมีเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงแสน พระองค์หนึ่งนามว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เพราะท่านได้ทรงร่ำเรียนพระคำภีร์ในพระพุทธศาสนาคือ พระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์มาก และได้จัดการพระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองเจริญมากในเมืองเชียงแสนนั้น ท่านนั้นได้พระราชเทวีมีพระนามว่า พระนางประทุมเทวี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์หนึ่งในวงค์พระเจ้าบาธรรมราชครองเมืองศรีสัชนาลัย คือเมืองสวรรคโลกในเวลานั้น เป็นพระมหาเหษีท่านนั้นมีพระราชบุตร 2 พระองค์ ทรงพระนามเจ้าชาติสาครหนึ่ง เจ้าไกรสรสิงหราชหนึ่ง
ครั้งพระกุมารทั้งสองพระองค์ ทรงพระเจริญวัยแล้วท่านมีรับสั่งให้จ่านกร้องนายหนึ่ง จ่าการบุญนายหนึ่งเป็นขุนนางของท่านคุมพวก บ่าวไพร แลสิ่งของบรรทุกเกวียนเป็นอันมากเป็นเสบียงไปนานให้พากันไปเที่ยวหาถิ่นที่ในปลายเขตต์แดนของท่านที่ใกล้ต่อชนกันเขตต์แดนแผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระนางประทุมเทวีอรรคมเหษี เวลานั้นยังคงตั้งอยู่ในทางไมตรีสนิท ควรจะคิดสร้างเมืองไว้ใกล้เคียงแผ่นเดิมสยาม เพื่อจะได้เป็นที่อยู่พระราชบุตรสองพระองค์ซึ่งมีเชื้อสายฝ่ายพระมารดาเป็นชาวสยาม ฤๅโดยว่า กาลนานไปเบื้องหน้าผู้ปกครองแผ่นดินฝ่ายสยามจะเสียทางไมตรีจะล่วงเวลามาปรารถนา เขตต์แดนที่เป็นของขึ้นแก่เมืองเชียงแสนก็จะได้เป็นป้อมแลกำแพงมั่นคงกันข้าศึกศัตรูของเมืองเชียงแสนสืบไป
จ่านกร้องจ่าการบุญกับบ่าวไพร่กราบทวายบังคมลาออกจากเมืองเชียงแสน เที่ยวมาถึงปลายเขตต์แดนเมืองขึ้นเมืองเชียงแสนข้างทิศตะวันออกเฉียงใต้ เห็นเขตต์แดนซึ่งขึ้นแก่เมืองเชียงแสนโอบอ้อมลงมาข้างแม่น้ำตะวันออก น้ำไหลลงมาร่วมปากน้ำโพในแดนสยาม เห็นกาลว่าจะต้องสร้างเมืองใหญ่ไว้ในลำน้ำตะวันออกนั้นกับชาวสยามซึ่งตั้งกรุงอยู่เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกใกล้เคียงข้างตะวันตก จึงเลือกที่ตำบลบ้านพราหมณ์ซึ่งครั้งอยู่สองข้างฝั่งแม่น้ำเป็นทิศตะวันตกแต่เขาสมอแครลงมา เห็นว่าที่บ้านพราหมณ์ควรจะสร้างเป็นเมืองขึ้นได้ จึงคิดจะสร้างเมืองจะให้มีกำแพงสองฟากน้ำ แลจะให้มีป้อมจดฝั่งแม่น้ำตรงกันสองฟากเมืองนั้น จ่ากร้อง จ่าการบุญได้คิดการกะแผนที่แลมีหนังสือไปกราบทูลถวายแผนที่และชี้แจงถิ่นฐาน และเหตุผลให้สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปฎกทราบความ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงเห็นชอบด้วย จึงกะเกณฑ์ไพร่พลในเมืองเชียงแสนและเมืองขึ้นเป็นอันมากสมควรพอเป็นกำลังจะมาสร้างเป็นเมืองใหญ่แล้วเร็ว ๆ ได้แล้ว ให้คุมเสบียงอาหารและสิ่งของและเครื่องเรือนตามแผนที่ซึ่งกะการณ์ไว้นั้นได้จัดการในเวลาเช้าวัน 6 เดือน 3 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู เบ็ญจศกจุลศักราช 315 พระพุทธศักราชล่วงแล้ว 1496 เวลาวันนี้ เป็นเวลาชาตาเมืองนั้น เมื่อการทำไปจ่ากร้อง จ่าการบุญและนายดาบและนายกองก็มีใบกรอกรายงานไปกราบทูลแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้ทราบเนือง ๆ จนการกำแพงและป้อมสองฟากน้ำจวนจะสำเร็จ
เมื่อล่วงปีหนึ่งกับเจ็ดเดือน แต่แรกเริ่มกาลนั้นมา จึงพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกพยุหโยธามาพร้อมกับอรรคมเหษี และพระราชบุตรทั้งสองพระองค์เพื่อจะทอดพระเนตรเมืองสร้างใหม่ ครั้นเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นก็ชอบพระทัย ให้สร้างที่ประทับใหญ่ลงเสด็จประทับอยู่ในที่นั้นนานวัน แล้วจึงมีรับสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีกลบาทว์และมงคล แก่การเมืองสร้างใหม่แล้วทรงปฤกษาชีพ่อพราหมณ์ว่าจะขนานนามพระนคร ว่าอะไรดี จึงชี้พ่อพราหมณ์ผู้รู้วิทยาการกราบทูลตามสังเกต ว่าวันเสด็จพระราชดำเนินมาถึงนั้นเป็นยามพระพิษณุ เพราะฉะนั้นขอพระราชทานนาม พระนครว่าพระพิษณุโลกเถิด จึงมีรับสั่งว่าเมืองถือวงศ์กำแพงเป็นเมืองเดียวกันแยกสองฟากน้ำ ดูเหมือนเป็นเมืองแฝด แม่น้ำเป็นคูคั้นเมืองกำแพงกั้นอยู่กลาง อันหนึ่งเดิมจะสร้างก็ได้ทรง พระราชดำริว่าจะพระราชทานให้พระราชบุตรสองพระองค์เสด็จอยู่ ควรจะให้นามเป็นสองเมือง แล้วจึงพระราชทานนามซึ่งมีชีพ่อพราหมณ์กราบทูลนั้นเป็นนามเมือง ฝั่งตะวันออกว่าเมืองพิษณุโลก แต่เมืองฝั่งตะวันตกนั้นพระราชทานนามตามชอบพระราชหฤทัย ต่อเข้าให้เป็นกลอนอักษร เพราะว่า เมืองโอฆบุรี เพราะว่าถิ่นที่แม่น้ำไหลไปในกลางระหว่างกำแพงสองฟากน้ำเป็นห้วงลึก เมื่อฤดูแล้งมีน้ำขังอยู่มากกว่าเหนือน้ำแลใต้น้ำ เพราะพระศรีธรรมไตรปิฎกเสด็จประทับอยู่ที่นานวันยังไม่คิดเสด็จกลับคืนพระนครเชียงแสนนั้น ด้วยพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำนุบำรุงพระศาสนาและไว้พระเกียรติยศพระนามปรากฏไปภายหน้า ด้วยการสร้างเจดีย์สถานซึ่งเป็นถวารวัตถุ ผู้อื่นจะล้างทำลายเสียไม่ได้จึงทรงสร้างวัดพระมหาธาตุผ่านในฝั่งเมืองตะวันออกมีพระปรางค์มหาธาตตั้งกลาง มีพระวิหารทิศสี่ทิศ มีพระระเบียงสองชั้นแล้วให้จับการปั้นหุ่นพระพุทธรูปสามพระองค์ เพื่อจะตั้งเป็นพระประธานในพระวิหาร
ในครั้งนั้นพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีพระราชสาสน์ให้ทูลเชิญไปถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ณ เมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระราชเทวี ขอช่างพราหมณ์ช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูปเพราะเวลานั้นมีคนเล่าภาสรรเสริญช่างเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกมาก ว่าทำพระพุทธรูปได้งาม ๆ ดี ๆ ก็เมืองสร้างใหม่นั้นอยู่ไม่ไกลนัแต่เมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงทรงพระวิตกว่า ถ้าจะทำพระพุทธรูปขึ้นมาโดยลำพังฝีมือลาวเชียงแสน กลัวเกลือกจะไม่งามดีสู้พระเจ้ากรุงสยามเมืองสวรรคโลก จึงโปรดให้ช่างพราหมณ์ฝีมือดี 5 นาย มีชื่อจดหมายไว้ในหนังสือโบราณ บาอินทร์ 1 บาพรหม 1 บาพิษณุ 1 บาราชสังข์ 1 บาราชสังข์ 1 บาราชกุศล 1 ช่างพราหมณ์ 5 นายกับทูตถึงเมืองสร้างใหม่แล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้ช่างเมืองสวรรคโลกสมทบกับช่างชาวเชียงแสน และชาวเมืองหริภุญชัยช่วยกันหุ่นพระพุทธรูปสามองค์ซึ่งซวดทรงสัณฐานคล้ายกันแต่ประมาณนั้นเป็นสามขนาด คือพระองค์หนึ่ง ตั้งพระนามเริ่มว่าพระพุทธชินราช หน้าตัก 5 ศอกคือ 5 นิ้ว มีเศษอีกพระองค์ 1 เริ่มพระนามไว้ว่าพระพุทธชินศรี หน้าตัก 5 ศอกคืบ 4 นิ้ว อีกพระองค์ 1 เริ่มพระนามไว้ว่าพระศรีศาสดา หน้าตัก 4 ศอกคืบ 6 นิ้ว มีสัญฐานอาการคล้ายกัน อย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย ที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน ถึงพระลักษณะอื่นก็ปน ๆ เป็นอย่างเชียงแสนบ้าง เป็นอย่างศรีสัชนาลัยสวรรคโลกสุโขทัยบ้าง ช่างทั้งปวงและคนดูเป็นอักมากเห็นพร้อมกันว่าพระพุทธรูปสามพระองค์นี้งามดีหาที่จะเสมอมิได้ แล้วจึงให้เข้าดินอ่อนดินแก่ชะนวนตรึงทวยรัดปาอกให้แน่นหนาพร้อมมูล
บริบูรณ์เสร็จแล้ว ให้รวบรวมจัดซื้อจัดหาทองคำสัมฤทธิ์อย่างดีได้มาเป็นอันมากหลายร้อยหาบแล้ว ครั้นหุ่นเห็นพระพุทธรูปสามองค์เข้าดินสำเร็จแล้ว กำหนดมงคลฤกษ์จะได้เททอง ณ วัน 5 เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ปีเถาะสัปคศกจุลศักราช 317 ปี สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จึงดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในถิ่นที่มีโดยรอบคอบใกล้เคียงเมืองนั้น ทั้งฝ่ายคณะคามวารีอรัญวาสี มีพระอุบาฬีกาและพระศิริมานน์วัดเขาสมอแครงเป็นประธาน และให้สวดพระปริตพุทธมนต์มหามงคลทำสัจกิริยา อาราธนาเทพยดา ให้ช่วยในการนั้น และให้ชีพ่อพราหมณ์ทำการมงคลพิธี ตามพราหมณ์ศาสตร์ด้วยช่วยในการพระราชประสงค์ก็แล้วจึงเททองหล่อพระพุทธรูปสามพระองค์ ด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์โบราณแท้ ครั้นเททองเต็มแล้วพิมพ์เย็นแกะพิมพ์ออก
รูปพระชินศรี พระศรีศาสดาสองพระองค์บริบูรณ์ดี มีน้ำทองแล่นตลอดเสมอกันการ เป็นสำเร็จ แต่รูปพระชินราชเจ้านั้นไม่ลงบริบูรณ์ ช่างได้ทำหุ่นรูปใหม่ และหล่ออีกถึงสามครั้งก็มิได้สำเร็จเป็นองค์พระ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกโทมมัสนัก แล้วทรงตั้งสัจกิริยาธิฐานอ้างบุญบารมีแล้วรับสั่งให้พระนางประทุมเทวีตั้งสัจกิริยาธิฐานด้วย ครั้นนั้นประขาวคนหนึ่งเข้ามาช่วยปั้นหุ่นทำการแข็งแรง ประขาวคนนั้นเป็นใช้ใบ้ไม่พูด ใครถามชื่อตำบลบ้านก็ไม่บอกไม่มีใครรู้จักช่วยทำการทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีเวลา ครั้นรูปหุ่นงามดีสำเร็จเข้าดินพิมพ์แห้งแล้ว กำหนดมงคลฤกษ์จะได้เททอง ณ วัน 5 ค่ำ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช 319 พุทธศาสนากาลล่วงแล้ว 1500 หย่อนอยู่เจ็ดวัน จึงดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ และชีพ่อพราหมณ์ทำการมงคลพิธีเหมือนครั้งก่อน แล้วเททองก็เต็มบริบูรณ์ ประขาวที่มาช่วยทำนั้นก็เดินออกจากที่นั้นไป แล้วออกจากประตูเมืองข้างทิศเหนือหายไปที่ตำบลหนึ่ง บ้านนั้นได้ชื่อว่าบ้านตาประขาวหายจนทุกวันนี้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมื่อต่อยพิมพ์พระพุทธรูปออกเห็นบริบรูณ์งามดี จึงมีรับสั่งให้ข้าราชการไปตามสืบหาตัวประขาวนั้น จะมาพระราชทานรางวัลก็ไม่ได้ตัวเลย
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ให้ช่างแต่งตั้งพระพุทธรูปให้เกลี้ยงสนิทดี ที่ทวยเหล็กให้ถอนออกเสียเปลี่ยนเป็นทวยของใช้แทนที่ แล้วขัดสีชักเงาสนิทอย่างเครื่องสัมฤทธิ์ที่เกลี้ยงเกลาดีแล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในสถานทั้งสาม คือพระพุทธชินราชอยู่ในพระวิหารใหญ่ สถานทิศตะวันตกพระมหาธาตุผันพระพักตร์ต่อแม่น้ำ พระพุทธชินศรีอยู่ทิศเหนือ พระศรีศาสดาอยู่ทิศใต้ พระวิหารหลวงใหญ่ทิศตะวันออก เป็นที่ธรรมสวันสการ ที่ถวายนมัสการพระมหาธาตุและเป็นที่ชุมนุมพระสงฆ์ เมื่อหล่อพระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดาเสร็จแล้ว ทองสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นชนวนและชลาบสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรับสั่งให้รวบรวมมาหลอมหล่อ ในองค์พระพุทธชินราชซึ่งหล่อครั้งหลังแต่ทองสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นชนวนและชลาบในองค์พระพุทธชินราชนั้น สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกดำรัสสั่งให้ช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปหน้าตักศอกเศษแล้ว เอาทองที่เหลือจากพระพุทธชินราชหล่อ เรียกนามว่าพระเหลือ ชนานและชลาบของพระเหลือนั้น ก็หล่อเป็นรูปสาวกของพระเหลือทั้งสององค์ ครั้นเสร็จแล้วสถานที่หล่อพระพุทธรูปสามพระองค์อยู่ตรงหน้าวิหาร พระพุทธชินราชนั้นให้ก่อเป็นชุกกระชีด้วยอิฐเตาหลอมทอง และเตาสุมหุ่นทั้งปวงนั้น แล้วเอามูลดินอื่นมาผสม กับดินพิมพ์ที่ต่อยออกจากพระพุทธรูปสามองค์มาถมเป็นชุกกระชีสูงสามศอก แล้วให้ปลูกต้นมหาโพธิ์สามต้น สำแดงเป็นพระมหาโพธสถานของพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีพระศาสดาสามพระองค์เรียกนามว่าโพธิ์สามเส้า แล้วจึงให้สร้างปฏิมาฆระสถานวิหารน้อยในระหว่างต้นมหาโพธิ์ หันหน้าต่อทิศอุดร แล้วเชิญพระเหลือกับพระสาวกสององค์เข้าไปไว้ในที่นั้น แสดงเป็นที่สำคัญว่าเป็นที่หล่อพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์เบื้องหน้า แต่นั้นสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จึงดำรัสสั่งให้สร้างพระราชวังอยู่ฝั่งตะวันตก เหนือที่ตรงหน้าวัดพระมหาธาตุน้อยหนึ่ง
ครั้นการพระอารามและพระราชวังพระนครเสร็จแล้ว ให้มีการสมโภชเจ็ดวัน ภายหลังจึงทรงตั้งจ่านกร้องจ่าการบุญให้เป็นที่เสนาบดีมียศเสมอกัน เพื่อจะให้เป็นผู้รักษาเมืองพระพุษณุโลกโอฆบุรีทั้งสองฟาก แล้วทรงพระราชดำริคิดตั้งเมืองนั้นไว้เป็นพระนครที่ประทับ สำหรับสำราญพระราชหฤทัยอยู่ใกล้แผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระราชเทวี และจะให้เป็นที่ประทับกำกับรักษาไม่ให้ชาวสยามที่เป็นใหญ่ในอนาคต จะล่วงลามเกินเลยเข้ามาในเขตต์แดนของพระองค์ที่ล่อแหลมกามลงมาอยู่นั้น จึงจัดการให้มั่งคงเป็นดังพระนคร
พระองค์เสด็จประทับสำราญพระราชหฤทัย อยู่ที่นั้นนานถึง 7 ปีเศษ บ้านเมืองมีผู้คนอยู่แน่นหนาบริบูรณ์แล้ว จึงเสด็จกลับคืนยังพระนครเชียงแสนทรงพระราชดำริว่า เมืองพระพิษณุโลกจะให้พระราชโอรสเสด็จไปอยู่ดั่งพระราชชดำริไว้แต่เดิมก็เห็นว่าเป็นทางไกล พระองค์ก็ทรงพระชนมายุเจริญถึงปัจฉิมวัยแล้วจึงโปรดให้เจ้าชาตินครเสด็จไปครองเมืองเชียงรายเป็นที่ใกล้ ให้เจ้าไกรสรราช เสด็จไปครองเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองไกลในทิศใต้ใกล้ทะเลและไปขอรับเจ้าสุนทรเทวี เป็นพระราชธิดาพระเจ้ากรุงสยาม ณ กรุงศรีสัชนาลัยสวรรคโลก มาอภิเษกเป็นพระมเหษีของเจ้าไกรสรราช ณ เมืองละโว้ แล้วจึงรับสั่งราชอำมาตย์ไปรับเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช มาแต่เมืองกำโพชา มาอภิเษกกับพระราชธิดาของพระองค์แล้ว โปรดให้ไปครองเมืองใหม่นั้น พระราชทานนามว่าเมืองเสนาราชนคร แล้วจึงรับสั่งให้แต่งเจ้าชาติสาครไปครองเมืองเชียงรายอยู่ใกล้พระนครเชียงแสน
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกบรมบพิตร พระชนม์ยืนได้ 150 ปี แล้วจึงเสด็จสวรรคต อำมาตย์ทั้งปวงส่งข่าวสารไปทูลเจ้าชาตสาคร ณ เมืองเชียงรายเสด็จมาจากเมืองเชียงรายถวายพระเพลิงพระศพพระบิดาแล้ว ขึ้นเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงแสนสืบพระวงศ์มาหลายชั่วพระเจ้าแผ่นดินจึงสาบสูญสิ้นพระวงศ์ไป
ตำนานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
แก้ก่อนการบูรณะวิหารที่ประดิษฐานเคยมีผู้ทดลองปิดหน้าต่างและประตูพระวิหารแล้วร้องโอ้ละเห่ จะปรากฏเงาเป็นลักษณะแต่งกายแบบเทวดาพนมมือไหว้พระเหลือ ต่อมามีการบูรณะวิหารพระเหลือก็ไม่ปรากฏเงาดังกล่าวอีก
ประเพณี
แก้งานสมโภชพระพุทธชินราช ช่วงวันมาฆะบูชา (วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี) รวมเวลา 7 วัน 7 คืน
อ้างอิง
แก้- บัญชีแนบท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. ๒๕๒๐
- พิริยะ ไกรฤกษ์. (๒๕๕๑). ลักษณะไทย ๑ พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
- ชาตรี ปีะกิตนนทการ. (๒๕๕๑). พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.