พระพุทธบาท

(เปลี่ยนทางจาก รอยพระพุทธบาท)

พระพุทธบาท คือรอยประทับพระบาทของพระโคตมพุทธเจ้า อาจเป็นรอยหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้าง พระพุทธบาทมีสองรูปแบบ คือ เป็นรอยประทับตามธรรมชาติ เช่นพบในหิน และอีกประเภทคือ พระพุทธบาทที่สร้างขึ้นมา[1] พระพุทธบาทตามธรรมชาตินั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่รอยประทับพระบาทที่แท้จริงของพระโคตมพุทธเจ้า แต่เป็นการจำลองหรือเป็นรูปแทน อาจถือได้ว่าเป็นเจดีย์ (พระธาตุเจดีย์) และเป็นรูปเคารพยุคแรกและเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์[2]

พระพุทธบาทที่มีธรรมจักรและพระไตรรัตน์ ในศตวรรษที่ 1 ที่ แคว้นคันธาระ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท ว่าเกิดจากการประทับของพระพุทธองค์โดยตรงตามคติความเชื่อของศรีลังกา ว่า ชาวลังกามีความเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้ประชาชนสักการบูชา 5 แห่งได้แก่ รอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ รอยพระพุทธบาทบนเขาสุวรรณมาลิก รอยพระพุทธบาทบนเขาสุวรรณบรรพต รอยพระพุทธบาทที่เมืองโยนก และรอยพระพุทธบาทบนหาดริมแม่น้ำนรรมทา[3]

คติการบูชารอยพระพุทธบาทในประเทศไทยมีหลักฐานย้อนไปถึงสมัยทวารวดี ต่อมาในสมัยสุโขทัยมีการสร้างรอยพระพุทธบาทที่จำลองมาจากยอดเขาสุมนกูฏในลังกาทวีป ส่วนในสมัยอยุธยามิใช่การบูชารอยพระพุทธบาทจำลองดังในยุคก่อน แต่มีการค้นพบและบูชารอยพระพุทธบาทที่เชื่อว่าเป็นของจริง คือ การค้นพบพระพุทธบาทสระบุรี ส่วนความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง พบในตำนานอุรังคธาตุนิทาน โดยสัมพันธ์กับเรื่องพญานาค เชื่อว่า รอยพระพุทธบาทเกิดจากการทูลขอของพญานาคต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นที่เคารพสักการบูชาแทนพระองค์ ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงประทานตามคำขอ รอยพระพุทธบาทที่เกิดขึ้นมักมีรูหรือถ้ำพญานาค[4]

รอยพระพุทธบาทที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทย พบที่แหล่งโบราณคดีเมืองศรีมโหสถ วัดสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี กําหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 11–13[5]

อ้างอิง แก้

  1. Stratton, Carol (2003). Buddhist Sculpture of Northern Thailand. Serindia Publications. p. 301. ISBN 1-932476-09-1.
  2. Strong, John S. (2004). Relics of the Buddha (Buddhisms: A Princeton University Press Series). Princeton University Press. p. 87. ISBN 0-691-11764-0.
  3. "วารสารมนุษยศาสตร์ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2557)" (PDF). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.[ลิงก์เสีย]
  4. สมบูรณ์ บุญฤทธิ์. "พญานาคกับรอยพระพุทธบาทในตำนานอุรังคธาตุนิทาน". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช.
  5. พิริยะ ไกรฤกษ์, ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดีในประเทศไทย (กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ้พ, 2533), 180.