ตำนานอุรังคธาตุ
ตำนานอุรังคธาตุ หรือ อุรังคนิทาน เป็นตำนานที่แต่งในลักษณะนิทานปรัมปรา ประกอบด้วยอุรังคธาตุนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม นิทานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทตามฝั่งแม่น้ำโขง[2] กล่าวถึงการเกิดของแม่น้ำสำคัญ ๆ ตามลำแม่น้ำโขงว่าเป็นการกระทำของพวกนาค[3] รวมถึงมีประวัติบุคคลสำคัญของลาว[4]
งานสะสมคัมภีร์ใบลานแห่งชาติ เรื่อง ตำนานพระธาตุพนม * | |
---|---|
ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก | |
เอกสารตัวเขียน อุรังคธาตุ 7 ผูก เลขที่ 462/1–7 พ.ศ. 2404 จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร | |
ที่เก็บรักษา | หอสมุดแห่งชาติ[1] |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
อ้างอิง | [1] |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2566 |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
โครงสร้างเนื้อหาแบ่งเป็น 9 ส่วน เรียงตามลำดับเวลา เริ่มตั้งแต่สมัยเกิดโลกภัทรกัป ไปจนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช เจ้ากษัตริย์ล้านช้างที่ครองราชย์ พ.ศ. 2091–2114 ดำเนินเรื่องตามความคติความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในสมัยภัทรกัปและพระพุทธเจ้าในอนาคต กล่าวถึงบ้านเมืองที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิ เมืองศรีโคตรบอง เมืองหนองหานหลวง เมืองหนองหานน้อย เป็นต้น
ตามท้ายตำนานอุรังคธาตุระบุว่าพระยาศรีไชยชมพูเป็นผู้คัดลอกในสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ด้วยเหตุนี้ นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่า ตำนานอุรังคธาตุน่าจะเขียนขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 มากกว่าที่จะเขียนก่อน พ.ศ. 200 ตามที่ปรากฏในเนื้อหาตำนาน แต่เหตุที่ผู้แต่งตำนานได้อธิบายว่าตำนานแต่งขึ้นก่อน พ.ศ. 200 เพื่อต้องการชี้ให้เห็นความเก่าแก่ของตำนานว่ามีมาตั้งแต่สมัยเมืองสุวรรณภูมิ ก่อนเหตุการณ์ที่พระยาจันทบุรีได้สร้างเมืองจันทบุรี (เวียงจันทน์) ซึ่งต่อไปจะเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองทดแทนเมืองสุวรรณภูมิที่ล่มสลายไป[5]
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 216 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีการรับรองให้ "คัมภีร์ใบลาน เรื่อง ตำนานอุรังคธาตุ" ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561[6] เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก[7] ในนาม "งานสะสมคัมภีร์ใบลานแห่งชาติ เรื่อง ตำนานพระธาตุพนม" (อังกฤษ: National Collection of Palm-Leaf Manuscripts of Phra That Phanom Chronicle)
ต้นฉบับ
แก้ตำนานอุรังคธาตุมีต้นฉบับเขียนลงใบลาน ซึ่งในระยะต่อมาได้รับการคัดลอกถ่ายถอดเป็นอักษรไทยปัจจุบัน หลายสำนวนได้แก่ อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) อุรังคธาตุเทสนา อุรังคนิทาน (พิสดาร) ซึ่งฉบับหลังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ 11 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีนิทานอุรังคธาตุตัวอักษรลาวที่มีการพิมพ์เผยแพร่เนื่องในโอกาสพิธีฌาปณกิจศพของพระสังฆราชลาว และมีการพิมพ์เผยแพร่กันอย่างแพร่หลายในโอกาสต่าง ๆ ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ในประเทศไทย เอกสารใบลานตำนานอุรังคธาตุต้นฉบับที่มีอายุเเละความเก่าเเก่มากที่สุดในประเทศไทยเท่าที่พบในปัจจุบัน คือ เอกสารใบลานตำนานอุรังคธาตุ ฉบับวัดมหาชัย อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย และผู้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รวบรวมและได้รับมอบเอกสารชุดนี้มาจากวัดโพนสว่าง ตําบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ได้รับการจารเมื่อ พ.ศ. 2348 โดยในท้องที่อำเภอโกสุมพิสัยในช่วงเวลาที่เอกสารใบลานได้รับการจารขึ้นนั้นยังไม่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นเมือง เป็นเพียงหมู่บ้านที่ขึ้นกับเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์ (อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) เมืองประเทศราชของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตามประวัติหมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอโกสุมพิสัยเมื่อแรกตั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้อพยพมาจากเมืองสุวรรณภูมิในแถบทุ่งกุลาร้องไห้มาตั้งถิ่นฐานใหม่เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นไปได้ว่าเอกสารใบลานอุรังคธาตุฉบับดังกล่าวซึ่งมีการกล่าวเชื่อมโยงถึงตำนานผาแดงนางไอ่ที่เก่าเเก่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่จะสืบหาได้เเล้วในปัจจุบันนั้น อาจเป็นผลงานของชาวเมืองทุ่งศรีภูมิหรือสุวรรณภูมิที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่เเล้วจารหรือเเต่งขึ้น[8][9]
อุรังคธาตุนิทานต้นฉบับที่เก่าเเก่รองลงมาที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงต่างพระองค์ที่ดูแลหัวเมืองมณฑลอุดร ได้นำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2464 บันทึกด้วยอักษรธรรมอีสาน หน้าปกเขียนชื่อว่า อุรังคธาตุ ตีพิมพ์มีชื่อเรียกว่า อุรังคธาตุ ฉบับความสังเขป เเละอุรังคธาตุนิทานฉบับนี้เองยังเป็นฉบับที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ซึ่งกรมศิลปากรได้มอบให้นายสุด ศรีสมวงศ์ และนายทองดี ไชยชาติ ได้ปริวรรต และเผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประชุมบรรณสาร เมื่อ พ.ศ. 2483 [9] บางส่วนของอุรังคธาตุนิทานฉบับกรมศิลปากร (พ.ศ. 2483) มีการเพิ่มเติมหรือลดทอนบางส่วนของนิทานอุรังคธาตุ เช่น ตำนานเมืองสกลนคร ตำนานเมืองร้อยเอ็ด ตำนานเรื่องพระธาตุบัวบกบัวบาน ซึ่งต่างก็ได้เค้าเรื่องมาจากอุรังคธาตุนิทาน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของจังหวัดสกลนคร[10]
ในประเทศลาว สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปี ต้นฉบับมีจำนวน 5 ผูก บันทึกด้วยอักษรธรรม 250 หน้าลาน แต่ต่อมามีอีกหนึ่งชุดเพิ่มเข้ามามีจำนวน 4 ผูก บันทึกด้วยอักษรตัวธรรม ภาษาลาว ทั้งสองฉบับเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติที่เวียงจันทน์[11] จากนั้นจึงได้คัดลอกเป็นอักษรลาวปัจจุบัน โดยใช้ชื่อว่า นิทานอุรังคธาตุ ฉบับหลวงพระบาง เนื่องในโอกาสพิธีฌาปนกิจศพสมเด็จสังฆนายกแห่งพระราชอาณาจักรลาว (พระลูกแก้วคูณ มณีวงศ์) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512
อ้างอิง
แก้- ↑ ตำนานอุรังคธาตุ
- ↑ นาตยา กรณีกิจ. "พงศาวดารลาวฉบับมหาสิลา วีระวงส์ ในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ชาติลาว" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ ศรีศักร วัลลิโภดม. "เมืองสกลนครโบราณในรัฐ "ศรีโคตรบูร" และตำนานอุรังธาตุ". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.[ลิงก์เสีย]
- ↑ กรมศิลปากร, อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม), พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2537), 23.
- ↑ ศิริศักดิ์ อภิศักดิ์มนตร. "ตำนานอุรังคธาตุ: นาคอยู่ในสุวรรณภูมิ ไม่มีนาคที่พระธาตุพนม".
- ↑ คัมภีร์ใบลาน เรื่อง ตำนานอุรังคธาตุ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- ↑ mcot.net (2023-15-25). "'ยูเนสโก' รับรอง "คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ" เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก"". MCOT.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ อุรังคธาตุ ฉบับวัดมหาชัย อําเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม รหัส L13060 จํานวน 5 ผูก (ผูก 1–52 หน้า ผูก 2–50 หน้า ผูก 3–51 หน้า ผูก 4–48 หน้า ผูก 5–56 หน้า) ขนาด 4.2 × 52 × 5 เซนติเมตร จารด้วยอักษรธรรมภาษาพื้นถิ่นจํานวน 4 บรรทัด ฉบับล่องชาด สํานวนร้อยแก้ว
- ↑ อุรังคธาตุวิเคราะห์ An Analysis of the Vocabulary in the Urangadhatu Palm-Leaf Manuscript. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2566, จาก https://rinac.msu.ac.th/wp-content/uploads/2018/09/%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C.pdf
- ↑ สุรชัย ชินบุตร. "อุรังคธาตุนิทานพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับอีสานล้านช้าง : การสืบทอดและการสร้างสรรค์" (PDF). วารสารไทยศึกษา.
- ↑ บุนมี เทบสีเมือง, ความเป็นมาของชนชาติลาวการตั้งถิ่นฐานและสถาปนาอาณาจักร, แปลโดยไผท ภูธา. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สุขภาพใจ, 2553) หน้า 76.