พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ชื่อเดิม พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง (อังกฤษ: Phu Wiang Dinosaur Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาแห่งหนึ่ง โดยเน้นที่การจัดแสดงเรื่องราวของซากดึกดำบรรพ์ สังกัดกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกสนามบินเนื้อที่ 100 ไร่ ในเขตพื้นที่ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ก่อสร้างด้วยเงินงบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอยู่ในความกำกับดูแลของกรมทรัพยากรธรณี เริ่มเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เปิดให้บริการเวลา 09.30 - 16.30 น. วันอังคาร - วันอาทิตย์ โดยปิดบริการทุกวันจันทร์

ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ชื่อเดิม พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง
แผนที่
ก่อตั้งพ.ศ. 2544
ที่ตั้งอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น
พิกัดภูมิศาสตร์16°40′42″N 102°21′13″E / 16.67833°N 102.35361°E / 16.67833; 102.35361

การค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของไทย แก้

 
ส่วนปลายของกระดูกต้นขาหลังด้านซ้ายของไดโนเสาร์ซอโรพอดถือเป็นหลักฐานไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทย

สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2513 หน่วยสำรวจธรณีวิทยาจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่เทือกเขาภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และได้พบแร่ยูเรเนียมชนิดคอฟฟินไนต์เกิดร่วมกับแร่ทองแดงชนิดอะซูไรต์และมาลาไคต์ ทำให้ต่อมาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานปรมาณูเข้าไปสำรวจเพิ่มเติมด้วย ระหว่างปี พ.ศ. 2518 ตลอดจน 2523 กรมทรัพยากรธรณีได้เข้าไปทำการเจาะสำรวจในรายละเอียด ในปี พ.ศ. 2519 นายสุธรรม แย้มนิยม นักธรณีวิทยา ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์เศษกระดูกไดโนเสาร์บริเวณพื้นลำห้วยประตูตีหมา และต่อมาวินิจฉัยได้ว่าเป็นเศษส่วนปลายของกระดูกขาหลังท่อนบนด้านซ้ายของไดโนเสาร์ซอริสเชียในกลุ่มซอโรพอด[1] (ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มี 4 ขา คอยาว หางยาว) โดยถือได้ว่าเป็นการค้นพบหลักฐานไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของไทยที่นำไปสู่การสำรวจและวิจัยอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน

การสำรวจและวิจัย แก้

นับจากการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 กรมทรัพยากรธรณี โดยโครงการความร่วมมือด้านบรรพชีวินวิทยา ไทย-ฝรั่งเศส ได้ทำการสำรวจไดโนเสาร์บนเทือกเขาภูเวียงอย่างต่อเนื่อง มีการค้นพบกระดูก ฟัน และรอยตีนไดโนเสาร์จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พบอยู่ในหินทรายหมวดหินเสาขัวยุคครีเทเชียสตอนต้น (ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว) มีทั้งไดโนเสาร์ซอโรพอดและเทอร์โรพอด หลากหลายสายพันธุ์ และมีขนาดตั้งแต่ตัวเท่าแม่ไก่ ไปจนถึงมีลำตัวยาวจากหัวจรดหางมากกว่า 15 เมตร นับเป็นการค้นพบที่สำคัญ ทำให้คนไทยมีความตื่นตัวเดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งไดโนเสาร์ที่เทือกเขาภูเวียงอย่างต่อเนื่อง และรวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นที่ 2 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532 และได้เสด็จพระราชดำเนินพาคณะกรรมการรางวัลนานาชาติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551

การพัฒนาแหล่งไดโนเสาร์ภูเวียง แก้

นับตั้งแต่ที่มีการประกาศก่อตั้งอุทยานแห่งชาติภูเวียง ในปี พ.ศ. 2534 นั้น จังหวัดขอนแก่น อำเภอภูเวียง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานของรัฐหลายภาคส่วน ได้เล็งเห็นความสำคัญของแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ในอุทยานแห่งชาติภูเวียง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาหลุมขุดค้นไดโนเสาร์ทั้งหมด 4 หลุม ประกอบด้วย หลุมที่ 1 หลุมที่ 2 หลุมที่ 3 และหลุมที่ 9 โดยการสร้างอาคารคลุมหลุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับกระดูกไดโนเสาร์ และยังก่อสร้างทางเดินเท้าเชื่อมต่อระหว่างหลุม ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาแล้ว ยังเป็นแหล่งเดินชมธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงอีกด้วย อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ในอุทยานแห่งชาติภูเวียง

กำเนิดพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง แก้

การค้นพบแหล่งไดโนเสาร์บนเทือกเขาภูเวียง ถือเป็นการค้นพบที่สร้างชื่อเสียงให้กับเทือกเขาภูเวียงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไดโนเสาร์ซอโรพอดสกุลและชนิดใหม่จากภูเวียงที่ชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรนี ที่ใช่ชื่อภูเวียงเป็นชื่อสกุล และใช้นามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อชนิดนั้น ยิ่งทำให้ผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานมีความเห็นว่าสมควรก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงขึ้น และได้เลือกพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกสนามบินเนื้อที่ 100 ไร่เป็นสถานที่ก่อสร้าง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างในส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ทั้งด้วยเนื้อที่ใช้สอย 5,500 ตารางเมตร กรมทรัพยากรธรณีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแล โดยได้ทำการจัดนิทรรศการถาวร และเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2544

องค์ประกอบของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง แก้

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง มีการจัดองค์ประกอบการดำเนินงานอย่างครบวงจร มีการจัดพื้นที่ดำเนินงานประกอบด้วย ส่วนสำรวจและวิจัย ส่วนอนุรักษ์และทำเทียมชิ้นส่วนตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ ส่วนคลังตัวอย่าง ห้องสมุด ส่วนนิทรรศการถาวร ส่วนบริหารจัดการ และพื้นที่บริการได้แก่ โรงอาหาร ร้านขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม ร้านขายของที่ระลึก และลานจอดรถ รวมถึงห้องประชุมขนาด 140 ที่นั่ง พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยามีการจัดกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาต่างๆ และรวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เช่น มูลนิธิด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงมีโอกาสต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

สายพันธุ์ไดโนเสาร์จากภูเวียง แก้

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ในอุทยานแห่งชาติภูเวียง[2]

เส้นทางเข้าถึง แก้

 
แผนที่แสดงเส้นทางเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

คำว่า ภูเวียง ในชื่อพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง สืบเนื่องจากพื้นที่พิพิธภัณฑ์เคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอภูเวียง มีหน่วยงานราชการในอำเภอเวียงเก่า 3 หน่วยงานหลักที่ยังคงมีคำว่าภูเวียง คือ อุทยานแห่งชาติภูเวียง โรงเรียนภูเวียงวิทยายน และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีการแยกอำเภอเวียงเก่าออกจากอำเภอภูเวียง จึงขออย่าได้สับสน การเข้าถึงพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง หากเริ่มต้นที่เมืองขอนแก่น (ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 444 กม.) ให้เดินทางไปตามเส้นทางสาย 12 (ถนนมะลิวัลย์) ผ่านอำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ เลยอำเภอหนองเรือไป 3 กม. ให้เลี้ยวขวาไปอำเภอภูเวียง ถึงอำเภอภูเวียงให้ตรงไปเข้าหุบเขาภูเวียง จนถึงพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ด้วยระยะทางประมาณ 80 กม.

อ้างอิง แก้

  1. Ingavat, R., Janvier, R., and Taquet, P. (1978) Decouverte en Thailande d'une portion de femur de dinosaure sauropode (Saurischia, Reptilia). C.R. Soc.Geol.France 3: 140-141
  2. วิฆเนศ ทรงธรรม และ เบญจา เสกธีระ. (2549) ไดโนเสาร์ภูเวียง เจ้าฟ้าสิรินธร. กรุงเทพมหานคร: กรมทรัพยากรธรณี. 100 หน้า

แหล่งข้อมูลอื่น แก้