พระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล)

พระเทพญาณมงคล นามเดิม เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ฉายา ชยมงฺคโล อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เจ้าสำนักและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดราชบุรี ผู้จัดการโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดราชบุรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ราชบุรี ประธานศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย (ศปท.) ประธานศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ประจำวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม (ศสค.) Director, Wat Luang Phor Sodh Buddhist Meditation Institute, an Affiliated Institution of the World Buddhist University

พระเทพญาณมงคล

(เสริมชัย ชยมงฺคโล)
ชื่ออื่นหลวงป๋า
ส่วนบุคคล
เกิด6 มีนาคม พ.ศ. 2472 (89 ปี)
มรณภาพ7 ตุลาคม พ.ศ. 2561
นิกายมหานิกาย
การศึกษาน.ธ.เอก ป.ธ. 6 รป.ม. (มธ.)
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ราชบุรี
อุปสมบท6 มีนาคม พ.ศ. 2529
พรรษา32
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ประธานศูนย์ประสานงานสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย

ประวัติสังเขป แก้

ชาติภูมิ แก้

พระเทพญาณมงคล หรือ "หลวงป๋า" เดิมชื่อ เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2472 ณ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นบุตรคนที่ 4 ของคุณพ่อทองดี และคุณแม่บุญนาค พลพัฒนาฤทธิ์ ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาบิดา 6 คน

ใฝ่การศึกษา แก้

ภายหลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนบุรีรัมย์วิทยาลัยและเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยแล้ว เข้ามาทำงานเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยอยู่ชั่วระยะเวลา 2-3 ปี ท่านได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนสำเร็จปริญญาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2498 ทำงานแล้วได้ศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญารัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (เกียรตินิยม "ดี") ในปี พ.ศ. 2508

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ท่านได้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร "ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์" จาก Institute of Social Research, The University of Michigan, Ann Arbor สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาอบรมหลักสูตรการควบคุมระบบงานคอมพิวเตอร์ จัดโดยกองฝึกอบรม สำนักข่าวสารอเมริกัน สำนักงานใหญ่อเมริกา

การอาชีพก่อนบวช แก้

ท่านทำงานเป็นพนักงานต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐ ประจำอยู่ที่สำนักข่าวสารอเมริกัน แห่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการวิจัย (Research Specialist)

แสวงหาสัจจธรรม แก้

ระหว่างที่ท่านอยู่ที่สำนักข่าวสารอเมริกันนั้น งานในหน้าที่ระดับหัวหน้าฝ่ายวิจัยฯ ทำให้มีความเคร่งเครียดในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่านจึงหาเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรม ร่วมกับเพื่อน ๆ ที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน โดยใช้เวลาพักกลางวัน ปิดประตูห้องทำงาน นั่งสมาธิกันประมาณวันละ 15-30 นาที และไปปฏิบัติธรรมที่วัดธาตุทองได้ 7 วันก่อนที่จะต้องเดินทางไปอเมริกา

หลังจากพักอยู่ที่อเมริกาได้ระยะหนึ่ง พอให้สิ่งต่าง ๆ เข้าที่เข้าทางดีแล้ว ท่านก็เริ่มปฏิบัติภาวนาต่อ ทุก ๆ คืนก่อนเข้านอน วันละ 1 ชั่วโมง มิได้ขาด จนปรากฏผลของสมาธิในระดับหนึ่ง สามารถเห็นภรรยาที่ประเทศไทยกำลังทำงานบ้านอยู่ได้ และได้จดหมายสอบถามดู ก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง

ศิษย์พบอาจารย์ แก้

จากนั้นมาอาจารย์เสริมชัย โดยการแนะนำของพระอาจารย์ณัฐนันท์ กุลสิริ ได้ฝากตนเข้าเป็นศิษย์ของพระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) รองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ทำหน้าที่สืบทอดวิชชาธรรมกายจากหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านได้ต่อวิชชาธรรมกายชั้นกลาง และชั้นสูงให้กับอาจารย์เสริมชัยเป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ตรงกับวันขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย เวลา 17.30 น. ทันทีที่อาจารย์มงคลบุตรกราบนมัสการถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน พระราชพรหมเถรได้กล่าวแก่อาจารย์มงคลบุตรเพียงสั้น ๆ แต่มีความล้ำลึกว่า

หาตัวมานานแล้ว เพิ่งพบ ดีแล้วที่มา เกือบจะสายไป

คือท่านเห็นด้วยใจมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาพบตัวจริงในคราวนี้

เผยแผ่วิชชาธรรมกาย แก้

เมื่อได้พบของจริงในศาสนาพุทธเช่นนี้แล้ว ท่านจึงได้จัดตั้งโครงการพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย และโครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชนขึ้น เพื่อเผยแพร่ธรรมปฏิบัตินี้ ทางสื่อมวลชน ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

ในปี พ.ศ. 2524 ได้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย และสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เพื่อบริหารโครงการทั้งสองนั้น แล้วได้จัดอบรมพระกัมมัฏฐานแด่พระภิกษุสามเณร และสาธุชนทั่วไปในปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน

อุปสมบท แก้

ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2529 ณ พัทธสีมา วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้รับฉายาว่า "ชยมงฺคโล" โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (สมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระพรหมคุณาภรณ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ (สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมธีรราชมหามุนี) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม แก้

ในปี พ.ศ. 2534 เมื่อท่านได้บริหารกิจการเผยแผ่พระสัทธรรมให้เจริญขึ้นแล้ว ก็ได้ดำเนินขั้นตอนมาเป็นลำดับ จนกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาขึ้น ชื่อ "วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

ครั้นถึงเวลาอันเหมาะสม เมื่อท่านอุปสมบทได้ 5 พรรษา อายุได้ 62 ปี ได้ศึกษาภาคปริยัติจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนสำเร็จเปรียญธรรม 3 ประโยค และนักธรรมชั้นเอก เป็นพระมหาเปรียญ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ท่านจึงได้กราบลาสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ มารับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

มรณภาพ แก้

พระเทพญาณมงคลได้ถึงแก่มรณภาพอย่างอันสงบด้วยภาวะหัวใจวายในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 16.50 น. ระหว่างการเดินทางไปรักษาตัวทีโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี[1] สิริอายุ 89 ปี 6 เดือน 7 วัน

การศึกษาและหน้าที่การงาน แก้

ลำดับสมณศักดิ์ แก้

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2541 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระภาวนาวิสุทธิคุณ[2]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชญาณวิสิฐ ภาวนามงคลสิทธิปรีชา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเทพญาณมงคล วิมลภาวนานุสิฐ พิพิธกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]

ผลงานทางวิชาการ แก้

พระอาจารย์มหาเสริมชัย ชยมงฺคโล ท่านยังได้แต่งและเรียบเรียงหนังสือต่าง ๆ เป็นผลงานทางวิชาการไว้ในพุทธศาสนาอีกมาก เช่น

  • นิพพาน 3 นัย
  • อริยสัจ 4
  • ตอบปัญหาธรรมปฏิบัติ
  • พุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย เล่ม 1 และเล่ม 2
  • หลักสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน
  • ธรรมะคุณภาพเพื่อชีวิต
  • โพธิปักขิยธรรม
  • การบริหารวัด
  • รวมปาฐกถาธรรมเล่ม 1-2-3 ...
  • The Heart of Dhammakaya Meditation
  • ทางมรรคผล นิพพาน

รวมทั้งมีบทความทางพุทธศาสนาที่ลงในนิตยสารธรรมกายตั้งแต่เล่มที่ 1 จนถึงปัจจุบัน มีคัสเซ็ทเทปและวิดีโอเทป บันทึกธรรมบรรยาย และคำสอนวิธีปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามแนววิชชาธรรมกาย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

อ้างอิง แก้

  1. "สิ้น 'หลวงป๋า' เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดฯ มรณภาพ สิริอายุรวม 90 ปี". ไทยรัฐ. 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (24 ข): 8. 9 ธันวาคม 2541. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (25 ข ฉบับทะเบียนฐานันดร): 11. 24 ธันวาคม 2547. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 129 (6 ข): 4. 15 กุมภาพันธ์ 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)