พระธรรมวิโรจนเถร (พลับ ฐิติกโร)

พระธรรมวิโรจนเถร นามเดิม พลับ ฉายา ฐิติกโร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย รูปแรกของภาคใต้ อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชาและอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธรรมยุต) อดีตประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา และอดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (จังหวัดสงขลา)

พระธรรมวิโรจนเถร

(พลับ ฐิติกโร)
ส่วนบุคคล
เกิด14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2414 (84 ปี 276 วัน ปี)
มรณภาพ17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดธรรมบูชา สุราษฎร์ธานี
อุปสมบทพ.ศ. 2435
พรรษา56
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา
อดีตเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ประวัติ แก้

เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2414 (วันพุธ เดือน 3 ปีมะแม) ณ หมู่บ้านสามบ่อ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา[1]

พ.ศ. 2435 อายุครบ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ วัดสนธิ์ ตำบลวัดสน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยมี พระอุปัชฌายะเสน วัดสนธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยในสำนักพระอุปัชฌาย์ วัดสนธิ์ 4 ปี

พ.ศ. 2439 อายุ 25 ปี ได้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดเขาพังไกร ( ปัจจุบัน วัดคีรีอัศจรรย์ ) ได้ดำเนินการผูกพัทธสีมา จนแล้วเสร็จ

พ.ศ. 2444 อายุ 31 ปี ได้เข้าขอเปลี่ยนนิกายเดิม สู่ ธรรมยุตินิกาย โดยมีพระครูเหมเจติยานุรักษ์ (เนียม ธมฺมปาโล) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช วัดชลเฉียน เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชขณะนั้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า  ติกโร

พ.ศ. 2445 ได้รับมอบหมายจากพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ให้ไปช่วยปกครองดูแลกิจการทางพระศาสนา ณ วัดโตนด เมืองหลังสวน ช่วงที่ เจ้าคณะจังหวัดไปเปลี่ยนนิกายที่กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2446 ย้ายไปอยู่ที่วัดเกษตรชลธี (วัดตะเครียะ) อำเภอระโนด ซึ่งเป็นวัดชาติภูมิของท่าน และเป็นวัดธรรมยุตวัดแรกในอำเภอนี้

พ.ศ. 2460 ออกเดินทางธุดงค์ไปสู่จังหวัดสงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช ไปพักอยู่ที่บนภูเขา พอสมควร ท่านออกเดินทางธุดงค์เรื่อยไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปพักอยู่ในเขตป่าช้าวัดธรรมบูชาในสมัยที่พระครูโยคาธิการวินิต (ทอง) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน และได้อยู่จำพรรษาด้วยกันที่วัดธรรมบูชาเป็นเวลา 5 ปี ต่อมาในปี

พ.ศ. 2465 ทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพง (ปัจจุบันคือวัดกาญจนาราม) อำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอกาญจนดิษฐ์ และว่างเจ้าอาวาสมานาน ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากทางข้าราชการ และทางคณะสงฆ์ โดยมีพระเถระผู้ใหญ่จากกรุงเทพมหานครมาร่วมด้วย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุตนี้ด้วย เมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกาญจนารามแล้วได้พัฒนาวัดให้เป็นรมณียสถาน เป็นสำนักออค้า บรมกรรมฐานมีพระภิกษุ สามเณร ข้าราชการ ทายกทายิกา เข้าวัดมากขึ้น ทำให้วัดกาญจนารามเป็นวัดที่มีหลักฐานมั่นคงมาถึงปัจจุบัน [2]

พ.ศ. 2467 นางพยอม สารสิน ได้ริเริ่มประเพณีการทอดผ้าป่าออกพรรษา โดยการแนะนำของ " พระธรรมวิโรจน์เถระ" ซึ่งท่านได้แนะนำวิธีทำและพรรณนาอานิสงส์ให้ฟัง นางพยอม จึงชักชวนคนที่รู้จัก คุ้นเคยกันและมีจิตศรัทธาทั้งหลายตั้งพุ่มผ้าป่าที่หน้าบ้านของตน ทำต่อมาจนกระทั่งมีคนศรัทธา เห็นดีเห็นงามและร่วมตั้งพุ่มผ้าป่ากันมากขึ้น [3]

พ.ศ. 2468 พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร และคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ได้สร้างวัดสามแก้วขึ้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร (ขณะนั้นจังหวัดชุมพร-สุราษฎร์ธานี ขึ้นอยู่กับการปกครองของเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช) ยังขาดผู้บริหารที่มีความสามารถไปเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะมณฑลฯ ได้พิจารณาเห็นว่า พระธรรมวิโรจนเถร (ขณะนั้นเป็น พระอุปัชฌาย์พลับ ฐิติกโร) เป็นผู้มีความสามารถ จึงได้นิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว

พ.ศ. 2470 ย้ายจากวัดกาญจนาราม ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ได้พัฒนาวัดให้เป็นรมณียสถานเช่นเดียวกับเคยจัดที่วัดกาญจนาราม จนทำให้มีพระภิกษุ สามเณร ทายกทายิกา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เลื่อมใสเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องจากทางการคณะสงฆ์ให้เป็น พระคณาจารย์โท ในทางแสดงธรรมเทศนา

พ.ศ. 2472 วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง จังหวัดสงขลา ว่างเจ้าอาวาสลงเนื่องจาก พระรัตนธัชมุนี (จู อิสฺสรญาโณ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพเมธี ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติลาออกจาก เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เพื่อกลับไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานครตามเดิม ทางการปกครองคณะสงฆ์จึงมีคำสั่งให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และเจ้าคณะจังหวัดสงขลาเนื่องจากท่านเป็นชาวสงขลา และประกอบกับมีความสามารถด้านบริหาร เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ปกครองตลอดมา เมื่อท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส และเจ้าคณะจังหวัดสงขลา ก็ให้พัฒนาวัดมัชฌิมาวาส ให้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ในฝ่ายคณะสงฆ์ก็ปกครองร่วมกันทั้งสองนิกาย ได้รับความร่วมมือในการบริหารคณะสงฆ์จากบรรดาเจ้าอาวาสและเจ้าคณะปกครองทุกชั้น ช่วยเหลือสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ในที่สุดท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูศาสนภารพินิจ สังฆวาหะ

พ.ศ. 2472 - พ.ศ. 2477 พระครูศาสนาภารพินิจ (พลับ) เป็นเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสรูปนี้มาจากวัดสามแก้ว ช่วงนี้พระยาศรีธรรมราช (ทองคำ กาญจนโชติ) เป็นสมุหเทสาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้เป็นประธานทำการบูรณปฏิสังขรณ์รณ์พระวิหาร มีหลวงพินิจทัณฑการ หลวงประธานราษฎร์นิกร เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้าง เปลี่ยนเครื่องไม้ใหม่ทั้งหมด เอาฝาประจันห้องหน้าพระประธานออก และก่ออิฐระหว่างโค้งเสาระเบียง ขึ้นตั้งกรอบหน้าต่างติดลูกกรงเหล็ก และมีประตูปิดดังปรากฏอยู่ในบัดนี้ ในการบูรณะวิหารครั้งนี้ พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) เจ้าอาวสาวัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพฯ เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช-ภูเก็ต ให้ไวยาวัจกร อนุโมทนา 6000 บาท สมทบทุนบริจาคและพระครูศาสนาภารพินิจ ได้ร่วมกับพุทธมามาะกะ รื้อกุฎิแถวคณะตะวันออกด้านใต้ที่เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) สร้างไว้ ทำขึ้นใหม่เป็นกุฎิแถวฝาไม้กระดาน เช่นเดี่ยวกับทางด้านเหนือ ซึ่งสมเด็จฯ อุปราชปักษ์ใต้ทรงเป็นประธานปฏิสังขรณ์ก่อนแล้ว และได้เอาไม้เก่าๆจากกุฎินี้สร้างโรงเลี้ยงหลังยาวด้านตะวันออกวิหารพร้อมโรงสูทธรรม ซึ่งนางเหี้ยง เฑียนสุนทร สร้างถวาย ( บัดนี้รื้อหมดแล้ว)[4]

พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสงขลา มาบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระชนมพรรษา พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีและพระบรมวงศานุวงส์ ข้าราชบริพาร ที่วิหารวัดมัชฌิมาวาส

พ.ศ. 2477 ท่านได้ขอลาออกจากเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง และเจ้าคณะจังหวัดสงขลา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้บริหารบ้าง ท่านไม่ยึดติดกับตำแหน่งและสถานที่ กลับไปอยู่วัดกาญจนาราม และวัดธรรมบูชา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามเดิมจนถึง

พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2484 จำพรรษา ณ วัดกาญจนาราม เปิดเป็นสำนักธรรมปฏิบัติขึ้นในบริเวณป่าช้าข้างวัดกาญจนาราม อำเภอกาญจนดิษฐ์ มีภิกษุอาวุโสเข้าศึกษาธรรมปฏิบัติมากรูปและปลูกกุฎิเล็กๆ โดยทั่วไปในบริเวณนั้น และท่านก็ได้พักอยู่กุฎิเล็กเหมือนกับนักศึกษาธรรมปฏิบัติทั้งหลาย

พ.ศ. 2485-2486 จำพรรษา ณ วัดบุปผาราม และ วัดราชาธิวาสราชวรวิหารกรุงเทพมหานคร เพื่อรักษาอาการป่วย จนหายปกติและเดินทางกลับ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พ.ศ. 2487 จำพรรษา ณ กุฎิพิเศษในบริเวรป่าช้าวัดธรรมบูชา

พ.ศ. 2487 เริ่มก็สร้างวัดสารวนาราม ( วัดท่าเพชร)

พ.ศ. 2490 ได้จัดการปลงศพ พระครูโยคาธิการวินิต (ทอง) อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา เรียบร้อยแล้ว

พ.ศ. 2490 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชาและต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวัดธรรมบูชาได้รับพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ต่อมาท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะยก ฝ่ายวิปัสสนา ที่พระธรรมวิโรจนเถร นับเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา พระอารามหลวง รูปแรก

พ.ศ. 2492 เริ่มก็สร้างวัดโมกขธรรมราม (วัดดอนเกลี้ยง)

ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ แก้

  • พ.ศ. 2439 - พ.ศ. 2444 เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาพังไกร ( ปัจจุบัน วัดคีรีอัศจรรย์ ) อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
  • พ.ศ. 2446-พ.ศ. 2450 เป็นเจ้าอาวาสวัดเกษตรชลธี อ.ระโนด จ.สงขลา
  • พ.ศ. 2465- พ.ศ. 2469 เป็นเจ้าอาวาสวัดกาญจนาราม อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
  • 8 มกราคม พ.ศ. 2469-พ.ศ. 2472 เป็นเจ้าคณะแขวงท่าตะเภา (อ.เมือง ) จ.ชุมพร
  • พ.ศ. 2469-พ.ศ. 2472 เป็นเจ้าอาวาสวัดสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร
  • พ.ศ. 2472-พ.ศ. 2477 เป็นประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา ( เทียบเจ้าคณะจังหวัด การบริหารของจังหวัดสงขลา บริหารตามรูปแบบคณะกรรมการ ตามพระบัญชา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า )
  • พ.ศ. 2472-พ.ศ. 2477 เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (จังหวัดสงขลา) พระอารามหลวง อ.เมือง จ.สงขลา
  • พ.ศ. 2487-พ.ศ. 2494 เป็นเจ้าอาวาส รูปแรก วัดสารวนาราม ( ท่าเพชร) อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
  • พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2498 เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา พระอารามหลวง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธรรมยุต)
  • พ.ศ. 2492 เป็นเจ้าอาวาส รูปแรก วัดโมกขธรรมราม (วัดดอนเกลี้ยง)

ประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา แก้

ตามบันทึกระเบียบคณะกรรมการสงฆ์ จังหวัดสงขลา[5] โดย พระธรรมวโรดม เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและภูเก็ต ใจความสำคัญ ดังนี้...ร่างกายที่มีชีวิตก็ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้วหรือสร้างขึ้นแล้ว ต้องมีการบริหารทำนุบำรุงด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดตอนพิทักษ์รักษา ถ้าไม่เช่นนั้น ร่างกายก็ดี สิ่งก่อสร้างก่อดี ไม่อาจทรงอยู่แลเจริญสืบไปได้ หมู่คนอันดังอยู่เป็นคณะ เช่น คณะสงฆ์ของเราก็เป็นอันนั้นจึงต้องมีเจ้าหน้าที่ทำการบริหาร เป็นชั้นๆขึ้นไป ในหมู่คณะน้อยๆ การบริหารก็มีน้อย เหมือนคนๆ เดี่ยวหรือเหนือสิ่งก่อสร้างหลังเดียว ก็มีการงานน้อยฉะนั้น เมื่อรวมกันเป็นคณะใหญ่ขึ้นเท่าใด การงานก็มีมากขึ้นเท่านั้น จึงต้องเพิ่มเรียวแรง สำหรับบริหารให้มากขึ้นตาม แต่เรียวแรงนั้นไม่จำเป็นกันว่าน้อยคนหรือมากคน คนเดี่ยวอาจมีเรียวแรงเท่าหลายคนก็ได้ หลายคนอาจมีเรียวแรงไม่เท่าคนเดี่ยวก็ได้ เมื่อกล่าวเฉพาะความเห็น ท่านว่าใช้ความเห็นของคนมากเป็นดี ลักษณะปกครองในพระศาสนาก็นิยมทำนองนี้ จึงยกคณะสงฆ์เป็นใหญ่ในกรรมคือการงานของศาสนา เช่น ญัติจุคุตถกรรมเป็นตัวอย่าง อันนักปราชญ์ยอมรับรองว่าเป็นวิธีที่ดี แม้ในประเทศที่นับว่าเจริญอยู่ในโลกบัดนี้ ก็นิยมคณะกรรมการสำหรับดำเนินการงาน ที่เป็นระเบียบอันดีทั่วไป เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า จึงโปรดเกล้าให้จัดตั้งกรรมการสงฆ์ รักษาการคณะจังหวัดสงขลา ตั้งแต่บัดนี้ ฯ แต่เจ้าเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมกันเป็นคณะ ยังต้องมีผู้เป็นหัวหน้าเป็นประธานอีก ชั้นหนึ่ง ที่เห็นตัวอย่างการอุปสมบทกุลบุตร ที่ต้องมีพระอุปัชฌาย์ ทำหน้าที่เป็นประธาน เป็นต้น เพื่ออำนวยการให้ถึงความสำเร็จ แม้คณะกรรมการสงฆ์จังหวัดนี้ ก็ต้องมีผู้เป็นประธานเช่นนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระอุปัชฌายะพลับ เป็นประธานกรรมการคณะจังหวัดสงขลา แต่วันที่ 29 เมษายน พุทธศักราช 2472 แล้วนั้น อาศัยพระอนุมัติให้ตั้งคณะกรรมการสงฆ์ ดังกล่าวแล้ว ขอให้พระ 7 รูปคือ 1.พระครูอุทิตยเขตต์คณานุรักษ์ เจ้าคณะแขวงอำเภอหาดใหญ่และอำเภอสะเดา 2.พระครูวิจารณ์ศีลคุณ เจ้าคณะแขวงระโนด 3.พระครูวินัยธร เลี่ยม อลีโน วัดมัชณิมาวาส 4.พระมหาจ่วน ฐานตฺโต วัดมัชณิมาวาส 5. พระมหาเกตุ ติสฺสสโร ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอจะนะแลอำเภอเทภา 6.พระครูจู่ลิ่ม เจ้าคณะแขวงอำเภอกำแพงเพ็ชร์ 7.พระสมุห์ย้อย กิตฺติสโร ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอเมือง เป็นกรรมการสงฆ์รักษาการคณะจังหวัดสงขลา มีพระอุปัชฌายะพลับ ผู้รักษาการวัดมัชฌิมาวาส เป็นประธาน เมื่อประชุมมีกรรมการตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปนับเป็นองค์ประชุมได้ ฯ กรรมการทุกรูป มีหน้าที่อันจะต้องคิดต้องจัดทำทั่วทั้งจังหวัดรูปใดมีตำแหน่งเดิมเป็นอยู่อย่างไร รูปนั้นคงมีหน้าที่ในตำแหน่งนั้นอยู่อย่างเดิม แต่เพิ่มภารธุระให้ช่วยกันดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น การของคณะสงฆ์ที่มีอยู่แล้วก็ดี ที่ต้องจัดทำขึ้นใหม่ก็ดี ที่เป็นการจรก็ดี ขอให้คณะกรรมการประชุมปรึกษาทำการนั้นๆ พร้อมด้วยผู้เป็นประธานทุกคราวๆ เมื่อประชุมรารถการงานอย่างใด ให้นิยมเอาความเห็นข้างมากเป็นประมาณ ในการงานอย่างนั้น เมื่อกรรมการส่วนมากเห็นชอบแล้ว ให้ประธานกรรมการเป็นผู้สั่งการนั้นฯ อย่างเจ้าคณะจังหวัดทุกประการฯ ขอให้ผู้ได้รับตำแหน่งนี้ จงเห็นแก่พระศาสนา มุ่งธรรมเป็นใหญ่ ทำไฉนคณะสงฆ์จะเจริญด้วยประการใด ขอจงพร้อมใจกันทำนุบำรุงด้วยประการนั้น อันชอบธรรมทุกประการฯ วันที่ 12 พฤษภาคม พุทธศักราช 2472 (ลงนาม) พระธรรมวโรดม เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลภูเก็ต

สมณศักดิ์ แก้

  • พ.ศ. 2465 พระอธิการพลับ ฐิติกโร
  • 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 พระอุปัชฌาย์พลับ ฐิติกโร เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 พระคณาจารย์ โท ทางด้านการแสดงธรรม[6]
  • 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูศาสนภารพินิจ สังฆวาหะ [7]
  • 17 มิถุนายน พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระธรรมวิโรจนเถร[8]

ผลงานด้านถาวรวัตถุ แก้

วัดเขาพังไกร ( ปัจจุบัน วัดคีรีอัศจรรย์ ) อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
  • ประธานผูกพัทธสีมา
วัดเกษตรชลธี อ.ระโนด จ.นครศรีธรรมราช
  • ผู้ก่อตั้งวัด
  • สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง
  • สร้างอุโบสถ
วัดกาญจนาราม อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
  • บูรณะอุโบสถให้มั่นคง
  • สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง
  • สร้างกุฎิ
  • สร้างบ่อน้ำคอนกรีต 1 บ่อ
  • สร้างหอฉัน 1 หลัง
วัดสามแก้ว อ.เมือง จ.ชุมพร
  • ร่วมสมทบทุนสร้างศาลาและบ่อน้ำ พ.ศ. 2469[9]
  • สร้างกุฎิ 3 หลัง
  • ร่วมสมทบทุนจัดสร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชุมพร พ.ศ. 2468 [10]
วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา พระอารามหลวง อ.เมือง จ.สงขลา
  • สร้างกุฎิ 9 หลัง
  • บูรณะศาลาการเปรียญ 1 หลัง
  • ร่วมสมทบทุนจัดตั้งทุนบุญนิธิ วัดธรรมบูชา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2476[11]
วัดสารวนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
  • ผู้ก่อตั้งวัด
  • สร้างอุโบสถ
  • สร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง
  • สร้างกุฎิ
  • จัดหาที่ดิน จำนวน 1 ไร่ 2 งาน สร้างอาคารเรียนชั่วคราวนอกวัด พ.ศ. 2493 [12]
วัดโมกขธรรมาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
  • ผู้ก่อตั้งวัด

ผลงานด้านวรรณกรรม แก้

  • พ.ศ. 2465 หนังสือ เรื่องธรรมรัตนธานีคำกลอน
  • พ.ศ. 2466 หนังสือ เรื่องอริสัจจ์คำกลอน
  • พ.ศ. 2466 หนังสือ เรื่องแก้วสี่เหลี่ยมคำกลอน
  • พ.ศ. 2467 หนังสือ เรื่องกุศลโสภณ 25 คำกลอน
  • พ.ศ. 2493 หนังสือ เรื่องธรรมวิโรจนกถา
  • พ.ศ. 2498 หนังสือ เรื่องอกุศลโสภณ 12 คำกลอน

สหธรรมิกที่สำคัญ แก้

  • พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) อดีตเจ้าคณะมณฑลสุราษฏร์,ภูเก็ต,นครศรีธรรมราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
  • พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • พระธรรมปรีชาอุดม (หลวงพ่อพุ่ม) วัดตรณาราม, อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • พระครูจุฬามุนีสังฆวาหะ (หลวงพ่อดำ ตาระโก) วัดสุบรรณนิมิตร จ.ชุมพร, อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร
  • พระเทพวงศาจารย์(พระธรรมจารีย์ จันทร์ โกศโลหรือเจ้าคุณเฒ่า) วัดขันเงิน ,อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร
  • พระครูประกาศิตธรรมคุณ (หลวงพ่อเพชร อินทโชติ) วัดวชิรประดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์
  • พระครูปราการศิลประกฤต ( พ่อท่านจูลิ่ม ) วัดบางทีง อ.ควนเนียง จ.สงขลา
  • หลวงพ่อพัฒน์ นารโท อดีตเจ้าอาวาสวัดพัฒนาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
  • พระอุปัฌาย์พุ่ม ฉนฺโท อดีตเจ้าอาวาสวัดปากคู อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
  • พระครูโยคาธิการวินิต อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา , อดีตเจ้าคณะธรรมยุติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • เจ้าอธิการพระมหายุตต์ ธมฺมวิริโยอดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี
  • พระครูดิตถารามคณาศัย (หลวงพ่อชม คุณาราโม ) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี.อดีตเจ้าคณะอำเภอกาญจนดิษฐ์
  • เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ

ศิษย์ที่สำคัญ แก้

  • พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร อดีตเจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธ) และอดีตสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง
  • พระสุธรรมาธิบดี (แสง ชุตินฺธโร) วัดธรรมบูชา อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • พระธรรมวราลังการ (กล่อม อนุภาสเถร ป.ธ. ๕) วัดบุปผาราม จ.กรุงเทพมหานคร อดีตรองเจ้าคณะภาค ๑๖–๑๗–๑๘ (ธ.)
  • พระเทพกิตติเมธี ( สิริ ฐานยุตฺโต ป.ธ.7 ป วัดเสน่หา จ.นครปฐม อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม-กาญจนบุรี (ธ)
  • พระนิกรครุนาถมุนี ( เลื่อน รตตฺญญู ) วัดสามแก้ว จ.ชุมพร อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร
  • พระมงคลพุทธิญาณ (ภักดิ จนิทสิริ) วัดดอนรักษ์ จ.สงขลา อดีตเจ้าคณะอำเภอหาดใหญ่-สะเดา ( ธ)
  • พระครูศรีอุทัยธรรม (แดง วิมโล ) วัดอุทัยธรรม (วัดเขาถล่ม) จ.ชุมพร
  • พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (แดง ปุปฺผโก) เจ้าอาวาสวัดเกษรชลธี ( ตะเครียะ) อดีตเจ้าคณะอำเภอระโนด
  • พระครูนิโครทจรรยานุยุตต์ (หลวงพ่อพรหมแก้ว )อดีตเจ้าอาวาสวัดโคดพิกุล.อ.หัวไทร นครศรีฯ , อดีตเจ้าคณะอำเภอหัวไทร
  • หลวงพ่อมุม โฆสโก วัดนาสัก อ.สวี จ.ชุมพร

มรณภาพ แก้

พระธรรมวิโรจนเถร ได้ถึงแก่มรณภาพ ในอิริยาบถนั่งกราบพระพุทธรูปในกุฎิ ด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 คำนวณอายุได้ 85 ปี พรรษา 56 ณ วัดธรรมบูชา และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุชั่วคราว ในสนามหน้าโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ( ปัจจุบัน คือ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา )เมื่อ พ.ศ. 2499 [13]

อ้างอิง แก้

  1. ธรรมวิโรจเถรกถา ของพระธรรมวิโรจเถร พิมพ์ที่ระลึกในมงคลสมัยอายุครบ 80ปีของท่านเจ้าคุณพระธรรมวิโรจนเถร เจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา และเจ้าคณะธรรมยุติกา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2493'
  2. สำเนารายงานการตรวจการคณะสงฆ์ของพระเทพโมลี ( เซ่ง อุตุตโม) พ.ศ. 2465 ที่ระลึกงานฉลองพัดยศเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษพระครูปัญญาคมสถิต (ถวิล ฐิตปญฺโญ) วัดกาญจนาราม อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2523'
  3. จันทร์ เขมจารี, พระมหา. ประวัติผ้าป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี, (ฉบับพิมพ์แจกในพิธีฌาปนกิจศพ นางพยอม สารสิน), โรงพิมพ์พิมอำไพ, ถนนชนเกษม สุราษฎร์ธานี, ๒๕๑๑
  4. หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิสุทธิคุณ เลี่ยม อลีโน) พระราชศิลสังวร ( ช่วง อตฺถเวที ) วัดมัชณิมาวาส สงขลา พ.ศ. 2525
  5. บันทึกตรวจการคณะสงฆ์ มณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลภูเก็ต ของพระธรรมวโรดม เจ้าคณะมณพลนครศรีธรรมราชและมณฑลภูเก็ต พ.ศ. 2451- 2485
  6. ราชกิจจานุเบกษา,เรื่อง ตั้งพระคณาจารย์โท ,เล่ม46 หน้า 42
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม ๔๖, ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๒๖๕๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, ตอนที่ 27, เล่ม 64, วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2490, หน้า 1527
  9. แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง มีผู้บริจาคทรัพย์สร้างศาลาและบ่อน้ำขึ้นในวัดเขาสามแก้ว
  10. ราชกิจจานุเบกษา ,แจ้งแผนกกรมสมมัญศึกษา เรื่อง สร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชุมพร ,เล่ม 42 ,ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ,หน้า 2680
  11. หนังสือคำอนุโมทนาบุญนิธิ ของ ทายกทายิกา ณะวัดธรรมบูชา สุราษฎร์ธานี แล รายพระนามแลนามผู้บริจาคทุนทรัพทย์เกื้อกูลเพิ่ททุนบุญนิธิ โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาร ถนนข้าวสาร พระนคร พ.ศ. 2476
  12. สมุดหมายเหตุรายวัน โรงเรียนบ้านท่าเพชร
  13. ที่มา…. หนังสือ 100 ปีวัดธรรมบูชา / หนังสือ 100 ปีชาตกาล พระสุธรรมาธิบดี ( แสง ) วัดธรรมบูชา