พระสุธรรมาธิบดี (แสง ชุตินฺธโร)

พระสุธรรมาธิบดี หรือ หลวงปู่แสง นามเดิม แสง ขุทรานนท์ ฉายา ชุตินฺธโร (10 มิถุนายน 2456 - 5 กุมภาพันธ์ 2559) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี อดีตเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธรรมยุต)

พระสุธรรมาธิบดี

(แสง ชุตินฺธโร)
ชื่ออื่นหลวงปู่แสง
ส่วนบุคคล
เกิด10 มิถุนายน 2456 (102 ปี 240 วัน ปี)
มรณภาพ5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นเอก, เปรียญธรรม 5 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดธรรมบูชา สุราษฎร์ธานี
อุปสมบทพ.ศ. 2476
พรรษา83
ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา
ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธรรมยุต)

ประวัติ แก้

พระสุธรรมาธิบดี มีนามเดิมว่า แสง ขุทรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ณ บ้านม่วงสองต้น ตำบลม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้เข้าพิธีบรรพชา เมื่อปี พ.ศ. 2468 ที่วัดพระนคร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ จนกระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดชลเฉนียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดแดง วัดพระนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพิศาลบริหารวัตร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พ.ศ. 2478 ท่านได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ณ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เมื่อครั้งพระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) เป็นเจ้าอาวาส จนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 5 ประโยค

พ.ศ. 2494 ท่านได้มอบหมายจากพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ให้มาช่วยงานคณะสงฆ์ เนื่องจากพระธรรมวิโรจนเถร (พลับ ฐิติโก) เจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา เข้าสู่วัยชรา โดยได้รับหมายให้ปกครองสงฆ์ภายในวัด ท่านได้กำกับและปกครองด้วยหลักเมตตาธรรม เป็นที่พอใจของเจ้าอาวาส

ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์ แก้

  • พ.ศ. 2494 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา
  • พ.ศ. 2494 เป็นสาธารณูปการ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • พ.ศ. 2495 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส
  • พ.ศ. 2495 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
  • พ.ศ. 2499 เป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมบูชา พระอารามหลวง และเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ธรรมยุต)

ลำดับสมณศักดิ์ แก้

  • พ.ศ. 2483 ได้รับแต่งตั้งจากพระธรรมโกศาจารย์ (ปลอด อตฺถการี) ให้ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมที่ พระครูวินัยธรแสง ชุตินฺธโร[1]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูโชติธรรมวราภรณ์[2]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2497 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโชติธรรมวราภรณ์[3]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมมุนี ตรีปิฎกธรรมภูสิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2517 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสารสุธี ศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธัชมุนี ศีลาจารวัตรวิมล โกศลวรกิจจานุกิจ โสภิตธรรมคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสุธรรมาธิบดี ปูชนียฐานประยุต มงคลวุฒคณาทร บวรศีลาจาร ศาสนภารธุราทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. ตามรอยพระสุธรรมาธิบดี อนุสรณ์ ๑๐๑ ปี, หน้า 387
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 68, ตอนที่ 74 ง, 11 ธันวาคม 2494, หน้า 5625
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 71, ตอนที่ 84 ง, 14 ธันวาคม 2497, หน้า 2781
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอนที่ 3 ง ฉบับพิเศษ, 4 มกราคม 2506, หน้า 6-7
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 91, ตอนที่ 229 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2517, หน้า 3
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 110, ตอนที่ 202 ง ฉบับพิเศษ, 6 ธันวาคม 2536, หน้า 1
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปณาสมณศักดิ์, เล่ม 126, ตอน 12 ข ฉบับพิเศษ, 1 กันยายน 2552, หน้า 1-3
บรรณานุกรม
  • ธรรมปราโมทย์. ตามรอยพระสุธรรมาธิบดี อนุสรณ์ ๑๐๑ ปี. นครปฐม : สาละพิมพการ, 2557. 399 หน้า. ISBN 978-616-7821-45-0