ผักโขมหนาม
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
ผักโขมหนาม | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Core eudicots |
อันดับ: | Caryophyllales |
วงศ์: | Amaranthaceae |
สกุล: | Amaranthus |
สปีชีส์: | A. spinosus |
ชื่อทวินาม | |
Amaranthus spinosus L. |
ผักโขมหนาม มีชื่อภาษาท้องถิ่นในภาคใต้เรียกว่า ผักโหมหนาม ส่วนที่แม่ฮ่องสอนและกะเหรี่ยงเรียกว่า กะเหม่อลอมี แม่ล้อกู่ และที่เขมรเรียกว่า ปะตี ส่วนภาคกลางจะเรียกว่า ผักขมสวน[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Amaranthus spinosus; อังกฤษ: spiny amaranth, prickly amaranth หรือ thorny amaranth) เป็นพืชล้มลุก ฤดูเดียว อายุสั้นประมาณ 2–4 เดือน หรือเมื่อออกดอก ติดเมล็ดแล้วก็จะค่อยๆ เหี่ยวแห้งตาย หรือเรียกว่าพืชที่มีอายุปีเดียว[2]
ลักษณะโดยทั่วไป
แก้- ลำต้น – ตั้งตรง แตกกิ่งมากรอบตัวต้น ลำต้นสูงประมาณ 30–110 เซนติเมตร มีหนามแหลมตามข้อ ยาวประมาณ 1–3 เซนติเมตร ผิวเรียบหรือมีขนเล็กน้อย
- ใบ – ใบอ่อนจะมีขนปกคลุมเล็กน้อย เป็นใบเดียวรูปหอก เรียงสลับ ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 7 เซนติเมตร และมีหนามแหลมยาว 2 อัน ที่โคนก้านใบเมื่ออ่อนอยู่มีขนเล็กน้อยที่เส้นใบ[3]
- ดอก – เป็นดอกช่อ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง และตรงข้อข้างลำต้น ดอกย่อยเรียงตัวอัดกันแน่น มีหนาม ไม่แข็ง กลีบรวมโค้ง ขอบกลีบใส ตรงกลางมีแถบสีเขียวหรือม่วง แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกขนาดเล็ก ติดก้านช่อสีเขียว ช่อดอกมีหนามแหลมยาว 2 อัน หรืออาจมีมากกว่านี้ แต่ช่อดอกปลายยอดไม่มีหนาม กลีบดอกมี 5 กลีบ
- เมล็ด – มีขนาดเล็ก สีดำ ผลเป็นแบบแห้งแล้วแตก โดยแตกตามขวางของผล เมล็ดสีน้ำตาลเป็นมันเงา ทรงกลม ตรงกลางทั้งสองด้านนูน ขนาดเล็กประมาณ 0.05 เซนติเมตร
ประโยชน์และสรรพคุณ
แก้รับประทานเป็นผัก โดยลอกเปลือกและหนามออก
- ยอดอ่อน – ใช้แกงจืด ผัดน้ำมัน แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม เป็นต้น
- ต้น – ย่างไฟแก้ตกเลือด แน่นท้อง ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ
- ใบ – ในอินโดนีเซียใช้ฟอกเลือด พอกแผล
- ราก – แก้อาการคันตามผิวหนัง เป็นยาระบาย[4]
ยาพื้นบ้านล้านนาใช้ รากเผาไฟพอข้างนอกดำ จี้ที่หัวฝี ช่วยให้ฝีที่แก่แตก หรือผสมข้าวโพด ทั้งต้น ต้มน้ำดื่มแก้บวม ยาพื้นบ้าน ใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ แก้ตกเลือด แน่นท้องและขับน้ำนม มีรายงานวิจัยว่า ทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของ ลำไส้เล็ก ส่วนราก ต้านสารพิษที่ทำลายตับ พบรายงานจากประเทศบราซิลว่า พืชนี้เป็นพิษต่อ วัว ควาย และ ม้า ทำให้สัตว์เหล่านี้มีอาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเสียกลิ่นเหม็นมาก บางครั้งอาจมีเลือดปนในอุจจาระ นอกจากนั้นยังมีการทำการทดลองพบว่า สารที่ได้จากธรรมชาติ คือ น้ำด่างของผักโขมหนามสามารถล้างไหมได้ดี เทียบเท่าสารเคมี ที่ใช้ล้างไหมกันอยู่ในปัจจุบัน[5] รากผักโขมหนามสามารถเป็นยาแก้ตกเลือด แก้ฝี แก้ขี้กลาก เป็นยาขับน้ำนม แก้แน่นท้อง แก้พิษ แก้ช้ำใน แก้ไข้ ระงับความร้อน ใช้ในเด็กแก้ลิ้นเป็นฝ้าละออง ช่อดอกและยอดอ่อนต้มเป็นอาหารหมู ยอดอ่อนและใบอ่อนใส่ลงในอาหารของชาวกะเหรี่ยงที่เรียกข้าวเบอะ[6]
-
ผักโขมหนาม
-
ผักโขมหนาม
อ้างอิง
แก้- ↑ ผักโขมหนาม เก็บถาวร 2013-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร
- ↑ ผักโขมหนาม[ลิงก์เสีย]. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
- ↑ ผักโขมหนาม เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน
- ↑ ผักโขมหนาม. มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย
- ↑ เส้นไหมสวยด้วยน้ำด่างผักโขมหนาม เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเกษตรเพื่อการพัฒนา
- ↑ ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า ดูฉบับเต็ม เก็บถาวร 2021-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน