ปลาอินซีเน็ตหางแดง

ปลาอินซีเน็ตหางแดง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Prochilodontidae
สกุล: Semaprochilodus
สปีชีส์: S.  taeniurus
ชื่อทวินาม
Semaprochilodus taeniurus
(Valenciennes, 1821)
ชื่อพ้อง[1] [2]
  • Curimatus taeniurus Valenciennes, 1821
  • Prochilodus taeniurus (Valenciennes, 1821)
  • Semaprochilodus taenirus (Valenciennes, 1821)
  • Semiprochilodus taeniurus (Valenciennes, 1821)

ปลาอินซีเน็ตหางแดง หรือ ปลาหงส์หางแดง[3] (อังกฤษ: Flagtail prochilodus, Silver prochilodus, Flagtail characin; โปรตุเกส: Jaraqui (ในบราซิล); ชื่อวิทยาศาสตร์: Semaprochilodus taeniurus) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาอินซีเน็ต (Prochilodontidae)

มีรูปร่างทั่วไปคล้ายปลาในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มาก ดวงตากลมโต ริมฝีปากหนาและใหญ่ และปากขยับไปมาตลอดเวลา เกล็ดมีขนาดเล็กมีสีเงินแวววาว เมื่อยังเล็กจะมีลายแถบและจุดสีดำกระจายอยู่บริเวณลำตัวค่อนไปทางโคนหาง มีเกล็ดบริเวณเส้นข้างลำตัวประมาณ 48 เกล็ด โคนหางคอดเล็ก ครีบท้องมีสีแดงสด ครีบหลังมีขนาดใหญ่และตั้งชี้ขึ้น ซึ่งครีบเหล่านี้เมื่อปลาโตขึ้นจะยิ่งชี้แหลมและสีสดยิ่งขึ้น ในบางตัวปลายครีบหลังอาจแหลมยาวคล้ายปลายผืนธง ครีบหางเป็น 2 แฉก มีขนาดใหญ่ ครีบหางและครีบก้นมีลายแถบสีดำเป็นทางตรงบนพื้นสีแดง

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร อาจใหญ่ได้ถึง 35 เซนติเมตร เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ พบกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำอเมซอน ในทวีปอเมริกาใต้ โดยใช้ปากที่ขยับไปมาตลอดนั้นตอดอาหารจำพวกอินทรีย์วัตถุหากินตามพื้นน้ำหรือตะไคร่น้ำที่เกาะตามแก่งหินต่าง ๆ มีพฤติกรรมผสมพันธุ์หมู่และวางไข่ได้ครั้งละประมาณ 100,000 ฟอง[4]

เป็นปลาที่ใช้บริโภคกันในท้องถิ่น และมีความสำคัญต่อมนุษย์ในแง่ของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยจะนิยมเลี้ยงไว้เพื่อทำความสะอาดภายในตู้เลี้ยง เพราะเป็นปลาที่เก็บเศษอาหารกินทำให้ตู้เลี้ยงสะอาดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความเชื่ออีกว่า เมื่อเลี้ยงคู่กับปลาอะโรวาน่าหรือปลามังกรด้วยแล้ว จะถือเป็นมงคล เหมือนหงส์คู่มังกร เพราะปลาชนิดนี้มีเรียกในภาษาจีนว่า "เฟยหง"[5] (จีนตัวเต็ม: 飛鳳) แปลว่า "ปลาหงส์" ซึ่งในราวปี พ.ศ. 2546-พ.ศ. 2547 ได้มีการบอกกล่าวกันเป็นทอด ๆ ในอินเทอร์เน็ตถึงคุณสมบัติของปลาชนิดนี้ ทำให้มีราคาขายพุ่งขึ้นไปเกือบตัวละ 1,000 บาท ในปลาขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 5 นิ้ว[6]

อ้างอิง แก้

  1. Humboldt, F.H.A. & Valenciennes, A. 1821: Recherches sur les poissons fluviatiles de l'Amérique Équinoxiale. In: Voyage de Humboldt et Bonpland, Deuxième partie. Observations de Zoologie et d'Anatomie comparée. Paris. 2 (Title page 1833): 145-216, Pls. 45-52.
  2. Castro, R.M.C. & Vari, R.P. in Reis, R.E., S.O. Kullander, and C.J. Ferraris, Jr. 2003: Check list of the freshwater fishes of South and Central America.: i-xi + 1-729. PDF
  3. หน้า 24-27, คู่เหมือนที่แตกต่าง. "Aqua Knowledge" โดย RoF. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 51: กันยายน 2014
  4. Castro, R.M.C. y R.P. Vari, 2003: Prochilodontidae (Fannel mouth characiforms). p. 65-70. A: R.E. Reis, S.O. Kullander y C.J. Ferraris, Jr. (eds.) Checklist of the Freshwater Fishes of South and Central America. Porto Alegre: EDIPUCRS, Brasil.
  5. "Varieties". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2014-09-18.
  6. หนังสือ (แอบ) คุยเรื่องปลาตู้ โครงการ 2 ปลาอโร ตัวเป็นวา น่าเลี้ยง โดย Nanconnection: สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น พ.ศ. 2546 ISBN 9745348651

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Semaprochilodus taeniurus ที่วิกิสปีชีส์