วงศ์ปลามังกรน้อย

(เปลี่ยนทางจาก ปลามังกรน้อย)
วงศ์ปลามังกรน้อย
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ครีเตเชียส-ปัจจุบัน
ปลาแมนดารินตัวผู้ (Synchiropus splendidus)
ปลาแมนดารินจุดขนาดเล็ก (S. picturatus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Callionymoidei
วงศ์: Callionymidae
สกุล

วงศ์ปลามังกรน้อย (อังกฤษ: Dragonet, Scotter blenny, ชื่อวิทยาศาสตร์: Callionymidae) เป็นวงศ์ปลาทะเลขนาดเล็กวงศ์หนึ่ง อยู่ในอันดับปลากะพง (Perciformes)

มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) ซึ่งอยู่ในอันดับเดียวกัน แต่วงศ์ปลามังกรน้อยไม่จัดอยู่ในวงศ์ปลาบู่ แต่กลับมีความใกล้เคียงกับปลาในวงศ์ปลามังกรน้อยลาด (Draconettidae) มากกว่า

โดยคำว่า "Callionymidae" ที่ใช้เป็นชื่อวงศ์นั้นมาจากภาษากรีกคำว่า "Kallis" ซึ่งแปลว่า "สวย" และ "onyma" แปลว่า "ชื่อ"

เป็นปลาขนาดเล็ก มีความยาวเต็มที่ราว 10 เซนติเมตร โดยชนิดที่มีความยาวที่สุด 17 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของอินโด-แปซิฟิก หากินโดยใช้ปากที่มีขนาดเล็กคุ้ยเขี่ยพื้นทรายหากินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร โดยจะหากินในเวลากลางคืนเริ่มตั้งแต่พลบค่ำ ตามแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ

มีรูปร่างโดยรวม คือ มีส่วนหัวขนาดโต ดวงตากลมมีขนาดใหญ่ มีครีบต่าง ๆ ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะครีบหางและครีบท้อง ซึ่งแข็งแรงมาก มีพฤติกรรมใช้ครีบท้องนี้คืบคลานหาอาหารตามพื้นทรายมากกว่าจะว่ายน้ำ โดยมีครีบหางเป็นเครื่องบังคับทิศทาง มีเงี่ยงครีบหลัง 4 ก้าน มีก้านครีบอ่อน 6-11 ก้าน ก้านครีบก้น 4-10 ก้าน มีเส้นข้างลำตัว มีกระดูกเรเดียส 3 ชิ้น ตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ตัวผู้มีกระโดงครีบหลังชี้ยาวออกมาเห็นเป็นจุดเด่น ขณะที่ตัวเมียไม่มี โดยมากแล้วมีสีสันและลวดลายสดใสสวยงามมาก

มีพฤติกรรมการวางไข่ โดยตัวผู้จะว่ายน้ำไปรอบ ๆ ตัวเมีย พร้อมเบ่งสีและครีบต่าง ๆ เพื่อเกี้ยวพา เมื่อตัวเมียปล่อยไข่ออกมาแล้ว ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมทันที ไข่จะลอยไปตามกระแสน้ำ ตัวอ่อนใช้ชีวิตเบื้องต้นเป็นเหมือนแพลงก์ตอน ในบางชนิดมีรายงานว่ามีพิษด้วย

ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานแล้ว 18 สกุล[1] (ดูในตาราง) ราว 130 ชนิด และเนื่องจากเป็นปลาสวยงาม จึงนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงามในตู้ปะการัง ซึ่งบางชนิดสามารถเพาะเลี้ยงในที่เลี้ยงได้แล้ว อาทิ ปลาแมนดาริน (Synchiropus splendidus), ปลาแมนดารินจุด (S. picturatus) เป็นต้น[2]

อ้างอิง แก้