บึงพระราม
บึงพระราม หรือเดิมเรียกว่า หนองโสน หรือ บึงชีชัน เป็นหนองน้ำหรือบึงน้ำขนาดใหญ่กลางเกาะเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอดีตบึงแห่งนี้เป็นชุมชนโบราณมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาด้วยสังเกตจากวัดร้างและสถานที่สำคัญจำนวนมากรอบบึงน้ำนี้ ปัจจุบันบึงพระรามได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวพระนครศรีอยุธยา
บึงพระราม | |
---|---|
ที่ตั้ง | เกาะเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย |
พิกัด | 14°21′23.78″N 100°33′46.55″E / 14.3566056°N 100.5629306°E |
องค์กรที่จัดการ | เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา |
ศัพทมูลวิทยา
แก้บึงพระราม มีชื่อมาแต่เดิมว่า หนองโสน แปลว่า "แอ่งน้ำใหญ่ที่มีต้นโสนขึ้นมาก"[1][2] อีกชื่อเก่าคือ บึงชีชัน ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลนั้น[3] บ้างเรียก บึงญี่ขัน[4] ไม่ทราบว่ามาจากคำว่ากระไร และไม่สามารถเทียบคำที่ใกล้เคียงเพื่อหาความหมายได้[1]
ส่วนชื่อ บึงพระราม นั้น บ้างก็ว่าเกี่ยวเนื่องมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยมีบึงน้ำนี้เป็นศูนย์กลาง[1] บ้างก็ว่าตั้งตามชื่อวัดพระราม[3][5] ที่เป็นวัดเก่าสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนเรียกว่าบึงพระรามตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่เป็นที่ทราบเช่นกัน[3]
ประวัติ
แก้บึงพระรามเป็นหนองน้ำที่เก่าแก่ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นแอ่งน้ำที่อยู่กลางดอนที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายสายรอบเกาะเมืองอันได้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสักเป็นอาทิ[1] บ้างก็ว่าเกิดจากการขุดดินเพื่อนำไปสร้างวัดและวังต่าง ๆ จนบริเวณดังกล่าวได้กลายสภาพเป็นบึงน้ำไป[3]
บึงพระรามถือว่ามีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นชุมชนเก่าที่มีขนาดใหญ่มาแต่อดีตกาลแล้ว[6] ดังจะพบได้จากโบราณสถานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดนก วัดหลังคาดำ วัดหลังคาขาว วัดสังขปัตถ์ วัดโพง วัดชุมแสง พระที่นั่งเย็น วัดไตรตรึงษ์ วัดราชบูรณะ วัดธรรมิกราช วัดมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ ลานหน้าจักรวรรดิ และอยุธยามหาปราสาท[1][3][5] นอกจากนี้ยังมีวัดที่ไม่ปรากฏซากแล้ว เช่น วัดสัตตบรรณ และวัดจันทร์ เป็นต้น[5] ในอดีตถือว่าพื้นที่โดยรอบบึงพระรามนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์[1] จากเอกสารของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือวันวลิต วานิชชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบึงพระรามตามคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยาว่า ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาคือพระเจ้าอู่นั้นเป็นพระโอรสพระเจ้ากรุงจีนที่ถูกเนรเทศเพราะทำกรรมชั่วไว้มาก พระองค์จึงเดินทางเพื่อหาภูมิสถานเพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ จนพบเกาะเมืองอยุธยาที่ชัยภูมิดีแต่กลับไร้คนอยู่อาศัย พระเจ้าอู่ได้พบฤๅษีตนหนึ่ง ที่ต่อมาฤๅษีตนนั้นได้อธิบายความว่าที่เมืองไร้คนก็เป็นเพราะมังกรในหนองโสนพ่นน้ำลายพิษจนคนตายทั้งเมือง หากจะฆ่ามังกรให้ได้จะต้องไขปัญหาของฤๅษีให้ครบทั้งสามข้อ ซึ่งพระเจ้าอู่ก็ทรงทำได้ครบ ฤๅษีจึงบอกวิธีกำจัดมังกรคือต้องหาฤๅษีที่มีลักษณะเดียวกับตนโยนลงหนองโสน แต่พระเจ้าอู่ก็ทรงหาฤๅษีลักษณะดังกล่าวไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลาทั้งสองเดินทางไปถึงหนองน้ำ พระเจ้าอู่ก็ทรงเหวี่ยงฤๅษีตนนี้ลงไปในหนอง มังกรก็ไม่โผล่ขึ้นมาอีก และเมืองก็ปลอดจากโรคระบาด[2] สุจิตต์ วงษ์เทศอธิบายว่า มังกรพ่นพิษน่าจะสื่อถึงกาฬโรค[1] ส่วนกำพล จำปาพันธ์ว่ามังกร (คือพญานาค) และฤๅษี (คือพราหมณ์) น่าจะสื่อถึงขอม ที่ไม่สนับสนุนให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มาตั้งถิ่นฐานที่นี่จนเกิดการกระทบกระทั่งกัน[5]
บึงพระรามถือเป็นหนึ่งในความสามารถของชาวกรุงศรีอยุธยาด้านการจัดการน้ำ โดยเกาะเมืองจะมีโครงสร้างในการระบายน้ำคือคลองสายต่าง ๆ โดยคลองจะทำหน้าที่ชักน้ำเข้าไปยังบึงพระรามและบึงต่าง ๆ ภายในเกาะเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คน โดยจะมีการก่อสร้างประตูน้ำ หากถึงฤดูฝนก็จะมีการเปิดประตูน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านคลองสายต่าง ๆ บนเกาะ หากถึงฤดูน้ำหลากก็จะปิดประตูน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยบนเกาะเมือง และยามฤดูแล้งก็จะกักเก็บน้ำในบึงไว้ใช้ โดยมีคลองไหลเข้าเกาะเมือง 4 สาย คลองบางสายก็จะชักน้ำไปหล่อเลี้ยงบึงพระรามมิให้เหือดแห้ง และมีคลองระบายน้ำออกจากเกาะเมืองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้อีก 6 สาย[7]
ปัจจุบัน
แก้ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นรัฐบาล ได้มีการฟื้นฟูและพัฒนาบึงพระรามขึ้นใหม่ มีการบูรณะตึกดินซึ่งเป็นโบราณสถานช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายขึ้นใหม่[3] หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้พัฒนาให้บึงพระรามเป็นสวนสาธารณะเรียกว่า สวนสาธารณะบึงพระราม เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนโดยทั่วไป[3] และถือว่าบึงพระรามเป็นหนึ่งในสามบึงน้ำบนเกาะเมืองที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน จากที่มีทั้งหมด 5 แห่ง แต่ปริมาณการกักเก็บน้ำของบึงที่เหลือทั้งสามแห่งนั้นก็ลดพื้นที่ลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง[7] โดยเฉพาะบึงพระรามที่คลองลำคูปากสระ และคลองประตูเทพหมีที่ทำหน้าที่ชักน้ำเข้าบึง ถูกรุกล้ำจนสิ้น[7]
ปัจจุบันบึงพระรามมักมีการจัดงานเทศกาลที่มีการตั้งร้านขายอาหารจนเกิดปัญหาด้านมลพิษ[1] ซ้ำยังเป็นแหล่งมั่วสุมทั้งการพนัน คนเร่ร่อน คนดมกาว และพบขยะเกลื่อนกล่นในบึง รวมทั้งหญ้ารกชัฏจนไม่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ[8] และทำให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก[9] แม้จะมีการทำความสะอาดใหญ่บริเวณพื้นที่โดยรอบบึงพระรามก็ตาม[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 สุจิตต์ วงษ์เทศ (22 ธันวาคม 2015). "บึงพระราม (ที่อยุธยา) งอมพระราม". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.
- ↑ 2.0 2.1 เรือนอินทร์ หน้าพระลาน (22 กันยายน 2553). หนองโสน มีตำนานการสร้างเมืองอยุธยา. คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 "สวนสาธารณะบึงพระราม". กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.
- ↑ ส. พลายน้อย (2555). แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 107. ISBN 9789740210061.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 กำพล จำปาพันธ์ (2559). อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส. หน้า 21. ISBN 9786167674100.
- ↑ น. ณ ปากน้ำ (2540). ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ 3. หน้า 157. ISBN 9789747367935.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน (8 พฤศจิกายน 2015). "อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ฟื้นคูคลองเมืองมรดกโลก". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2017.
- ↑ Patt Taengpun (7 มกราคม 2016). "รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๕๕๘". สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมจัดระเบียบร้านต้นไม้รอบสวนสาธารณะบึงพระราม โดยจัดพื้นที่ให้ขายภายในสวนสาธารณะบึงพระราม". ข่าวชัด. 3 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "บิ๊กคลีนนิ่งบึงพระราม". เนชั่นทีวี. 20 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.