เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เป็นเทศบาลนครครอบคลุมพื้นที่ 10 ตำบล ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในอดีตเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเก่าของประเทศไทย คือ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบัน ยังหลงเหลือโบราณสถานที่น่าสนใจภายในตัวเมืองอยุธยา
เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา | |
---|---|
ถนนนเรศวร | |
สมญา: เมืองกรุงเก่า | |
พิกัด: 14°20′52″N 100°33′38″E / 14.34778°N 100.56056°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | พระนครศรีอยุธยา |
อำเภอ | พระนครศรีอยุธยา |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | สมทรง สรรพโกศลกุล |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 14.84 ตร.กม. (5.73 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2560)[1] | |
• ทั้งหมด | 51,765 คน |
• ความหนาแน่น | 3,488.21 คน/ตร.กม. (9,034.4 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 03140102 |
ที่อยู่ สำนักงาน | สำนักงานเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เลขที่ 18 ถนนนเรศวร ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000 |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เดิมมีฐานะเป็นสุขาภิบาลเมืองกรุงเก่า ซึ่งได้จัดตั้งตามพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ. 127 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 สุขาภิบาลเมืองกรุงเก่า ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอรอบกรุงเก่า ซึ่งในปัจจุบันคืออำเภอพระนครศรีอยุธยา และมีเขตการปกครองในเขตรับผิดชอบ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลหัวรอ ตำบลหอรัตนไชย ตำบลท่าวาสุกรี ตำบลคลองสวนพลู ตำบลกระมัง ต่อมา พ.ศ. 2478 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะสุขาภิบาลกรุงเก่าเป็นเทศบาลเมืองนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งได้มีการขยายเขตตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2481, พ.ศ. 2499, และ พ.ศ. 2505 ตามลำดับ และในปี พ.ศ. 2542 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเทศบาลเมืองนครศรีอยุธยาเป็น เทศบาลนครนครศรีอยุธยา
ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา
การเปลี่ยนชื่อเทศบาล
แก้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเปลี่ยนชื่อ เทศบาลนครนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ด้วยเทศบาลนครนครศรีอยุธยา ประสงค์ขอเปลี่ยนชื่อ เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติของเทศบาล (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงให้เปลี่ยนชื่อเทศบาลนครนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาประกาศ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2548 นายสมชาย สุนทรวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ภูมิประเทศ
แก้เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนที่มีสภาพเป็นเกาะและเคยเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเก่ามาก่อนมีแม่น้ำไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี เมื่อก่อสร้างกรุงศรีอยุธยาได้มีการขุดคูเขื่อนจากหัวรอไปบรรจบแม่น้ำบางกะจะที่บริเวณป้อมเพชร ทำให้ที่ตั้งของตัวเมืองและเทศบาลมีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ ลักษณะดินเป็นดินปนทรายน้ำซึมได้ง่าย คูคลองในเขตเทศบาลจึงเก็บน้ำไว้ได้ไม่นาน ในฤดูร้อนน้ำจะแห้ง สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม
ตัวเมืองอยู่ห่างจากกรุงเทพทางตอนเหนือไปประมาณ 40 ไมล์ (64 กิโลเมตร)[2]
ภูมิอากาศ
แก้เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่ในภาคกลาง มีอยู่ 3 ฤดู:
- ฤดูร้อน: มีนาคม – พฤษภาคม
- ฤดูฝน: มิถุนายน – ตุลาคม
- ฤดูหนาว: พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์
ข้อมูลภูมิอากาศของเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 31.0 (87.8) |
33.3 (91.9) |
35.4 (95.7) |
35.9 (96.6) |
34.3 (93.7) |
32.6 (90.7) |
32.0 (89.6) |
31.4 (88.5) |
31.3 (88.3) |
31.3 (88.3) |
30.7 (87.3) |
30.0 (86) |
32.4 (90.3) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 17.0 (62.6) |
19.4 (66.9) |
22.3 (72.1) |
24.3 (75.7) |
24.5 (76.1) |
24.3 (75.7) |
24.0 (75.2) |
23.8 (74.8) |
23.5 (74.3) |
22.5 (72.5) |
20.0 (68) |
17.4 (63.3) |
21.9 (71.4) |
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) | 2.4 (0.094) |
18.8 (0.74) |
43.5 (1.713) |
67.9 (2.673) |
208.0 (8.189) |
223.0 (8.78) |
180.8 (7.118) |
260.0 (10.236) |
213.9 (8.421) |
167.6 (6.598) |
37.1 (1.461) |
0.8 (0.031) |
1,423.8 (56.055) |
วันที่มีฝนตกโดยเฉลี่ย | 0 | 1 | 4 | 6 | 15 | 16 | 17 | 19 | 17 | 12 | 3 | 1 | 111 |
แหล่งที่มา: Thai Meteorological Department[3] |
สัญลักษณ์
แก้ดวงตราของเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาเป็นประสาทอยู่ใต้ต้นหมัน ภายในประสาทมีหอยสังข์ประดิษฐ์อยู่บนพานแว่นฟ้า ซึ่งมาจากตำนานการสร้างเมืองนครศรีอยุธยา ซึ่งเล่ากันว่าในปี พ.ศ. 1890 โรคห่าระบาดผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพย้ายผู้คนออกจากเมืองเดิมมาตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลหนองโสน ซึ่งมีแม่น้ำล้อมรอบ ระหว่างที่พักเขตราชวัติฉัตรธงตั้งศาลเพียงตากระทำพิธีกลบมิตรสุมเพลิง ปรับพื้นที่เพื่อตั้งพระราชวังอยู่นั้น ปรากฏว่าเมื่อขุดมาถึงใต้ต้นหมันได้พบหอยสังข์ทักษิณาวรรตบริสุทธิ์ พระเจ้าอู่ทองทรงโสมนัสในศุภนิมิตนั้น จึงสร้างปราสาทน้อยขึ้นเป็นที่ประดิษฐานหอยสังข์ดังกล่าว
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ 14.84 ตารางกิโลเมตร มีเขตการปกครองในความรับผิดชอบ 10 ตำบล คือ
- ประตูชัย
- กะมัง
- หอรัตนไชย
- หัวรอ
- ท่าวาสุกรี
- บ้านเกาะ
- เกาะเรียน
- ไผ่ลิง
- คลองสระบัว
- คลองสวนพลู
ประชากร
แก้จำนวนประชากรในเขตเทศบาลมีทั้งสิ้น 52,952 คน เป็นชาย 25,564 คน หญิง 27,388 คน จำนวนบ้าน 19,908 หลัง มีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 3,568.19 คนต่อตารางกิโลเมตร
การศึกษา
แก้โรงเรียนในสังกัดมีทั้งหมด 8 โรงเรียน ได้แก่
- โรงเรียนเทศบาลวัดเขียน
- โรงเรียนชุมชนป้อมเพชร
- โรงเรียนเทศบาลวัดตองปุฯ
- โรงเรียนเทศบาลสรรพสามิตฯ
- โรงเรียนเทศบาลวัดศาลาปูน
- โรงเรียนเทศบาลวัดรัตนชัย
- โรงเรียนเทศบาลวัดแม่นางปลื้ม
- โรงเรียนเทศบาลวัดป่าโค
การขนส่ง
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2560 ท้องถิ่นเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง
- ↑ Bellamy, Patrick. "The Hunt." Hambali: Mastermind of Terror. Crime Library. Retrieved on March 17, 2014.
- ↑ "30 year Average (1961-1990) - AYUTTHAYA". Thai Meteorological Department. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-21. สืบค้นเมื่อ 2011-11-12.