นาม ยิ้มแย้ม
นาม ยิ้มแย้ม เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2479 ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ เนติบัณฑิตไทย เป็นประธานคณะธรรมาภิบาล พรรคพลังธรรมใหม่[1] อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธาน คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมสรุปกรณี สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหามีกระบวนการว่าจ้างพรรคการเมืองให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งคณะอนุกรรมการนี้ดำเนินการสืบสวนตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2549 ซึ่งผลการสืบสวนของคณะอนุกรรมการชุดนี้ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทยและให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับคณะกรรมการบริหารพรรคด้วย นาม ยิ้มแย้ม เข้ามาทำงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายสืบสวนสอบสวน ในคณะของสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา และกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2540
นาม ลงสมัครเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่ 3 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2549 ต่อมาภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ได้รับการทาบทามจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แต่แล้วก็ไม่ได้รับการแต่งตั้ง โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย คปค.ให้เหตุผลว่า เนื่องจากนายนามมีอายุเกิน 70 ปี ซึ่งอาจเป็นข้อโต้แย้งถึงคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ปปช. ในภายหลังได้[2][3]
นาม ยิ้มแย้ม ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยทำหน้าที่เป็นประธาน
ในคดียุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ นามถูกกล่าวหาจากทางพรรคไทยรักไทยว่ามีความสนิทสนมกับชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทั้งนามและพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาปฏิเสธ อีกทั้งการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็มิได้เชื่อถือในกรณีนี้[4]
การทำงาน
แก้- ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี จันทบุรี และชลบุรี
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
- ประธานคณะอนุญาโตตุลาการ
- อนุกรรมการสอบสวนคดีทุจริต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
- ประธานอนุกรรมการฝ่ายสืบสวน คณะกรรมการการเลือกตั้ง
- ประธานอนุกรรมการพิจารณาคัดค้านการเลือกตั้งของ กกต.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[5]
- พ.ศ. 2528 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[6]
- พ.ศ. 2532 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ พลังธรรมใหม่ลงมติ 'หมอระวี'นั่งหัวหน้าพรรค ตั้ง'นาม ยิ้มแย้ม'คุมธรรมภิบาล
- ↑ เปิดประวัติว่าที่ 10 กกต.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "มีชัย"ปัดขวาง"แก้วสรร-นาม" จากกระปุกดอตคอม
- ↑ [https://web.archive.org/web/20111109114411/http://www.bangkokbiznews.com/2006/05/22/c001_105808.php?news_id=105808 เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เด็กทรท.แจกประวัติ'นาม ยิ้มแย้ม'ระบุใกล้ชิด'ชวน'จากกรุงเทพธุรกิจ]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๒๗ มกราคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๔๖, ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๓
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- บันทึกผลการสอบสวนฯ เก็บถาวร 2006-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน