จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์

(เปลี่ยนทางจาก นอร์ทฮอลแลนด์)

นอร์ทฮอลแลนด์ (อังกฤษ: North Holland) หรือ โนร์ด-โฮลลันด์ (ดัตช์: Noord-Holland, ออกเสียง: [ˌnoːrt ˈɦɔlɑnt] ( ฟังเสียง)) เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ มีอาณาเขตติดกับทะเลเหนือทางตอนเหนือ และติดจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์และยูเทรกต์ทางตอนใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 มีประชากร 2,877,909 คน[7]

จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์

Provincie Noord-Holland (ดัตช์)
ธงของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์
ธง
ตราราชการของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์
ตราอาร์ม
เพลง: "Noord-Hollands Volkslied"[1]
ที่ตั้งของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ในประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่ตั้งของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ในประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่ตั้งของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์
พิกัด: 52°40′N 4°50′E / 52.667°N 4.833°E / 52.667; 4.833
ประเทศ เนเธอร์แลนด์
ก่อตั้งค.ศ. 1840 (แยกจากฮอลแลนด์)
เมืองหลักฮาร์เลม
เมืองใหญ่สุดอัมสเตอร์ดัม
การปกครอง
 • King's Commissionerอาร์ตือร์ ฟัน ไดก์ (VVD)
 • สภาStates of North Holland
พื้นที่ (ค.ศ. 2017)[2]
 • ทั้งหมด4,092 ตร.กม. (1,580 ตร.ไมล์)
 • พื้นดิน2,662 ตร.กม. (1,028 ตร.ไมล์)
 • พื้นน้ำ1,430 ตร.กม. (550 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่ที่ 4
ประชากร
 (1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019)[3]
 • ทั้งหมด2,877,909 คน
 • อันดับที่ 2
 • ความหนาแน่น1,082 คน/ตร.กม. (2,800 คน/ตร.ไมล์)
 • อันดับความหนาแน่นที่ 2
เขตเวลาUTC+1 (เวลายุโรปกลาง)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+2 (เวลาออมแสงยุโรปกลาง)
รหัส ISO 3166NL-NH
จีดีพี (เฉลี่ย)[4]ค.ศ. 2017
 - รวม159,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 - ต่อหัว56,300 ยูโร / 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ[5]
เอชดีไอ (2019)0.963[6]
สูงมาก · ที่ 2 จาก 12
เว็บไซต์www.noord-holland.nl

ราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึง 16 จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเคาน์ตีฮอลแลนด์ จากนั้นได้กลายมาเป็นจังหวัดฮอลแลนด์และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ โนร์ดควาเทียร์ (ดัตช์: Noorderkwartier) ซึ่งหมายถึง เศษหนึ่งส่วนสี่ทางตอนเหนือ จนกระทั่ง ค.ศ. 1840 ได้มีการแบ่งจังหวัดฮอลแลนด์ออกเป็นสองจังหวัด คือ เหนือและใต้

ในปี ค.ศ. 1855 ได้มีการผันน้ำออกจากอ่าวฮาร์เลมเมอร์เมร์จนกลายเป็นผืนดิน และปัจจุบัน ฮาร์เลม กลายมาเป็นเมืองหลวงของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ มีประชากร 161,265 คน[8] แต่เมืองใหญ่ที่สุดของจังหวัดคือ กรุงอัมสเตอร์ดัม มีประชากร 862,965 คน (พฤศจิกายน 2019) และเป็นเมืองหลวงของประเทศอีกด้วย

ประวัติศาสตร์ แก้

เรื่องราวการเกิดขึ้นของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ มีจุดเริ่มต้นจากยุคที่จักรพรรดินโปเลียนได้เข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์และปกครองในช่วง ค.ศ. 1795 ถึง 1813 ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบจังหวัดของชาวดัตช์อย่างมาก ในปี ค.ศ. 1795 นั้น ได้มีการล้มล้างระบบเดิมทิ้งไปและสถาปนาสาธารณรัฐปัตตาเวียขึ้น ประกอบไปด้วย 8 จังหวัด (département) ตามระบบการปกครองของฝรั่งเศส แต่ละจังหวัดมีจำนวนประชากรเท่าๆกัน อาณาจักรฮอลแลนด์จึงถูกแบ่งออกเป็น 5 จังหวัด ได้แก่ เทกเซล เดลฟท์ อัมสเติล สเกลต์เอ็นเมิซ และไรน์ ต่อมามีการรวมสามจังหวัดแรกเข้าด้วยกันเป็นจังหวัดฮอลแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1801

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1807 มีการจัดระบบของจังหวัดฮอลแลนด์ใหม่ โดยแบ่งเป็นสองจังหวัดย่อย ได้แก่ อัมสเทิลลันด์ (นอร์ทฮอลแลนด์ในปัจจุบัน) และมาสลันด์ (เซาท์ฮอลแลนด์ในปัจจุบัน) แต่ระบบนี้อยู่ได้ไม่นาน ได้มีการผนวกรวมเนเธอร์แลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส อัมสเทิลลันด์ถูกผนวกรวมกับยูเทรกต์กลายเป็นจังหวัด "เซาเดอร์เซ" (ฝรั่งเศส: Zuyderzée) และมาสลันด์เปลี่ยนชื่อเป็น "โมนเดน ฟอน เดอ มาส" (ฝรั่งเศส: Bouches-de-la-Meuse)

แต่เมื่อจักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้ในการรบเมื่อปี ค.ศ. 1813 ระบบการบริหารยังคงเดิม จนกระทั่งปีต่อมา เนเธอร์แลนด์ได้มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการจัดระบบระเบียบจังหวัดและภูมิภาคใหม่ทั้งประเทศ จังหวัดเซาเดอร์เซและโมนเดน ฟอน เดอ มาสได้ถูกผนวกรวมเข้าเป็นจังหวัด"ฮอลแลนด์" แต่ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด 2 คน คนหนึ่งรับผิดชอบจังหวัดอัมสเทิลลันด์เดิม และอีกคนรับผิดชอบจังหวัดมาสลันด์เดิม ดังนั้น แม้จะมีการรวมจังหวัด แต่พื้นที่ทั้งสองส่วนยังมีระบบที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้แนวคิดการแบ่งฮอลแลนด์ยังคงมีอยู่

เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1840 จังหวัดฮอลแลนด์จึงถูกแบ่งเป็นสองจังหวัดอีกครั้ง มีชื่อว่า "นอร์ทฮอลแลนด์"และ"เซาท์ฮอลแลนด์" โดยชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมมีส่วนสำคัญในการผลักดันการแยกจังหวัดนี้ หลังจากนั้น ผืนดินฮาร์เลมเมอร์เมร์ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการผันน้ำทะเลออก ทำให้นอร์ทฮอลแลนด์มีขนาดใหญ่ขึ้น ก่อนที่เกาะและพื้นที่บางส่วนจะถูกโอนไปยังจังหวัดข้างเคียง ในการปรับระบบราชการใหม่กลางศตวรรษที่ 20

ภูมิศาสตร์ แก้

เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 47 เทศบาล โดยมีเทศบาล 5 แห่งที่มีผู้อยู่อาศัยเกิน 100,000 คน ได้แก่ อัมสเตอร์ดัม ฮาร์เลม ซานสตัด ฮาร์เลมเมอร์เมร์ และอาลค์มาร์

สามารถจัดเทศบาลทั้ง 47 แห่งเป็นกลุ่ม (COROP) ได้ 7 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มโคปฟอนโนร์ดฮอลลันด์: เดนเฮลเดอร์, เดรคเตอร์ลันด์, เองค์เฮาเซน, โฮลลันด์ส โครน, โฮร์น, กอกเคินลันด์, เมเดมบิค, โอปเมร์, สคาเกิน, สเตด บรูค, เทกเซล

กลุ่มอาล์คมาร์: อาลค์มาร์, แบร์เกิน, เฮร์ฮูโกวาร์ด, เฮโล, แลงเงอไดค์

กลุ่มไอโมนด์: เบเวอร์ไวค์, คาสทริคุม, เฮมสแคร์ก, เอาท์เกสท์, เวลเซน

กลุ่มฮาร์เลม: บลูเมินดาล, ฮาร์เลม, เฮมสเตด, ซันต์โฟร์ต

กลุ่มซานสเตรก: โวร์เมอร์ลันด์, ซานสตัด

กลุ่มเกรทเทอร์อัมสเตอร์ดัม: อาลส์เมร์, อัมสเติลเวน, อัมสเตอร์ดัม, เบมสเตอร์, ดิเมิน, เอดัม-โฟเลินดัม, ฮาร์เลมเมอร์เมร์, ลันด์สเมร์, โอสต์ซาน, เอาเดอร์-อัมสเทล, ปืร์เมอเร็นด์,  เอาท์โฮร์น, วาเทอร์ลันด์

กลุ่มโคยและเฟคสเตรก: บลาริคุม, โคยส์ เมเริน, ฮิลเฟอร์ซุม, เฮาเซิน, ลาเรน, เวสป์, ไวเดอเมเริน

ธรรมชาติ แก้

นอกจากมหานครอันยิ่งใหญ่แล้ว นอร์ทฮอลแลนด์ยังมีสถานที่ทางธรรมชาติที่สำคัญมากมาย เช่น ทะเลวัดเดิน อุทยานแห่งชาติเซาด์เคนเนอเมอร์ลันด์ เนินทรายในอุทยานแห่งชาติเทกเซล

เศรษฐกิจ แก้

จากการเป็นที่ตั้งเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์เป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เช่น ไฮเนเก้น ธนาคารไอเอ็นจี ธนาคารเอบีเอ็น อัมโร อัคโซโนเบิล ทอมทอม เดลตาลอยด์ บุคกิงดอทคอม และฟิลิปส์มีที่สำนักงานอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม บริษัทรันสตัดโฮลดิงอันเป็นบริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศก็มีสำนักงานที่ดิเมิน นอกจากนี้ บริษัทตรวจสอบบัญชีเคพีเอ็มจีและสายการบินเคแอลเอ็มก็มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อัมสเติลเวน[9][10]

อ้างอิง แก้

  1. (ในภาษาดัตช์) Noord-Hollands volkslied เก็บถาวร 2020-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Province of North Holland. Retrieved on 19 Januari 2019.
  2. "Oppervlakte". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-13. สืบค้นเมื่อ 2022-08-20.
  3. "CBS Statline". opendata.cbs.nl.
  4. https://ec.europa.eu/eurostat/documents/2995521/9618249/1-26022019-AP-EN.pdf/f765d183-c3d2-4e2f-9256-cc6665909c80 [bare URL PDF]
  5. XE.com average EUR/ USD ex. rate in 2017
  6. "Sub-national HDI – Area Database – Global Data Lab". hdi.globaldatalab.org. สืบค้นเมื่อ 13 September 2018.
  7. https://opendata.cbs.nl/statline/#/CBS/nl/dataset/37230ned/table
  8. https://opendata.cbs.nl/statline/#/CBS/nl/dataset/70072ned/table
  9. "Amstelveen hoofdkantoor", KPMG.com.
  10. KLM Office, Amstelveen.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้