จังหวัดธัญญบุรี
จังหวัดธัญญบุรี[1] บ้างสะกดว่า ธัญญบูรี หรือ ธัญญะบุรี[2] เป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัดของประเทศไทยในอดีต ที่เกิดขึ้นหลังการพัฒนาที่ดินของ บริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด ถือเป็นการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของไทย และมีการประกาศใช้โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสิทธิ์แห่งแรกของมณฑลกรุงเทพอันเป็นรากฐานพระราชบัญญัติโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2451[3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเมืองนามว่า "ธัญญบุรี" คือ "เมืองข้าว" และทรงตั้ง "เมืองมีนบุรี" คือ "เมืองปลา" ให้เป็นเมืองคู่กัน
จังหวัดธัญญบุรี | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
จังหวัด | |||||||||
พ.ศ. 2444 – 2475 | |||||||||
ยุคทางประวัติศาสตร์ | รัตนโกสินทร์ | ||||||||
• ก่อตั้ง | 6 เมษายน พ.ศ. 2444 | ||||||||
• ยกเป็นจังหวัด | พ.ศ. 2459 | ||||||||
• ยุบรวมกับจังหวัดปทุมธานี | 1 เมษายน พ.ศ. 2475 | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ไทย |
แต่หลังดำรงสถานะเป็นจังหวัดได้เพียง 31 ปี จังหวัดธัญญบุรีได้ถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474[1] เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอันเป็นผลพวงมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปทุมธานี และบางส่วนของเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร[4]
ประวัติ
แก้ก่อนการก่อตั้ง
แก้ก่อนการตั้งจังหวัดธัญญบุรี แต่เดิมพื้นที่นี้ขึ้นกับมณฑลกรุงเทพ เป็นป่ารกชัฏมีดินอุดมสมบูรณ์แต่ขาดแคลนน้ำเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่เรียกว่า "ทุ่งหลวง" มิอาจพัฒนาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์ได้เพราะขาดระบบชลประทาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ทรงก่อตั้ง บริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด ขอพระบรมราชานุญาตขุดคลองส่งน้ำเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2431 โดยมี โยคิม แกรซี (Joachim Grassi) วิศวกรชาวอิตาลี ดำเนินการขุดด้วยเครื่องจักรไอน้ำและกุลีจีน ด้วยพื้นที่สัมปทาน 840,000 ไร่ และเต็มโครงการอีก 960,000 ไร่ รวม 1,800,000 ไร่ แม้บริษัทต้องลงทุนมูลค่าหลายล้าน แต่ก็คุ้มค่าเพราะสามารถจัดสรรที่ดินขายได้ ชาวต่างประเทศจึงสนใจซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นับเป็นการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของไทย[3]
เมื่อขุดคลองเสร็จ พ.ศ. 2440 ได้มีการสร้างประตูน้ำทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานชื่อ "ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์" คู่กับ "ประตูน้ำเสาวภา" ทั้งพระราชทานชื่อคลองว่า "คลองรังสิตประยูรศักดิ์" ซึ่งเป็นพระนามของพระราชโอรสผู้เป็นพระนัดดาของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นเกียรติสืบมา[3][5]
แต่การพัฒนาที่ดินครั้งใหญ่นี้เองก็เกิดปัญหา เพราะมีข้าราชการออกตราจองดักหน้าการขุดคลองทับพื้นที่สัมปทานหลายราย ทั้งมีราษฎรนักเลงโตก่อวิวาทมิให้มีการขุด ทำร้ายคนงาน ตลอดจนทรัพย์สินของบริษัท ถึงขั้นมีการฟ้องร้องถึงฎีกาตัดสินความ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงประกาศใช้โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสิทธิ์ที่นี่เป็นแห่งแรกของมณฑลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ซึ่งเป็นรากฐานของพระราชบัญญัติโฉนดที่ดิน พ.ศ. 2451[3]
การพัฒนาเป็นเมืองและจังหวัด
แก้เมื่อดินดีน้ำอุดม ผู้คนก็หลั่งไหลเข้ามามาก รวมทั้งโจรผู้ร้ายก็ชุกชุมมากโดยเฉพาะปลายเขตจนเรียกกันว่า "หนองเสือ" คือ "เสือปล้น"[3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงแก้ปัญหาอีกครั้ง โดยการยกบริเวณนี้เป็นเมือง เรียกว่า "เมืองธัญญบูรี" ขึ้นกับมณฑลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2444 มีนายพันโทพระฤทธิจักรกำจร เป็นผู้ว่าราชการเมืองท่านแรก แบ่งการปกครองเป็น 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองธัญญบุรี อำเภอบางหวาย อำเภอลำลูกกา และอำเภอหนองเสือ ทรงแบ่งพื้นที่คลองแสนแสบตอนล่างเป็น "เมืองมีนบุรี" ให้เป็นเมืองข้าวเมืองปลาคู่กัน[3] และทรงมอบหมายให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมตั้งศาลที่เมืองธัญญบุรี จนมีการตั้งศาลเมืองเมื่อวันที่ 1 กันยายนปีเดียวกันนั้น โดยมีฐานะเป็นศาลหัวเมือง[6]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์[5] เสด็จเปิดศาลากลางเมืองธัญญบุรี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2445[7] โดยเสด็จพระราชดำเนินจากสถานีรถไฟสามเสนถึงสถานีรถไฟคลองรังสิต เวลาสองโมงเช้าเศษ มีผู้ว่าราชการเมือง ข้าราชการ และชาวเมืองได้อัญเชิญดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องสักการะ อัญเชิญลงสู่เรือพระที่นั่งสมจิตรหวัง ถึงเมืองเวลาสี่โมงเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดกราบบังคมทูลถวายรายงานประวัติเมืองและบรรจุลงหีบทองคำลงยาราชาวดีที่ชาวเมืองพร้อมใจทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสตอบ และทรงชักเชือกแพรคลุมป้าย ทหารกองเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประโคมแตรสังฆ์ฆ้องชัย และชักธงประจำเมืองขึ้นสู่ยอดเสา ราษฎรเข้าถวายข้าวสาร[3]
จากนั้นจึงเสด็จทอดพระเนตรห้องต่าง ๆ ของศาลาว่าราชการเมือง และสถานที่ราชการ เช่น โรงพักพลตระเวน (สถานีตำรวจ) ศาล และโรงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งประดับประดาด้วยต้นข้าว และเครื่องจับปลาชนิดต่าง ๆ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นประทับที่บ้านผู้ว่าราชการเมืองชั้นบน ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงออกเป็นเครื่องทรงธรรมดา และเสวยพระกระยาหารกลางวัน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการเลี้ยงกันบริเวณรอบบ้านพักผู้ว่าราชการเมือง[5] จากนั้นได้เสด็จมาพระราชทานวิสุงคามสีมาและปิดทองฝังลูกนิมิตวัดมูลจินดาราม จนถึงหกโมงเศษจึงเสด็จขึ้นรถไฟพระที่นั่งกลับวังสวนดุสิต[3]
ทั้งนี้ได้ทรงปลูกต้นอโศกไว้ที่เมืองธัญญบุรีด้วย ปัจจุบันตั้งอยู่ข้างสำนักงานเทศบาลตำบลธัญบุรี แต่ต้นอโศกดังกล่าวตายแล้วมีต้นกร่างกาฝากขึ้นแทน แต่ชาวบ้านก็ยังให้ความเคารพนับถือเคารพบูชากันอยู่[3] นอกจากนี้ยังทรงปลูกต้นมะฮอกกานี, ไทร และพิกุลด้วย[8]
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด ธัญญบุรีจึงเป็นจังหวัดหนึ่งขึ้นกับมณฑลกรุงเทพ[3]
การยุบรวมและผลกระทบ
แก้จังหวัดธัญญบุรีดำรงสภาพเป็นเมืองและจังหวัดอยู่นาน 31 ปี จนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดธัญญบุรีถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดปทุมธานี เพื่อประหยัดงบประมาณราชการ[1] เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนจังหวัดมีนบุรีที่เป็นเมืองคู่กันนั้น ได้ถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดพระนคร[1] แม้จะมีการยุบจังหวัดไปแล้วแต่ก็ไม่มีการยุบศาลเมืองธัญบุรี ล่วงมาในปี พ.ศ. 2477 ศาลดังกล่าวได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็น "ศาลจังหวัดธัญบุรี" ตามพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมพุทธศักราช 2477[6] ทั้งนี้แม้จะตั้งอยู่ในเขตจังหวัดปทุมธานี แต่การเบิกเงินเดือนรวมทั้งเงินประเภทอื่น ๆ จะต้องเบิกจากกระทรวงยุติธรรมโดยตรง มิได้เบิกจากคลังจังหวัดปทุมธานีดังเช่นศาลในหัวเมืองอื่น ๆ ดังนี้จึงมีผู้นิยมเรียกศาลนี้ว่า "ศาลภูบาล" เพราะเป็นศาลหัวเมืองศาลเดียวเท่านั้น ที่เบิกเงินจากกระทรวงยุติธรรมโดยตรง[6]
หลังจากนั้นเป็นต้นมา พื้นที่ของอดีตจังหวัดธัญญบุรี ได้เปลี่ยนแปลงจากการเป็นแหล่งผลิตข้าวสู่เมืองหลวง ไปเป็นชานเมืองที่รองรับโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านจัดสรร ด้วยบริเวณนี้สะดวกกับการเดินเข้ากรุงเทพมหานครมากกว่าปทุมธานี ราชการส่วนกลางจึงแยกมาตั้งหน่วยที่นี่มากกว่า อาทิ พิพิธภัณฑ์, สถานสงเคราะห์ หรือมหาวิทยาลัย[3] แม้ว่าชาวธัญบุรีจะมีรายได้จากการขายหรือเช่าที่นาเดิมแต่เอกลักษณ์ของเมืองข้าวเดิมก็หายไป[3] ในปี พ.ศ. 2552 ผู้รับเหมาของการประปารังสิตได้ขุดต้นพิกุล ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลูกสองต้นทิ้งลงคลองรังสิต เพื่อวางแนวท่อประปา[8]
อนึ่ง วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2510 ราชบัณฑิตยสถานได้เปลี่ยนแปลงการสะกดจาก ธัญญบุรี เป็น ธัญบุรี
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้จังหวัดธัญญบุรี แบ่งเขตการปกครองทั้งหมด 4 อำเภอ คือ[2]
- อำเภอเมือง (หรืออำเภอรังสิต)
- อำเภอลำลูกกา
- อำเภอคลองหลวง (หรืออำเภอบางหวาย)
- อำเภอหนองเสือ
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "พระบรมราชโองการ ประกาศ ยุบรวมท้องที่บางมณฑลและบางจังหวัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48: 576–578. 21 กุมภาพันธ์ 2474. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2013-11-05.
- ↑ 2.0 2.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 (0 ก): 34–55. 29 เมษายน 2460. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2013-11-05.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 สิทธิพร ณ นครพนม. "ชื่อ "ธัญบุรี" เพราะมี "ข้าว"". ใน ศิลปวัฒนธรรม. 22:4 (กุมภาพันธ์ 2544), หน้า 62-64
- ↑ สำนักงานเขตสายไหม. ประวัติความเป็นมาของสำนักงานเขตสายไหม.[ลิงก์เสีย] สืบค้น 25 ตุลาคม 2551.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 น้าชาติ ประชาชื่น (31 ตุลาคม 2556). "อำเภอธัญบุรี". ข่าวสด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 28 พฤษภาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 6.0 6.1 6.2 "ประวัติศาลจังหวัดธัญบุรี". พิพิธภัณฑ์ศาลไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-28. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-03. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
- ↑ 8.0 8.1 "โวยผู้รับเหมาโค่นต้นพิกุลร.5". สนุกดอตคอม. 28 กรกฎาคม 2552. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)