ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี

ทางยกระดับในกรุงเทพมหานคร

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี เป็นทางยกระดับ กว้าง 4-5 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร คร่อมและคู่ขนานไปกับถนนบรมราชชนนี จากทางแยกอรุณอมรินทร์ถึงย่านพุทธมณฑล สาย 2 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร ที่ส่งผลต่อไปถึงถนนราชดำเนินและถนนหลานหลวง รวมทั้งฝั่งธนบุรีที่ส่งผลถึงถนนบรมราชชนนีและถนนย่านชานเมือง

จุดเริ่มต้นทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ต่อเนื่องจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ลักษณะโครงการ

แก้

ลักษณะโครงการเป็นสะพานยกระดับ สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการจราจร จากบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงทางแยกตลิ่งชัน ถนนบรมราชชนนีทั้งขาเข้าและขาออก และเพื่อแยกการจราจรของยวดยานที่ต้องการเดินทางระยะไกลออกจากยวดยานที่เดินทางในระยะใกล้ ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงทางแยกตลิ่งชันบนถนนบรมราชชนนี เริ่มที่เกาะกลางจากทางแยกอรุณอมรินทร์ถึงพุทธมณฑล สาย 2 โดยขาออกจะขึ้นที่ทางแยกอรุณอมรินทร์ ลงได้ 3 จุดที่ตลิ่งชัน หน้าหมู่บ้านกฤษดานคร และใกล้วงแหวนฉิมพลี ไม่มีทางขึ้นระหว่างทาง ส่วนขาเข้าขึ้นที่ต้นทางก่อนถึงพุทธมณฑล สาย 2 ขึ้นได้ที่หน้าหมู่บ้านกฤษดานครและตลิ่งชัน และจะไม่มีทางลงระหว่างทาง[1]

ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

  1. ช่วงสมเด็จพระปิ่นเกล้า - สิรินธร อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 4.515 กิโลเมตร จากบริเวณทางแยกอรุณอมรินทร์ถึงทางแยกต่างระดับสิรินธร เป็นทางยกระดับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตอัดแรง บนถนนบรมราชชนนี สูงเหนือผิวจราจรเดิมประมาณ 12.00 เมตร กว้าง 19.45 เมตร มีช่องทางจราจร 5 ช่องทาง (ช่วงทางแยกอรุณอมรินทร์ถึงทางแยกบรมราชชนนี) และ 4 ช่องจราจร (ช่วงทางแยกบรมราชชนนีถึงทางแยกต่างระดับสิรินธร) ช่องทางละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.25 เมตร แบ่งเป็นช่องทางขาออก 2 ช่องทาง และช่องทางขาเข้า 2 ช่องทาง พื้นผิวจราจร คอนกรีตเสริมเหล็กและปูทับหน้าด้วยแอสฟัลท์ผสมร้อนหนา 5 เซนติเมตร พร้อมเกาะกลางเพื่อแยกทิศทางการจราจร[2]
     
    ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ทิวทัศน์จากทางวิ่งรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
  2. ช่วงสิรินธร - พุทธมณฑลสาย 2 อยู่ในความรับผิดชอบของหมวดทางหลวงตลิ่งชัน แขวงทางหลวงธนบุรี กรมทางหลวง ระยะทาง 9.363 กิโลเมตร ต่อเนื่องกับทางช่วงแรกจากทางแยกต่างระดับสิรินธร-แยกพุทธมณฑล กม.3+386 ถึงถนนทางแยกต่างระดับฉิมพลี กม.13+200 ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณเลยจุดข้ามทางแยกพุทธมณฑล สาย 2 ไปอีก 500 เมตร (ปัจจุบันคือบริเวณด้านหน้าทางเข้าหมู่บ้านกฤษดานคร โครงการ 20 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 10 ของถนนบรมราชชนนี และบริเวณตรงข้ามกับบริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด ตรงซอยบรมราชชนนี 64) โดยลักษณะโครงการเป็นสะพานยกระดับสูง 15.00 เมตร กว้าง 19.50 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร แยกทิศทางไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีทางขึ้นลง 2 แห่ง นอกจากนี้ ยังขยายถนนในระดับพื้นล่างเพิ่มจาก 8 ช่องจราจร แบ่งเป็น 12 ช่องจราจร แบ่งเป็นช่องทางด่วน 6 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร และทางคู่ขนานด้านละ 3 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.00 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานกลับรถอีก 2 แห่งเพื่อใช้กลับรถด้วย ปัจจุบัน ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ในส่วนของกรมทางหลวง ได้มีการปรับกิโลเมตรใหม่ โดยให้เริ่มนับ กม.0 ที่บริเวณหน้าคอนโดลุมพินี เพลส บรมราชชนนี-ปิ่นเกล้า ตรงซอยบรมราชชนนี 35 ไปจนถึงจุดสิ้นสุดทางคู่ขนานลอยฟ้าที่หน้าหมู่บ้านกฤษดานคร ระยะทางในส่วนของกรมทางหลวง 8 กิโลเมตร[3]
     
    ถนนบรมราชชนนีและทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี บริเวณทางขึ้นลงต่างระดับฉิมพลี

ประวัติ

แก้

ระหว่างปี พ.ศ. 2534-2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระประชวรและเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง แต่ละครั้งนาน 2-3 เดือน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ ได้ทอดพระเนตรเห็นปัญหาจราจรติดขัดครั้งละนานๆ ในบริเวณดังกล่าว เช่น มีรถฝั่งพระนครจำนวนมากรอขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพื่อออกนอกเมืองไปตามถนนบรมราชชนนีสู่อำเภอนครชัยศรี แต่การระบายรถทำได้ช้าส่งผลให้รถติดตลอดถนนราชดำเนินไปจนถึงถนนหลานหลวง และบางครั้งส่งผลกระทบไปถึงถนนสายหลักอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ฝั่งธนบุรีบริเวณสะพานข้ามทางแยกอรุณอมรินทร์และทางแยกบรมราชชนนีมีระยะทางใกล้กันมาก ทำให้รถที่ลงจากสะพานอรุณอมรินทร์เบี่ยงเข้าช่องซ้ายไปยังถนนบรมราชชนนีได้ลำบาก ปริมาณรถจึงคับคั่งและติดขัด

 
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2541 (ภาพจิตรกรรมภายในพระที่นั่งทรงธรรม มณฑลพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2560)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระประชวรและเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง ระหว่างประทับรับการรักษา ได้มีพระราชดำริหลากหลายประการเกี่ยวกับปัญหาจราจร รวมทั้งการสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายถนนจตุรทิศ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแนวพระราชดำริให้สร้างทางคู่ขนานยกระดับคร่อมเหนือสะพานข้ามทางแยกอรุณอมรินทร์และสะพานข้ามทางแยกบรมราชชนนี เพื่อให้การจราจรคล่องตัวยิ่งขึ้น ช่วยระบายรถออกนอกเมืองได้เร็วที่สุด บรรเทาปัญหาจราจรที่ติดขัดในถนนราชดำเนินต่อเนื่องถึงถนนหลานหลวง และได้พระราชทานแผนผังลายพระหัตถ์แก่กรุงเทพมหานครนำไปศึกษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2538 มีพระราชประสงค์ให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจราจรร่วมมือกัน เช่น กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร[4]

นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา) และปลัดกรุงเทพมหานคร (นายประเสริฐ สมะลาภา) มาประชุมร่วมกันเพื่อสนองพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรให้ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผลการประชุมสรุปได้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าจากทางแยกอรุณอมรินทร์ถึงคลองบางกอกน้อย ระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร และกรมทางหลวงรับผิดชอบก่อสร้างจากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงแยกพุทธมณฑล สาย 2 โดยให้รูปแบบสะพาน เสาและคานมีลักษณะเป็นรูปแบบเดียวกันหมด เป็นระยะทางประมาณ 9.4 กิโลเมตรและจากบริเวณทางยกระดับสิรินธรไปจนเลยทางแยกพุทธมณฑล สาย 2 อีก 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังจะได้ก่อสร้างขยายช่องจราจรระดับพื้นราบจากเดิมที่มี 8 ช่องจราจร เพิ่มขึ้นเป็น 12 ช่องจราจรพร้อมทั้งมีการปลูกต้นไม้ที่เกาะกลาง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเห็นชอบตามคำกราบบังคมทูล และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์เริ่มโครงการดังกล่าวในวันที่ 16 เมษายน 2539[5]

กรมทางหลวงเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเอง โดยว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ 3 ราย คือบริษัทบุญชัยพาณิชย์ ( 1979 ) จำกัด ก่อสร้างตอนที่ 1 บริษัท พี พี ดี คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อสร้างตอนที่ 2 และบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวลอปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างตอนที่ 3 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 4,461,609,680 บาท ระยะเวลาในการก่อสร้าง 600 วัน เริ่มต้นสัญญาวันที่ 7 พฤษภาคม 2539 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 26 เมษายน 2541

เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีไปทรงเปิดทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาฉายภาพอธิบดีกรมทางหลวง (นายศรีสุข จันทรางศุ) และปลัดกรุงเทพมหานครที่ยืนคู่กัน ณ บริเวณ Joint โดยหลังจากเสด็จพิธีตัดริบบิ้นแถบแพรเปิดทางแล้ว ทรงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯไปตามทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี[6]

หลังจากที่โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยระบายการจราจรจากพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สู่ถนนบรมราชชนนี ถนนสิรินธร ทางหลวงพิเศษสายบางกอกน้อย-นครชัยศรี ให้สามารถสัญจรไปมาด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยยิ่งขี้น เนื่องจากมีช่องจราจรรองรับถึง 16 ช่องจราจร และเพิ่มความคล่องตัว ให้กับยานพาหนะที่เดินทางสู่ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และพื้นที่ชานเมืองใกล้เคียง

รายชื่อทางขึ้นลงและทางต่างระดับ

แก้
รายชื่อทางขึ้น-ลงบน ถนนทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ทิศทาง: สมเด็จพระปิ่นเกล้า - สิรินธร - พุทธมณฑลสาย 2
จังหวัด กม.ที่ ชื่อทางแยก เข้าเมือง ออกเมือง
ทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ สมเด็จพระปิ่นเกล้า - สิรินธร
กรุงเทพมหานคร ต่างระดับอรุณอมรินทร์ เชื่อมต่อจาก: ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไป สะพานปิ่นเกล้า, สนามหลวง, ถนนราชดำเนิน
รับรถจาก สะพานพระราม 8, ถนนอรุณอมรินทร์ ไป ศิริราช ทางออก ไปสะพานพระราม 8 (มีทางลงไป ถ.อรุณอมรินทร์ในช่องทางขวาสุด), ถนนอรุณอมรินทร์ ไป สะพานพระราม 8, สวนหลวงพระราม 8
ต่างระดับตลิ่งชัน ไม่มี ทางลง   ถนนสิรินธร ไป บางพลัด
ทางขึ้น-ลงตลิ่งชัน ทางลง ไป สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ทางขึ้น ไป   ถนนสิรินธร, บางพลัด, สะพานพระราม 8
  สิรินธร - พุทธมณฑลสาย 2
เชื่อมต่อจาก: สมเด็จพระปิ่นเกล้า - สิรินธร (ส่วนของกรุงเทพมหานคร)
กรุงเทพมหานคร 4+600 ทางขึ้น-ลงฉิมพลี ไม่มี ไม่มี
8+944 ทางขึ้น-ลงพุทธมณฑลสาย 2 (หน้าหมู่บ้านกฤษดานคร 20) ทางลง ไป   ถนนบรมราชชนนี ไป ถนนพุทธมณฑล สาย 3,นครปฐม ทางขึ้น ไป   ถนนสิรินธร, บางพลัด, สะพานพระราม 8
ทางขึ้น-ลงทวีวัฒนา ทางลง ไป   ถนนบรมราชชนนี ไป ถนนทวีวัฒนา,  ถนนพุทธมณฑล สาย 3 ทางขึ้น ไป   ถนนสิรินธร, บางพลัด, สะพานพระราม 8
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

โครงการส่วนต่อขยายพุทธมณฑลสาย 2 - พุทธมณฑลสาย 4 / ศาลายา - นครชัยศรี

แก้

[7]

พุทธมณฑลสาย 2 - พุทธมณฑลสาย 4

ช่วงพุทธมณฑลสาย 3 (ส่วนต่อขยายจากสาย 2)-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 3.360 กม.

ศาลายา - นครชัยศรี

แก้

2. ช่วงพุทธมณฑลสาย 4-ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ระยะทาง 17.980 กม.

ประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอขอรับงบก่อสร้างปี 71-75 ต่อไป

อ้างอิง

แก้
  1. http://arcit.bsru.ac.th/royal9/index.php?option=com_content&task=view&id=37&Itemid=34 เก็บถาวร 2010-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฐานข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพระราชดำริ ถนนคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี
  2. "โครงการพระราชดำริ ถนนคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-08. สืบค้นเมื่อ 2012-12-04.
  3. "โครงการในพระราชดำริ โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-12. สืบค้นเมื่อ 2012-12-04.
  4. สารานุกรมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี[ลิงก์เสีย]
  5. "โครงการในพระราชดำริ โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-12. สืบค้นเมื่อ 2012-12-04.
  6. "โครงการในพระราชดำริ โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-12. สืบค้นเมื่อ 2012-12-04.
  7. จิราสิต, จิรา. "ได้งบแล้ว 4,490 ล้าน! ขยายทางลอยฟ้าบรมราชชนนี ถึงสาย 4 เร่งประมูลสร้างเสร็จปี 70". เดลินิวส์.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°46′37″N 100°25′48″E / 13.776810°N 100.430106°E / 13.776810; 100.430106