ชนัตถ์ ปิยะอุย
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย (นามเดิม หยก แซ่หวัง; 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563[1]) ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริษัท ดุสิตธานี จำกัด อดีตนายกสมาคมโรงแรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา[2] อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2516
ชนัตถ์ ปิยะอุย | |
---|---|
สมาชิกวุฒิสภาไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 22 มีนาคม 2539 – 21 มีนาคม 2543 | |
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 16 ธันวาคม 2516 – 25 มกราคม 2518 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | หยก แซ่หวัง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 |
เสียชีวิต | 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 (97 ปี) |
คู่สมรส | ปวิต โทณวณิก (หย่า) |
บุตร | ชนินทธ์ โทณวณิก สินี เธียรประสิทธิ์ สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค |
ประวัติ
แก้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย หรือ หยก แซ่หวัง เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 บิดาและมารดา ชื่อ พุฒ และลูกจันทน์ ปิยะอุย บิดาเคยเป็นพ่อค้าไม้ชื่อดังในภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนมารดาประกอบการค้าข้าว มีพี่น้องด้วยกัน 6 คน คือ สุภา ปิยะอุย, สุนีรัตน์ เตลาน (ใช้นามสกุลมารดา), ชนัตถ์ ปิยะอุย, ชยาภรณ์ ปิยะอุย, พันโทวรพงษ์ ปิยะอุย และสมพจน์ ปิยะอุย[3] เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสาวภา ต่อมาศึกษาต่อที่โรงเรียนศึกษานารี เตรียมธรรมศาสตร์ และได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ. 2492 ท่านผู้หญิงชนัตถ์ เปิดโรงแรมปริ๊นเซสเป็นแห่งแรกขึ้นที่ถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นโรงแรมใจกลางเมืองแห่งแรก ๆ ที่มีสระว่ายน้ำ ลิฟต์ และเครื่องปรับอากาศ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด[4] และดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ประสบความสำเร็จเป็นลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ทำการเปิดโรงแรมดุสิตธานี และได้ขยายกิจการธุรกิจบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังได้ก่อตั้งวิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันการศึกษาด้านการโรงแรมและบริหารการท่องเที่ยว และโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต นอกจากนี้ยังทำงานให้กับสมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ เช่น ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประธานกรรมการบริหารสวนหลวง ร.9 และประธานมูลนิธิคุณากร ในพระราชูปถัมภ์[5] ท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นบุคคลที่มีคุณูปการด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ และได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น บุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่งแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี พ.ศ. 2527, นักบริหารโรงแรม-นักธุรกิจสตรีแห่งปี ประจำปี พ.ศ. 2532 และรางวัล "SHTM Lifetime Achievement Award 2018" ประจำปี พ.ศ. 2561 จาก มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกง ที่มอบให้แก่ผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการโรงแรมระดับโลก โดยเป็นสุภาพสตรีเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ สมรสกับปวิต โทณวณิก บุตรของพระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก) ผู้ก่อตั้งสถานธนานุเคราะห์ อดีตประธานธนาคารศรีนคร ชีวิตสมรสของทั้งสอง ค่อนข้างลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอด เนื่องจากอุปนิสัยที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก จึงเป็นชนวนให้ชีวิตสมรสมีอันต้องหย่าร้างกันในที่สุด ชนัตถ์บอกว่า เธอไม่พอใจที่ปวิตไปค้ำประกันซื้อของให้ญาติคนหนึ่งแล้วตัวเองต้องมาเป็นผู้รับใช้ ซึ่งเธอเคยประสบปัญหานี้มาแล้วกับพ่อที่ต้องล้มละลายเนื่องจากไปช่วยเหลือเพื่อน
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ มีบุตรธิดา 3 คน คือ ชนินทธ์ โทณวณิก, สินี เธียรประสิทธิ์ และสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สิริอายุ 97 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อพระราชทานเพลิงศพ[6]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[7] ดังนี้
- พ.ศ. 2542 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[8]
- พ.ศ. 2539 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[9]
- พ.ศ. 2543 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายใน)[10]
- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[11]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ปิดตำนานสตรีเหล็กดุสิตธานี "ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย"". thansettakij. สืบค้นเมื่อ 4 May 2020. (in Thai)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (แต่งตั้งขึ้นใหม่ทั้งคณะ จำนวน 260 ราย)
- ↑ "โลกลับชนัตถ์ ปิยะอุย บางเรื่องของม่ายใจดำที่จำต้องยอม". นิตยสารผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "อาลัย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย หญิงเหล็กแห่งวงการการโรงแรม และการท่องเที่ยว ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี โรงแรม 5 ดาวแห่งแรกของไทย". หนังสือพิมพ์แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย". news.ch7.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-18. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ข่าวในพระราชสำนัก [1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2563" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 137 (36ข): 82. 4 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2564.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๒๔, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๓๙, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๔, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๑๙, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒