พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
(เปลี่ยนทางจาก ฉบับหลวงประเสริฐ)

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ เป็นพระราชพงศาวดารไทยซึ่งหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) พบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่งหนึ่งและนำมาให้หอพระสมุดวชิรญาณใน พ.ศ. 2450 หอพระสมุดจึงตั้งชื่อว่า ฉบับหลวงประเสริฐ ให้เป็นเกียรติแก่ผู้พบ[9]

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า
ฉบับหลวงประเสริฐ
หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
เอกสารตัวเขียน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ เลขที่ 30 (ชุดอยุธยา) จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเภทพงศาวดาร
วันที่เขียน
  • ไม่ระบุ
  • (มีรับสั่งใน พ.ศ. 2223)[1]
ภาษาไทย
ผู้แต่ง
  • ไม่ระบุ
  • (เชื่อว่าเป็นโหรหลวงบรรดาศักดิ์ "โหราธิบดี")[2][3]
ผู้จัดให้มี
วัสดุสมุดไทย
สภาพ
  • บางเล่มอักษรลบเลือนบางส่วน
  • เชื่อว่าเนื้อหาขาดหายบางส่วน[8]
อักษรไทย
เนื้อหาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
การค้นพบหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) ใน พ.ศ. 2450[9]

บานแผนกของพงศาวดารกล่าวว่า พงศาวดารนี้เกิดจากการที่มีรับสั่งใน จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) ให้คัดจดหมายเหตุต่าง ๆ เข้าด้วยกัน[1] และนักประวัติศาสตร์เห็นว่า ผู้มีรับสั่งคือสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะปีที่ระบุไว้ตรงกับรัชสมัยของพระองค์[4][5][6][7] นอกจากนี้ พงศาวดารไม่ได้เอ่ยถึงผู้แต่ง แต่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกบางคนเชื่อว่าเป็นผลงานของโหรหลวงที่มีบรรดาศักดิ์ว่า "โหราธิบดี"[2][3]

เนื้อหาของพงศาวดารว่าด้วยเหตุการณ์เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่การสร้างพระพุทธรูปเจ้าพแนงเชีงใน จ.ศ. 686 (พ.ศ. 1867) ตามด้วยการสถาปนากรุงศรีอยุธยาใน จ.ศ. 712 (พ.ศ. 1893) มาจนค้างที่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคราวที่ทรงยกทัพไปอังวะใน จ.ศ. 966 (พ.ศ. 2147) ต้นฉบับมีเนื้อหาเท่านี้ แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าน่าจะมีต่อ จึงทรงเพียรหา กระทั่งทรงได้ฉบับคัดลอกในสมัยกรุงธนบุรีมาเมื่อ พ.ศ. 2456 ซึ่งมีเนื้อหาเท่ากัน จึงทรงเห็นว่า เนื้อหาที่เหลือคงสูญหายมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อยแล้ว[8]

พงศาวดารนี้เป็นที่เชื่อถือด้านความแม่นยำ[4][10][11] เหตุการณ์และวันเวลาที่ระบุไว้สอดคล้องกับเอกสารต่างประเทศ[12] ทั้งให้ข้อมูลที่ไม่ปรากฏในพงศาวดารสมัยหลัง[10] นอกจากนี้ ยังเขียนโดยใช้ศิลปะทางภาษาน้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงการแทรกความคิดความรู้สึกส่วนตัวของผู้แต่งลงไป[11] อย่างไรก็ดี เนื้อหาที่เขียนแบบย่อ ๆ ไม่ลงรายละเอียด และไม่พรรณนาเหตุการณ์ให้สัมพันธ์กันนั้น ถูกวิจารณ์ว่า เข้าใจยาก[11] และแทบไม่เป็นประโยชน์ต่อนักประวัติศาสตร์ที่พยายามจำลองภาพในอดีตของไทย[13]

การพบ

แก้

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2457) ว่า ได้ต้นฉบับพงศาวดารนี้มาเมื่อ พ.ศ. 2450[14] และทรงเล่ารายละเอียดไว้ใน นิทานโบราณคดี เรื่องที่ 9 หนังสือหอหลวง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2487) ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์) พบหญิงชราผู้หนึ่งกำลังรวบรวมสมุดไทยดำใส่กระชุอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่ง หญิงนั้นบอกว่า จะเอาสมุดเหล่านี้ไปเผาไฟทำเป็นสมุกไว้ใช้ลงรัก หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ขอดู พบสมุดต้นฉบับพงศาวดารนี้อยู่ในบรรดาสมุดที่จะเอาไปเผา จึงออกปากว่าอยากได้ หญิงชราก็ยกให้ไม่หวงแหน หลวงประเสริฐอักษรนิติ์นำสมุดนั้นมาให้หอพระสมุดวชิรญาณ กรรมการหอพระสมุดตรวจดูแล้วเห็นเป็นพงศาวดารเก่าแก่ ศักราชแม่นยำกว่าฉบับอื่น จึงตั้งชื่อว่า "ฉบับหลวงประเสริฐ" ให้เป็นเกียรติแก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์[9]

เกี่ยวกับสถานที่พบสมุดนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน นิทานโบราณคดี ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง"[15] และทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติไปพบต้นฉบับที่บ้านราษฎรแห่ง 1"[8] ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้ข้อมูลในการแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์พบสมุดนี้ที่เมืองเพชรบุรี[16] และนาฏวิภา ชลิตานนท์ ก็เขียนใน ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2524) ว่า "หลวงประเสริฐอักษรนิติ์...ได้ต้นฉบับมาจากราษฎรคนหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี"[17]

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1 ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์นำสมุดมามอบให้หอพระสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450[8] ตรงกับที่ทะเบียนของหอสมุดแห่งชาติระบุว่า "19/3/2450" (19 มิถุนายน พ.ศ. 2450)[18]

สมุดที่ได้มามีเล่มเดียว ลายมืออยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื้อหาค้างอยู่ที่ จ.ศ. 966 (พ.ศ. 2147) ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่บานแผนกของสมุดระบุว่า ให้เขียนถึงปัจจุบัน คือ จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงเชื่อว่าน่าจะมีอีกเล่มเป็นเล่มสอง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเพียรสืบหาเรื่อยมา แต่ก็ไม่พบ กระทั่งใน พ.ศ. 2456 ทรงได้สมุดพงศาวดารเนื้อความอย่างเดียวกันมาอีกชุด มีสองเล่มต่อกัน เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ดีพระทัย แต่เมื่อทรงตรวจดู ปรากฏว่า เนื้อหามาค้างที่ จ.ศ. 966 เหมือนกันแบบคำต่อคำ จึงเข้าพระทัยว่า เป็นฉบับคัดลอกจากฉบับที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ไปพบนั้นเอง เนื้อหาที่เหลือคงสูญหายมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว และตรัสว่า "สิ้นหวังที่จะหาเรื่องได้อีกต่อไป"[8]

ต่อมาใน พ.ศ. 2511 คุณหญิงปทุมราชพินิจจัย (ปทุม บุรณศิริ) มอบสมุดพงศาวดารชุดหนึ่งให้หอสมุดแห่งชาติ[18] เนื้อหาอย่างเดียวกับสมุดที่ได้มาก่อนหน้าทั้งสองชุด ค้างอยู่ที่ จ.ศ. 966 เช่นกัน โดยอาลักษณ์หมายเหตุไว้ว่า "สิ้นฉบับแล้ว หาต่อไปเถิด"[19] อาลักษณ์ยังระบุว่า สมุดชุดนี้เขียนเสร็จใน จ.ศ. 1149 (พ.ศ. 2330) ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[18]

เอกสารตัวเขียน

แก้
เอกสารตัวเขียน ชุดธนบุรี

สมุดไทยที่ได้มามีอยู่สามชุด

  • ชุดอยุธยา คือ ชุดที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์มอบให้หอพระสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงระบุใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1[8] ตรงกับทะเบียนของหอสมุดแห่งชาติที่ระบุว่า "19/3/2450" (19 มิถุนายน พ.ศ. 2450)[18] ชุดนี้เป็นสมุดไทยดำหนึ่งเล่ม เขียนด้วยหมึกสีเหลืองทำจากหรดาล ลายมือสมัยกรุงศรีอยุธยา มีรอยถูกฝนชื้น และหมึกลบเลือนไปหลายแห่ง[8] หอสมุดแห่งชาติขึ้นทะเบียนว่า "พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง ลำดับศักราช สมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ) เลขที่ 30 มัดที่ 2 ตู้ 111 ชั้น 1/1 (ตัวหรดาล เขียนครั้งอยุธยา)"[1]
  • ชุดธนบุรี ได้มาเมื่อปี พ.ศ. 2456 เป็นสมุดไทยดำสองเล่มต่อกัน เขียนขึ้นเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ในรัชกาลสมเด็จพระกรุงธนบุรี แต่เนื้อหาเท่ากับฉบับที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ได้มานั้นเอง[8] สมุดชุดนี้อักษรยังสมบูรณ์ดี จึงมีประโยชน์ที่สามารถใช้สอบทานกับสมุดของหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ซึ่งตัวอักษรเลือนไปหลายแห่งแล้ว[8] ในการพิมพ์ ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1 เมื่อ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรระบุว่า สมุดชุด พ.ศ. 2317 นี้หาไม่พบแล้ว[1] อย่างไรก็ดี สำนักนายกรัฐมนตรีเคยนำสมุดชุดนี้ออกพิมพ์ โดยคงการเขียนสะกดคำไว้ตามเดิม พิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1 เมื่อ พ.ศ. 2510[20]
  • ชุดรัตนโกสินทร์ หรือ ชุดรัชกาลที่ 1 คือ ชุดที่คุณหญิงปทุมราชพินิจจัย (ปทุม บุรณศิริ) มอบให้แก่หอสมุดแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2511[18] เป็นสมุดไทยดำ เขียนด้วยดินสอขาว[18] อาลักษณ์ลงหมายเหตุไว้ว่า อาลักษณ์ชื่อ ชุม และเขียนจบ ณ วันจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 1 ปีมะแม จ.ศ. 1149 ตรงกับวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2330[19] ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[18] หอสมุดแห่งชาติขึ้นทะเบียนว่า "พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ลำดับศักราชกรุงศรีอยุธยา จ.ศ. 686–966 เลขที่ 30/ก มัดที่ 2 ตู้ 111 ชั้น 1/1 (ตัวดินสอขาว คัดลอกครั้งรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)"[1]

การแต่ง

แก้

บานแผนกของสมุดเองระบุว่า

"ศุภมัสดุ 1042 ศก วอกนักษัตร ณ วัน 4 12 5 ค่ำ ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ให้เอากฎหมายเหตุของพระโหรเขียนไว้แต่ก่อน แลกฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ แลเหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดารนั้นให้คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว ให้ระดับศักราชกันมาคุงเท่าบัดนี้"[1]

แสดงว่า พงศาวดารนี้เกิดจากรับสั่งที่ให้นำเอกสารสองประเภท คือ "กฎหมายเหตุของพระโหร" และ "กฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ" ออกมา แล้วคัดเหตุการณ์เนื่องในพระราชพงศาวดารที่มีอยู่ในเอกสารเหล่านั้นเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยเรียงลำดับตามปีเรื่อยมาจนปัจจุบัน[21] แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตีความว่า รับสั่งดังกล่าวให้นำข้อความจากเอกสารสามประเภท คือ "กฎหมายเหตุของพระโหร", "กฎหมายเหตุซึ่งหาได้แต่หอหนังสือ", และ "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" มาคัดเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยทรงเห็นว่า "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" นี้หมายถึงจดหมายเหตุที่เก็บไว้ในหอศาสตราคม และทรงระบุว่า เป็นธรรมเนียมเก่าที่มหาดเล็กสองตำแหน่ง คือ นายเสน่ห์และนายสุจินดาหุ้มแพร จะบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เก็บไว้ในหอนี้[22] ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เห็นว่า พงศาวดารนี้มาจากเอกสารสามประเภทเช่นกัน โดยประเภทที่สาม "เหตุซึ่งมีในพระราชพงษาวดาร" นั้น เขาเห็นว่า หมายถึงเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนจะเขียนฉบับนี้ เช่น พระราชพงศาวดาร ฉบับปลีก[7]

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารฉบับนี้อาจนำแหล่งข้อมูลชั้นต้นจากราชสำนักพิษณุโลกมาใช้ด้วย เพราะไม่สับสนเหตุการณ์ช่วงที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายราชสำนักขึ้นไปพิษณุโลก ในขณะที่พงศาวดารสมัยหลังล้วนสับสนเหตุการณ์ตอนนี้ อนึ่ง พงศาวดารฉบับนี้ยังระบุเหตุการณ์ช่วงนี้คล้ายกับที่ปรากฏในจารึกวัดจุฬามณีพิษณุโลก[23]

ตามบานแผนกข้างต้น การจัดทำพงศาวดารฉบับนี้เป็นไปตามรับสั่งที่มีขึ้นเมื่อวัน 4 12 5 ค่ำ (วันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5) ปีวอก จ.ศ. 1042 ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2223[1] บานแผนกมิได้ระบุว่ารับสั่งเป็นของใคร แต่วันเวลาดังกล่าวตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสรุปว่า "พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เปนหนังสือเรื่องพงษาวดารกรุงเก่า ซึ่งสมเด็จพระนารายน์มหาราชมีรับสั่งให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อปีวอก โทศก จุลศักราช 1042 พ.ศ. 2223"[4] ข้อสรุปนี้ดูจะเป็นที่ยอมรับ เช่น นาฏวิภา ชลิตานนท์ เขียนว่า "บานแผนกแจ้งไว้ว่าเขียนขึ้นโดยพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์เมื่อ พ.ศ. 2223"[5] สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนว่า "สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีรับสั่งให้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารขึ้น ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ"[6] และนิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนว่า "รับสั่งของสมเด็จพระนารายณ์ในบานแผนก...ให้รวบรวมเรื่องราวในหลักฐานต่าง ๆ และในพระราชพงศาวดาร 'คัดเข้าด้วยกันเป็นแห่งเดียว'"[7]

แม้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งเลยในตัวพงศาวดารเองหรือในที่อื่น แต่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกบางคนเชื่อว่า พงศาวดารนี้เป็นผลงานของโหรหลวงที่มีบรรดาศักดิ์ว่า "โหราธิบดี" เช่น เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) เขียนว่า พงศาวดารนี้ "เชื่อกันว่าเขียนขึ้นโดยอาลักษณ์หรือโหรหลวงชื่อหลวงโหราธิบดีในราว ค.ศ. 1680"[2] และเอียน ฮอดส์ (Ian Hodges) เขียนว่า "พงศาวดารหลวงประเสริฐ (พลป.) ดังที่รู้จักกันในสมัยนี้ เขียนขึ้นเมื่อ 226 ปีก่อน ใน ค.ศ. 1681 โดยหัวหน้าโหรหลวงของสยาม (พระโหราธิบดี) ตามรับสั่งของพระนารายณ์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1656–1688)"[3]

เนื้อหา

แก้

เนื้อหาของสมุดที่ได้มานั้นว่าด้วยเหตุการณ์เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา เริ่มที่การสร้างพระพุทธรูป "เจ้าพแนงเชีง" ในปีชวด จ.ศ. 686 (พ.ศ. 1867)[1] ตามด้วยการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จ.ศ. 712 (ตรงกับวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893)[1] แล้วดำเนินเรื่อยมาจนมาค้างที่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนที่เสด็จออกจาก "ปาโมก" โดยทางน้ำเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 3 ค่ำ เดือน 2 ปีมะโรง จ.ศ. 966 (ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2147)[19] ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีอังวะ[8]

บานแผนกของสมุดระบุว่า มีรับสั่งให้เขียนพงศาวดารนี้จนถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือ จ.ศ. 1042 (พ.ศ. 2223) กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงสันนิษฐานว่า เนื้อหาที่สูญหายน่าจะดำเนินต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2127–2199) เป็นอย่างมาก[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่า การสันนิษฐานเช่นนี้ขัดกับบานแผนกเองที่ระบุให้เขียนถึง พ.ศ. 2223 แต่เนื้อหาที่สมบูรณ์จะจบที่ปีใดแน่ ก็เป็นปัญหาที่ตัดสินได้ยาก[7]

เนื่องจากพงศาวดารนี้เป็นการคัดข้อความจากเอกสารอื่นมารวมไว้ และเอกสารหลักเป็นประเภท "กฎหมายเหตุ" (จดหมายเหตุ) เนื้อหาที่ปรากฏจึงมีรูปแบบเหมือนจดหมายเหตุ คือ เป็นข้อความย่อ ๆ ไม่มีคำอธิบายหรือรายละเอียดใด ๆ[21] เช่น

"ศักราช 834 มะโรงศก พระราชสมภพพระราชโอรสท่าน ศักราช 835 มะเส็งศก หมื่นณครรให้ลอกเอาทองพระเจ้าลงมาหุ้มดาบ ศักราช 836 มะเมียศก เสด็จไปเอาเมืองชเลยิง ศักราช 837 มะแมศก มหาราชขอมาเป็นไมตรี ศักราช 839 ระกาศก แรกตั้งเมืองณครรไทย ศักราช 841 กุนศก พระศรีราชเดโชถึงแก่กรรม"[24]

คุณค่า

แก้

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า พงศาวดารฉบับนี้น่าเชื่อถือกว่าฉบับอื่น ๆ[10] ทั้งเนื้อหาก็ตรงกับเอกสารต่างประเทศ[12] สอดคล้องกับที่กรมศิลปากรระบุว่า พงศาวดารฉบับนี้ "ได้รับความเชื่อถือว่าแม่นยำทั้งในเชิงเนื้อหาและศักราช"[4] และพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ว่า "สาระโดยทั่วไปของหนังสือพงศาวดารเล่มนี้จึงได้รับการเชื่อถือมากที่สุด"[11] ในขณะที่พงศาวดารฉบับอื่น ๆ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยหลัง คือ สมัยรัตนโกสินทร์นั้น ลงวันเวลาไว้คลาดเคลื่อนไปราว 4–20 ปี[25][26] และเพราะสับสนวันเวลา พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์จึงลงเหตุการณ์ไว้สับสนตามไปด้วย เช่น ระบุว่า สมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชย์แล้วทรงยกทัพไปล้อมเชียงใหม่ เอาปืนใหญ่ถล่มกำแพงเมือง ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสงสัย เพราะปืนใหญ่เพิ่งมีใช้ในยุโรปราวเก้าปีก่อนเหตุการณ์นั้น[27] และศานติ ภักดีคำ เห็นว่า เป็นการนำเหตุการณ์ของพระราเมศวรอีกพระองค์ คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ มาลงไว้ที่พระราเมศวรพระองค์นี้[28]

พงศาวดารฉบับนี้ยังให้ข้อมูลซึ่งไม่ปรากฏในพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์[10] เช่น กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า พระมหากษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสองครั้งในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คือ "พระเจ้าลิ้นดำ" (พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) พระองค์เดียว แต่พงศาวดารฉบับนี้ระบุชัดเจนว่าเป็นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กับพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารพม่า[29] หรือกรณีที่พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้วทรงสร้างวัดจุฬามณี ทำให้เชื่อกันมาแต่เดิมว่า วัดนี้อยู่ที่อยุธยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยพากันตามหาวัดนี้ที่อยุธยาก็ไม่พบ กระทั่งมาได้พงศาวดารฉบับนี้ที่ระบุว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายขึ้นไปครองราชย์ที่พิษณุโลกแล้วทรงสร้างวัดจุฬามณี จึงรู้ว่าเป็นวัดจุฬามณีที่พิษณุโลก[30][31]

พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ยังให้ข้อมูลขัดแย้งกันเอง เช่น บางฉบับว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พระราชโอรส คือ พระบรมราชา ครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และบางฉบับว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พระราชโอรส คือ พระอินทราชา จึงครองราชย์ต่อจนสวรรคต แล้วพระราชโอรสของพระอินทราชาครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2[32] มาได้ความกระจ่างในพงศาวดารฉบับนี้ ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเขียนว่า "เนื้อความที่มัวมนสนเท่ห์ในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ความแจ่มแจ้งชัดเจนใน พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ สามารถจะตัดสินได้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร"[33]

นอกจากนี้ พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือ เพราะผ่านการชำระตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ เพื่อวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตาม ซึ่งทำให้เนื้อหาไม่บริสุทธิ์แท้ ตามความเห็นของนาฏวิภา ชลิตานนท์[34] และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า พงศาวดารที่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เกิดจากแรงผลักดันของชนชั้นนำที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์อันน่าตระหนก คือ ความล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา และเหลียวกลับไปมองอดีตเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์นั้น พงศาวดารยุครัตนโกสินทร์จึงแฝงอคติ[35] เช่น มีการใส่เนื้อหาโจมตีราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา และตัดเนื้อหายกย่องราชวงศ์นี้ออกไป[36] ในขณะที่พงศาวดารฉบับนี้เขียนขึ้นแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และกรมพระราชดำรงราชานุภาพทรงเห็นว่า "ทั้งลายมือที่เขียนและโวหารที่แต่ง เห็นว่าเป็นหนังสือเก่า ไม่มีเหตุอย่างใดจะควรสงสัยว่าได้มีผู้แก้ไขแทรกแซงให้วิปลาศในชั้นหลังนี้"[29] ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เห็นว่า "มีการใช้ศิลปะทางภาษาน้อยที่สุด จึงหลีกเลี่ยงการเพิ่มเติมอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของผู้เรียบเรียงไปได้เป็นส่วนมาก"[11]

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์มองว่า ความที่พงศาวดารนี้มีเนื้อหาย่อ ๆ เป็นปัญหาต่อการใช้งาน เช่น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ วิจารณ์ว่า "มีข้อจำกัดที่มีการย่อให้สั้น บางครั้งอาจทำความเข้าใจความหมายได้ไม่ถูกต้อง และมีขอบเขตในการนำมาใช้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้ค่อนข้างน้อย"[11] และเอียน ฮอดส์ วิจารณ์ว่า เนื้อหาที่ไม่ได้เขียนพรรณนาให้ต่อเนื่องกัน ทำให้พงศาวดารนี้มีคุณค่าน้อยในการใช้งานสำหรับนักประวัติศาสตร์ที่พยายามจะกำหนดภาพในอดีตของไทย[13]

การพิมพ์

แก้
 
ปกฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2450

หอพระสมุดวชิรญาณให้พิมพ์พงศาวดารนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2450 อันเป็นปีที่ได้รับสมุดไทยชุดแรก (ชุดอยุธยา) มานั้นเอง[14] แต่เนื้อหาบกพร่อง เพราะอักษรในสมุดลบเลือน เมื่อได้สมุดชุดที่สอง (ชุดธนบุรี) มาใน พ.ศ. 2456 จึงตรวจสอบจุดที่บกพร่องกับสมุดชุดนี้ แล้วพิมพ์ใหม่เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงศาวดาร ภาค 1 เมื่อ พ.ศ. 2457[37] หลังจากนั้น พงศาวดารนี้ก็ได้รับการพิมพ์อีกหลายครั้ง ทั้งพิมพ์รวมกับเอกสารอื่น และพิมพ์ต่างหาก นับตั้งแต่ครั้งแรกจนถึง พ.ศ. 2542 แล้ว พิมพ์ทั้งหมด 17 ครั้ง ถือเป็นพงศาวดารที่พิมพ์บ่อยที่สุด ตามข้อมูลของกรมศิลปากร[4]

ในการพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของ ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1 เมื่อ พ.ศ. 2542 กรมศิลปากรนำฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2457 มาตรวจสอบใหม่กับสมุดชุดอยุธยา สมุดชุดนี้ลบเลือนที่ใด ก็ตรวจกับสมุดชุดที่สาม (ชุดรัชกาลที่ 1) แทน เพราะสมุดชุดที่สองหาไม่พบ แล้วจึงจัดพิมพ์ แต่แก้ไขการสะกดคำให้เป็นแบบปัจจุบัน ยกเว้นวิสามานยนามที่ยังคงไว้ตามเดิม นอกจากนี้ ยังคำนวณวันเดือนปีแบบจันทรคติให้เป็นสุริยคติแล้วใส่ไว้ในเชิงอรรถ[18] การคำนวณดังกล่าวใช้วิธีของรอเฌ บียาร์ (Roger Billard) แต่เป็นไปได้ที่โหรวางอธิกวารหรืออธิกมาสไม่ตรงกัน ซึ่งอาจทำให้คำนวณคลาดเคลื่อน การคำนวณอธิกวารและอธิกมาสจึงใช้วิธีของทองเจือ อ่างแก้ว โดยมีประเสริฐ ณ นคร คอยตรวจแก้[38]

การพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2450 ลงชื่อเรื่องไว้ว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ การพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2457 ใช้ชื่อเรื่องว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ โดยมีคำชี้แจงของกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า หอพระสมุดวชิรญาณตั้งชื่อว่า พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ทั้งขึ้นหัวเรื่องว่า พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ การพิมพ์ของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2542 จึงใช้ชื่อตามฉบับ พ.ศ. 2457 โดยปริวรรตคำว่า "พงษาวดาร" เป็น "พงศาวดาร"[14]

การแปล

แก้

ออสการ์ แฟรงก์เฟอร์เทอร์ (Oscar Frankfurter) แปลพงศาวดารนี้เป็นภาษาอังกฤษ และสยามสมาคมนำลงพิมพ์ใน วารสารสยามสมาคม เมื่อ ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452/53) ใช้ชื่อว่า Events in Ayuddhya from Chulasakaraj 686–966 ("เหตุการณ์ในอยุธยาตั้งแต่จุลศักราช 686 ถึง 966")[39] แต่คำแปลนี้ผิดพลาดหลายจุด[Note 1]

ต่อมา ริชาร์ด ดี. คัชแมน (Richard D. Cushman) แปลใหม่เป็นภาษาอังกฤษ และสยามสมาคมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ The Royal Chronicles of Ayutthaya ("พระราชพงศาวดารอยุธยา") มีเดวิด เค. วัยอาจ เป็นบรรณาธิการ[40] แต่นักวิชาการเห็นว่า หลายจุดแปลผิดและใช้คำแปลที่แปลกประหลาด[Note 2]

นอกจากนี้ ไพโรจน์ เกษแม่นกิจ แปลบางส่วนของพงศาวดารนี้เป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า Krung Kao Chronicle: Luang Prasert Aksonnit's Version ("พงศาวดารกรุงเก่า: ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์") พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ วรรณกรรมอาเซียน ประเทศไทย เล่ม 2 เอ: วรรณกรรมสมัยอยุธยา ฉบับแปล[41]

อนึ่ง อัญชนา จิตสุทธิญาณ แปลพงศาวดารนี้เป็นภาษาเขมร พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 ใช้ชื่อว่า พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ภาษาไทย–เขมร มีศานติ ภักดีคำ เป็นบรรณาธิการ[42]

สิ่งสืบเนื่อง

แก้

ตรงใจ หุตางกูร ได้รับมอบหมายจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้ศึกษาลำดับเวลาในพงศาวดารนี้เพื่อเทียบศักราชให้สอดคล้องกับเอกสารอื่น ๆ ผลของการศึกษาเป็นหนังสือชื่อว่า การปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2562[43]

หมายเหตุ

แก้
  1. ^ เช่น มีผู้วิจารณ์ว่า แฟรงก์เฟอร์เทอร์แปล "มหาธรรมราชา" ว่า "Mahādharmarājā [of Chiengmai]" ("มหาธรรมราชา [แห่งเชียงใหม่]")[44] แต่ที่จริงแล้วเป็นกษัตริย์สุโขทัย คือ พระมหาธรรมราชาที่ 2,[45] ข้อความ "หมื่นณครรให้ลอกเอาทองพระเจ้าลงมาหุ้มดาบ" แฟรงก์เฟอร์เทอร์แปลว่า "Hmün Nakhon presented gold threads to cover the sword" ("หมื่นนครถวายดิ้นทองไว้หุ้มดาบ"),[46] ข้อความ "มหาราชท้าวลูก" แฟรงก์เฟอร์เทอร์แปลว่า "Maharaj [of Chiengmai] sent his son" ("มหาราช [แห่งเชียงใหม่] ส่งลูกชาย")[47] แต่ที่จริงแล้ว "ท้าวลูก" เป็นชื่อของมหาราช,[48] หรือคำว่า "เมืองหลวง" แฟรงก์เฟอร์เทอร์แปลว่า "capital city"[49] แต่ที่จริงแล้วหมายถึง เมืองที่ชื่อว่า "หลวง" หรือ "ห้างหลวง"[50]
  2. ^ เช่น แจน อาร์. เดรสส์เลอร์ (Jan R. Dressler) เห็นว่า มีหลายจุดที่แปลผิดอย่างประหลาด[51] ส่วนแบเรนด์ แจน เทอร์วีล (Barend Jan Terwiel) เห็นว่า การเลือกใช้คำบางคำในการแปลของคัชแมนชวนให้ต้องเลิกคิ้ว เช่น การแปล "เมือง (ฝรั่งเศส)" ว่า "Municipality (of Farangset)" อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า คนไทยมองฝรั่งเศสเป็น "municipality" เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับอาณาเขตและความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส แต่ในความเป็นจริงแล้วราชสำนักอยุธยารับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับยุโรปเป็นอย่างดียิ่งกว่าราชสำนักแห่งอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์ หรือการที่คัชแมนมักแปลราชาศัพท์แบบตรงตัว เช่น แปล "พระประชวร" ว่า "holy illness" ก็ไม่สามารถใช้การได้ดีทุกกรณี[52]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. 211.
  2. 2.0 2.1 2.2 Wyatt (Cushman, 2006, p. xviii): "One of those versions is very short – the so-called Luang Prasœt version, which is thought to have been written by a court scribe or astrologer named Luang Horathibòdi around 1680."
  3. 3.0 3.1 3.2 Hodges (1999, p. 3): "The Luang Prasoet Chronicle (LPC), as it is now known, was written 226 years before, in 1681, by Siam's Chief Royal Astrologer (the Phra Horathibodi) at the behest of King Narai (r. 1656–1688)."
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. (16).
  5. 5.0 5.1 5.2 นาฏวิภา ชลิตานนท์, 2524, น. 223.
  6. 6.0 6.1 6.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2540, น. 29.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2521, น. 178.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. 209.
  9. 9.0 9.1 9.2 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2503, น. 170–171.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. 210: "พระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ แม้ความที่กล่าวเปนอย่างย่อ ๆ มีเนื้อเรื่องที่ไม่ปรากฏในพระราชพงษาวดารฉบับอื่นออกไปอิกมาก แลที่สำคัญนั้น ศักราชในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติแม่นยำ กระบวนศักราชเชื่อได้แน่กว่าพระราชพงษาวดารฉบับอื่น ๆ หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ จึงเปนหลักแก่การสอบหนังสือพงษาวดารได้เรื่องหนึ่ง".
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2546, น. (8).
  12. 12.0 12.1 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. (17): "หนังสือพระราชพงษาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ นี้ ทั้งเนื้อเรื่องแลศักราชผิดกับพระราชพงษาวดาร ฉบับพิมพ์ 2 เล่ม แลฉบับพระราชหัดถเลขา อยู่หลายแห่ง ข้าพเจ้าได้สอบสวนกับหนังสือพงษาวดารประเทศอื่น เห็นเนื้อความแลศักราชที่ลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐแม่นยำมาก ข้าพเจ้าเชื่อว่า ศักราชที่ลงไว้ในฉบับหลวงประเสริฐเปนถูกต้องตามจริง".
  13. 13.0 13.1 Hodges (1999, p. 33): "Its lack of narrative continuity, however, means that the LPC is of little practical value for a historian trying to develop a picture of the Thai past."
  14. 14.0 14.1 14.2 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. (17).
  15. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2503, น. 170.
  16. นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2521, น. 179.
  17. นาฎวิภา ชลิตานนท์, 2524, น. 222–223.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 18.6 18.7 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. (18).
  19. 19.0 19.1 19.2 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. 233.
  20. ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1, 2510, น. 93–103.
  21. 21.0 21.1 นาฎวิภา ชลิตานนท์, 2524, น. 224.
  22. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 17.
  23. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์, 2549, น. (19).
  24. ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. 217.
  25. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 8.
  26. นาฎวิภา ชลิตานนท์, 2524, น. 230.
  27. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 210.
  28. สมเด็จพระพนรัตน์, 2558, น. 14.
  29. 29.0 29.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2515, น. 442.
  30. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, 2515, น. 441.
  31. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 229.
  32. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 235.
  33. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 236.
  34. นาฏวิภา ชลิตานนท์, 2524, น. 220: "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่มีอยู่ปัจจุบันจึงไม่บริสุทธิ์แท้ คือ มักจะผ่านการชำระจากสมัยต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นสมัยปลายอยุธยาเอง สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความถูกต้องแม่นยำของพระราชพงศาวดารฉบับต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นปัญหาอยู่เสมอ เนื่องเพราะความผิดพลาดต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยเจตนาและไม่เจตนา เช่น การคัดลอกตัวอักษรผิดพลาดหรือตกไป การใช้เอกสารซึ่งไม่มีน้ำหนักเพียงพอ หรือการได้ข้อมูลที่ผิดพลาด รวมทั้งการจงใจเพิ่มเติมเรื่องราวและรายละเอียดในบางตอน หรือตัดตอนเรื่องบางส่วน ด้วยจุดมุ่งหมายหรือผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตามโดยเฉพาะ จากหลักฐานการชำระพระราชพงศาวดารสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นทำให้เข้าใจได้ว่า เกิดจากความต้องการหรือคำสั่งของพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ภายใต้เวลาและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและการเมืองที่แตกต่างกัน ทรรศนะที่มีต่ออดีตย่อมแตกต่างไปด้วย และพงศาวดารอยุธยาได้บันทึกทัศนคติเหล่านี้ลงไว้ด้วยอย่างไม่เป็นทางการ การนำพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามาใช้จึงต้องคำนึงถึง 'ความจริง' ซึ่งแทรกซ้อนอยู่ในอีกระดับหนึ่งด้วย"
  35. นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2521, น. 176: "ชนชั้นนำในยุคนั้นเพิ่งผ่านความตระหนกอย่างใหญ่หลวงมาจากความพินาศของอยุธยา 'เมืองอันไม่อาจต่อรบได้' จึงเป็นยุคสมัยที่คนชั้นนำหันกลับไปมองอดีตเพื่อสำรวจตนเอง มีการวิจารณ์ตนเองที่เราไม่ค่อยได้พบในวรรณคดีไทยบ่อยนัก เช่น กลอนเพลงยาวของกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่หนึ่ง วิเคราะห์สาเหตุของความล่มจมของอยุธยา ความใฝ่ฝันที่จะจำลองอุดมคติของอดีตกลับมาใหม่ใน นิราศนรินทร์ ฯลฯ เป็นต้น พระราชพงศาวดารที่ถูก 'ชำระ' ในยุคนี้จึงเต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน ความรังเกียจ ความชัง ความรัก ความภูมิใจ ความอัปยศ และอคติของชนชั้นนำในยุคนี้อย่างมาก".
  36. นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2521, น. 181: "[ในฉบับจักรพรรดิพงศ์] กษัตริย์ในราชวงศ์นี้ [ราชวงศ์บ้านพลูหลวง] ซึ่งถูกพงศาวดารฉบับอื่นโจมตีอย่างมาก รอดพ้นการประณามมาได้อย่างงดงาม การรับคำท้าขี่ช้างไล่ม้าล่อแพนของพระเพทราชา (จพ: 170–171) ซึ่งพงศาวดารฉบับอื่นตัดออกไป เป็นการยกย่องความสามารถของพระเพทราชาอยู่ในตัว พระเพทราชาปฏิเสธที่จะเป็นกษัตริย์ในทันที่พระนารายณ์เสด็จสวรรคต...ข้อความนี้พระราชพงศาวดารฉบับอื่นก็ยกออกไปเสียเช่นกัน ทั้งยังไม่ได้ทรงทำพิธีราชาภิเษกทันทีเหมือนพระราชพงศาวดารฉบับอื่น...ข้อความอีกตอนหนึ่งซึ่งไม่พบในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นเลย ก็คือ...มีพระบรมสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ผ่านหน้าเรือพระที่นั่ง อันเป็นข้อความที่พิสูจน์ถึงความมีบุญญาบารมีของพระเพทราชาในฐานะกษัตริย์...พระเพทราชาในฉบับจักรพรรดิพงศ์ทรงรับเอาเชื้อสายฝ่ายในของพระนารายณ์มารับราชการโดยไม่ต้องใช้เสน่ห์เวทมนตร์ดังเช่นพระราชพงศาวดารฉบับอื่น พระเจ้าเสือในฉบับนี้ก็ทรงแสดงความกล้าหาญ...ซึ่งไม่มีกล่าวในฉบับอื่นเลย".
  37. ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. (16)–(17).
  38. ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, 2542, น. (12).
  39. Frankfurter, 1909.
  40. Cushman, 2006, pp. xviii–xx.
  41. ASEAN, 1999, pp. 576–607.
  42. ณัฐพล อยู่รุ่งเรืองศักดิ์, ตรงใจ หุตางกูร, วินัย พงศ์ศรีเพียร, และเสมอ บุญมา, 2560, น. 16.
  43. ความลักลั่นของศักราชฯ (2023)
  44. Frankfurter, 1909, p. 5.
  45. ประเสริฐ ณ นคร, 2549, น. 203–207.
  46. Frankfurter, 1909, p. 13.
  47. Frankfurter, 1909, pp. 12–13.
  48. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 225.
  49. Frankfurter, 1909, p. 25.
  50. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, 2534, น. 334.
  51. Dressler, 2013, p. 227: "When the Siam Society published a synoptic translation of all major chronicles of Ayutthaya in the year 2000 there was no doubt that this hefty volume, despite the numerous and odd mistranslations contained therein, was to become a classic book of reference for everyone interested in traditional Southeast Asian historiography."
  52. Terwiel, 2001, p. 221: "In general, Cushman appears to have been an inspired translator. Only occasionally his choice of words will raise a few eyebrows. His attempt to transmit the Thai royal language by the frequent adding of the word holy, is not always effective (note a sentence like: "His Majesty came down with a holy illness"). When the expression müang farangset is transmitted to us as the "Municipality of Farangset" (p. 269 ff.), this leaves the impression that the Thais did not understand the size and might of France, whilst actually the court of Ayutthaya was better informed on matters concerning Europe than all other Southeast Asian courts."

บรรณานุกรม

แก้
ภาษาไทย
  • "ความลักลั่นของศักราชในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ". ไทยโพสต์. 2019-01-06. สืบค้นเมื่อ 2023-04-20.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2503). นิทานโบราณคดี. (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: เขษมบรรณกิจ.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2515). "คำอธิบาย". ใน คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (น. 441–442). (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
  • นาฏวิภา ชลิตานนท์. (2524). ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9745710512.
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2521). "พงศาวดารอยุธยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์". ใน รวมปาฐกถาจากสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520–2521 (น. 169–254). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ประชุมจดหมายเหตุ สมัยอยุธยา ภาค 1. (2510). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี.
  • ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. (2542). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ISBN 9744192151.
  • ประเสริฐ ณ นคร. (2549). ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9743236007.
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1. (2534). (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. ISBN 9744171448.
  • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2546). "คำนำเสนอพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182". ใน วันวลิต, พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 [น. (7)–(27)]. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9743229221.
  • สมเด็จพระพนรัตน์. (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์. ISBN 9786169235101.
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2540). ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว?. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9747311704.
ภาษาต่างประเทศ
  • ASEAN. (1999). Anthology of ASEAN Literatures of Thailand Vol. II a: Thai Literary Works of the Ayutthaya Period (Translated Version). Bangkok: Amarin Printing and Publishing. ISBN 9742720428
  • Cushman, R. D. (2006). The Royal Chronicles of Ayutthaya. (2nd ed.). Bangkok: Siam Society. ISBN 9748298485.
  • Dressler, J. R. (2013). "A Note on the Source Texts of Cushman's Royal Chronicles of Ayutthaya". Journal of the Siam Society, 101, 227–231.
  • Frankfurter, O. (1909). "Events in Ayuddhya from Chulasakaraj 686–966". Journal of the Siam Society, VI(3).
  • Hodges, I. (1999). "Time in Transition: King Narai and the Luang Prasoet Chronicle of Ayutthaya". Journal of the Siam Society, 87(1&2), 33–44.
  • Terweil, B. J. (2001). "Trans. Richard D. Cushman, The Royal Chronicles of Ayutthaya edited by David K. Wyatt. [compte-rendu]". Aséanie, Sciences humaines en Asie du Sud-Est, 7, 220–221.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้