พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ หรือเรียกกันทั่วไปว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก‎ เป็นพระราชพงศาวดารไทยซึ่งเชื่อว่าเขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยมิได้ผ่านการชำระในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยเนื้อเรื่องสองส่วนที่คาดว่าเป็นฉบับเดียวกันแต่ขาดออกจากกัน ซึ่งค้นพบในเวลาที่ต่างกัน ต้นฉบับเป็นสมุดไทยดำเขียนด้วยอักษรไทยเส้นรงและเส้นดินสอขาว

ส่วนแรกกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 1982–1984 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ซึ่งอุบลศรี อรรถพันธุ์ เป็นผู้ค้นพบพระราชพงศาวดารฉบับหมายเลข 223, 2/ก 125 จ.ศ. 845-846 ที่หอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ. 2521 มี 28 หน้า ส่วนที่สองกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 1986–1987 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ซึ่งไมเคิล วิกเคอรี (Michael Vickery) ค้นพบที่หอสมุดแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2514[1] มี 68 หน้า นายไมเคิล วิกเคอรี สันนิษฐานว่าฉบับที่ตนค้นพบนั้นเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการปกครอง[2] โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบยศขุนนางก่อนและหลังการปฏิรุปการปกครองในรัชสมัยนั้น นายไมเคิล วิกเคอรี ตีพิมพ์เผยแพร่ในบทความเรื่อง "The 2/K.125 Fragment, A Lost Chronicle of Ayutthaya" ของวารสารสยามสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2520 จึงเป็นที่รู้จักกันในนามของ พระราชพงศาวดาร ฉบับไมเคิล วิคเคอรี ต่อมาอุบลศรี อรรถพันธุ์ได้พบฉบับเลขที่ 222, 2/ก 104 จ.ศ.845-846 จ.ศ. 801-803 เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งระหว่างการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "การชำระพระราชพงศาวดารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก"

แม้เนื้อหาจะอยู่ในช่วงเวลาระยะสั้น ๆ แต่ก็ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากฉบับอื่น เช่น เรื่องการส่งเจ้านายชั้นสูงไปปกครองเขมร กล่าวคือหลังจากที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เสด็จไปตีเขมรได้เมื่อ พ.ศ. 1974 พระองค์โปรดให้สมเด็จพระนครอินทร์ซึ่งเป็นพระราชโอรสไปปกครอง แต่ภายหลังพระราชโอรสประชวรและสวรรคต จึงโปรดให้พญาแพรกไปปกครองเขมรแทน เนื้อหาในส่วนนี้พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ไม่ได้กล่าวถึงพญาแพรก[3] กล่าวถึงเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เหตุการณ์ก่อนที่จะมีพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระราเมศวร ในศักราช 801 ปีมะแม ยังกล่าวถึงการรปกครองแผ่อำนาจของกรุงศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสงครามกับเขมร และการขยายอำนาจไปทางตะวันตก คือ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งไม่พบรายละเอียดเช่นนี้ในพระราชพงศาวดารฉบับอื่น[4]

อ้างอิง แก้

  1. Michael Vickery. "The 2/K.125 Fragment, A Lost Chronicle of Ayutthaya" (PDF). วารสารสยามสมาคม.
  2. อุบลศรี อรรถพันธุ์. "พระราชพงศาวดารฉบับตัวเขียน เอกสารห้องพระสมุดวชิรญาณ".
  3. ปกรณ์ ทรงม่วง. "การวิเคราะห์พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ" (PDF). มหาวิทยาลัยศรนครินทรวิโรฒ.
  4. อภิรักษ์ กาญจนคงคา. "บทนำ: อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา".