แม่น้ำตรัง

(เปลี่ยนทางจาก คลองท่าจีน)

แม่น้ำตรัง เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดตรัง มีความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร เมื่ออยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า แม่น้ำหลวง เมื่อไหลเข้าเขตจังหวัดตรังเรียกว่า แม่น้ำตรัง ในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเมืองตรัง เรียกว่า คลองท่าจีน เดิมใช้เป็นเส้นทางคมนาคม จากดินแดนภายในจังหวัดติดต่อไปยังทะเลที่ปากน้ำกันตัง กล่าวกันว่า ในสมัยโบราณสามารถเดินเรือไปได้ถึงทุ่งสง เดิมแม่น้ำสายนี้มีความกว้างราว 50 เมตร แต่ปัจจุบันบางแห่งเหลือความกว้างเพียง 30 เมตร

ต้นกำเนิดแม่น้ำตรัง

แก้

ต้นแม่น้ำตรังมาจากเทือกเขานครศรีธรรมราชด้านตะวันตก จากน้ำตกโยง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และจากเทือกเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่ และบรรจบกับลำน้ำที่มาจากเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง

ต้นกำเนิดแม่น้ำตรังที่เกิดจากเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง ก่อให้เกิดน้ำตกที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง เช่น น้ำตกเขาช่อง น้ำตกปากแจ่ม ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด เป็นต้น

ต้นน้ำของแม่น้ำตรัง มีสาขาที่เกิดจากเทือกเขาในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่สำคัญ ได้แก่ คลองท่าเลา คลองทุ่งโจน คลองวังหีบ และคลองปาง โดยคลองท่าเลา เป็นคลองสาขาที่ยาวที่สุดของแม่น้ำตรัง มีต้นน้ำเกิดจากเขาวังหีบ ในเขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

แม่น้ำตรัง มีลำน้ำสาขาในจังหวัดตรัง ที่สำคัญ 8 สายได้แก่ คลองชี คลองท่าประดู่ คลองกะปาง คลองมวน คลองยางยวน คลองลำภูรา คลองนางน้อย และคลองสว่าง

แม่น้ำนี้ไหลผ่านท้องที่จังหวัดตรัง 5 อำเภอ คือ อำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง แล้วไหลลงทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ปากน้ำกันตัง อำเภอกันตัง

ประวัติศาสตร์แม่น้ำตรัง

แก้

มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แม่น้ำตรังเป็นเส้นทางการคมนาคมมาเป็นเวลากว่าพันปีแล้ว โดยมีการค้นพบพระพิมพ์ดินดิบ ที่ถ้ำเขาขาว เขาสาย เขาปินะ อำเภอห้วยยอด และเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ แสดงให้เห็นว่าผู้คนจากอินเดีย ที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานได้เดินทางผ่าน และแวะพักบริเวณแถบนี้ก่อนจะข้ามไปฝั่งตะวันออก ซึ่งมีอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษ 12-15

กระทั่งสมัยอยุธยาพบหลักฐานเอกสารที่ระบุว่า ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อกับไทยสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โดยเดินทางผ่านเมืองตรังถึง 2 ครั้ง ในช่วงปี พ.ศ. 2054-2057 และยังมีหลักฐานจารึกที่เขาสามบาตร ที่ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2157 ตรงกับสมัยพระเอกาทศรถ มีกรมการเมือง และชาวบ้านมาร่วมฉลองบุญกุศลที่ เขาสระบาป แสดงถึงความเจริญของเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรัง

การขยายตัวของเมือง มีการโยกย้ายเมืองตามลำน้ำของแม่น้ำตรังเรื่อยมาจากทางทิศเหนือลงมาจนกระทั่งสิ้นสุดลงที่ ควนธานี ที่ตั้งเมืองตร้งในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยจุดเริ่มต้นของการตั้งเมืองอยู่ที่ ปากคลองปาง ซึ่งสังเกตดูได้จากความโอ่อ่าของวัด เช่น วัดถ้ำพระพุทธ วัดคีรีวิหาร วัดย่านเกลื่อน แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศติดภูเขา ทำการเกษตรได้น้อย ผู้คนจึงอพยพลงมาตามลำน้ำ และตั้งเมืองใหม่ที่ ตำบลลำภูรา ซึ่งมีหลักฐานบันทึกไว้ว่าเมืองภูราตั้งอยู่ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำตรัง ด้วยสาเหตุเดิมที่พื้นที่เมืองภูราเป็นควนสูง ๆ ต่ำ ๆ ทำนาไม่พอกิน จึงย้ายมายัง นาแขก และจนถึง ควนธานีตามลำดับ

ราวปีพ.ศ. 2367 มีการตั้งชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตรังโดยชาวจีนที่มาจากปีนัง ล่องเรือเข้ามาทางปากแม่น้ำตรัง และได้อาศัยแม่น้ำเป็นเส้นทางในการทำการค้า จึงได้ชื่อว่า ชุมชนท่าจีน และเรียกแม่น้ำที่ไหลผ่านช่วงนี้ว่า คลองท่าจีน โดยเส้นทางการค้าหลักในยุคนั้นอาศัยการล่องเรือเลาะมาทางคลองปอนสู่คลองห้วยยาง และมาขึ้นฝั่งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง

การใช้ประโยชน์

แก้

การใช้ประโยชน์ลำน้ำโดยส่วนใหญ่ ใช้ในการเกษตรกรรม บางบริเวณของลำน้ำที่ใช้ในการบริโภค เช่น บริเวณลำภูรา และบริเวณก่อนที่ลำน้ำจะไหลผ่านเทศบาลนครตรัง ส่วนบริเวณระหว่างเทศบาลนครตรัง และ สุขาภิบาลคลองเต็ง มีการใช้ประโยชน์ ในกิจการอุตสาหกรรม

ปัจจุบันมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด เพื่อสำรองน้ำในแม่น้ำตรัง เพื่อช่วยในการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำตรังสามารถผลิตน้ำได้ประมาณปีละ 20 ล้านคิว แม่น้ำตรังเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญที่สุดในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในจังหวัดตรัง

นอกจากนี้ แม่น้ำตรัง ยังเป็นแหล่งทรัพยากรทรายแม่น้ำที่สำคัญของจังหวัด มีสัมปทานการขุดทรายแม่น้ำหลายจุดในแม่น้ำตรัง รวมทั้งบริเวณปากแม่น้ำตรังยังเป็นแหล่งทรายแก้วที่มีคุณภาพอีกด้วย

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

7°42′11″N 99°33′23″E / 7.702972°N 99.556492°E / 7.702972; 99.556492