การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564

การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีก 5 คน รวม 6 คน โดยได้เสนอญัตติเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564[1] และสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดกรอบการอภิปรายไว้ 4 วัน คือวันที่ 31 สิงหาคม, 1, 2, 3 กันยายน และลงมติในวันที่ 4 กันยายน[2]

เบื้องหลัง แก้

การยื่นญัตติขอเปิดการอภิปราย แก้

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564 สุทิน คลังแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เปิดเผยว่าจะมีการยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมุ่งเป้าที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 5 คน เพื่อมุ่งเป้าไปที่ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจนทำให้เกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาปากท้องของประชาชนจากการสั่งให้มีการล็อกดาวน์แบบไม่มีมาตรการรองรับ มีประชาชนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องเป็นรายวัน ทั้งแบบเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสนาม เสียชีวิตอย่างไร้ญาติข้างถนน และเสียชีวิตยกครอบครัว รวมถึงมีข้อสงสัยการทุจริตในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอันได้แก่ ข้อทุจริตการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งการปฏิเสธในการเข้าร่วมโคแวกซ์ การจัดซื้อวัคซีนโควิชิลด์ของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีข้อสงสัยว่าทำไมไม่สามารถจัดส่งได้ตามกำหนด จนทำให้ต้องมีการสั่งซื้อวัคซีนโคโรนาแว็กของซิโนแว็กที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาดแต่ไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกีดกันไม่ให้ภาคเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาที่ผู้แทนคือบริษัท ซิลลิค ฟาร์ม่า (ประเทศไทย) เสนอขายให้โรงพยาบาลเอกชนได้สำเร็จ และข้อทุจริตในการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยตนเองที่มีข้อสงสัยว่าทำไมองค์การเภสัชกรรมถึงได้จัดซื้อมาแพงกว่าราคาจำหน่ายปกติของท้องตลาดในต่างประเทศ โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นความล้มเหลวของ ระบบสาธารณสุขในประเทศไทย

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ได้ยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 6 คน (จากพรรคพลังประชารัฐ 2 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และอิสระอีก 1 คน) ประกอบด้วย

รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
ลำดับที่ ชื่อ / ตำแหน่ง ประเด็นการอภิปราย[1]
1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ล้มเหลวในการบริหารสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
  • สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง
  • ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
  • ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
  • แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน
  • มีพฤติการณ์โอหังคลั่งอำนาจ
2 อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ล้มเหลวในการควบคุมการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้งเป็นรอบที่สาม
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
3 สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน
  • ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ ปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองจนเป็นสาเหตุให้มีการระบาดของโรค
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
4 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดในการดำเนินกิจการของรัฐ
  • ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง จนเป็นสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่สาม
5 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจบิดเบือนการนำเสนอข้อเท็จจริง สร้างความแตกแยกในสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าสังคม
  • ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
6 เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง

การเตรียมการ แก้

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564 สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันถึงแนวทางการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเบื้องต้น โดยให้เปิดอภิปรายระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 3 กันยายน และลงมติวันที่ 4 กันยายน โดยให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายไม่เกิน 40 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาลไม่เกิน 18 ชั่วโมง 30 นาที รวม 58 ชั่วโมง 30 นาที[3]

ต่อมาพรรคเพื่อไทยได้มีคำสั่งพรรคที่ พท. 0762/2564 บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคทั้งหมด ต้องโหวตตามมติของพรรคคือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทุกคน หากใครฝ่าฝืนคำสั่งด้วยการไม่เข้าประชุมหรือโหวตสวนมติพรรค จะมีโทษถึงขั้นขับไล่ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค[4] เหตุการณ์นี้ทำให้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 มองว่าอาจเป็นการขัดต่อมาตราที่ 124 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญไทย ตนจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการวินิจฉัยว่าอาจเข้าข่ายต้องโทษยุบพรรคเพื่อไทย และเพิกถอนสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคหรือไม่[5] ด้านพรรคพลังประชารัฐได้มีการจัดเตรียมให้สมาชิกบางส่วนของพรรคเป็น องค์รักษ์พิทักษ์ประยุทธ์ พร้อมซักซ้อมคิวการประท้วงและการให้การสนับสนุนการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่าตนพร้อมสำหรับการซักฟอกครั้งนี้และได้เตรียมการชี้แจงเป็นอย่างดีเช่นกัน[6]

ผู้อภิปราย แก้

ในการอภิปรายครั้งนี้ วิปฝ่ายค้านได้เปิดเผยสัดส่วนการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่าง ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม โดยสุทิน คลังแสง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะมี ส.ส. อภิปรายทั้งหมด 34 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 19 คน, พรรคก้าวไกล 13 คน, พรรคเสรีรวมไทย 3 คน, พรรคประชาชาติ 2 คน, พรรคเพื่อชาติ 1 คน, พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และนายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ โดยมุ่งเน้นไปที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายอนุทิน ชาญวีรกูล จำนวน 33 ชั่วโมง และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อีกคนละ 1 ชั่วโมงเศษ[7]

เนื้อหา แก้

ผลการลงมติ แก้

ต่อไปนี้เป็นผลการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี[8]

รายนาม ไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ งดออกเสียง ไม่ลงคะแนน เข้าร่วมประชุม
ประยุทธ์ จันทร์โอชา 264 208 3 0 475
อนุทิน ชาญวีรกูล 269 196 11 0 476
สุชาติ ชมกลิ่น 263 201 10 1 475
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ 269 195 10 1 475
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 267 202 9 0 478
เฉลิมชัย ศรีอ่อน 270 199 8 1 478

ผลสืบเนื่อง แก้

ภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจสิ้นสุดลง พรรคเพื่อไทยได้ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมสอบสวนความผิด สส. พรรค จำนวน 7 คนที่ไม่เข้าร่วมประชุมและลงคะแนนไม่เป็นไปตามมติพรรค โดยยืนยันว่าคำสั่งที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564 จะดำเนินการอย่างจริงจัง ภายหลัง 1 ใน 7 คือ นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก ได้ส่งหนังสือแจ้งว่าตนเองป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมสภาในวันดังกล่าวได้ และยังอยู่ในระหว่างการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนที่เหลือทางพรรคได้รอให้ สส. ที่เหลือ ทำหนังสือเข้ามาแก้ต่าง[9] จนในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564 พรรคเพื่อไทยได้แถลงถึงความคืบหน้าในการลงโทษ สส. ว่ามี สส. ทำหนังสือเข้ามาแล้ว 5 คน รวมนายวุฒิชัย เหลือเพียงสองคนคือ นางพรพิมล ธรรมสาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดปทุมธานี และนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดอุตรดิตถ์[10] ซึ่งต่อมาคณะกรรมการจริยธรรมพรรคเพื่อไทยได้มีมติลงโทษ สส. ทั้ง 7 คน คือขับทั้งพรพิมล และศรัณย์วุฒิ ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 ส่วนที่เหลือ 3 คนให้ติดสถานะภาคฑัณฑ์และใช้เป็นเงื่อนไขการพิจารณาลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยสมัยหน้า 1 คนให้ว่ากล่าวตักเตือนและคาดโทษไว้ ส่วนอีก 1 คนคือนายวุฒิชัย คณะกรรมการยังไม่สามารถพิจารณาบทลงโทษได้จนกว่านายวุฒิชัยจะออกจากโรงพยาบาล[11]

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ อาศัยอำนาจตามมาตราที่ 171 แห่งรัฐธรรมนูญไทยให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีสองคน คือ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน[12] โดยก่อนหน้าที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการประมาณ 30 นาที ธรรมนัส ได้จัดแถลงข่าวด่วนที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมประกาศขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐในคราวเดียวกัน[13] และก่อนหน้านี้ 7 วัน คือวันที่ 2 กันยายน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้เผยแพร่ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ข่าวว่า !!! นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ แล้ว ถึงเวลาสงครามของผู้แทนประชาชน+ประชาชน แล้ว ลุงคนดี vs ประชาชน" จนทำให้เกิดกระแสว่าประยุทธ์ต้องการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม หลังมีข่าวว่าธรรมนัสหวังใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในการล้มประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ธรรมนัสขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป[14] แต่ข่าวนี้ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมออกประกาศว่าเป็นข่าวปลอมในวันที่ 3 กันยายน[15] ทำให้กระแสสังคมซาลงจนกลับมาปะทุอีกครั้งเมื่อมีพระบรมราชโองการออกมาจริง และข้อความนี้ถูกผู้คนบนโลกออนไลน์ขนานนามว่า ข่าวปลอมที่กลายเป็นข่าวจริง[16]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ "ประยุทธ์" พฤติกรรมค้าความตาย โอหังคลั่งอํานาจ". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  2. "เคาะแล้วศึกซักฟอก "นายกฯ-5 รมต." 31 ส.ค.-4 ก.ย.นี้". ฐานเศรษฐกิจ. 2021-08-26. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  3. "สภาฯ เคาะอภิปรายไม่ไว้วางใจ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. ฝ่ายค้านได้เวลา 40 ชั่วโมง". ไทยโพสต์. 2021-08-26. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  4. "'เพื่อไทย' จัดหนักซักฟอก คาดโทษ ส.ส. ไม่มาประชุม-โหวตสวน ขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค". มติชน. 2021-08-30. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  5. "'นักร้อง'เล่นแรง!ยื่นกกต.ยุบเพื่อไทย ชี้หนังสือบังคับส.ส.ลงมติโหวตซักฟอกรัฐบาลขัดรธน". ไทยโพสต์. 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  6. "ประยุทธ์ พร้อม! อภิปรายไม่ไว้วางใจ "พปชร." ตั้ง 14 องครักษ์พิทักษ์นายกฯ". ประชาชาติธุรกิจ. 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.
  7. "ฝ่ายค้านจัดหนัก อภิปรายไม่ไว้วางใจ เน้น 'ประยุทธ์-อนุทิน' 33 ชั่วโมง เพื่อไทย สั่ง ส.ส. ห้ามโหวตสวนมติพรรค". ช่องเวิร์คพอยท์. 2021-08-31. สืบค้นเมื่อ 2021-09-02.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "ผลคะแนนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564 'ประยุทธ์' อยู่ต่อ ไว้วางใจ 264 เสียง". ช่องเวิร์คพอยท์. 2021-09-04. สืบค้นเมื่อ 2021-09-04.
  9. "'เพื่อไทย' รอฟัง 7 ส.ส.แจงโหวตสวนมติพรรค ลั่นลงโทษเด็ดขาดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง". ไทยโพสต์. 2021-09-06. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  10. "เพื่อไทย เคาะบทลงโทษ ส.ส.ฝืนมติพรรค 13 ก.ย. "พรพิมล-ศรัณย์วุฒิ" ยังไม่แจง". ไทยรัฐ. 2021-09-11. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  11. "ด่วน! เพื่อไทย ลงโทษ 7 ส.ส.งูเห่า- ขับ "ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล" พ้นพรรค". มติชน. 2021-09-13. สืบค้นเมื่อ 2021-09-13.
  12. ""บิ๊กตู่" เชือดปลดฟ้าผ่า ธรรมนัส ถอนแค้นซักฟอก คู่หู "นฤมล" สังเวยไปด้วย (คลิป)". ไทยรัฐ. 2021-09-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  13. "ธรรมนัสแถลงลาออก รมช.เกษตรฯ ชี้ ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ทำ เดินไปด้วยกันไม่ได้จริงๆ". มติชน. 2021-09-09. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  14. "ด่วน! เต้ มงคลกิตติ์ ปูดข่าวนายกฯ เซ็นคำสั่งปลด ธรรมนัส จากรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ". สนุก.คอม. 2021-09-02. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  15. "ข่าวปลอม! นายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์". ผู้จัดการออนไลน์. 2021-09-03. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
  16. "แห่ขุดโพสต์ "ประยุทธ์" เซ็นปลด "ธรรมนัส" แซวข่าวปลอมกลายเป็นจริง-ส.ส.เต้ ผู้มาก่อนกาล". สนุก.คอม. 2021-09-09. สืบค้นเมื่อ 2021-09-11.
ก่อนหน้า การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม–กันยายน พ.ศ. 2564 ถัดไป
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564    
การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย สิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2564
(31 สิงหาคม - 4 กันยายน พ.ศ. 2564)
  การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2565